News
icon share

ถมสร้างรถไฟฟ้า3.5แสนล. วิกฤตจราจรลามยันชานเมือง

LivingInsider Report 2017-01-05 11:10:31
ถมสร้างรถไฟฟ้า3.5แสนล. วิกฤตจราจรลามยันชานเมือง

 

 

เมกะโปรเจ็กต์มาตามนัด ปี′60 รฟม.-กทม.โหมสร้าง-เวนคืน ผุดรถไฟฟ้า ถนน อุโมงค์3.5 แสนล้าน จราจรโซนเหนือ-ตะวันออกวิกฤต "วิภาวดี-พหลโยธิน-ลำลูกกา-แจ้งวัฒนะ-รามอินทรา-พระราม 9-มีนบุรี-รามคำแหง" รถติดหนักถึงปี′62 รัฐเร่งรับมือ แก้กฎหมายเพิ่มค่าปรับ 2 เท่า ชงนายกฯใช้ ม.44 ฟันเบี้ยวจ่ายค่าใบสั่ง เปิดสถิติรถใหม่จดทะเบียนพุ่ง 9.1 ล้านคัน

 

 

ผู้สื่อข่าว "ประชาชาติธุรกิจ" รายงานผลสำรวจการจราจรและการก่อสร้างเส้นทางคมนาคมในพื้นที่กรุงเทพมหานคร (กทม.) และปริมณฑลว่า หลังโครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง (คลองบางไผ่-เตาปูน) ระยะทาง 23 กม. เปิดให้บริการเมื่อวันที่ 6 ส.ค. 2559 กระทรวงคมนาคมได้เร่งลงทุนอย่างต่อเนื่อง รวมมูลค่า 538,396 ล้านบาท แยกเป็น 4 โครงการ อยู่ระหว่างก่อสร้างวงเงิน 186,937 ล้านบาท ได้แก่ สีแดง บางซื่อ-รังสิต, สีน้ำเงิน ส่วนต่อขยายบางซื่อ-ท่าพระ และหัวลำโพง-บางแค, สีเขียว ต่อขยายแบริ่ง-สมุทรปราการ และสีเขียว ต่อขยายหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต จะทยอยแล้วเสร็จและเปิดให้บริการปี 2562-2563

 


ส่วนโครงการใหม่ที่จะเริ่มก่อสร้างตั้งแต่ปี 2560 มี 7 สาย วงเงิน 351,459 ล้านบาท ประกอบด้วย สีชมพู แคราย-มีนบุรี, สีเหลือง ลาดพร้าว-สำโรง, สีส้ม ศูนย์วัฒนธรรมฯ-มีนบุรี, สีน้ำเงิน ต่อขยายบางแค-พุทธมณฑล สาย 4, สีส้ม ต่อขยายศูนย์วัฒนธรรมฯ-ตลิ่งชัน, สีเขียว ต่อขยายคูคต-ลำลูกกา และสีเขียว ต่อขยายสมุทรปราการ-บางปู
 


ทั้งนี้ จากการที่รัฐบาลเร่งโหมก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้าจำนวนมาก แม้ในระยะยาวจะทำให้การเดินทางสัญจรไปมาสะดวกรวดเร็วขึ้น ช่วยแก้ไขปัญหาการจราจร และลดความสูญเสียในทางเศรษฐกิจ แต่หลายหน่วยงานประเมินว่า ปี 2526 กทม.และปริมณฑลจะประสบปัญหาวิกฤตจราจรรุนแรงขึ้น
 


"โซนเหนือ-ตะวันออก" โคม่า
 


นายชัยวัฒน์ ทองคำคูณ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) เปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า ประเมินว่าปี 2560 กทม.-ประมณฑลจะประสบปัญหารถติดหนักขึ้น โดยเฉพาะโซนเหนือและตะวันออก ปัญหาจะขยายวงกว้างจากใจกลางเมืองไปยังโซนพื้นที่ขอบเมือง เช่น วิภาวดีรังสิต แจ้งวัฒนะ รามอินทรา มีนบุรี ลาดกระบัง เนื่องจากมีการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายใหม่
 


"การจราจรใน กทม. และพื้นที่รอบนอกจะวิกฤตไปอีก 3-4 ปี ซึ่งปี"60 หนักสุดคือย่านชานเมือง เพราะคนต้องเดินทางเข้ามาทำงานในเมือง ขณะที่คนอยู่โซนในเมืองถือว่าเป็นเรื่องปกติไปแล้ว แต่ยังมีรถไฟฟ้ามาช่วยทำให้การเดินทางคล่องตัวขึ้น"
 


