รายการโปรด
Subprime คืออะไร?
คำอธิบายแบบง่ายๆ ที่คนทั่วไปก็เข้าใจ
วิกฤตการเงินที่คนรู้จักมากที่สุดคงหนีไม่พ้นวิกฤตที่มีต้นตอจากลูกพี่ใหญ่ US Subprime ที่เกิดขึ้นช่วงปี 2007 คำถามคือ "USA ผู้เก่งกาจและมั่นใจผงาดโลก ไปพลาดได้ยังไง"
คุณคงเคยได้ยินมาว่าสาเหตุมาจากฟองสบู่อสังหาฯ หรือพูดง่ายๆคือ "บ้านมันแพงเกินไป" จนสุดท้ายมันถล่มลงมาพังกันหมดทั้งกระดาน แต่ในความเป็นจริงสหรัฐไม่ได้แย่ขนาดนั้นนะครับ ไม่ใช่แค่ ซื้อขายบ้าน กันไปมา ปั่นราคาไปเรื่อยจนบ้านแพงไปและฟองสบู่แตก
วิกฤตไม่ได้เกิดง่ายแบบนั้น ถ้าแค่นั้นคงแก้ปัญหาได้ก่อนที่จะถล่ม หรืออย่างน้อยก็ลดผลกระทบไม่ให้พังทลายกันหมดแบบนี้ ผมขอเล่าลำดับเหตุการณ์วิกฤตนี้ง่ายๆ ใน 5 ลำดับเหตุการณ์ครับ
แนะนำผู้ร่วมเหตุการณ์ก่อน
นายเม่า = American Dreamer ผู้อยากมีบ้านเป็นของตัวเองแต่เครดิตไม่ดี กู้ธนาคารแบบปกติไม่ได้
นาย Bank = นายธนาคารและบูชาเงิน
นายม่อง = เศรษฐีผู้รักการลงทุนแบบเสี่ยงน้อย
นายนิรนาม = ผู้คอยหยิบชิ้นปลามัน
นายเม่า อยากได้บ้านกันมาก แต่ไม่เจียมตัว เลยหาทางกู้ธนาคารทุกวิธี แต่ไปกู้ธนาคารไหนก็ไม่ให้กู้ เพราะรายได้ไม่พอกับที่ต้องผ่อนธนาคาร แถมไม่มีสินทรัพย์อะไรมาค้ำประกันได้เลย
นาย Bank ผู้ชาญฉลาดมองเห็นว่าผู้คนมากมายเหลือเกินที่อยากได้บ้าน แต่เครดิตไม่ดี ทำให้นาย Bank ต้องคอยนั่งปฏิเสธ คนอย่าง "นายเม่า" ที่มาขอกู้ซื้อบ้าน
นาย Bank จึงเสนอการกู้แบบพิเศษให้นายเม่า คือการปล่อยกู้แบบ Subprime Loan หมายถึงการปล่อยกู้ให้ลูกหนี้ที่มีความเสี่ยงสูง โดยจะให้ผ่อนน้อยๆ แต่คิดดอกโหดๆ แบบที่เรียกว่าถ้าผ่อนอย่างเดียว ชาตินี้ก็ไม่หมด เพราะที่ผ่อนไปเป็นแต่ดอกเกือบทั้งหมด คนอย่างนายเม่า คงคิดว่าซักวันจะรวย แล้วเอาเงินมาปิด แต่ส่วนใหญ่มันไม่เป็นแบบนั้น
หลายคนอาจสงสัยว่า อ้าว ทำแบบนี้นาย Bank ไม่กลัวนายเม่าเค้าผ่อนไม่ไหว แล้วไม่ผ่อนต่อ เป็นหนี้เสียรึไง
คำตอบคือ เค้าไม่กลัวครับ เพราะเค้าคิดว่าอสังหาฯมีแต่ขึ้นไม่มีลง ต่อให้ นายเม่า ไม่ผ่อนต่อ เรายึดมาขายใหม่ก็ยังกำไร แต่ถ้านายเม่าหรือคนแบบนายเม่าหลายๆคนจะทิ้งหนี้มาพร้อมๆกัน จะทำยังไง ถึงให้เอามาขายใหม่ได้กำไร ก็ไม่ใช่จะขายกันง่ายๆ ยังไงก็มีความเสี่ยงอยู่นี่หว่า ทำยังไงดีหว่า
