News
icon share

คำถามปลายเปิด รับสร้างบ้าน (5) อยากให้รัฐตั้งกลุ่มอุตสาหกรรมรับสร้างบ้าน

LivingInsider Report 2017-03-31 14:54:46
คำถามปลายเปิด รับสร้างบ้าน (5) อยากให้รัฐตั้งกลุ่มอุตสาหกรรมรับสร้างบ้าน

 

 

ซีรีส์เจาะลึกวงการธุรกิจสร้างบ้านบนที่ดินตัวเองเดินทางมาถึงตอนจบ แขกรับเชิญสุดพิเศษเป็นอดีตนายกสมาคม 2 สมัย "พี่โอ๊ต-ดร.พัชรา ตันฑยรรยง" กรรมการกิตติมศักดิ์ สมาคมธุรกิจรับสร้างบ้าน และกรรมการผู้จัดการ บริษัท มีนบุรี รับสร้างบ้าน จำกัด
 


ในฐานะผู้ทำธุรกิจรับสร้างบ้าน 22 ปีเต็ม มุมมองที่ต้องการสื่อถึงผู้บริโภค อยากให้คำนึงถึงการจ่ายเงินให้ได้ความคุ้มค่า ได้บ้านคุ้มค่าและได้มาตรฐาน
 


"สมาคมยึดมั่นคุณภาพของงาน การสร้างบ้านวันสต็อปเซอร์วิส บริการทั้งประสานงานราชการ ขอน้ำ ไฟ วิศวกรโครงสร้าง สถาปนิก ผู้ควบคุมงาน รวมถึงการสื่อสาร ประสานงานกับช่าง ทำโครงสร้างให้ได้ตามต้องการลูกค้า"
 


ในแง่มุมที่ผู้บริโภคยังรู้สึกว่าบริษัทรับสร้างบ้านแพงกว่าใช้ผู้รับเหมารายย่อย ข้อนี้ไม่ปฏิเสธ แต่...
 


"การทำทุกอย่างรัฐบาลบอกว่าชูนวัตกรรม ทุกอาชีพต้องมีนวัตกรรม รับสร้างบ้านเลยนวัตกรรมการก่อสร้างมาเยอะแล้ว จนมาถึงงานบริการแล้ว จ่ายอย่างสมเหตุสมผลให้กับวิชาชีพ มีตัวอย่างมากมายที่ใช้รับเหมาสร้างบ้านให้ โดยจ้างเหมาค่าแรง ซื้อวัสดุเอง สุดท้ายค่าใช้จ่ายแพงกว่าแน่นอนค่ะ"
 



ดร.พัชรา ตันฑยรรยง
 


ข้อคิดเห็นจะฝากตรงถึงรัฐบาล คสช. เรียกร้องให้ความสำคัญกับธุรกิจนี้อาจเป็นเพราะที่ผ่านมา รัฐบาลทุกรัฐบาลมีนโยบายส่งเสริมเอสเอ็มอี โดยเฉพาะรัฐบาลนี้ ทาง "ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์" รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจ ประกาศผลักดันบทบาทเอสเอ็มอีไทยเป็นนักรบเศรษฐกิจ และแม้ว่าที่ผ่านมา กระทรวงพาณิชย์ดูเหมือนเป็นกระทรวงเดียวที่ส่งเสริมธุรกิจรับสร้างบ้าน โดยมีการเชิญสมาคมไปประกวดสมาคมการค้าดีเด่น จนนำไปสู่การคว้ารางวัลสมาคมการค้าดีเด่นหลายปีซ้อน
 


แต่เมื่อถึงเวลาต้องการความช่วยเหลือ ต้องการการสนับสนุน กลับหาเจ้าภาพภาครัฐไม่เจอ จนหลาย ๆ ครั้งอดถามตัวเองไม่ได้ว่าเกิดอะไรขึ้นกับประเทศนี้ อาจเพราะธุรกิจรับสร้างบ้านไม่ได้เป็นภาพใหญ่ เป็นเอสเอมอีภาพเล็ก ๆ ไม่มีตัวชี้วัดชัดเจน พอรัฐจะหาตัวเลขชัดเจนก็หาไม่ได้ เพราะไม่มีเก็บตัวเลขจริงจัง มีแต่ตัวเลข REIC (ศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ ธอส.) ซึ่งเก็บข้อมูลจากการขออนุญาตสร้างบ้านนอกโครงการจัดสรร
 


