รายการโปรด
“โฮมสเตย์” ถือเป็นหนึ่งในที่พักที่ได้รับความนิยมของนักท่องเที่ยวสายชิลที่รักความสงบ ต้องการใช้ชีวิตเรียบง่าย พร้อมเรียนรู้วิถีชีวิตชาวบ้าน ทำให้ทุกวันนี้มีที่พักประเภทนี้ผุดขึ้นเรื่อย ๆ
ซึ่งสำหรับใครที่มีบ้านอยู่ในแหล่งท่องเที่ยว แล้วสนใจทำโฮมสเตย์ วันนี้เราจะพาไปดูวิธีเปลี่ยนบ้านเป็นที่พักต้อนรับนักท่องเที่ยว เพื่อสร้างรายได้เสริมกันค่ะ
บ้านแบบไหนที่สามารถทำโฮมสเตย์ได้
สำหรับบ้านที่สามารถนำมาทำโฮมสเตย์ได้นั้น จะต้องมีห้องพักในหลังเดียว หรือหลายหลังรวมกันไม่เกิน 8 ห้อง และพักรวมกันไม่เกิน 30 คน
แต่นอกจากกฎเกณฑ์ดังกล่าวแล้ว ที่สำคัญคือบ้านของเราจะต้องตั้งอยู่ในทำเลที่เป็นแหล่งท่องเที่ยว มีสิ่งที่ดึงดูดใจนักเดินทางให้ไปเยือน เช่น วัฒนธรรมท้องถิ่น และวิถีชีวิตของคนในพื้นที่ที่ควรค่าแก่การเรียนรู้ โดยมีเจ้าของบ้านเป็นผู้ทำหน้าที่แลกเปลี่ยนความรู้ และเป็นไกด์นำเที่ยวในชุมชน
คุณสมบัติเจ้าของโฮมสเตย์
เมื่อมั่นใจแล้วว่าบ้านของเราสามารถนำมาทำโฮมสเตย์ได้ ขั้นต่อไปคือมาดูว่าคุณสมบัติของเราตรงตามหลักเกณฑ์หรือไม่ โดยเจ้าของโฮมสเตย์จะต้องมีสัญชาติไทย อายุไม่ต่ำกว่า 20 ปีบริบูรณ์ มีภูมิลำเนาอยู่ในประเทศไทย ไม่เป็นบุคคลล้มละลาย และไร้ความสามารถ หรือเสมือนไร้ความสามารถ
ส่วนในเรื่องของการทำผิดกฎหมาย เจ้าของโฮมสเตย์จะต้องไม่เคยถูกพิพากษาถึงที่สุดให้ได้รับโทษจำคุก ยกเว้นเป็นความผิดที่เกิดจากความประมาทหรือความผิดที่โทษไม่ร้ายแรง ไม่ถูกพิพากษาถึงที่สุดว่าทำความผิดเกี่ยวกับเพศตามประมวลกฎหมายอาญา ความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด การค้ามนุษย์ หรือการค้าประเวณี
ไม่อยู่ในระหว่างถูกสั่งพักใช้ใบอนุญาต ไม่เคยถูกเพิกถอนใบอนุญาต หรือเคยถูกเพิกถอนใบอนุญาตโดยความผิดที่เกิดจากเหตุอื่น ที่ไม่ใช่ความประมาทหรือความผิดไม่ร้ายแรง แต่เวลาได้ล่วงพ้นมาแล้วไม่น้อยกว่า 3 ปี
การขออนุญาตทำโฮมสเตย์
การทำโฮมสเตย์นั้นจะต้องดำเนินการจดแจ้งสถานที่พักที่ไม่เป็นโรงแรมก่อน โดยสามารถดาวน์โหลดแบบฟอร์มขออนุญาตได้ที่เว็บไซต์กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย
