
หน้าแรก
เหตุการณ์แผ่นดินไหวเมื่อวันที่ 28 มีนาคมที่ผ่านมา ทำให้หลายคนเริ่มตั้งคำถามถึงความมั่นคงของอาคาร โดยเฉพาะคนที่อาศัยอยู่ในคอนโดมิเนียมที่อาจกังวลว่าโครงสร้างอาคารแข็งแรงพอหรือไม่? และมาตรฐานความปลอดภัยที่ใช้อยู่เพียงพอจริงหรือเปล่า?
บทความนี้จะพาไปดูบทเรียนสำคัญจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวครั้งนี้ ทั้งในมุมของดีเวลอปเปอร์ ที่ออกแบบและก่อสร้างโครงการให้รองรับแรงสั่นสะเทือนได้ดีขึ้น มุมของนิติบุคคล ที่มีบทบาทในการดูแลลูกบ้านหลังเกิดเหตุ และผู้ซื้อที่ควรให้ความสำคัญกับมาตรฐานโครงสร้าง เพื่อความปลอดภัยในระยะยาว
บทเรียนจากแผ่นดินไหวของดีเวลอปเปอร์อสังหาฯ
เหตุการณ์แผ่นดินไหวครั้งนี้ส่งผลกระทบต่อคอนโดหลายแห่ง ทั้งตัวอาคาร ห้องพักอาศัย และพื้นที่ส่วนกลาง ไม่ว่าจะเป็นผนังแตกร้าว ฝ้าเพดานถล่ม หรือกระจกแตก ซึ่งทุกโครงการจำเป็นต้องได้รับการตรวจสอบจากวิศวกรก่อนว่าโครงสร้างหลักได้รับผลกระทบหรือไม่? เมื่อได้รับการยืนยันว่าปลอดภัยแล้ว จึงอนุญาตให้ลูกบ้านกลับเข้าพักอาศัยได้ตามปกติ
อย่างไรก็ตาม แม้จะมีการรับรองจากผู้เชี่ยวชาญว่าโครงสร้างไม่ได้รับความเสียหาย แต่หลายคนยังคงกังวลใจและมีคำถามมากมาย เช่นเดียวกับในไลน์กลุ่มคอนโดของแอด ที่มีลูกบ้านคนหนึ่งถามนิติบุคคลว่า “คอนโดของเรารองรับแรงสั่นสะเทือนจากแผ่นดินไหวได้กี่ริกเตอร์?” ซึ่งจนถึงตอนนี้ก็ยังไม่ได้คำตอบที่ชัดเจน
แอดจึงหาข้อมูลเพิ่มเติม ซึ่งพบว่ากฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการออกแบบอาคารให้รองรับแผ่นดินไหว ได้แก่ กฎกระทรวง พ.ศ. 2550 และ มาตรฐาน มยผ. 1302/61 ซึ่งกำหนดว่า อาคารในกรุงเทพฯ และพื้นที่เสี่ยงต่ำ ต้องสามารถรองรับแรงสั่นสะเทือนได้ในช่วง 4-12% ของน้ำหนักอาคาร
ส่วนอาคารที่ตั้งอยู่ในพื้นที่เสี่ยงปานกลางถึงสูง อย่างในจังหวัดกาญจนบุรีและภาคเหนือ จะต้องรองรับแรงสั่นสะเทือนได้ 4-15% ของน้ำหนักอาคาร เนื่องจากเป็นพื้นที่ที่อยู่ใกล้กับศูนย์กลางการเกิดแผ่นดินไหว
นอกจากนี้ โดยทั่วไปแล้ว อาคารในไทยถูกออกแบบให้สามารถรองรับแรงสั่นสะเทือนที่เทียบเท่ากับแผ่นดินไหวขนาด 7-7.5 ริกเตอร์ ขณะที่แผ่นดินไหวครั้งล่าสุดมีขนาด 7.7 ริกเตอร์ ซึ่งถือเป็นการทำลายสถิติแผ่นดินไหวที่เคยเกิดขึ้นในปี 2478 ที่น่าน ซึ่งมีขนาด 6.5 ริกเตอร์
