News
icon share

รถไฟไทย-จีน 2 ปีไม่สะเด็ดน้ำ เลื่อนตอกเข็ม ติดหล่มแบบ-เงินทุน

LivingInsider Report 2016-12-16 10:14:24
รถไฟไทย-จีน 2 ปีไม่สะเด็ดน้ำ เลื่อนตอกเข็ม ติดหล่มแบบ-เงินทุน

 

 

วันที่ 19 ธ.ค. 2559 จะครบรอบ 2 ปีที่รัฐบาลไทย-จีนร่วมกันผลักดันโครงการรถไฟไทย-จีน นับจากเซ็นบันทึกความเข้าใจ (MOU) เมื่อวันที่ 19 ธ.ค.2557
 


จากวันนั้นถึงวันนี้ในระหว่างทางมีการล้างไพ่โครงการใหม่ให้ลงตัวกันทั้ง 2 รัฐบาล ปรับแนวเส้นทางจากเดิมสร้างจากหนองคาย-นครราชสีมา-แก่งคอย-ท่าเรือมาบตาพุด และแก่งคอย-กรุงเทพฯ เงินลงทุน 5.3 แสนล้านบาท โดยแบ่งเป็น 4 ช่วง ได้แก่ กรุงเทพฯ-แก่งคอย 133 กม. แก่งคอย-มาบตาพุด 264.5 กม. แก่งคอย-นครราชสีมา 138.5 กม. และนครราชสีมา-หนองคาย 355 กม.
 


แต่พลันที่ "บิ๊กตู่-พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา" นายกรัฐมนตรี ใช้เวทีประชุมความร่วมมือแม่โขง-ล้านช้าง ครั้งที่ 1 ณ ประเทศจีน เมื่อเดือน มี.ค. 2559 หารือกับ "นายหลี่ เค่อ เฉียง" นายกรัฐมนตรีจีนนอกรอบหาทางลงให้กับโครงการหลังยืดเยื้อมานานนับปี โดยตัดความรำคาญประกาศลั่นโลก "ไทยจะลงทุนเองทั้งหมด" หลังจีนตัดบทไม่ร่วมลงขัน 60% ใน "SPV-บริษัทร่วมทุน" ตามที่ไทยยื่นข้อเสนอ
 


พร้อมชะลอการก่อสร้างช่วง "แก่งคอย-มาบตาพุด" เดินหน้าลุย "กรุงเทพฯ-หนองคาย" และกลายพันธุ์โครงการจากระบบรถไฟความเร็วปานกลางสู่ระบบรถไฟความเร็วสูง วิ่งด้วยความเร็ว 250 กม./ชม. ปักธงสร้างกรุงเทพฯ-โคราช 253.5 กม. เป็นสายแรก เงินลงทุน 179,412 ล้านบาท ส่วนโคราช-หนองคายปรับรูปแบบเป็นทางเดี่ยวและเริ่มสร้างในระยะถัดไป
 


จากบทสรุปสุดท้ายครั้งนั้น ปัจจุบันผ่านการประชุมคณะกรรมการร่วมเป็นครั้งที่ 16 ไปแล้ว ล่าสุดการออกแบบรายละเอียดที่จะนำมาสู่การประเมินค่าก่อสร้างและประมูลก่อสร้างช่วงแรกที่จะปักหมุด "สถานีกลางดง-ปางอโศก" ระยะทาง 3.5 กม.เป็นจุดเริ่มต้นโครงการ ก็ยังไม่สะเด็ดน้ำ ทำให้ต้องขยับตอกเข็มจากเป้าจะเริ่มต้นได้ภายใน ธ.ค.นี้เป็นเดือน มี.ค. 2560
 


"งานประชุมจะกี่ครั้งก็ต้องประชุมจนกว่าจะแล้วเสร็จ" คำกล่าวของ "อาคม เติมพิทยาไพสิฐ" รมว.กระทรวงคมนาคม
 


ขณะที่ความก้าวหน้าล่าสุด "อาคม" กล่าวว่า แบบก่อสร้างสถานีกลางดง-ปางอโศก 3.5 กม.มีความก้าวหน้า 90% จะแล้วเสร็จม.ค.จากนั้นก.พ.ประมูลและเริ่มสร้างเดือน มี.ค. 2560
 


พร้อมกันนี้จะดำเนินการร่างสัญญางานระบบและรถไฟฟ้าความเร็วสูง (EPC2) แยกเป็น 3 ส่วนคือ ค่าที่ปรึกษาออกแบบการก่อสร้าง ค่าจ้างผู้ควบคุมงานทั้งการก่อสร้างและระบบรถ และงานระบบเหนือโครงสร้างพื้นฐาน ขณะนี้คืบหน้าแล้ว 75-80% จะแล้วเสร็จในเดือน ม.ค. 2560
 


"หลังลงนามสัญญาเสร็จ แบบรายละเอียดส่วนที่เหลือฝ่ายจีนจะเร่งรัดให้เสร็จ มีตอนที่ 2 ปากช่อง-คลองขนานจิตร 11 กม. ตอนที่ 3 แก่งคอย-นครราชสีมา 110 กม. ตอนที่ 4 กรุงเทพฯ-แก่งคอย 110 กม." นายอาคมกล่าวและว่า
 


การดำเนินการในส่วนของฝ่ายไทย อยู่ระหว่างทำข้อมูลภาพรวมทั้งโครงการเสนอคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ในเดือน ธ.ค.นี้ จากนั้นเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติ จะทำคู่ขนานไปกับการขออนุมัติรายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (EIA) ที่อยู่ระหว่างพิจารณาของคณะกรรมการชำนาญการ (คชก.)
 