ในขณะที่ความช่วยเหลือภาครัฐซึ่งมีทรัพยากรจำกัด จำเป็นต้องเกลี่ยความช่วยเหลือโดยจัดลำดับความสำคัญ (Priority) ความช่วยเหลือจึงมุ่งเป้าไปที่ภาพใหญ่ในธุรกิจอสังหาฯ เหตุผลลึก ๆ มากไปกว่านั้น อาจเป็นเพราะรัฐบาลมองว่าเป็นผู้รับเหมา ไม่ใช่ผู้ประกอบธุรกิจรับสร้างบ้าน
 


"พยายามบอกรัฐตลอดว่าบริษัทรับสร้างบ้านเป็นตัวจริงเสียงจริง มองให้ดีธุรกิจจัดสรรยังต้องสร้างรอคนซื้อ เปรียบเทียบกับการรับสร้างบ้านเรากระตุ้นเศรษฐกิจเรียลไทม์ สร้างบ้าน 1 หลังอิมแพ็กกับคนอีกเป็นร้อยชีวิต จ่ายค่าเสาเข็ม ผลิตเข็ม ค่าแรง ค่าปูน เหล็ก ทราย ฯลฯ"
 


ประเด็นของเจ้าภาพภาครัฐ มีข้อเสนอว่า ควรจะมีกระทรวงอุตสาหกรรมยื่นมือเข้ามาให้ความช่วยเหลือสนับสนุน อยากให้มีกลุ่มอุตสาหกรรมรับสร้างบ้าน เพื่อเป็นเวทีความร่วมมือรัฐกับภาคเอกชนในอุตสาหกรรมนี้
 


ถัดมา ยังติดใจเวลารัฐบาลสนับสนุนภาคอสังหาฯ ผู้บริโภคที่ได้รับอานิสงส์ยังจำกัดเฉพาะผู้ซื้อบ้านและคอนโดมิเนียมในโครงการจัดสรรเท่านั้น
 


เท่ากับผู้บริโภคที่สร้างบ้านบนที่ดินตัวเองไม่ได้รับสิทธิประโยชน์ใด ๆ เลย ไม่ว่าจะเป็นการยกเว้นค่าจดจำนอง มาตรการลดหย่อนภาษีบุคคลธรรมดาจากการสร้างบ้าน เงินกู้อัตราดอกเบี้ยต่ำ ฯลฯ
 


"พวกเราเป็นเอสเอ็มอีพื้นฐานจริง ๆ มีรายได้ในประเทศจริง ๆ ไม่ว่าการค้าขาย ซื้อของจากซัพพลายเออร์ในประเทศ แรงงานก็ใช้ในประเทศ เราเป็นเรียลดีมานด์จริง ๆ อาจเป็นเครื่องบ่งชี้ได้ว่าประชาชนมีกำลังซื้อแค่ไหน อย่างไร
 


บทบาทสมาคมที่ผ่านมา ไม่ได้งอมืองอเท้าหากแต่ทำในเรื่องทวิภาคีอาชีวะ รุ่น 5 แล้ว ร่วมมือกับสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา ผลิตเด็ก ๆ น้อง ๆ สมกับนายกรัฐมนตรีอยากทำอาชีวะสร้างชาติ แต่ภาครัฐไม่ได้ช่วยเหลือเราเลย ไปช่วยเหลืออะไรก็ไม่ทราบ (หัวเราะ)
 


"เราเป็นนักรบเศรษฐกิจที่ต่อสู้ยกระดับ สร้างมาตรฐานวิชาชีพให้กับวงการ ไม่ได้ต่อสู้แค่ 5-10 ปี แต่ทำต่อเนื่อง 20-30 ปี เรายืนหยัดอยู่ได้ เป็นนักรบตัวจริง อยากขอกำลังใจ (จากรัฐบาล) บ้าง"

 

 

ขอบคุณภาพและข่าวจาก ประชาชาติธุรกิจ

 

 

http://www.prachachat.net/news_detail.php?newsid=1490929793

 

 

 

>> ช่องทางในการติดตามข่าวสาร <<
ไม่พลาดข่าวสำคัญ แค่กดเป็นเพื่อนกับ ไลน์ @livinginsider ที่นี่

บทความอื่นๆ

livinginsider livinginsider