รายการโปรด
มนุษย์เงินเดือนทรงคุณค่า
Salaryman Estator
Salaryman คิดว่ามีผู้คนไม่น้อยที่กำลังน้อยเนื้อต่ำใจกับการเป็นมนุษย์เงินเดือนของตัวเอง โดยส่วนตัวผมไม่ค่อยเห็นด้วยเท่าไหร่นะ ถ้าเราจะเป็นอะไร เราน่าจะภูมิใจในสิ่งที่เรากำลังทำ เราสามารถเป็นมนุษย์เงินเดือนทรงคุณค่า (Value salaryman) ได้ถ้าเราเข้าใจคุณค่าของสิ่งที่เรากำลังทำและเข้าใจโลกแบบที่มันเป็น ไม่ใช่แบบที่เราอยากให้เป็น ผมขอแชร์แนวคิดหลักที่ผมใช้มาตลอด แบ่งไว้เป็น 5 หัวข้อในบทความนี้ครับ
1. โลกนี้มันไม่ได้ตามใจเรา
เราเกิดมาในโลกที่มีประชากรมากมาย ทุกคนมีความแตกต่างกันในหลายแง่มุม มันเป็นไปไม่ได้หรอกครับที่โลกมันจะเป็นแบบที่ใจเราคิดว่ามันควรเป็นตลอด "โลกมันไม่ได้ตามใจเรา" ถ้าโลกตามใจทุกคน ป่านนี้โลกคงแตกไปแล้ว ไม่น่าอยู่ยาวมาจนถึงตอนนี้ได้ เพราะงั้นถ้า Salaryman คนไหนกำลังคิดว่าต้องกล้ำกลืนฝืนทนทำงานประจำทั้งๆ ที่อยากทำธุรกิจส่วนตัวหรือลงทุนอะไรก็ตาม แต่ดันซวยเกิดมาบ้านไม่รวย ผมอยากให้ลองคิดอีกด้านนึงครับ การทำงานประจำมันคือ"โอกาส" ลองความสามารถของตัวเองว่าดีพอรึเปล่า คุณสามารถทดสอบความสามารถของตัวเองได้โดยมีบริษัทจ่ายเงินให้ถ้าเกิดพลาดอะไร คุณสามารถพัฒนาตัวเองและมีโอกาสสะสมเงินทุนในเวลาเดียวกัน
คุณคงกำลังคิดว่า"พัฒนาอะไรแอด งานที่ทำทุกวันนี้มันไม่ใช่งานที่ผมอยากทำ จะพัฒนาไปทำไม?" คำตอบของผมก็คือ คุณคิดว่าทำธุรกิจส่วนตัวจะเลือกทำแต่งานที่ชอบได้หรอครับ? และในความเป็นจริงการทำงานแต่ละงานมันมีเรื่องให้เรียนรู้มากกว่างานโดยตรง เช่นถ้าคุณเป็นวิศวกรคุณจะได้ฝึกทักษะการคิดเป็นระบบ ทักษะการเจรจาต่อรอง ทักษะการทำงานเป็นทีม และทักษะการนำทีมให้ได้ผลลัพธ์ที่ต้องการในเวลาที่ต้องการ ทักษะพวกนี้ทั้งหมดในอนาคตไม่ว่าคุณจะทำอะไรมันมีประโยชน์แน่นอนครับ อีกอย่างนึงก็คือ ถ้าคุณเข้าใจว่า"โลกไม่ได้ตามใจเรา" เวลาเราเจอปัญหาอะไรก็ตามในการทำงาน แทนที่คุณจะเสียเวลามานั่งหัวเสีย คุณจะใช้เวลาไปแก้ปัญหาแทน และคุณจะได้ทักษะการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าเพิ่มเติม ซึ่งเป็นทักษะทรงคุณค่าที่สร้างมูลค่าให้ตัวคุณได้อีกมาก
2. value = return
กฎของการดำรงชีวิตที่ผมเชื่อมั่นมากที่สุด "action=reaction" คุณอยากได้อะไร คุณต้องรู้ว่าคุณต้องให้อะไรออกไปเพื่อได้มันมา
ในโลกของการทำงาน กฎนี้จะกลายเป็น value = return บริษัทจะจ่ายให้คุณตามคุณค่า(value) ของตัวคุณที่สามารถสร้างประโยชน์ให้กับบริษัท ผมว่ากฎนี้จริงเสมอนะ (เน้นนะครับว่า value ของตัวคุณที่ให้กับบริษัท ไม่ใช่ value ของคุณตามความคิดของคุณเอง) คุณคงกำลังเริ่มเถียงในใจว่า "แอดโลกสวย ชีวิตจริงมันไม่ใช่" ผมถามคุณง่ายๆ ถ้าคุณคิดว่าคุณมีคุณค่ามากกว่าที่บริษัทจ่ายคุณเยอะ ทำไมคุณไม่ย้ายงานหละ? ลาออกพรุ่งนี้ได้เลย? บริษัททุกบริษัททำธุรกิจเพื่อผลประโยชน์ ถ้าคุณสร้างคุณค่าให้กับเค้าได้จริง เค้าควรจะแย่งชิงตัวคุณกัน จริงไหม๊ครับ?
