News
icon share

นานาทรรศนะรัฐรีดภาษีที่ดิน

LivingInsider Report 2016-06-22 12:24:47
นานาทรรศนะรัฐรีดภาษีที่ดิน
 
 
รีดภาษีบ้าน-คอนโดฯให้เช่า
 
 
ประเด็นอยู่ตรงที่หมวด "ที่อยู่อาศัย" ซึ่งมีสถิติ 23 ล้านหลังทั่วประเทศ ได้รับการยกเว้นว่าถ้าเป็นบ้านหลังแรก ราคาทรัพย์สินไม่เกิน 50 ล้านบาท ไม่ต้องเสียภาษี แต่สำหรับ "บ้านหลังที่ 2" จะต้องจ่ายภาษีโดยรัฐตั้งอัตราจัดเก็บ 7 ขั้น เพดานสูงสุด 0.5% หรือล้านละ 5,000 บาท โดยอัตราต่ำสุดเริ่มต้นที่ 0.03-0.3% หรือเริ่มต้นล้านละ 300 บาท จนถึงล้านละ 3,000 บาท
 
 
ปรากฏว่าที่อยู่อาศัย (บ้านหลังที่ 2) ดังกล่าว หากนำมาปล่อยเช่ารัฐมองว่ามีรายได้ จึงจัดประเภทเป็นพาณิชยกรรม มีผลให้ต้องจ่ายภาษีในอัตราเริ่มต้น 0.3% หรือล้านละ 3,000 บาท นั่นหมายความว่าที่อยู่อาศัยหลังที่ 2 เมื่อนำมาปล่อยเช่า ภาระจ่ายภาษีเปลี่ยนทันที จากล้านละ 300 เป็นล้านละ 3,000 บาท
 
 
โดยกระทรวงการคลังเผยแพร่เอกสาร "20 คำถามที่น่าสนใจเกี่ยวกับการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง" ข้อ 15 และข้อ 19 ระบุชัดว่าที่อยู่อาศัยให้เช่าต้องเสียภาษีในอัตราพาณิชยกรรม แม้เป็นที่อยู่อาศัยแต่หากอาคารเดียวกันแบ่งการใช้ประโยชน์เป็นทั้งที่อยู่อาศัยและนำมาให้เช่าทำร้านค้า การคิดคำนวณภาษีต้อง "จัดเก็บตามจริง"
 
 
รัฐเก็บแพง-แนะตั้งเรตใหม่
 
 
"ปิยะ ประยงค์" กรรมการผู้อำนวยการกลุ่มธุรกิจแวลู บมจ.พฤกษา เรียลเอสเตท กล่าวกับ "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า ไม่เห็นด้วยกับการเก็บภาษีที่อยู่อาศัยปล่อยเช่าในอัตราที่ดินพาณิชยกรรม เพราะเป็นการเปิดช่องให้ใช้การตีความของเจ้าหน้าที่รัฐ อาจมีปัญหาคอร์รัปชั่นได้
 
 
ที่สำคัญมองว่าภาษีประเภทพาณิชยกรรมเริ่มต้นล้านละ 3,000 บาท สำหรับอสังหาฯราคาไม่เกิน 5 ล้านบาทถือว่าอัตราสูง ย่อมกระทบกำลังซื้อในตลาดแน่นอน เพราะลูกค้าในกลุ่มซื้อลงทุนปล่อยเช่าถือเป็นกลุ่มลูกค้าเป้าหมายสำคัญเช่นกัน ปัจจุบันสัดส่วนแนวราบ (บ้านเดี่ยว ทาวน์เฮาส์) มี 40% คอนโดมิเนียมมี 60% ในจำนวนนี้ 1 ใน 5 เป็นการซื้อเพื่อลงทุนปล่อยเช่า
 
 
"พฤกษาฯมีคอนโดฯราคายูนิตละ 2 ล้าน เป็นกลุ่มที่มีผู้ซื้อลงทุนปล่อยเช่าเป็นฐานลูกค้าหลักด้วย ถ้าหากรัฐบาลจะเก็บภาษีการนำคอนโดฯไปปล่อยเช่าในอัตราเดียวกับพาณิชยกรรมไม่น่าเหมาะกับสถานการณ์เศรษฐกิจตอนนี้เพราะการลงทุนอสังหาฯถือว่าได้ผลตอบแทนสูงความเสี่ยงน้อยเมื่อเทียบกับการไปซื้อหุ้น ทองคำ หรือฝากแบงก์ แต่ถ้ามีการเก็บภาษีสูง ๆ ทำให้นักลงทุนต้องคำนวณความคุ้มค่าใหม่หมด ในภาพรวมจึงเป็นการกระทบมู้ดผู้ซื้อตรง ๆ"
 