เมื่อกรอกข้อมูลและเตรียมเอกสารที่กำหนดครบถ้วนแล้ว ก็นำหนังสือขออนุญาตไปยื่นกับหน่วยงานที่รับผิดชอบ ถ้าในกรุงเทพให้ไปที่ส่วนการรักษาความสงบเรียบร้อย 3 สำนักการสอบสวนและนิติการ กรมการปกครอง (วังไชยา) ส่วนต่างจังหวัดให้ยื่นที่ทำการปกครองอำเภอที่โฮมสเตย์ตั้งอยู่
หลังจากยื่นหนังสือขออนุญาตแล้ว ทางเจ้าหน้าที่จะนัดหมายเข้ามาตรวจสอบบ้านที่จะนำไปทำโฮมสเตย์ ซึ่งก็จะมีการแนะนำให้เราปรับปรุงบ้าน หรือทำบางอย่างเพิ่มเติม แล้วเมื่อเราได้ปรับปรุงบ้านตามคำแนะนำเรียบร้อยแล้ว ก็ถ่ายรูปส่งให้เจ้าหน้าที่ตรวจสอบและพิจารณาต่อไป และเมื่อได้รับอนุญาตให้ทำโฮมสเตย์แล้ว เจ้าหน้าที่ก็จะให้ไปรับหนังสืออนุญาตที่อำเภอ
แชร์ไอเดียแต่งบ้านธรรมดาให้เป็น “โฮมสเตย์” สุดปัง
การทำโฮมสเตย์ให้ปังมีหลากหลายวิธี แต่วันนี้เราจะขอแชร์ไอเดียในส่วนที่เกี่ยวกับการตกแต่ง หรือต่อเติมบ้าน มาฝากคนที่สนใจหรือมีแพลนทำโฮมสเตย์กันค่ะ ซึ่งจะมีอะไรบ้างนั้น ไปดูกันเลยยย
คอนเซ็ปต์ชัด ตกแต่งสวยงาม
มาที่การตกแต่งโฮมสเตย์ ถ้าจะให้ดีควรมีคอนเซ็ปต์ชัดเจน เพื่อเป็นแนวทางในการออกแบบให้สวยงาม และดึงดูดให้นักท่องเที่ยวมาเข้าพัก
อย่างเช่น ถ้าต้องการให้นักท่องเที่ยวได้พักผ่อนท่ามกลางธรรมชาติ นอกจากตัวบ้านที่สร้างด้วยไม้ หรือโฮมสเตย์ตั้งอยู่ในตำแหน่งที่มองเห็นวิวทะเล ภูเขา หรือลำธารแล้ว เฟอร์นิเจอร์และของตกแต่งบ้านก็ควรเป็นวัสดุหรือมีลวดลายธรรมชาติด้วย เพื่อเป็นการตอกย้ำคอนเซ็ปต์ของเราให้ชัดเจนขึ้น
สิ่งอำนวยความสะดวกในห้องนอนครบ
ในห้องนอนควรมีสิ่งอำนวยความสะดวกที่จำเป็นอย่างครบครัน อาทิ
1. ชุดเครื่องนอน ประกอบไปด้วย ฟูกที่นอน และหมอน ซึ่งจะมีฐานเตียงด้วย หรือเป็นแค่ฟูกอย่างเดียวก็ได้
2. แอร์ หรือ พัดลม ห้องนอนแต่ละห้องจำเป็นต้องมีพัดลมอย่างน้อย 1 เครื่อง แต่ถ้าห้องไหนมีขนาดค่อนข้างใหญ่ หรือสามารถพักได้มากกว่า 2 คนขึ้นไป อาจเพิ่มจำนวนพัดลมตามความเหมาะสม หรือจะติดแอร์ในห้องนั้นก็ได้
3. มุ้ง เพื่อป้องกันไม่ให้ยุง มด หรือแมลงกัดต่อยลูกค้าที่เข้าพัก ควรติดตั้งมุ้งในห้องนอนด้วย
4. ตู้เสื้อผ้า ภายในห้องควรมีตู้เสื้อผ้า พร้อมไม้แขวน ให้ผู้เข้าพักได้จัดเก็บเสื้อผ้าและสิ่งของต่าง ๆ
