News
icon share

มาตรการรัฐพยุงอสังหาฯ ดันยอดสะสม 9 เดือนแรกยังโตได้

LivingInsider Report 2016-12-08 10:29:13
มาตรการรัฐพยุงอสังหาฯ ดันยอดสะสม 9 เดือนแรกยังโตได้

                          

 

ศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ศขอ.) หรือ REIC สำรวจตลาดที่อยู่อาศัยในเขตกรุงเทพฯและปริมณฑล 5 จังหวัด (นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ สมุทรสาคร และนครปฐม) พบว่า ในภาพรวมดีมานด์มีการขยายตัวเพิ่มขึ้นมากในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2559 เป็นผลมาจากซัพพลายถูกดูดซับในช่วงมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจภาคอสังหาริมทรัพย์ โดยการลดค่าธรรมเนียมการโอนและจดจำนอง ส่งผลให้ยอดโอนกรรมสิทธิ์ Q1/59 และ Q2/59 สูงกว่าช่วงเวลาเดียวกันของปี 2558 ตั้งแต่ 20.51% และ 21.92% ตามลำดับ 

 

 

ทั้งนี้ แม้ยอดโอนกรรมสิทธิ์ Q3/59 ลดลง แต่ภาพรวมการโอนสะสม 3 ไตรมาส (มกราคม-กันยายน 2559) เพิ่มขึ้น 1.16% เทียบกับช่วงเดียวกันปี 2558 จาก 132,773 หน่วย เป็น 134,319 หน่วย

 

 

ในด้านที่อยู่อาศัยโอนกรรมสิทธิ์ช่วง 4 เดือนแรก (มกราคม-เมษายน 2559) ที่มีมาตรการกระตุ้นอสังหาฯ พบว่ามียอดโอนเพิ่มขึ้น 57% เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยอาคารชุดมียอดโอนเพิ่มถึง 147% ขณะที่แนวราบโอนกรรมสิทธิ์เพิ่ม 8%

 

 

Q3 จดทะเบียน 9 หมื่นหน่วย

 

 

"วิชัย วิรัตกพันธ์" ผู้อำนวยการฝ่ายประเมินผลองค์กร ธอส. รักษาการผู้อำนวยการศขอ. ระบุว่า ในช่วง Q3/59 หรือ 9 เดือนแรก/59 ตลาดที่อยู่อาศัยมีการปรับตัวของซัพพลายและดีมานด์สอดคล้องกันมากขึ้นดังนี้

 

 

ในด้าน"ซัพพลาย" ข้อมูลที่อยู่อาศัยสร้างเสร็จจดทะเบียนใหม่ และโครงการเปิดขายใหม่พบการเปลี่ยนแปลง โดยช่วง Q3/59 ที่อยู่อาศัยสร้างเสร็จจดทะเบียนใหม่มีหน่วยสะสมรวม 93,412 หน่วย เพิ่มขึ้น 1% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ที่มีหน่วยสะสม 92,542 หน่วย 

 

 

ส่วนหน่วยที่เกิดขึ้นเฉพาะ Q3/59 น้อยกว่า Q3/58 ประมาณ 13% แต่หากเทียบกับ Q2/59 ขยายตัวถึง 76% สะท้อนให้เห็นทิศทางซัพพลายเพิ่มสูงขึ้นเพื่อรองรับการขยายตัวของดีมานด์ในตลาด รายละเอียดสัดส่วนรายพื้นที่ ทำเลกรุงเทพฯ 45,803 หน่วย หรือ 49% และ 5 จังหวัดปริมณฑล 47,609 หน่วย หรือ 51%

 

 

ที่น่าสนใจ คือ 5 จังหวัดปริมณฑลเพิ่มขึ้น 23% ส่วนกรุงเทพฯหดตัว -15% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

 

 

มาตรการรัฐพยุงอสังหาฯ ดันยอดสะสม 9 เดือนแรกยังโตได้

 

 

คอนโดฯแรงไม่ตก 58%

 

 