 
สอดคล้องกับ "อนงค์ลักษณ์ แพทยานันท์" กรรมการผู้จัดการ บมจ.เจ้าพระยามหานคร ระบุว่า เห็นด้วยในหลักการถ้าหากนำคอนโดฯ ปล่อยเช่า แต่ไม่เห็นด้วยกับการใช้ฐานภาษีพาณิชยกรรมที่เริ่มต้นเก็บล้านละ 3,000 บาทมาใช้กับบ้านและคอนโดฯ ที่นำมาปล่อยเช่า เพราะพาณิชยกรรมรัฐตั้งราคามูลค่าทรัพย์ไม่เกิน 20 ล้านบาท แต่คอนโดฯ ให้เช่าราคาส่วนใหญ่ไม่เกิน 5 ล้านบาท
 
 
มองบวกภาษีที่ดินจ่ายน้อยลง
 
 
"ศิริญา เทพเจริญ" กรรมการ บมจ.ณุศาศิริ มองว่า ไม่ค่อยเห็นด้วยกับกฎหมายภาษีที่ดินฯ เพราะอยู่ในช่วงเศรษฐกิจซบเซา การเก็บภาษีเพิ่มถือเป็นการซ้ำเติมประชาชน
 
 
ส่วนการเก็บภาษีที่ดินบ้านหลังที่ 2 เชื่อว่าไม่กระทบณุศาศิริ แม้ว่าบริษัทมีโปรแกรมการลงทุน "ณุศา วัน" มีทรัพย์สินที่ลูกค้าฝากปล่อยเช่ามูลค่ารวม 1,000 ล้านบาท โดยบริษัทนำมาบริหารในรูปแบบเซอร์วิสอพาร์ตเมนต์ มีการเสียภาษีโรงเรือนและที่ดิน 12.5% ของรายได้ค่าเช่าอยู่แล้ว คำนวณเปรียบเทียบถือว่าเม็ดเงินที่เสียภาษีมากกว่าอัตรา 0.3% ของมูลค่าทรัพย์สินตามกฎหมายภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง
 
 
เมเจอร์ขายเศรษฐีซื้ออยู่เอง
 
 
"สุริยนพูลวรลักษณ์"ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.เมเจอร์ ดีเวลลอปเม้นท์ กล่าวกับ "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า ภาษีที่ดินเป็นเรื่องใหม่ รายละเอียดจริง ๆ ยังไม่เห็น ต้องรอให้ภาพชัดเจนก่อน ทุกคนต้องเวตแอนด์ซีรอกฎหมายตัวจริงออกมาบังคับใช้จึงจะทราบแนวทางและผลกระทบที่จะเกิดขึ้น
 
 
ทั้งนี้คอนโดฯในเครือเมเจอร์ฯเน้นเจาะลูกค้าเป้าหมายกลุ่มไฮเอนด์ราคาต่อยูนิตค่อนข้างสูง ดังนั้น คาดว่าผู้ซื้อลงทุนปล่อยเช่าน่าจะมีจำนวนน้อยมาก โดยล็อกไว้ตั้งแต่ตอนจองซื้อบริษัทจับทำสัญญาวางเงินดาวน์สูง 30% ทำให้ผู้รับโอนส่วนใหญ่วิเคราะห์ได้ว่าเป็นผู้อยู่อาศัยเอง
 
 
"ลูกค้าซื้อลงทุนปล่อยเช่าคงมีบ้าง ตัวเลขเราคงไม่รู้ การที่รัฐจะคิดภาษีนำไปปล่อยเช่าในเรตพาณิชยกรรมผมว่าอาจมีผลบ้างในแง่จิตวิทยาผู้บริโภค เพราะเทียบฐานภาษีแตกต่างกันเยอะจริง ๆ แต่ลูกค้าหลักคิดว่ายังเป็นการซื้อเพื่ออยู่อาศัยเหมือนเดิม ในช่วงครึ่งปีหลังเตรียมเปิดตัวใหม่อีก 2 โครงการ ยังเน้นลูกค้าไฮเอนด์เหมือนเดิม เป็นกลุ่มไม่น่ากระทบจากภาษีมากนัก"
 
 

ขอบคุณภาพและข่าวจาก  ประชาชาติธุรกิจ

 

 

 

 

อ่านรายละเอียดเพิ่มเติ่มได้ที่  

 

 

http://www.prachachat.net/news_detail.php?newsid=1466401549

>> ช่องทางในการติดตามข่าวสาร <<
ไม่พลาดข่าวสำคัญ แค่กดเป็นเพื่อนกับ ไลน์ @livinginsider ที่นี่

บทความอื่นๆ

livinginsider livinginsider