Bank นั่งคิดอยู่พักใหญ่ จนเกิดไอเดียสุดเจ๋งขึ้นมา เค้ารู้จัก"นายม่อง"เศรษฐีที่อยากลงทุนแบบความเสี่ยงต่ำแต่เงินงอกดีกว่าเงินฝาก" นี่หว่า ทำไมไม่ให้เค้าปล่อยกู้กันเองหละ" Bank ไม่รอช้า สร้างตัวกลางที่ชื่อว่า MBS ขึ้นมา ซึ่งสามารถรับเงินจากนายม่องมาปล่อยกู้ให้นายเม่าและผองเพื่อน โดย Bank เป็นตัวกลางให้และกินค่าหัวคิว
ฉลาดสุดๆ ไอเดียง่ายๆ แต่ระดับโลก ทุกอย่างดูดีนะ นายเม่าได้บ้าน นายม่องได้ดอกซึ่งสูงกว่าฝากธนาคาร นาย Bank ได้ค่าหัวคิว แถมไม่เสี่ยงอะไรเลย win-win happy-happy ยาวไป
ผ่านไปหลายปีหลังจาก MBS เกิดขึ้น ไอเดียสุดเจ๋งยังคงดำเนินต่อไปแต่เกมมันมาพลิกที่ว่า เพื่อนนายเม่าบางคนที่ดูแล้วไม่น่าจะผ่อนบ้านไหว แต่ก็อยากได้บ้านบ้างเพราะเพื่อนก็มีกันหมดแล้ว กิเลสไม่เข้าใครออกใคร นายเม่าและผองเพื่อนยังคงไปขอ Bank เพื่อกู้ซื้อบ้านแบบผ่อนน้อยปีแรก
นาย Bank เห็นว่าเสี่ยง กำลังว่าจะปฏิเสธ แต่ คิดได้ว่า "ปล่อยไปตูได้ค่าหัวคิว ส่วนคนรับความเสี่ยงคือนายม่อง ซึ่งก็ไม่น่าเป็นไร เพราะเวลานายม่องปล่อยเงินผ่าน MBS ก็ปล่อยเป็นก้อนใหญ่ มีปลาเน่าผสมไปบ้างไม่น่าจะมีปัญหาอะไร" แบบนี้ปล่อยกู้ไปสิครับ จะรออะไร win-win เหมือนเดิม
ผ่านไปอีก 1 ปี นาย Bank ละเลยความระมัดระวัง ปล่อยตัวปล่อยใจ ใช้เงินเหมือนเผากระดาษเพราะค่าหัวคิวจาก MBS มันช่างเยอะเหลือเกิน และยังคงปล่อยออกไปเรื่อยๆ ไม่หยุดยั้ง ด้วยความเชื่อที่ว่า"ยังไงราคาบ้านมีแต่ขึ้นไม่มีทางลง"
วิกฤตเริ่มก่อตัวขึ้นมายาวนานหลายปี ไม่มีใครแม้แต่จะทันระวังว่ามีเพื่อนนายเม่าจำนวนมากที่กำลังซื้อบ้านที่ตัวเองไม่มีปัญญาผ่อนในระยะยาว หวอดแห่งวิกฤตนี้ได้ใหญ่ขึ้น วันแล้ววันเล่าโดยไม่มีใครเหลียวแล
จวบจนหวอดนี้ได้ส่งสัญญาณเตือนขั้นต้น เพื่อนนายเม่าจำนวนนึงไม่สามารถผ่อนบ้านไหวต้องหนีหนี้ คนจำนวนนึงในสังคม(แต่ยังเป็นจำนวนน้อย) เริ่มตั้งคำถามเกี่ยวกับ MBS และวิกฤตอสังหาฯ
แทนที่นาย Bank จะหยุดสร้าง MBS เพื่อจำกัดความเสี่ยง กลับโดนความโลภบังตาจับ MBS หลายๆ ตัว มัดรวมเป็นมัด เปลี่ยนชื่อซะให้เป็น CDO แล้วเอาไปขายนายม่องต่อ บอกนายม่องว่า CDO ดีสุดๆ ปลอดภัยยิ่งกว่า MBS เปรียบประดุงดั่งท่อนไม้ห่อรวมกันยากจะหักโค่น และแล้วนายม่องก็ซื้อ CDO ไปในที่สุด