ถ้าคุณเข้าใจว่า value = return คุณจะมุ่งมั่นไปที่การเพิ่มคุณค่าให้ตัวเอง ในระหว่างทางการเพิ่มคุณค่าคุณจะได้ทักษะต่างๆ ที่จำเป็นในอนาคตตามที่ผมพูดถึงก่อนหน้า และความภาคภูมิใจในตัวเองที่ได้สร้างผลงานดีๆ ออกมาอย่างต่อเนื่องอีกด้วย ถ้าคุณเลิกทำงานในอนาคต รายได้ของคุณจะเป็นไปตามผลงาน(value) ที่คุณสร้าง อยู่ดี ทำไมคุณถึงจะไม่สั่งสมทักษะตอนนี้ ในตอนที่ยังมีบริษัทรอจ่ายให้กับความผิดพลาดแทนคุณหละ?
3. value = return แต่มันไม่ real time
ทุกอย่างมันต้องใช้เวลา การที่คนอื่นจะมั่นใจในตัวคุณก็เช่นกัน ต่อให้คุณมีดีจริง คุณต้องใช้เวลาในการสร้างผลงานรอบแล้วรอบเล่า เพื่อให้ท่านๆ มั่นใจในตัวคุณ อันนี้ผมว่าแฟร์นะครับ ตัวคุณเองกว่าจะมั่นใจในอะไรซักอย่างเรายังต้องขอเวลาเลย บรรดาหัวหน้าคุณก็คนธรรมดานี่หละ ทำไมคุณถึงไปคาดหวังว่าเค้าจะเห็นคุณค่าของคุณแบบ realtime เลยหละ?
อีกประเด็นหนึงคือ บริษัทมีขั้นตอนและรูปแบบในการจัดการเพื่อพนักงานโดยมองเป็นภาพรวมไม่ใช่คนใดคนหนึ่ง ยิ่งทำให้ขั้นตอนการ return อะไรให้คุณใช้เวลาขึ้นไปอีก ถ้าคุณเข้าใจว่า Value = Return แต่มันไม่ real time ซึ่งเป็นความจริงที่คุณเปลี่ยนมันไม่ได้ วันนึงที่คุณเป็นหัวหน้าคุณก็จะต้องทำเหมือนกัน โดยส่วนมากต่อให้คุณพิสูจน์ตัวเองได้แล้วว่าคุณมีดีพอ แต่ return กว่ามันจะตามมาใช้เวลาอีก 3-6 เดือน ถ้าคุณเข้าใจจุดนี้ คุณจะเลิกโฟกัสไปที่ return มาโฟกัสที่ value แทน ไม่เสียเวลาไปหงุดหงิดกับมัน
4. อย่าปีนสูงไปอยู่คนเดียว
Teamwork เป็นทักษะที่สำคัญในการทำงาน และมนุษย์เป็นสัตว์สังคม ถ้าคุณคิดแต่จะสร้างผลงานโดยเหยียบหัวเพื่อน ลืมคนที่เคยสนับสนุนคุณ ไม่ให้เกียรติเพื่อนร่วมงาน คุณจะขึ้นไปได้แค่ระดับนึง แล้วคุณจะติดกับดักไปต่อไม่ได้ คนที่ทำงานโดยคนรอบข้างไม่สนับสนุน และไม่ได้มีความสุขกับการทำงาน ทำอยู่คนเดียว ไม่มีเพื่อน มีแต่คนเกลียด มีแต่คนรอแทงข้างหลัง ถ้าคุณยังมีความสุขได้คุณต้องเป็นยอดมนุษย์หุ่นเหล็กแน่ๆ
ผมไม่เห็นประโยชน์ของการปีนสูงไปคนเดียวโดยการเหยียบหัวคนอื่นเลย เพราะทักษะเหล่านี้มันไร้ประโยชน์ ไม่ได้สร้าง value ใดๆ ในระยะยาว และคุณใช้ประโยชน์อะไรจากมันไม่ได้เลย ณ วันที่คุณลาออกจากบริษัทไป คุณเองก็คงไม่ได้เป็น Salaryman ไปตลอดชีวิต จริงไหม๊?
