รายการโปรด
หวั่นผลเจรจาสัมปทานสายสีน้ำเงินรัฐเสียเปรียบเอกชน ชง "บิ๊กตู่" ตั้งกรรมการชุดใหม่ล้มโต๊ะเจรจาตรง BEM แยกเปิดประมูลใหม่ หลังผ่าทางตัน 1 สถานี "บางซื่อ-เตาปูน" สำเร็จ ดีเดย์กลางปีหน้าเดินรถฉลุย คาดดึงคนใช้สีม่วงเพิ่ม 1 หมื่นเที่ยวคน/วัน
แหล่งข่าวจากทำเนียบรัฐบาล เปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า หลังจาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ใช้อำนาจตามคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ฉบับที่ 42/2559 ในข้อ 5 ให้ขยายระยะเวลาการแก้ปัญหาการดำเนินโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ในส่วนการเชื่อมต่อและร่วมใช้ระบบรถไฟฟ้า การพิจารณาคัดเลือกเอกชน และการแก้ไขสัญญาร่วมทุนออกไปอีก 30 วัน และให้รายงานผลต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) นั้น มีความเห็นจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อประกอบการพิจารณา
ชงบิ๊กตู่ตั้งกรรมการใหม่ฟันธง
โดยเสนอให้นายกรัฐมนตรีใช้อำนาจตามประกาศดังกล่าวในข้อ7ที่ระบุให้ตั้งกรรมการขึ้นมาใหม่1ชุด โดยกรรมการชุดนี้จะกลับไปเริ่มต้นเจรจาใน 3 ประเด็นใหม่อีกครั้ง รวมทั้งอาจมีข้อเสนอให้ล้มเลิกการเจรจากับ บมจ.ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ (BEM) ผู้รับสัมปทานรายเดิมได้ด้วย
แหล่งข่าวฝ่ายกฎหมายหน่วยงานที่ทำความเห็นประกอบการพิจารณากล่าวว่า แม้ว่าขณะนี้การดำเนินการสถานีเชื่อมต่อ 1 สถานีจากสถานีบางซื่อ-เตาปูน จะเจรจาจบไปแล้วในทางเทคนิค ด้วยการให้รัฐบาลโดยการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เป็นผู้ลงทุนโครงสร้างพื้นฐานเองทั้งหมด แล้วจ้าง BEM เป็นผู้เดินรถ 1 สถานี พร้อมเร่งรัดให้เปิดใช้ภายใน 6-8 เดือน จากเดิม 15 เดือน
เอกชนเสนอรัฐอุดหนุนขาดทุน
"การเจรจาส่วนที่เหลือ เช่น การรวมสัญญาส่วนต่อขยาย รัฐบาลจะไม่แก้สัญญาสัมปทานเดิม จะต้องมีการต่อรองกันใหม่ เพราะเชื่อว่าเมื่อ 1 สถานีเชื่อมต่อเปิดดำเนินการ ปริมาณผู้โดยสารจะเพิ่มขึ้นการอ้างขาดทุน รายได้ไม่เป็นไปตามเป้า ก็จะฟังไม่ขึ้น ในส่วนของสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยายใหม่บางซื่อ-ท่าพระ และหัวลำโพง-บางแค ที่จะเชื่อมต่อกับสีน้ำเงินเดิม อาจจะมีการเปิดประมูลใหม่ และมีส่วนขยายใหม่จากบางแคต่อไปถึงพุทธมณฑลสาย 4 เพิ่มเข้ามาในประเด็นการเจรจาต่อรอง" แหล่งข่าวกล่าวและว่า
ข้อเสนอของเจ้าของสัมปทานรายเดิมนั้น ทำให้รัฐบาลค่อนข้างเสียเปรียบ เช่น 1) การขอทบทวนแก้สัญญาเดิม โดยอ้างเรื่องจำนวนผู้โดยสารไม่เป็นไปตามเป้า 2) ขอรวมสัญญา และขอขยายสัญญาสัมปทานเดิมจะสิ้นสุดปี 2572 ออกไปอีก 20 ปี ถึงปี 2592 และ 3) ขอต่อขยายโครงการใหม่จากบางแคไปถึงพุทธมณฑลสาย 4 พร้อมกับขอให้รัฐบาลอุดหนุนเป็นวงเงินในส่วนที่ผู้รับสัมปทานมีรายได้ไม่เป็นไปตามเป้าด้วย
เชื่อ9กรรมการใหม่ล็อบบี้ยาก
แหล่งข่าวจากทำเนียบรัฐบาลเปิดเผยอีกว่าข้อเสนอดังกล่าวหากกรรมการที่กำลังทำหน้าที่เจรจาอยู่นี้เห็นชอบ จะทำให้รัฐบาลเสียเปรียบ จึงควรจะตั้งกรรมการขึ้นมาใหม่เพื่อทบทวนการเจรจาใหม่ ตามข้อ 7 ใน ม.44 ที่ระบุให้มี 9 คน เชื่อว่าบุคคลเหล่านี้จะเจรจาให้รัฐบาลได้ประโยชน์มากขึ้น และยากที่เอกชนจะล็อบบี้นอกรอบการเจรจา อาทิ ปลัดกระทรวงคมนาคม เป็นประธาน ปลัดกระทรวงการคลัง เลขาธิการสภาพัฒน์ เลขาธิการกฤษฎีกา ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ อัยการสูงสุด และผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ ร่วมเป็นกรรมการ โดยผู้ว่าการ รฟม.ยังคงเป็นกรรมการและเลขานุการ
