รายการโปรด
2560 ยังเป็นอีกปีที่ "รัฐบาล คสช." ขอปักหมุดเมกะโปรเจ็กต์สังกัดคมนาคมในฐานะกระทรวงเศรษฐกิจเกรดเอ เป็นพระเอกขับเคลื่อนการลงทุนของประเทศ
แม้ว่าที่ผ่านมามีความล่าช้าจากกรอบแผนงานไปบ้าง เนื่องจากโครงการใช้เม็ดเงินลงทุนสูง จึงมีบางโครงการต้องอาศัยเอกชนมาช่วยอัดเงินเข้าสู่ระบบภายใต้รูปแบบ "PPP" หรือให้เอกชนร่วมลงทุน แต่ยังไม่ฉลุยอย่างที่หวัง อีกทั้งระหว่างทางยังมีขั้นตอนปลีกย่อยที่ต้องคอยสะสาง เลยทำให้สปีดการเปิดประมูลโครงการไม่รวดเร็วทันใจ
ดังนั้นเพื่อให้ทุกอย่างไปถึงเป้าหมาย "บิ๊กรัฐบาล" จึงมียุทธการทางลับหวังทะลวงปัญหาที่ทำให้โครงการติดหล่มเดินหน้าต่อไปได้
เร่งลงทุน 56 โปรเจ็กต์ยักษ์
ขณะเดียวกัน "คมนาคม" ได้รับสัญญาณจาก "สมคิด จาตุศรีพิทักษ์" มือเศรษฐกิจรัฐบาล คสช. เร่งรัดโครงการที่เรียงคิวก่อสร้างและประมูลให้หมดภายในปีนี้ หวังดึงเงินลงทุน 56 โครงการยักษ์ที่คมนาคมจัดทัพเป็นโครงการเร่งด่วนปี 2559-2560 ใช้เงินลงทุนกว่า 2 ล้านล้านบาท เข้าสู่ระบบเศรษฐกิจโดยเร็ว
หากเป็นไปตามแผน "อภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์" ขุนคลังคาดว่าปี 2560 จะเป็นปีแห่งการลงทุน คาดว่ามีการเบิกจ่าย 160,000 ล้านบาท รวมปี 2559 ด้วยจะอยู่ที่ 240,000 ล้านบาท
ฟาก "คมนาคม" ก็เริ่มโหมโรงไล่ประมูลงาน ทั้งรถไฟทางคู่ 5 เส้นทาง ร่วม 1 แสนล้านบาท ที่ตกค้างมาจากปี 2559 รถไฟฟ้าสารพัดสี มอเตอร์เวย์ และสุวรรณภูมิเฟส 2 ยังมีอีก 4 โครงการที่จ่อกดปุ่ม
เร่งลงนามสีชมพู-เหลือง
ในส่วนของโครงการจะใช้กลไก PPP ขณะนี้มีเพียงรถไฟฟ้าสายสีชมพูกับสีเหลืองที่สำเร็จ หลังจาก "คีรี กาญจนพาสน์" เจ้าพ่อบีทีเอส ผนึกกำลังยักษ์รับเหมา "ซิโน-ไทยฯ"
และ "บริษัทผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้งส์" ช่วยรัฐบาลจุดพลุลงทุน 2 รถไฟฟ้ากว่า 1 แสนล้านบาท ขณะนี้อยู่ระหว่างเจรจาและพิจารณาข้อเสนอเพิ่มเติม แว่วว่าใกล้ได้ข้อยุติเต็มที เพราะงานนี้ "รองนายกฯสมคิด" เร่งยิกให้เซ็นสัญญาภายในเดือน เม.ย.นี้
ส่วนโครงการอื่น ๆ อยู่ระหว่างดำเนินการ ไม่ว่าจะเป็นการบริหารจัดการและบำรุงรักษา สร้างที่พักริมทางของมอเตอร์เวย์สายบางปะอิน-นครราชสีมา วงเงินลงทุน 43,400 ล้านบาท และบางใหญ่-กาญจนบุรี วงเงินลงทุน 38,600 ล้านบาท
ซึ่ง "ทล-กรมทางหลวง" เคลียร์กับคณะกรรมการกฤษฎีกาแล้ว สามารถนำที่ดินเวนคืนให้เอกชนร่วมลงทุนได้ รอเพียงคณะกรรมการ PPP ไฟเขียวลงทุนรูปแบบไหนระหว่าง "PPP Net Cost" ที่โยนให้เอกชนรับความเสี่ยง กับ "PPP Gross Cost" ภายใต้ระยะเวลาสัมปทาน 30 ปี คาดว่าเปิดประมูลในเดือน พ.ค.นี้