"พหล-แจ้งวัฒนะ-ราม" อ่วม
 


ขณะที่นายพีระยุทธ สิงห์พัฒนากุล ผู้ว่าการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) กล่าวว่า ปี 2560 รฟม.มีงานก่อสร้างรถไฟฟ้า 6 สายทาง ทั้งสายเก่าที่กำลังก่อสร้างมี สีน้ำเงิน ต่อขยายบางซื่อ-ท่าพระ และหัวลำโพง-บางแค, สีเขียว แบริ่ง-สมุทรปราการ และสีเขียว หมอชิต-คูคต ส่วนสายใหม่จะเริ่มสร้างตั้งแต่ครึ่งปีหลังเป็นต้นไป มีสีส้ม ศูนย์วัฒนธรรมฯ-มีนบุรี, สีชมพู แคราย-มีนบุรี และสีเหลือง ลาดพร้าว-สำโรง จะส่งผลกระทบต่อผิวจราจรถนนสายหลัก ทำให้เกิดปัญหารถติดหนักกว่าปีที่ผ่านมา
 


"สีเขียวใต้ไปสมุทรปราการ จะสร้างบนเกาะกลาง ถนนสุขุมวิท น่าจะทุเลาลง เพราะใกล้เสร็จ 100% แล้ว ส่วนสีน้ำเงิน สร้างบนถนนจรัญสนิทวงศ์และเพชรเกษม งานก่อสร้างคืบหน้าไปกว่า 90% จะวิกฤตหนักเฉพาะช่วงแยกไฟฉาย แต่จะประสานกับผู้รับเหมาให้เร่งงานช่วงปิดเทอม บรรเทาได้ระดับหนึ่ง ส่วนถนนพหลโยธินยังมีปัญหารถติด เพราะสายสีเขียวเหนือเพิ่งลงมือก่อสร้าง และมีการรื้อสะพานข้ามแยกรัชโยธิน"
 


ที่น่าห่วงว่าจะกระทบรุนแรง คือ ถนนพระราม 9 ต่อเนื่องไปถนนรามคำแหง และถนนมีนบุรี เพราะจะเริ่มปิดการจราจรรื้อย้ายสาธารณูปโภคก่อสร้างสายสีส้ม เนื่องจากปัจจุบันบริเวณดังกล่าวรถติดอยู่แล้ว แม้ไม่มีงานก่อสร้าง เช่นเดียวกับแจ้งวัฒนะ รามอินทรา ศรีนครินทร์ และถนนลาดพร้าว ที่ต้องใช้พื้นที่เกาะกลางก่อสร้างโมโนเรลสีชมพูกับสีเหลือง จะกระทบมากเช่นกัน
 


นอกจากนี้อยู่ระหว่างเตรียมเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) ก่อสร้างรถไฟฟ้าใหม่อีก 4 สาย มีสีน้ำเงิน ต่อขยายบางแค-พุทธมณฑล สาย 4, สีเขียว คูคต-ลำลูกกา, สมุทรปราการ-บางปู และสีส้ม ศูนย์วัฒนธรรมฯ-ตลิ่งชัน จะได้ผู้รับเหมาเริ่มสร้างปลายปี ทำให้พื้นที่นอกเมืองเกิดปัญหาการจราจรไม่แพ้ในเมือง
 


กทม.โปรเจ็กต์ก่อสร้างเพียบ
 


ด้านนายจักกพันธุ์ผิวงาม รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) เปิดเผยว่า คาดว่าปัญหารถติดใน กทม.จะรุนแรงไปถึงปี 2562 เพราะปัจจุบันนอกจากงานก่อสร้างขนาดใหญ่อย่างรถไฟฟ้าแล้ว ในส่วนของ กทม.กำลังสร้างทางลอด 5 แห่ง ได้แก่ 1.ทางลอดมไหสวรรย์ แนวถนนตากสิน-รัชดาภิเษก จะเปิดใช้ ก.พ.นี้ 2.แยกไฟฉายแนวถนนจรัญสนิทวงศ์-พรานนก 3.ทางลอดถนนพัฒนาการ-รามคำแหง-ถาวรธวัช 4.ทางลอดถนนศรีนครินทร์-ร่มเกล้า จะเปิดใช้ปลายปี 2561 และ 5.ทางลอดรัชโยธินแนวถนนรัชดาภิเษกตัดถนนพหลโยธิน เปิดใช้ปี 2562
 


ไม่รวมงานก่อสร้างถนนใหม่และขยายถนนเดิม เช่น ถนนศรีนครินทร์-ร่มเกล้า, ขยายถนนดินแดงรองรับการเปิดใช้ศาลาว่าการ กทม. 2, สะพานข้ามคลองเลียบวารี-มิตรไมตรี, ถนนพรานนก-กาญจนาภิเษก เป็นต้น
 


นอกจากนี้ ปี 2561 กทม.เตรียมของบฯก่อสร้างอุโมงค์ทางลอดเพิ่มอีก 4 แห่ง ได้แก่ 1.แยกรัชดาภิเษก-ราชพฤกษ์ 2.ทางลอดแยกถนนศรีอยุธยา-พระราม 6 3.ทางลอดถนนกาญจนาภิเษก-รามคำแหง และ 4.ทางลอดศรีนครินทร์-พัฒนาการ แนวถนนรถไฟตะวันออก หากได้รับการอนุมัติและเริ่มก่อสร้าง จะทำให้พื้นที่ กทม.มีปัญหารถติดหนักขึ้นเช่นเดียวกัน อย่างไรก็ตาม ส่วนหนึ่งของปัญหารถติดมาจากปริมาณรถเพิ่มขึ้นทุกปีด้วย ขณะที่ถนนจะรองรับไม่มีการก่อสร้างเพิ่ม
 


