รายการโปรด
ร้อน! “วอเตอร์ฟรอนต์” ดิ้นหาทางออกเสนอยอมหั่น 5 ชั้น ปัญหาพื้นที่ใช้สอยเกินขออนุญาต ทำสูญเสียรายได้หลายร้อยล้าน ขณะที่เมืองพัทยายังอึมครึมออก อ.1 คาดไม่คืบจนพ้นวาระ 16 มิ.ย.นี้
จากกรณีปัญหาโครงการคอนโด วอเตอร์ฟรอนต์ สวีท แอนด์ เรสซิเดนท์ ที่มีการร้องเรียนต่อเนื่องไปยังหลายหน่วยงานว่า โครงการดังกล่าวมีปัญหาทั้งในเรื่องของการก่อสร้างต่อเติมอาคารผิดแบบ เรื่องของการบุกรุกที่สาธารณะ ปัญหาเกี่ยวกับเรื่องของสิ่งแวดล้อม และอื่นๆ
ซึ่งจนถึงปัจจุบันโครงการดังกล่าวก็ยังถูกระงับการก่อสร้าง จนส่งผลให้เกิดผลกระทบต่อการลงทุน และอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว และยังไม่มีแนวทางที่ชัดเจนว่า จะจัดการอย่างไร กระทั่งทาง สผ.ได้ลงความเห็นให้เมืองพัทยาในฐานะเจ้าพนักงานท้องถิ่นเป็นผู้ดำเนินการพิจารณาความเห็นชอบโครงการในฐานะที่กำกับดูแลกฎหมายด้านการควบคุมอาคารโดยตรง ด้วยระบุว่า การเปลี่ยนแปลงการก่อสร้างโครงการดังกล่าวไม่มีผลต่อสิ่งแวดล้อม และเข้าข่ายการกระทำผิดตามกฎหมาย
ซึ่งต่อมา เมืองพัทยาได้ทำการตรวจสอบแบบอย่างละเอียด ก่อนออกหนังสือทักท้วงไปยังโครงการเกี่ยวกับปัญหาการก่อสร้างที่ไม่ตรงกับแบบที่ได้รับอนุญาตในหลายส่วน โดยเฉพาะกรณีของงานทางด้านสถาปัตยกรรม และวิศวกรรมที่พบว่า ยังคงมีปัญหาอยู่ 2 ข้อ ได้แก่
ปัญหาเรื่องของพื้นที่จอดรถในโครงการ ซึ่งแต่เดิมตามแบบแปลนที่ได้ขออนุญาตตามมาตรฐาน EIA จาก สผ.นั้น จะสามารถจอดรถได้ จำนวน 60 คัน แต่พบว่า มีการก่อสร้างต่อเติมเสาตอม่อเพิ่มขึ้น จึงทำให้สามารถจอดรถได้เพียง 30 คันเท่านั้น ซึ่งถือว่าผิดจากข้อกำหนด และกรณีของพื้นที่ใช้สอยของโครงการซึ่งเดิมได้ขออนุญาตในพื้นที่โดยรวมไว้ 38,000 ตารางเมตร
แต่จากการตรวจสอบพบว่า พื้นที่รวมของอาคารนั้นมีสัดส่วนเกินจากที่ขออนุญาตไว้รวม 5,090 ตารางเมตร ซึ่งกรณีนี้ทางโครงการจะแจ้งว่า พื้นที่ส่วนเกินนั้นจะทำการปิดกั้นไว้เพื่อไม่ให้มีการใช้ประโยชน์ แต่เมืองพัทยา ก็คงไม่สามารถอนุญาตให้ได้ กระทั่ง นายอิทธิพล คุณปลื้ม นายกเมืองพัทยา ได้ลงนามคำสั่งเพื่อแจ้งไปยัง บ.บาลีฮาย จำกัด โดยมีการระบุขอให้แก้ไขเปลี่ยนแปลง 2 กรณีหลัก ได้แก่
