News
icon share

แบงก์เข้มงวดปล่อยกู้โปรเจ็กต์ไฟแนนซ์

LivingInsider Report 2016-06-21 10:50:15
แบงก์เข้มงวดปล่อยกู้โปรเจ็กต์ไฟแนนซ์

 

 

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว ส่งผลต่อการปล่อยสินเชื่อพรีไฟแนนซ์หรือสินเชื่อผู้ประกอบการ โดยสถิติ 2 ปี (2557-2558) พบว่า ปี 2558 สินเชื่อพรีไฟแนนซ์มีจำนวน 6.6 หมื่นล้านบาท ลดลงจากปี 2557 ที่ปล่อยกู้ 7.5 หมื่นล้านบาท ในด้านดอกเบี้ยก็เสียเปรียบรายใหญ่ที่ออกหุ้นกู้ดอกเบี้ย 1.9% แต่รายกลาง-เล็กมีต้นทุนดอกเบี้ยกู้ธนาคาร 7-8% แตกต่างกันถึง 400% ปีนี้จึงมีการฟันธงว่าเป็นปีที่ดีเวลอปเปอร์รายกลาง-เล็กอยู่ลำบาก

 

 

KK ลดวงเงินกู้ 7 พันล้าน นายวิศรุต ปัญญาภิญโญผล ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายสินเชื่อธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ สายสินเชื่อธุรกิจ ธนาคารเกียรตินาคิน (KK) เปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า KK ยังปล่อยกู้พรีไฟแนนซ์ต่อเนื่อง แต่มีนโยบายเพิ่มความเข้มงวดมากขึ้น ในกลุ่มสินค้าและทำเลที่มีสัญญาณโอเวอร์ซัพพลาย มีสต๊อกค้างสะสม เช่น คอนโดมิเนียมในต่างจังหวัด
 


"แบงก์เข้มงวดก็จริง แต่ถึงยังไงก็ยังมีปล่อยกู้พรีไฟแนนซ์เพราะเป็นช่องทางรายได้ ดอกเบี้ยยังปกติมีทั้ง MLR (ดอกเบี้ยรายใหญ่ชั้นดี) บวกลบแล้วแต่โปรไฟล์ลูกค้า กรณีโปรไฟล์ดีเยี่ยมก็ปล่อยกู้เต็มวงเงินที่เคยให้ เพื่อเป็นกระแสเงินสดนำไปใช้พัฒนาจนจบโครงการ กรณีไม่ผ่านพิจารณาจะไม่ปล่อยกู้เลย ถ้ายังให้กู้เล็ก ๆ น้อย ๆ จะเสี่ยงมากกว่า"
 


นายวิศรุตกล่าวว่า ยอดปล่อยสินเชื่อใหม่ปี 2557 มี 1.6 หมื่นล้านบาท ปี 2558 เพิ่มเป็น 2.7 หมื่นล้านบาท ปีนี้ตั้งเป้าปล่อยสินเชื่อใหม่ 2 หมื่นล้านบาท ลดลง 7 พันล้านบาท เป็นไปตามภาวะเศรษฐกิจที่ซบเซา เฉลี่ยปล่อยกู้ปีละ 100-120 โครงการ วงเงิน 200-250 ล้านบาท/โครงการ พอร์ตลูกค้า 60-70% อยู่ในกรุงเทพฯและปริมณฑล อีก 30-40% อยู่ในจังหวัดหัวเมืองใหญ่ เช่น เชียงใหม่ ขอนแก่น ชลบุรี ระยอง ภูเก็ต
 

 

ถูกลดวงเงินสร้าง-ซื้อที่ดิน นายอิสระ บุญยัง นายกกิตติมศักดิ์ สมาคมธุรกิจบ้านจัดสรร เปิดเผยว่า แนวโน้มปีนี้การปล่อยกู้พรีไฟแนนซ์น่าจะทรงตัวใกล้เคียงปี 2558 อยู่ที่ 6.6 หมื่นล้านบาท เพราะแบงก์ยังมีความเข้มงวดการประเมินสินเชื่อผู้ประกอบการรายกลางรายเล็ก เห็นได้จากการปล่อยกู้ปกติ 2 ขั้นตอน 1.วงเงินซื้อที่ดิน ลดวงเงินเหลือ 50% 2.วงเงินก่อสร้าง ลดเหลือ 70% และบริษัทต้องยื่นรายละเอียดโครงการตั้งแต่ก่อนซื้อที่ดิน จากเดิมที่สามารถขอกู้เพื่อซื้อที่ดินไว้ก่อนได้
 


นายประทีป ตั้งมติธรรม ประธานกรรมการบริหาร บมจ.ศุภาลัย กล่าวว่า นอกจากแบงก์เข้มงวดสินเชื่อพรีไฟแนนซ์แล้ว ในฝั่งสินเชื่อโพสต์ไฟแนนซ์ซึ่งปล่อยกู้ให้กับรายย่อย หากเป็นลูกค้าของผู้ประกอบการรายกลาง-เล็ก มีอัตราดอกเบี้ยแพงกว่าบิ๊กแบรนด์ 0.5% จึงเป็นภาระหนี้ที่เพิ่มขึ้นแก่ลูกค้า เพราะดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้นทำให้ลูกค้ามีโอกาสกู้ไม่ผ่านสูงขึ้น

 

 