ดังนั้น บทเรียนจากเหตุการณ์นี้ อาจทำให้คอนโดและอาคารสูงในไทยต้องปรับมาตรฐานการก่อสร้างให้สามารถรองรับแรงสั่นสะเทือนได้มากกว่าหรือเท่ากับแผ่นดินไหวขนาด 7.7 ริกเตอร์ ที่เกิดขึ้นครั้งนี้ เพื่อเพิ่มความมั่นคงและความปลอดภัยในโครงสร้างอาคาร เพราะในอนาคตอาจเกิดแผ่นดินไหวที่รุนแรงกว่านี้ได้
นอกจากนี้ ดีเวลอปเปอร์อาจพิจารณานำเทคโนโลยีและนวัตกรรมการก่อสร้างจากญี่ปุ่น ซึ่งเป็นประเทศที่มีการเกิดแผ่นดินไหวบ่อยครั้งมาใช้ในการพัฒนาคอนโดในไทย เช่น การใช้วัสดุที่มีความยืดหยุ่นสูง เพื่อช่วยดูดซับแรงสั่นสะเทือนจากแผ่นดินไหว
หรือการติดตั้งอุปกรณ์พิเศษ เช่น แผ่นยางหรือแผ่นเหล็ก ระหว่างฐานรากและตัวอาคาร เพื่อแยกการสั่นสะเทือนของพื้นดินออกจากโครงสร้าง ทำให้ตัวอาคารสั่นไหวน้อยลงเมื่อเกิดแผ่นดินไหว ซึ่งจะช่วยลดความเสียหายและเพิ่มความปลอดภัยให้กับคอนโด
บทเรียนจากแผ่นดินไหวของนิติบุคคล
แผ่นดินไหวเป็นภัยธรรมชาติที่อาจเกิดขึ้นได้โดยไม่คาดคิด และอาจส่งผลกระทบต่ออาคารสูง รวมถึงสร้างความเสียหายต่อโครงสร้างและทรัพย์สินของลูกบ้าน ดังนั้น นิติบุคคลอาคารชุดจึงควรมีมาตรการป้องกันและแนวทางรับมืออย่างเป็นระบบ เพื่อความปลอดภัยของผู้อยู่อาศัยและทรัพย์สินภายในโครงการ
1. ระบบแจ้งเตือนลูกบ้าน
แผ่นดินไหวเป็นภัยธรรมชาติที่ยังไม่สามารถพยากรณ์ล่วงหน้าได้ว่าจะเกิดขึ้นเมื่อไหร่ แต่เมื่อเกิดขึ้นแล้ว ระบบแจ้งเตือนสามารถช่วยให้คนในอาคารหนีออกมาได้ทัน ดังนั้นนิติบุคคลอาจต้องพัฒนาระบบแจ้งเตือนแผ่นดินไหวสำหรับลูกบ้าน ไม่ว่าจะเป็นการส่ง SMS การแจ้งเตือนผ่านแอปพลิเคชัน หรือสัญญาณเตือนในตัวอาคาร
เพื่อให้ทุกคนรับรู้และอพยพได้เร็วขึ้น โดยเฉพาะในกรณีที่บางคนอาจกำลังหลับอยู่และไม่รู้สึกถึงแรงสั่น หรือบางคนอาจคิดว่าแค่หน้ามืด การมีระบบแจ้งเตือนที่ชัดเจนและรวดเร็วจะช่วยเพิ่มความปลอดภัยให้กับลูกบ้านและลดความตื่นตระหนกเวลาฉุกเฉิน
2. การซ้อมแผนรับมือแผ่นดินไหว
คอนโดส่วนใหญ่จะมีการซ้อมหนีไฟกันเป็นประจำ แต่การซ้อมอพยพในกรณีแผ่นดินไหวยังไม่ค่อยมี หรืออาจมีน้อยมาก ทั้งที่วิธีการเอาตัวรอดจากแผ่นดินไหวกับไฟไหม้แตกต่างกัน