ให้ทำการชี้แจงรายละเอียดการจอดรถแบบไฮดรอลิก และการบริหารจัดการการจอดรถของโครงการให้ชัดเจน ด้วยการบริหารจัดการรถที่มีขนาดความสูงแตกต่างกัน จะมีการจัดสรรที่จอดรถอย่างไรให้สัมพันธ์ต่อการใช้งานจริง โดยขอให้แสดงมาตรการ และแผนการจัดการ ตลอดจนรายละเอียดของแผนบุคลากรที่จะใช้ในการจัดการ และเรื่องของพื้นที่ใช้สอยที่รวมกันมีขนาดมากกว่า 5,000 ตารางเมตร
ซึ่งโครงการต้องชี้แจงรายละเอียดของพื้นที่ใช้สอย เนื่องจากอาคารนี้เป็นอาคารชุดพักอาศัยจึงจะมีวิธีการจัดการต่อกรรมสิทธิ์ของพื้นที่ส่วนที่ไม่ใช้สอยเหล่านี้อย่างไร เช่น จะใช้เป็นพื้นที่ส่วนกลางหรือไม่ หรือจะมีการนำไปจดทะเบียนขายให้แก่ผู้ซื้ออาคารชุดหรือไม่อย่างไร ตลอดจนมาตรการหลังจากการโอนกรรมสิทธิ์ให้ผู้ซื้อไปแล้วว่า ผู้ซื้อจะไม่มีการปรับเปลี่ยนไปใช้เป็นพื้นที่ใช้สอยอาคารเพิ่มอีก ทั้งนี้ เพื่อให้เกิดความชัดเจนในการพิจารณาอนุญาตต่อไป
ซึ่งกรณีดังกล่าวที่ผ่านมาทางโครงการได้ทำหนังสือชี้แจงรายละเอียด พร้อมแนวทางการแก้ไขกลับมายังเมืองพัทยา ซึ่งครบกำหนดการพิจารณาไปตั้งแต่วันที่ 20 มีนาคมที่ผ่านมา โดยผลปรากฏว่า จากการชี้แจงของโครงการต่อกรณีทั้ง 2 ประเด็นหลักข้างต้น เมืองพัทยา มีความเห็นว่า ข้อมูลที่ทางโครงการชี้แจงกลับมานั้นยังไม่มีความครบถ้วนทุกประเด็น และขาดความชัดเจนในการพิจารณาความเห็นชอบในการอนุญาตให้ดำเนินการก่อสร้างต่อไปได้
โดยเฉพาะกรณีของพื้นที่ใช้สอยที่มีขนาดเกินกว่าที่ได้ทำการขออนุญาตไว้ เนื่องจากมองว่าอาจจะเป็นการดำเนินการเพื่อเลี่ยงต่อข้อกฎหมาย แม้ว่าทางโครงการจะระบุว่า พื้นที่ที่มีการก่อสร้างต่อเติมในแต่ละชั้นในระดับความสูง 53 ชั้นนั้น จะทำการปิดกั้นไว้เพื่อไม่ให้มีการใช้ประโยชน์ก็ตาม ก่อนออกหนังสือ ค.1 เพื่อให้ทางโครงการไปทำการแก้ไข พร้อมชี้แจงรายละเอียดอีกครั้ง
มีรายงานเพิ่มเติมว่า สำหรับกรณีปัญหาทั้ง 2 กรณีดังกล่าว ต่อมา คณะผู้บริหารระดับสูงของโครงการ รวมทั้งคณะที่ปรึกษาได้เดินทางเข้าพบ นายรณกิจ เอกะสิงห์ รองนายกเมืองพัทยา พร้อมเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง เพื่อร่วมหารือ และขอรับฟังรายละเอียดเกี่ยวกับปัญหาที่เกิดขึ้น โดยจัดให้เป็นการประชุมภายใน ไม่อนุญาตให้สื่อเข้าร่วมรับฟัง ซึ่งพบว่า บรรยากาศเป็นไปอย่างเคร่งเครียด ก่อนมีกระแสว่ามีการตำหนิการทำงานของเมืองพัทยาว่า ล่าช้า ดึงเกมจนอาจมีการรวบรวมข้อมูลเพื่อฟ้องร้องต่อศาล