มีพื้นที่ให้พักผ่อนหรือทำกิจกรรมร่วมกัน
โฮมสเตย์ไม่เพียงแต่เป็นที่พักอาศัยชั่วคราวเท่านั้น แต่ยังเป็นพื้นที่แลกเปลี่ยนเรียนรู้วัฒนธรรมและประสบการณ์ด้วย ดังนั้นจึงควรมีพื้นที่ให้ทุกคนได้นั่งพูดคุย สังสรรค์ หรือทำกิจกรรมร่วมกันได้
โดยอาจทำห้องนั่งเล่น หรือต่อเติมระเบียงขึ้นมา พร้อมกับวางเฟอร์นิเจอร์และเครื่องใช้ไฟฟ้าที่จำเป็นในบริเวณนั้น เช่น ทีวี พัดลม โต๊ะ เก้าอี้ และเปล เป็นต้น
ห้องน้ำพร้อมสุขภัณฑ์ครบครัน
โดยส่วนใหญ่โฮมสเตย์จะเป็นการใช้ห้องน้ำร่วมกัน ดังนั้นเราจะต้องดูว่ามีห้องน้ำเพียงพอต่อจำนวนผู้เข้าพักทั้งหมดที่โฮมสเตย์ของเราพร้อมรองรับหรือไม่ หากคิดว่าไม่เพียงพอ ก็อาจจะต้องทำห้องน้ำเพิ่มตามความเหมาะสม
พร้อมติดตั้งสุขภัณฑ์ภายในห้องน้ำอย่างครบครัน ดูแลรักษาความสะอาดให้ดี และมีความมิดชิดเพื่อป้องกันอันตราย นอกจากนี้ ยังสามารถตกแต่งห้องน้ำให้ตรงกับคอนเซ็ปต์การออกแบบโฮมสเตย์ได้ด้วยการตกแต่งผนัง การปูพื้น หรือหาอุปกรณ์ในห้องน้ำที่มีความสวยงามมาวางไว้
เพิ่มความอุ่นใจด้านความปลอดภัยให้แก่ผู้มาเยือน
แม้จะเป็นการนำบ้านมาทำโฮมสเตย์ให้นักท่องเที่ยวพักชั่วคราว ไม่ถึงขั้นรีสอร์ตหรือโรงแรม แต่การดูแลรักษาความปลอดภัยให้กับผู้เข้าพักเป็นอีกหนึ่งเรื่องที่ไม่ควรมองข้าม
ไม่ว่าจะเป็น การติดตั้งกล้อง CCTV ในบางจุด เช่น ประตูทางเข้า ห้องนั่งเล่น ระเบียง และการติดตั้งถังดับเพลิง เพื่อเตรียมพร้อมในกรณีเกิดเหตุฉุกเฉิน
สำหรับใครที่บ้านอยู่ในแหล่งท่องเที่ยว และมีพื้นที่เพียงพอสำหรับการต้อนรับแขกที่มาเข้าพักชั่วคราว แล้วสนใจอยากเปลี่ยนบ้านเป็นโฮมสเตย์ เพื่อสร้างรายได้เสริม สามารถศึกษาข้อมูล และนำไอเดียที่เรานำมาฝากในวันนี้ไปทำตามกันได้นะคะ
บทความที่เกี่ยวข้อง
แต่งห้องสไตล์ Beach House ฟีลเหมือนพักผ่อนตากอากาศ
เคล็ดลับในการแต่งบ้านเสมือนอยู่ทะเล สร้างความสุขในบรรยากาศสีฟ้าต้อนรับซัมเมอร์
บ้านน็อคดาวน์ กับเรื่องที่ควรรู้ ก่อนตัดสินใจซื้อ
ยอดเยี่ยมมากๆค่ะ
น่าอยู่มากจ้าาาาา
เป็นกำลังใจให้ทีมงาน พัฒาบทความดีดี จะค่อยติดตามตลอดครับ
สระน้ำกว้างมากเลย น่าเล่นน่าอยู่
ข้อมูลดีมาก ระเอียดมากครับ
well