นิติบุคคลจึงควรจัดให้มีการซ้อมอพยพแผ่นดินไหวอย่างน้อยปีละครั้ง เพื่อให้ลูกบ้านรู้วิธีปฏิบัติตัวที่ถูกต้อง เช่น การหมอบลง ป้องกันศีรษะ และหาที่กำบังที่มั่นคง รวมถึงการใช้เส้นทางอพยพที่ปลอดภัย นอกจากนี้ ควรติดป้ายบอกทางหนีภัยและจุดรวมพลให้ชัดเจน เพื่อให้ทุกคนอพยพได้อย่างเป็นระเบียบและปลอดภัยที่สุด
3. การตรวจสอบโครงสร้างอาคารเป็นประจำ
เพื่อความปลอดภัยและสร้างความมั่นใจให้กับลูกบ้าน นิติควรให้วิศวกรโครงสร้างเข้าตรวจสอบความแข็งแรงของอาคารอย่างน้อยทุก 5 ปี หรือบ่อยกว่านั้นในพื้นที่เสี่ยงแผ่นดินไหว และหากพบว่าอาคารมีรอยร้าวที่มีผลกระทบต่อโครงสร้าง ควรรีบดำเนินการซ่อมแซมโดยทันที เพื่อป้องกันอันตรายที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต
4. การช่วยเหลือลูกบ้านกรณีห้องพักได้รับความเสียหาย
หากแผ่นดินไหวส่งผลให้ห้องพักของลูกบ้านได้รับความเสียหาย นิติบุคคลควรมีแผนรับมือ เช่น การจัดหาพื้นที่พักพิงชั่วคราว หรือช่วยประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อเร่งซ่อมแซม นอกจากนี้ นิติควรมีการประสานกับบริษัทประกันภัย หรือช่วยให้คำปรึกษา เพื่อให้ลูกบ้านสามารถเคลมความเสียหายได้อย่างรวดเร็ว
บทเรียนจากแผ่นดินไหวของผู้ซื้อ
หลังเหตุการณ์แผ่นดินไหว หลายคนเริ่มมองหาบ้านหรือทาวน์โฮมมากขึ้น แต่ด้วยความที่หมู่บ้านจัดสรรส่วนใหญ่อยู่นอกเมือง จึงไม่เหมาะกับคนทำงานในเมืองที่ไม่มีรถส่วนตัว หรือไม่อยากเดินทางไกล คอนโดใจกลางเมืองหรือตามแนวรถไฟฟ้าจึงเป็นตัวเลือกที่ตอบโจทย์กว่า แต่จะเลือกซื้อคอนโดยังไงให้มั่นใจว่าแข็งแรงและปลอดภัยหากเกิดแผ่นดินไหว? ตามไปดูกันเลยย!
1. เช็กให้ชัวร์ คอนโดรับแรงสั่นสะเทือนจากแผ่นดินไหวได้เท่าไหร่
แม้ว่าจะไม่มีกฎหมายที่ระบุชัดเจนว่าคอนโดหรืออาคารสูงต้องรองรับแผ่นดินไหวได้กี่ริกเตอร์ แต่ทุกโครงการต้องออกแบบตามมาตรฐานวิศวกรรมที่กำหนด ดังนั้นก่อนตัดสินใจซื้อ ควรถามเซลล์ให้แน่ชัดว่าคอนโดรองรับแรงสั่นสะเทือนได้กี่เปอร์เซ็นต์ของน้ำหนักอาคาร และเทียบเท่ากับแผ่นดินไหวขนาดกี่ริกเตอร์ เพื่อให้มั่นใจในความมั่นคงแข็งแรงของอาคาร
2. การตรวจสอบโครงสร้าง
แม้อาคารจะถูกออกแบบให้รองรับแรงสั่นสะเทือน แต่โครงสร้างก็ต้องมีการตรวจสอบและบำรุงรักษาอยู่เสมอ จึงควรเลือกคอนโดที่มีแผนตรวจสอบโครงสร้างเป็นประจำ หรืออย่างน้อยทุก 5 ปี และดูว่าโครงการใช้วัสดุและเทคนิคการก่อสร้างที่ช่วยให้โครงสร้างมีความเหนียวและยืดหยุ่นหรือไม่?