สำหรับเงินลงทุนมีทั้งเงินกู้ในประเทศและเงินกู้จากจีนซื้อระบบอาณัติสัญญาณและตัวรถ เพราะเป็นโครงการรูปแบบรัฐต่อรัฐต้องใช้ระบบเทคโนโลยีของจีน ล่าสุดจีนยังเสนอดอกเบี้ยเงินกู้สูงจากที่กระทรวงการคลังกำหนดเพดานไม่เกิน 2%
 


"การเงินยังมีเวลาคุยกันต่อ ขอย้ำว่าจะต้องกู้ในเงื่อนไขที่ดีที่สุด ทางจีนก็บอกว่าพิจารณาให้ดีที่สุดแล้ว"นายอาคมกล่าว
 


ทั้งนี้เมื่อวันที่ 9 ธ.ค. 2559 นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจ เดินทางไปจีนประชุมคณะกรรมการร่วมด้านเศรษฐกิจและการค้า ครั้งที่ 5 ได้เซ็นบันทึกความร่วมมือ (MOC) เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับจีนและสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวว่า โครงการนี้จะก่อสร้างตั้งแต่กรุงเทพฯ-หนองคายแบ่งเป็น 2 ตอนจะเริ่มช่วงกรุงเทพฯ-โคราชเป็นระยะแรกในปี2560 ส่วนช่วงโคราช-หนองคายจะเดินหน้าคู่ขนานกันไปเพื่อให้โครงการต่อเนื่อง
 


"รถไฟไทย-จีนได้เซ็น MOC วันที่ 19 ธ.ค. 2557 จากนั้นมีเซ็นกรอบความร่วมมือหรือ FOC ร่วมกัน 2 ฉบับ ตลอด 2 ปีที่ผ่านมา เราสามารถเจรจาลดค่าก่อสร้างช่วงกรุงเทพฯ-โคราช จาก 2.2 แสนล้านบาทเหลือ 1.79 แสนล้านบาท หรือประหยัดไปกว่า 4.5 หมื่นล้านบาท หรือ 18.4%" นายอาคมกล่าวย้ำ
 


ขณะที่ "รถไฟไทย-จีน" ยังไม่ลงตัว เพราะต้องรอฟังผลประชุมครั้งที่ 17 หลังตรุษจีน ซึ่งก็เป็นที่จับตาปีหน้าจะได้ปักหมุดตามไทม์ไลน์ที่ปรับใหม่หรือจะเป็นได้แค่โปรเจ็กต์คั่นเวลารอเลือกตั้งใหม่
 


ในส่วนของ"รถไฟไทย-ญี่ปุ่น"เส้นทางกรุงเทพฯ-เชียงใหม่ที่เคาะสร้างเฟสแรกถึงพิษณุโลก ล่าสุดญี่ปุ่นยืนยันแล้วจะไม่ใช้รางร่วมกับจีนช่วงกรุงเทพฯ-ชุมทางบ้านภาชี
 


โดย"อาคม"ระบุว่า เพราะรถไฟความเร็วสูงของญี่ปุ่นเป็นระบบชินคันเซ็น ซึ่งระบบอาณัติสัญญาณต้องออกแบบเฉพาะ โดยญี่ปุ่นเสนอการปรับปรุงโครงสร้างทางบางส่วนเพื่อให้แยกรางได้ โดยวิ่งออกจากบางซื่อแล้วให้จีนใช้รางร่วมกันแอร์พอร์ตลิงก์เพราะแอร์พอร์ตลิงก์จะเปลี่ยนระบบเป็นแบบเปิด ซึ่งใช้ร่วมกับรถไฟไทย-จีนได้
 


"ให้ญี่ปุ่นสรุปข้อดีข้อเสียในการแยกรางและใช้รางร่วมกันที่เดิมไทยได้ศึกษาไว้ทางการรถไฟฯจะนำรายละเอียดการปรับรางตรงนี้ไปดูอีกที"
 


ดูท่า"รถไฟไทย-จีน-ญี่ปุ่น"ต้องร่อนตะแกรงกันอีกหลายยกคงไม่ลงตัวง่ายๆในปีหน้า

 

 

ขอบคุณภาพและข่าวจาก ประชาชาติธุรกิจ

 

 

http://www.prachachat.net/news_detail.php?newsid=1481714913

 

 

>> ช่องทางในการติดตามข่าวสาร <<
ไม่พลาดข่าวสำคัญ แค่กดเป็นเพื่อนกับ ไลน์ @livinginsider ที่นี่

บทความอื่นๆ

livinginsider livinginsider