โดยหน่วยสร้างเสร็จจดทะเบียนใหม่นั้น "คอนโดมิเนียม" มีสัดส่วนสูงสุด 58% หรือ 54,026 หน่วย รองลงมาเป็นบ้านเดี่ยว สัดส่วน 26% หรือ 24,150 หน่วย, ทาวน์เฮาส์ 12% หรือ 11,418 หน่วย, อาคารพาณิชย์พักอาศัย 3% หรือ 2,475 หน่วย และบ้านแฝด 1% หรือ 1,343 หน่วย

 

 

พื้นที่ 5 อันดับแรกประเภทอาคารชุด ได้แก่ "อำเภอธัญบุรี" 7,800 หน่วย "อำเภอเมืองนนทบุรี" 6,600 หน่วย "อำเภอเมืองสมุทรปราการ" 3,500 หน่วย (เป็นของโครงการบ้านเอื้ออาทร 900 หน่วย) "อำเภอเมืองสมุทรสาคร" 3,200 หน่วย (รวมบ้านเอื้ออาทร 3,100 หน่วย, โครงการเอกชน 100 หน่วย) และ "เขตจตุจักร" 2,900 หน่วย

 

 

พื้นที่ 5 อันดับแรกประเภทแนวราบ ได้แก่ "อำเภอบางบัวทอง" 2,400 หน่วย "อำเภอเมืองสมุทรสาคร" 2,000 หน่วย "อำเภอเมืองสมุทรปราการ" 2,000 หน่วย "อำเภอเมืองปทุมธานี" 2,000 หน่วย และ "อำเภอบางพลี สมุทรปราการ" 1,700 หน่วย

 

 

ห้องชุดฝั่งธนแซงเมืองนนท์

 

 

ในด้าน "โครงการที่อยู่อาศัยเปิดขายใหม่" พบว่า มีซัพพลายเกิดใหม่ 313 โครงการ 70,131 หน่วย แบ่งเป็นบ้านจัดสรร 209 โครงการ 32,972 หน่วย เพิ่มขึ้น 3% และห้องชุด 109 โครงการ 37,159 หน่วย ลดลง -17% เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนในภาพรวม หน่วยเปิดขายใหม่ในช่วง Q3/59 ลดลง -9% เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เป็นผลมาจากการเปิดตัวคอนโดฯ

 

 

ใหม่ลดลงในช่วง Q1/59-2/59 มาเปิดกระจุกตัวเพิ่มขึ้นใน Q3/59 ทำให้ภาพรวม 9 เดือนแรกมีคอนโดฯเปิดขายใหม่ลดลง -17% สวนทางบ้านจัดสรรเปิดขายใหม่เพิ่มขึ้น 3%

 

 

ทำเล 5 อันดับแรกมีบ้านจัดสรรเปิดใหม่สูงสุด ได้แก่ "บางกรวย-บางใหญ่-บางบัวทอง-ไทรน้อย" 6,560 หน่วย "สมุทรปราการ" 6,490 หน่วย "ลำลูกกา-คลองหลวง-ธัญบุรี-หนองเสือ" 3,890 หน่วย "อำเภอเมืองปทุมธานี-ลาดหลุมแก้ว-สามโคก" 2,580 หน่วย "สมุทรสาคร" 2,110 หน่วยทำเล 5 อันดับแรกมีอาคารชุดเปิดขายใหม่สูงสุด ได้แก่ "ธนบุรี" 8,710 หน่วย "นนทบุรี" 5,070 หน่วย "สมุทรปราการ" 2,570 หน่วย "ห้วยขวาง-จตุจักร-ดินแดง" 2,290 หน่วย และ "สุขุมวิทตอนต้น" 2,250 หน่วย

 

 

เจาะลึกเฉพาะ Q3/59 พบมีโครงการเปิดขายใหม่ 115 โครงการ 28,741 หน่วย เพิ่มขึ้น 20% แบ่งเป็นบ้านจัดสรร 81 โครงการ 14,073 หน่วย เพิ่มขึ้น 18% ห้องชุด 34 โครงการ 14,668 หน่วย เพิ่มขึ้น 22% เทียบกับ Q3/58 มีโครงการเปิดขายใหม่ 101 โครงการ 23,989 หน่วย แบ่งเป็นบ้านจัดสรร 71 โครงการ 11,938 หน่วย ห้องชุด 30 โครงการ 12,051 หน่วย