จุดพลุประมูลรถไฟเร็วสูง
ขณะที่ "รถไฟความเร็วสูง" หรือไฮสปีดเทรน 2 สายทาง ได้แก่ "กรุงเทพฯ-หัวหิน" กับ "กรุงเทพฯ-พัทยา-ระยอง" เงินลงทุนกว่า 2.46 แสนล้านบาท ที่รัฐบาล คสช.ปัจจุบันให้แนวทางดึงเอกชนร่วมลงทุน PPP ทั้งโครงการ หลังกระแสแผ่วลงไปสักพัก ล่าสุดเริ่มมีการเคลื่อนไหวเตรียมเสนอคณะกรรมการ PPP เปิดประมูลในเดือน พ.ค.นี้
โดยเฉพาะเส้นทาง "กรุงเทพฯ-ระยอง" ระยะทาง 193.5 กม. วงเงินลงทุน 1.52 แสนล้านบาท ทางผู้หลักผู้ใหญ่ในรัฐบาล คสช.คาดหวังไว้มากให้เป็นโครงสร้างพื้นฐานคมนาคมอีกระบบหนึ่ง มาช่วยบูมเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ดึงดูดคลื่นนักลงทุนไทย-เทศ
ตั้งแท่น PPP ลอต 2
นอกจากนี้ ยังจัดทัพโครงการ PPP ลอตที่ 2 ต่ออีก โดย "พีระพล ถาวรศุภเจริญ" รองปลัดกระทรวงคมนาคม เปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า ปี 2560 ทางคณะกรรมการ PPP มอบหมายให้คมนาคมพิจารณาเสนอโครงการบรรจุเข้า PPP Fast Track เพิ่มเติม
ทั้งนี้จากการพิจารณาเบื้องต้น คาดว่าจะมีจ้างเดินรถไฟฟ้าสายสีม่วง (เตาปูน-ราษฎร์บูรณะ) และสายสีส้ม (ตลิ่งชัน-มีนบุรี) มอเตอร์เวย์ นครปฐม-ชะอำ และไฮสปีดเทรนสายกรุงเทพฯ-ระยอง, กรุงเทพฯ-หัวหิน ซึ่งกระทรวงจะพิจารณาโครงการอีกครั้งก่อนเสนอไปยังคณะกรรมการ PPP โดยพลัน
โดยทุกงานประมูลเป็นความหวังกระตุ้นเศรษฐกิจปีระกา อย่างน้อยเป็นตัวช่วยพยุงจีดีพีให้สูงกว่าปีที่ผ่านมาก็ยังดี
ขอบคุณภาพและข่าวจาก ประชาติธุรกิจ
http://www.prachachat.net/news_detail.php?newsid=1487033220
พลัส พร็อพเพอร์ตี้ ขึ้นแท่นอันดับ 1 ด้านคุณภาพการบริหารจัดการระดับสากล กวาด ISO มากที่สุด ครบ 3 มาตรฐานครอบคลุมทุกมิติ เป็นเจ้าแรกในประเทศไทย
2022-07-14
นัมเบอร์วันเฮ้าส์ซิ่ง ดิเวลลอปเม้นท์ ส่งโครงการ THE ONE life bangna บุกเมกาบางนา บ้านเดี่ยวอารมณ์รีสอร์ตใช้ชีวิตใกล้ชิดธรรมชาติ ทำเลต้นบางนา
2022-07-14
Last Call Promotion!! กับแคมเปญ “ชีวาทัยเป็นได้มากกว่าเพื่อน” หมดเขต 31 ก.ค.นี้เท่านั้น
2022-07-14
ASW เสริมกลยุทธ์ Lifestyle Community จัด Monstr Concert Festival Series#1 ตอบรับไลฟ์สไตล์ลูกบ้านโครงการคอนโดฯ เคฟทาวน์ สเปซ
2022-07-14
เตือนภัยขอสินเชื่อบ้าน-ที่ดินระวังโดนโกง
2022-07-11
อ่านสนุก ได้ความรู้ด้วย
เข้าใจง่ายขึ้นเลย อ่านง่าย สบายตา รูปสวย
อ่านยังไงให้เสียตังงงงงงงง เขียนแบบนี้ต้องเสียตังแน่ๆ