การแก้ปัญหาในส่วนของ กทม.จะเร่งงานก่อสร้างเก่าให้ทยอยเปิดใช้ โดยเฉพาะอุโมงค์ทางลอดจะช่วยเรื่องจราจรได้มากบนถนนสายหลัก จากการทดลองเปิดใช้อุโมงค์มไหสวรรย์ พบว่ารถสามารถทำความเร็วเพิ่มขึ้นเป็น 20-25 กม./ชม. จากเดิม 12 กม./ชม. รวมถึงจะเร่งเปิดใช้บริการถไฟฟ้าสายสีเขียวต่อขยายแบริ่ง-สมุทรปราการ ซึ่งในเดือน มี.ค. 2560 จะเปิดใช้ 1 สถานีถึงสำโรงก่อน เพื่อเป็นทางเลือกให้ประชาชน
 


ม.44 เบี้ยวค่าปรับอดต่อทะเบียน
 


ด้าน พล.ต.ท.วิทยา ประยงค์พันธุ์ ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผู้ช่วย ผบ.ตร.) เปิดเผยว่า สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) เตรียมแผนรับมือปัญหาการจราจรปี 2560 ไว้แล้ว ที่ทำได้ทันทีคือการรณรงค์ให้ผู้ใช้รถใช้ถนนมีวินัยการจราจร โดยจะลงนามความร่วมมือ (MOU) กับบริษัทประกันภัย กรณีรถถูกชนให้สามารถแยกกันได้ทันที โดยที่ไม่ต้องจอดรอพนักงานเคลม จากเดิมจะเป็นรถเฉพาะที่มีประกันชั้น 1 เท่านั้น ต่อไปจะบังคับใช้กับรถทุกประเภท จะเร่งแก้จุดคอขวดบริเวณทางโค้ง-ทางแยก 80 จุด ซึ่งปัจจุบันดำเนินการเสร็จแล้ว 50 จุด พร้อมกับเร่งคืนผิวจราจรในพื้นที่ที่มีการก่อสร้าง เช่น ถนนจรัญสนิทวงศ์ สุขุมวิท ที่รถไฟฟ้าใกล้สร้างเสร็จแล้ว
 


นอกจากนี้จะให้มีการชำระค่าปรับใบสั่งผ่านตู้เอทีเอ็มของธนาคารกรุงไทยและธนาคารที่เป็นเครือข่ายได้ทั่วประเทศ เริ่มตั้งแต่วันที่ 15 ม.ค.นี้ หลังนำร่องในพื้นที่ส่วนกลางช่วงก่อนหน้านี้แล้ว พบว่ามีผู้ใช้บริการช่องทางนี้ถึง 2 แสนใบ รวมถึงจะนำระบบเทคโนโลยีเข้ามาช่วยจับปรับมากขึ้น เช่น ติดตั้งกล้องวงจรปิดจับปรับทางแยก ติดตั้งแอปพลิเคชั่นผ่านสื่อต่าง ๆ
 


ขณะเดียวกันจะแก้กฎหมายเพิ่มอัตราค่าปรับให้เป็นอัตราเดียวกันทั้งใน กทม.และต่างจังหวัด เช่น สูงสุดไม่เกิน 2,000 บาท จากเดิม 500 บาท และ 1,000 บาท และจะเสนอ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ใช้อำนาจตามมาตรา 44แห่งรัฐธรรมนูญ ให้ สตช. กับกรมการขนส่งทางบก (ขบ.) บูรณาการทำงาน โดยไม่ให้ต่อทะเบียนรถ หากไม่จ่ายค่าปรับคาดว่าจะเริ่มบังคับใช้ได้ต้นปี 2560
 


รถจดทะเบียนพุ่ง 9.1 ล้านคัน
 


นายสนิท พรหมวงษ์ อธิบดีกรมการขนส่งทางบก (ขบ.) เปิดเผยสถิติข้อมูลการจดทะเบียนรถช่วงปี 2559 ที่ผ่านมาว่า มีรถยนต์ที่จดทะเบียนสะสม ณ วันที่ 30 พ.ย. รวม 9,165,247 คัน ในจำนวนนี้เป็นรถจดทะเบียนใหม่ 805,761 คัน หรือเฉลี่ยเพิ่มขึ้นวันละประมาณ 1,200 คัน

 

 

ขอบคุณภาพและข่าวจาก ประชาชาติธุรกิจ

 

 

http://www.prachachat.net/news_detail.php?newsid=1483512233

>> ช่องทางในการติดตามข่าวสาร <<
ไม่พลาดข่าวสำคัญ แค่กดเป็นเพื่อนกับ ไลน์ @livinginsider ที่นี่

บทความอื่นๆ

livinginsider livinginsider