พร้อมร้องขอให้เมืองพัทยาเร่งพิจารณาก่อนหมดวาระการบริหารในชุดปัจจุบัน วันที่ 16 มิถุนายนนี้ ขณะที่เมืองพัทยา แจ้งว่า การพิจารณาเป็นไปตามขั้นตอน โดยอาศัยกรอบของการพิจารณาอนุญาตจาก สผ.เป็นหลัก เมื่อแบบ และโครงสร้างไม่ตรงตามการขออนุญาตก็ต้องทำการปรับปรุงแก้ไขจึงจะสามารถออกใบอนุญาตให้ได้ ทั้งในส่วนของที่จอดรถ ซึ่งต้องสามารถรองรับได้ตามกฎหมาย และต้องมีเอกสารความยินยอมประกอบจากผู้เช่าซื้อเพื่อลดปัญหาการฟ้องร้องในอนาคต ขณะที่กรณีของพื้นที่ส่วนเกินนั้นคงต้องไปแก้ไขเพื่อตัดลดพื้นที่เพื่อให้ตรงต่อการขออนุญาตเดิมเป็นหลัก
ล่าสุด แหล่งข่าวรายงานว่า ปัจจุบันทางโครงการวอร์เตอร์ฟรอนด์ได้ทำหนังสือถึงเมืองพัทยา กรณีปัญหาทั้งในเรื่องของที่จอดรถยนต์ภายในโครงการ โดยชี้แจงถึงรายละเอียด และโครงสร้างของระบบที่สามารถรองรับได้จริง จำนวน 150 คัน รวมทั้งการจัดเช่าที่จอดรถเพิ่มเติมในพื้นที่ใกล้โครงการที่สามารถสำรองเพิ่มได้อีก จำนวน 60 คัน พร้อมแนบตัวอย่างโครงการที่ใช้ระบบจอดรถแบบไฮดรอลิกใน กทม.มาประกอบ ขณะที่ในส่วนของพื้นที่ใช้สอยที่เกินจากการอนุญาตไว้ จำนวน 5,099 ตร.เมตรนั้น ส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ที่ไม่สามารถเข้าไปใช้ประโยชน์ได้ ได้แก่ ห้องเครื่องลิฟต์ ห้องรวบท่อ ถังเก็บน้ำ
รวมถึงห้องจัดภูมิสถาปัตย์ ซึ่งมีลักษณะเป็นสวนหิน และกันสาดที่อยู่ทางทิศเหนือของห้องพัก ได้ทำการยกเลิกราวกันตก และมีการติดตั้งกระจกติดตายสูงจากพื้นเพื่อกันไม่ให้มีการใช้งาน อย่างไรก็ตาม จากกรณีของพื้นที่ใช้สอยนี้มีรายงานว่า สุดท้ายทางโครงการได้ตัดสินที่จะยอมตัดพื้นที่ จำนวน 5 ชั้นบนสุดของโครงการออก ซึ่งจะทำให้โครงการสูญเสียรายได้จำนวนหลายร้อยล้านบาท เนื่องจากพื้นที่ในโครงการนั้นสนนราคาตารางเมตรละนับแสนบาท แต่ก็เพื่อเป็นการลดปัญหา และผลกระทบจากเรื่องของการบดบังภูมิทัศน์ รวมทั้งเรื่องของพื้นที่ที่เกินจากการขออนุญาตเพื่อประกอบการพิจารณา ซึ่งมีจะหมดลงในวันที่ 17 มิถุนายนนี้ หลังผ่านพ้นช่วงกำหนดเวลาการบริหารของสภาเมืองพัทยาชุดปัจจุบันที่จะหมดวาระลงเพียง 1 วัน
ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า สำหรับกรณีดังกล่าวทางเมืองพัทยาได้มอบหมายให้เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องทำการตรวจสอบพื้นที่ในส่วนที่ทางโครงการจะแก้ไข โดยตัดโครงสร้างของพื้นที่โครงการ จำนวน 5 ชั้นบนสุดออกเป็นการเร่งด่วน โดยแหล่งข่าวระดับสูงแจ้งว่า เบื้องต้นพบว่าพื้นที่โดยรวมที่ตัดออกนั้นอาจยังมีขนาดพื้นที่ไม่ครบจำนวนตามที่แจ้งไว้ที่ขนาด 5,099 ตร.เมตร ทั้งนี้ จะได้มีการจัดประชุมเร่งด่วนเพื่อนำมาหารือ และพิจารณาว่าตรงตามกรอบตามกฎหมาย และสมควรจะออกใบอนุญาตก่อสร้างเพิ่มเติมหรือ อ.1 ต่อไปหรือไม่ โดยหลายฝ่ายคาดว่าคงจะมีการชะลอ และอาจให้ทางโครงการไปทำการแก้ไขใหม่อีกรอบ ซึ่งคงจะไม่ทันการพิจารณาของผู้บริหารในชุดปัจจุบันที่จะหมดวาระลงในเร็ววันนี้
สำหรับกรณีของโครงการวอร์เตอร์ฟรอนต์ สวีท แอนด์ เรสซิเดนซ์ ปัจจุบัน ยังคงติดปัญหาในหลายกรณีจนทำให้ยังไม่สามารถดำเนินการก่อสร้างต่อไปได้ หลังจากถูกระงับตั้งแต่วันที่ 16 กันยายน 2557 หรือเป็นเวลากว่า 2 ปี ขณะที่การบริหารภายใต้การนำของ นายอิทธิพล คุณปลื้ม นายกเมืองพัทยา จะหมดวาระอย่างเป็นทางการลงในวันที่ 16 มิถุนายน 2559 นี้ จึงทำให้สังคมยังคงไม่ได้รับคำตอบที่ชัดเจนว่า สุดท้ายจะมีการพิจารณาความเห็นชอบในมีการก่อสร้างต่อในยุคสมัยการปกครองนี้ทันหรือไม่
ขอบคุณข่าวจาก MGR ONLINE
http://www.manager.co.th/Local/ViewNews.aspx?NewsID=9590000058356
พลัส พร็อพเพอร์ตี้ ขึ้นแท่นอันดับ 1 ด้านคุณภาพการบริหารจัดการระดับสากล กวาด ISO มากที่สุด ครบ 3 มาตรฐานครอบคลุมทุกมิติ เป็นเจ้าแรกในประเทศไทย
2022-07-14
นัมเบอร์วันเฮ้าส์ซิ่ง ดิเวลลอปเม้นท์ ส่งโครงการ THE ONE life bangna บุกเมกาบางนา บ้านเดี่ยวอารมณ์รีสอร์ตใช้ชีวิตใกล้ชิดธรรมชาติ ทำเลต้นบางนา
2022-07-14
Last Call Promotion!! กับแคมเปญ “ชีวาทัยเป็นได้มากกว่าเพื่อน” หมดเขต 31 ก.ค.นี้เท่านั้น
2022-07-14
ASW เสริมกลยุทธ์ Lifestyle Community จัด Monstr Concert Festival Series#1 ตอบรับไลฟ์สไตล์ลูกบ้านโครงการคอนโดฯ เคฟทาวน์ สเปซ
2022-07-14
เตือนภัยขอสินเชื่อบ้าน-ที่ดินระวังโดนโกง
2022-07-11
ขอบคุณความรู้ดีดีมากครับ
บทความดี รักษาคุณภาพต่อไปค่ะ ติดตามๆ
ครบทั้งข้อมูลโครงการ ทั้งข่าวอสังหาคัฟ สุดยอด