คมนาคมยันปิดดีล 18 ธ.ค.นี้
แหล่งข่าวจากกระทรวงคมนาคมกล่าวว่า ขณะนี้คณะกรรมการกำกับดูแลสายสีน้ำเงินเดิมตามมาตรา 43 และคณะกรรมการคัดเลือกสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยายตามมาตรา 35 แห่ง พ.ร.บ.ร่วมลงทุนฯ 2556 กำลังเร่งเจรจา BEM ให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 18 ธ.ค.นี้ตามที่นายกรัฐมนตรีได้ขยายเวลาให้ 30 วัน
แนวโน้มจะได้ข้อยุติ ซึ่ง BEM ยอมปรับลดเงื่อนไขและค่าใช้จ่ายบางส่วน เช่น ลดค่าเดินรถ งานระบบ ซ่อมบำรุง ไม่เก็บค่าแรกเข้าต่อที่ 2 เก็บค่าโดยสารสูงสุดไม่เกิน 42 บาท อายุสัญญาสัมปทานหมดอายุพร้อมกันในปี 2592 รัฐได้รับผลตอบแทนรายได้ของสัมปทานเดิมจนถึงปี 2572 วงเงิน 28,000 ล้านบาท ส่วนระยะเวลาที่ขยายเพิ่มไปถึงปี 2592 จะเจรจากันใหม่รวมกับสีน้ำเงินส่วนต่อขยายที่คณะกรรมการกำลังเร่งเจรจา
"มีแนวโน้มที่เอกชนจะยอมรับข้อเสนอของรัฐที่จะไม่มีการอุดหนุนรายได้แต่อย่างใดแต่จะเจรจากันบนพื้นฐานสัมปทานส่วนต่อขยายสายใหม่ที่จะต้องวิน-วินด้วยกันทั้งคู่เพราะหากเอกชนไม่ยอมให้จบใน18 ธ.ค.นี้ จะต้องมีการตั้งคณะกรรมการใหม่ จะยิ่งทำให้การเจรจายุ่งยากขึ้นกว่าเดิม" แหล่งข่าวกล่าวย้ำ
เดินรถ 1 สถานีดันคนใช้สีม่วงเพิ่ม
พล.อ.ยอดยุทธ บุญญาธิการ ประธานคณะกรรมการ (บอร์ด) รฟม.กล่าวว่า สถานการณ์ของรถไฟฟ้าสายสีม่วงหลังเปิดใช้บริการตั้งแต่วันที่ 6 ส.ค.ที่ผ่านมา ถึงขณะนี้มีผู้ใช้บริการเฉลี่ย 2.3-2.4 หมื่นเที่ยวคน/วัน ยังต่ำจากประมาณการที่บริษัทที่ปรึกษาประเมินไว้ 73,443 เที่ยวคน/วัน
ซึ่งสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ผู้โดยสารมาใช้บริการน้อย เนื่องจากการเชื่อมต่อ 1 สถานีจากเตาปูน-บางซื่อยังไม่สะดวก เพราะคนไม่อยากนั่งรถหลายต่อ ทั้งนี้ หากจะมีการแยกการเดินรถ 1 สถานีมาดำเนินการก่อน และเร่งเปิดใช้กลางปีหน้า คาดว่าจะทำให้ผู้โดยสารของสายสีม่วงเพิ่มขึ้นแน่นอนอีกประมาณ 1 หมื่นเที่ยวคน/วัน เป็นกว่า 3 หมื่นเที่ยวคน/วัน จากนั้นคาดว่าจะค่อย ๆ ขยับเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ
หลังเปิดใช้บริการสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยายในปี 2563 ทั้งโครงข่าย คาดว่าผู้โดยสารจะใกล้เคียงกับที่ประมาณการไว้ 73,443 เที่ยวคน/วัน อีกทั้งในปีหน้าจะเริ่มพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์ทั้ง 16 สถานี และออกบัตรโดยสารประเภทต่าง ๆ มากขึ้น คาดว่าจะทำให้การบริการของสายสีม่วงคึกคักมากยิ่งขึ้น
ขอบคุณภาพและข่าวจาก ประชาชาติธุรกิจ
http://www.prachachat.net/news_detail.php?newsid=1481714185
พลัส พร็อพเพอร์ตี้ ขึ้นแท่นอันดับ 1 ด้านคุณภาพการบริหารจัดการระดับสากล กวาด ISO มากที่สุด ครบ 3 มาตรฐานครอบคลุมทุกมิติ เป็นเจ้าแรกในประเทศไทย
2022-07-14
นัมเบอร์วันเฮ้าส์ซิ่ง ดิเวลลอปเม้นท์ ส่งโครงการ THE ONE life bangna บุกเมกาบางนา บ้านเดี่ยวอารมณ์รีสอร์ตใช้ชีวิตใกล้ชิดธรรมชาติ ทำเลต้นบางนา
2022-07-14
Last Call Promotion!! กับแคมเปญ “ชีวาทัยเป็นได้มากกว่าเพื่อน” หมดเขต 31 ก.ค.นี้เท่านั้น
2022-07-14
ASW เสริมกลยุทธ์ Lifestyle Community จัด Monstr Concert Festival Series#1 ตอบรับไลฟ์สไตล์ลูกบ้านโครงการคอนโดฯ เคฟทาวน์ สเปซ
2022-07-14
เตือนภัยขอสินเชื่อบ้าน-ที่ดินระวังโดนโกง
2022-07-11
ขอบคุณบทความดีๆค่ะ
ดีมากๆ เป็นเว็บที่ให้ข้อมูลดีค่ะ
ชอบมากเลยครับ บทความเเนวนี้ ไม่น่าเบื่อ
ชอบมาก อ่านเข้าใจง่าย
ขอบคุณมากค่ะ ที่เขียนบทความดีๆนี้ให้อ่านน่ะคะ
ได้ความรู้