 

 

ฮิตบ้านเดี่ยว-ทาวน์เฮาส์มือสอง 

 

 

ในด้าน "ดีมานด์" ศขอ.สำรวจข้อมูลการโอนกรรมสิทธิ์ที่อยู่อาศัย และข้อมูลสินเชื่อที่อยู่อาศัย พบการเปลี่ยนแปลงสำคัญดังนี้

 

 

ในช่วง Q3/59 มียอดโอนสะสม 134,300 หน่วย มูลค่าการโอน 327,421 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1% เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มี 132,800 หน่วย มูลค่า 322,813 ล้านบาท 

 

 

ส่วนใหญ่เป็นยอดโอนอาคารชุดมากที่สุด 51% ของจำนวนหน่วย และ 42% ของมูลค่าการโอน รองลงมาเป็นทาวน์เฮาส์ 29% ของจำนวนหน่วย และ 21% ของมูลค่าโอน และบ้านเดี่ยว 12% ของจำนวนหน่วย และ 25% ของมูลค่าการโอน สถิติพบด้วยว่า ช่วง Q3/59 แนวราบเริ่มมีการโอนในแง่จำนวนหน่วยลดลงจาก 64% เหลือ 48% และมูลค่าการโอนลดลงจาก 66% เหลือ 58% สอดคล้องกับทิศทางการเปลี่ยนแปลงของซัพพลายในตลาด

 

 

ไฮไลต์ข้อมูลในด้านสัดส่วนการโอนกรรมสิทธิ์ระหว่าง"หน่วยขายใหม่กับหน่วยขายมือสอง" มีสัดส่วน 65 : 35 โดยอาคารชุดมีสัดส่วน 85 : 15 และบ้านแฝดมีสัดส่วน 68 : 32 ขณะที่บ้านเดี่ยวมีสัดส่วน 44 : 56 และทาวน์เฮาส์มีสัดส่วน 46 : 54 โดยอาคารพาณิชย์มีสัดส่วนต่ำสุด 28 : 72 

 

 

มาตรการรัฐดันสินเชื่อโต

 

 

ในด้าน "สินเชื่อที่อยู่อาศัยปล่อยใหม่" ข้อมูลทั่วประเทศ พบว่า 9 เดือนแรกปีนี้มีมูลค่า 426,987 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 2% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีมูลค่า 418,841 ล้านบาท 

 

 

ทั้งนี้เฉพาะ Q3/59 สินเชื่อปล่อยใหม่มีมูลค่า 136,098 ล้านบาท ลดลง 12% จากไตรมาสก่อนหน้า และลดลง 5% จากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน

 

 

ในด้าน "สินเชื่อที่อยู่อาศัยคงค้าง" ข้อมูล ณ สิ้น Q3/59 มีมูลค่า 3,257,782 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1% จากไตรมาสก่อนหน้า และเพิ่มขึ้น 8% เทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน 

 

 

สะท้อนให้เห็นว่ามาตรการกระตุ้นอสังหาฯ เป็นตัวช่วยตลาดสินเชื่อที่อยู่อาศัยขยายตัวสูงกว่า 9 เดือนแรกปี 2558 และ Q3/59 ขยายตัวสูงกว่า 1% เทียบกับช่วงเดียวกันปีที่แล้ว

 

 

ขอบคุณภาพและข่าวจาก ประชาชาติธุรกิจ

 

 

http://www.prachachat.net/news_detail.php?newsid=1481071362

>> ช่องทางในการติดตามข่าวสาร <<
ไม่พลาดข่าวสำคัญ แค่กดเป็นเพื่อนกับ ไลน์ @livinginsider ที่นี่

บทความอื่นๆ

livinginsider livinginsider