ผ่านไปอีก 1 ปี คนจำนวนมากขึ้นเริ่มสงสัยในความมั่นคงของตลาดบ้าน มีคนไม่น้อยเริ่มอยากจะ"พนัน/แทงลง"ว่าตลาดบ้านจะพังในอนาคต (การพนันว่าจะพังมีจริงๆ นะครับในเกมการลงทุน แต่จะมีชื่อสวยๆ เท่ๆ เช่น Credit Default Swap)
เกร็ดความรู้: การแทงลงเป็นเครื่องมือในการทำประกันที่มีประโยชน์นะครับ เช่น คุณทำประกันรถ อีกนัยหนึ่งคือคุณกำลังแทงว่าถ้ารถจะเกิดอุบัติเหต ต่างอย่างเดียวคือในโลกการเงินคุณแทงว่ารถคนอื่นจะเกิดอุบัติเหตุได้ เลยโดนเอาไปใช้คล้ายการพนันและเก็งกำไร
พอคนอยากพนันว่าตลาดบ้านจะพัง นาย Bank ผู้รักเงินเป็นชีวิตจิตใจ แทนที่จะกลัว กลับรับแทงหมดหน้าตักจากกลุ่ม"นายนิรนาม" เพราะมั่นใจว่าตลาดบ้านไม่น่าจะพังลง และอยากได้ค่าหัวคิวจากการขาย(ค่าคอมฯมันเร่าร้อน)
นายเม่าและเพื่อนไม่มีเงินผ่อนบ้าน บ้านโดนขายทอดตลาด ราคาบ้านลดลงอย่างรวดเร็ว ราคาขายทอดตลาดไม่พอจ่ายหนี้ พังกันหมดนายม่องไม่ได้เงินคืน ตลาดบ้านล้มครืน นาย Bank ล้มละลายเพราะดันรับแทงลงไว้ นายนิรนามรวยจากการแทงลง จบกันแบบเจ็บๆ
เป็นยังไงกันบ้างครับ หวังว่าบทความนี้จะพอช่วยให้เห็นภาพมากขึ้นนะครับ ผมว่าเราเรียนรู้อะไรได้หลายอย่างจากเหตุการณ์นี้นะ
1. วิกฤตมันไม่ได้เกิดกันง่ายๆ มันมีช่วงเวลาก่อหวอดนานพอควร และวิกฤตมันจะแรงถ้าคนไม่ระวัง อย่างนาย Bank ทำให้เรื่องแรงขึ้นเรื่อยๆถ้ายอมหยุดแค่ MBS คงไม่เจ็บมากเท่านี้ ผมว่าเหตุการณ์ในไทยตอนนี้ห่างกับวิกฤตนะ แต่อาจมีวิกฤตในต่างประเทศนำปัญหามาให้ถึงที่ได้
2. ความโลภเป็นตัวสร้างวิกฤตทุกรอบ เพราะงั้นเมื่อไหร่ก็ตามประเทศเต็มไปด้วยความโลภ "จงระวัง"
3. วิกฤตตัวจริงซับซ้อนและอาจเกิดขึ้นที่ไหนก็ได้ในโลก ยากเกินกว่าเราจะไปคาดเดาล่วงหน้า แทนที่จะไปนั่งคาดเดาล่วงหน้า เราควรลงทุนต่อไปแต่ต้องมีแผนสองเสมอ เอาเป็นว่าถ้าพรุ่งนี้เกิดวิกฤตเราต้องไปต่อได้ ผมว่าน่าจะดีกว่าครับ
4. สุดท้าย คุณจะเห็นคนที่จับโอกาสได้ในวิกฤตเสมอ อย่าเมาหมัดเกินไปเมื่อวิกฤตมาเพราะโอกาสก็กำลังมา
5 ไอเดียตกแต่งบ้านเหนือกาลเวลา
2024-03-12
แนะนำ 7 สไตล์การตกแต่งสุดฮิต เอาไว้เป็นไอเดียในการตกแต่งคอนโด
2023-07-10
เช่าคอนโดดีไหม หรือซื้อดีกว่า แบบไหนตอบโจทย์มากที่สุด
2024-07-31
5 วิธีไล่แมลงหวี่ กำจัดแมลงหวี่ในบ้านแบบอยู่หมัด!
2024-07-09
รวมประเด็นที่ต้องคิด ก่อนตัดสินใจลงทุน ปล่อยเช่าคอนโด
2019-06-04
ชอบมาก อ่านเข้าใจง่าย
ดีนะคะ ลงบทความมาให้อ่านบ่อยๆ นะคะ
เนื้อหาดีค่ะ