เพราะเมื่อเกิดแผ่นดินไหว ตัวอาคารจะต้องเผชิญกับแรงสั่นสะเทือนที่ทำให้โครงสร้างโยกและเกิดแรงเฉือน หากอาคารแข็งเกินไปและไม่มีความยืดหยุ่น โครงสร้างอาจแตกร้าวหรือพังถล่มได้ง่าย แต่ถ้าอาคารมีความเหนียวและยืดหยุ่น ก็จะช่วยให้โครงสร้างดูดซับและกระจายแรงสั่นสะเทือนได้ดีขึ้น ลดโอกาสที่อคารจะถล่มลงมา
3. แผนรับมือเมื่อเกิดแผ่นดินไหว
แผ่นดินไหวเป็นภัยพิบัติทางธรรมชาติที่คาดเดาไม่ได้ ดังนั้นเวลาจะซื้อคอนโด จำเป็นต้องเลือกโครงการที่มีแผนรับมือแผ่นดินไหว รวมถึงเหตุฉุกเฉินอื่น ๆ อย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อความปลอดภัยของลูกบ้าน เช่น มีทางหนีไฟและจุดรวมพลที่ชัดเจน มีระบบแจ้งเตือนเหตุฉุกเฉินและการซักซ้อมหนีภัย ตลอดจนนิติบุคคลมีแนวทางช่วยเหลือผู้อยู่อาศัยหลังเกิดเหตุ
อีกทั้งแผ่นดินไหวครั้งนี้ยังทำให้เราได้เห็นแล้วว่าดีเวลอปเปอร์แต่ละค่าย มีแนวทางรับมือกับสถานการณ์ยังไง เพราะสิ่งเหล่านี้สะท้อนถึงความน่าเชื่อถือและความใส่ใจต่อผู้อยู่อาศัยในระยะยาว และถือเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ช่วยในการตัดสินใจเลือกซื้อคอนโด
แผ่นดินไหวในครั้งนี้มีผลกระทบต่อตลาดคอนโดไทยเป็นอย่างมาก และเชื่อว่านี่จะเป็นบทเรียนให้กับดีเวลอปเปอร์ในการพัฒนาโครงการให้มีความมั่นคงปลอดภัยมากขึ้น ส่วนนิติบุคคลก็ต้องมีแผนรับมืออย่างมีประสิทธิภาพ ขณะเดียวกันผู้ซื้อก็จำเป็นต้องนำปัจจัยเรื่องแผ่นดินไหวเข้ามาเป็นเกณฑ์ในการตัดสินใจเลือกซื้อคอนโดเช่นกัน
บทความที่เกี่ยวข้อง
บ้าน Precast มีข้อดี ข้อเสีย ยังไง
นิติบุคคล คืออะไร จำเป็นไหมที่ต้องมี
ประกันอัคคีภัย แท้จริงแล้วคุ้มครองอะไรบ้าง?
รวมวิธีป้องกันไฟฟ้าลัดวงจร ปลอดภัยทั้งคนและบ้าน
เจาะลึก คอนโดเลี้ยงสัตว์ได้ เทรนด์ที่อยู่อาศัยที่กำลังฮิตและมาแรง ถูกใจบรรดาทาสทั้งหลายมากที่สุด!!
2024-02-16
ห้องแบบไหนที่ไม่เข้าตา หากเลือกแล้วจะอยู่ยาก
2020-06-12
10 จังหวัด มีประชากรมากที่สุดในประเทศไทย
2024-02-12
ส่องทำเลพระราม 4 บิ๊กโปรเจกต์ลงพื้นที่เพียบ!
2024-10-27
5 จังหวัด ชาวต่างชาติโอนคอนโดและมูลค่าสูงสุด ในปี 2566
2024-04-20
ชอบสไตล์การเขียนจังเลยคะ เข้าใจง่าย น่าติดตาม
เขียนรีวิวถูกใจเจ้มากค่ะ
อ่านแล้ว สัมผัสได้เลยว่าตั้งใจเขียน เยี่ยมค่ะ
Content หลากหลายดีค่ะ
ได้รับความรู้เยอะเลย
Good Job !!!