5. วางแผนชีวิตที่มากกว่างานประจำ
เราคงเป็นมนุษย์เงินเดือนไปตลอดไม่ได้เนอะ และเราก็คงไม่อยากเป็นไปตลอดด้วย อย่างน้อยๆ หลัง 60 เราก็เกษียณ แถมสมัยนี้อาจโดนยื่นซองขาวตั้งแต่อายุ 40 ได้เกษียณก่อนวัยอันควร เราอย่ารอให้ถึงเวลาที่เราต้องเป็นแค่"ตัวเลือกของบริษัท"เลยครับ เปลี่ยนตัวเองเป็นผู้เลือกได้นะ
ทำไงหละ? ขั้นแรกเราก็ต้องเป็น Value Salaryman ก่อนตามข้อก่อนหน้า เราจะสามารถสร้าง value ได้มากกว่าเงินเดือน บริษัทจะอยากให้เราทำงานต่อ ในเวลาเดียวกัน เราใช้เวลาไปสร้างสิ่งที่เราชอบ ลงทุน สร้างธุรกิจ ทำบ้านเช่า ลงทุนหุ้น หรืออะไรก็ได้ที่คุณรัก โดยไม่ต้องไปโฟกัสที่รายได้มากนัก แต่วันนึงมันจะสร้างได้เอง แค่นี้เราก็เป็นผู้เลือกละครับ เมื่องานที่เรารักใหญ่มากพอ เราก็มีสิทธิ์เลือกว่าเมื่อไหร่เราอยากได้เวลาคืนแลกกับการอดเงินเดือน (แต่เวลาที่เราได้คืนมาอาจสร้างอะไรได้มากกว่าเงินเดือนมาก) "อยู่อย่างผู้เลือก สบายใจกว่ามากครับ"
ทั้งหมดที่ผมพูดถึงข้างต้นผมยืนยันว่าผมไม่ได้โลกสวยนะ ไม่ได้จินตนาการ ทั้งหมดมาจากประสบการณ์ตรง ผมเขียนบทความนี้ขึ้นไม่ได้กำลังสรรเสริญการเป็นมนุษย์เงินเดือน เพราะวันนึงผมก็คงเลิกเป็นเหมือนกัน แต่ผมแค่อยากชี้ให้เห็นถึงเหรียญอีกด้านที่ไม่ค่อยมีคนพูดถึง การเป็นมนุษย์เงินเดือนมีเรื่องอึดอัดมากมาย แต่มันก็มีด้านดีๆ มากมายเช่นเดียวกัน (ถ้าเราเปิดใจมองมัน)
ลองเปิดใจกับมันครับ เราเลือกที่จะเป็นมนุษย์เงินเดือน เราก็น่าจะเป็นมันแบบเท่ๆ แบบที่เราภูมิใจในสิ่งที่เราทำ เป็นมันแบบ "Value Salaryman" ตามสไตล์ SalaryEstator ขอให้มีความสุขกับวันเงินเดือนออกครับ
บทความมีประโยชน์มากค่ะ
อ่านแล้ว รู้ความเคลื่อนไหวในวงการอสังหาเลยครับ ^^ ขอบคุณผู้เขียนครับ
โดยรวมโอเค พัฒนาต่อไปครับ
ตัวหนังสืออ่านง่ายมาครับ
อ่านยังไงให้เสียตังงงงงงงง เขียนแบบนี้ต้องเสียตังแน่ๆ