ส่องโครงการละเอียดยิบ นายชาญวิทย์วิภูศิริ กรรมการผู้จัดการ บมจ.ภัทรเฮ้าส์ แอนด์ พร็อพเพอร์ตี้ กล่าวว่า ขั้นตอนขอสินเชื่อพรีไฟแนนซ์แบงก์ตรวจสอบรายละเอียดโครงการมากขึ้น เดิมยื่นเอกสารเฉพาะแบบทางสถาปัตยกรรม ประเมินค่าก่อสร้างรวมต่อหลัง ล่าสุดมีการขอเอกสารเพิ่ม อาทิ แบบวิศวกรรม ให้แจงรายละเอียดค่าก่อสร้าง วัสดุที่ใช้ในตัวบ้านและสาธารณูปโภคส่วนกลาง ทำให้บริษัทต้องเพิ่มเวลาเตรียมเอกสารเป็น 2-3 เดือน

 


รวมถึงการเลือกทำเล เดิมแจ้งทำเลที่จะพัฒนาโครงการก็พอ ปัจจุบันต้องระบุพิกัดที่ดิน วิเคราะห์รายละเอียดคู่แข่ง ดีมานด์-ซัพพลาย โดยแบงก์มีทีมตรวจเช็กพื้นที่ว่ามีความเหมาะสมพัฒนาโครงการหรือไม่
 


"การที่แบงก์เช็กละเอียดแบบนี้เป็นข้อดีทำให้เราได้เช็กตัวเองไปด้วย แบงก์ยังอนุมัติวงเงินและดอกเบี้ยให้บริษัทปกติ ได้วงเงินกู้ซื้อที่ดิน 50-70% ค่าก่อสร้าง 80-90%"
 

 

ตรวจเข้มประวัติ กก.บริษัท นายธีระธัช รัตนกมลพร กรรมการผู้จัดการ บจ. แพน พลัส พร็อพเพอร์ตี้ ทุนท้องถิ่นใน จ.ชลบุรี เปิดเผยว่า ธนาคารเข้มงวดปล่อยกู้ 2 ปีมาแล้ว แบรนด์พรีมิโอเซอร์เคิล ขอกู้ก่อสร้าง 130 ล้านบาท ปกติเคยได้รับอนุมัติ 70% เหลือ 50% ตรวจสอบแผนลงทุนละเอียด และประวัติการเงินของกรรมการทุกคนในบริษัท
 


"บริษัทเราถือว่าเป็นลูกค้าดี ประวัติสินเชื่อในช่วง 5 ปีที่ผ่านมาเราเคลียร์หนี้ได้ตามกำหนด ประเด็นคือตลาดอสังหาฯชลบุรีใหญ่เป็นอันดับ 2 รองจากกรุงเทพฯ และยังไปได้ดี แต่แบงก์ก็มีความเข้มงวด เชื่อว่าการขอเงินกู้ในจังหวัดอื่นน่าจะได้รับผลกระทบหนักกว่าที่นี่"
 


การปรับกลยุทธ์ เน้นรักษากระแสเงินสด เพราะต้องใช้ทุนบริษัทในการก่อสร้างโครงการมากขึ้น กรณีสินค้ามียอดขายช้าลงอาจเป็นเพราะโปรดักต์ไม่ตอบโจทย์ก็ต้องปรับดีไซน์ให้สอดรับกับพฤติกรรมลูกค้าให้มากที่สุดหรือชะลอการก่อสร้างออกไปก่อน

 


แก้เครดิตบูโรหนุนกำลังซื้อ นายอธิป พีชานนท์ นายกสมาคมธุรกิจบ้านจัดสรร กล่าวเพิ่มเติมว่า สถานการณ์ปีนี้บริษัทอสังหาฯรายกลาง-เล็กมีความยากลำบากและเสียเปรียบผู้ประกอบการรายใหญ่ มาจากหลายปัจจัย โดยเฉพาะแหล่งทุนมีจำกัด ต้องอาศัยสินเชื่อพรีไฟแนนซ์จากสถาบันการเงินเท่านั้น เมื่อแบงก์เข้มงวดปล่อยกู้ทำให้ไม่สามารถลงทุนพัฒนาโครงการได้
 


ในเวลาเดียวกัน การปล่อยสินเชื่อรายย่อยมีความเข้มงวดเช่นกัน ทำให้รีเจ็กต์เรตหรือยอดปฏิเสธสินเชื่อสูงขึ้น จากปีก่อน 20-30% ปีนี้เพิ่มเป็น 30-40% แม้โปรไฟล์ของลูกค้าไม่แตกต่างจากเดิม แต่ปีนี้แบงก์ตั้งมาตรฐานการพิจารณาสินเชื่อสูงขึ้น
 


"สถานการณ์เศรษฐกิจแบบนี้ ยังมีตัวช่วยจะฟื้นกำลังซื้อผู้บริโภค โดยสมาคมเคยขอให้รัฐช่วยผ่อนปรนการตรวจสอบเครดิตบูโร ถ้าลูกหนี้มีประวัติหนี้เสียแม้จะเคลียร์หนี้ก้อนนั้นแล้ว แต่เครดิตบูโรจะแขวนประวัติเขาไว้ 3 ปี เราขอปลดล็อกให้เหลือ 1 ปีได้ไหม ขอเป็นมาตรการชั่วคราว ถ้าหากทำได้จะช่วยเพิ่มกำลังซื้อไม่ต่ำกว่า 1 แสนคนทันที ถ้าหากเฉลี่ยมีการขอกู้ใหม่คนละ 1 ล้านบาท เท่ากับจะมีกำลังซื้อ 1 แสนล้านบาทเข้าสู่ระบบ"

 

 

ขอบคุณข่าวจาก  ประชาชาติธุรกิจ

 

 

 

 

 

อ่านรายละเอียดเพิ่มเติ่มได้ที่  

 

 

http://www.prachachat.net/news_detail.php?newsid=1466401158

>> ช่องทางในการติดตามข่าวสาร <<
ไม่พลาดข่าวสำคัญ แค่กดเป็นเพื่อนกับ ไลน์ @livinginsider ที่นี่

บทความอื่นๆ

livinginsider livinginsider