รายการโปรด
THBA ประเมินตลาดบ้านสร้างเองไตรมากแรกปี 60 ขยายตัวร้อยละ 19 เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาส 4 ปีก่อนที่กำลังซื้อซบเซา เผยกลุ่มรับสร้างบ้านมีแชร์ตลาด 1.4 หมื่นล้านบาท แบ่งเป็น กทม.และปริมณฑลร้อยละ 60 และตจว.ร้อยละ 40 โดยแชร์ตลาดตจว.ขยายตัวต่อเนื่องในช่วง 15 ปีที่ผ่านมา ชี้ผู้ประกอบการร้อยละ 90 เลือกกลยุทธ์แข่งขันราคาต่ำ มีเพียงร้อยละ 10 ที่เน้นขายความแตกต่างและสร้างแบรนด์ให้เป็นที่ยอมรับ มองแนวโน้มการเมืองมีความชัดเจนเป็นปัจจัยบวก แนะผู้ประกอบการราคาไม่ใช่คำตอบเดียวที่ผู้บริโภคเลือก
ภาพรวมตลาดบ้านสร้างเอง
สถานการณ์ตลาดบ้านสร้างเองทั่วประเทศ ในช่วงไตรมาสแรกปี 2560 นี้ (มค.-มีค.) ขยายตัวใกล้เคียงกับช่วงเดียวกันปีที่แล้ว แต่หากเปรียบเทียบกับไตรมาส 4 ปีที่ผ่านมา ประเมินว่าเติบโตกว่าร้อยละ 18-19 โดยปัจจัยหลักๆ มาจากการกระตุ้นตลาดและแข่งขันกันคึกคักมากขึ้น ของบรรดากลุ่มผู้ประกอบการรับสร้างบ้าน หลังจากที่ไตรมาส 4 ตกอยู่ในบรรยากาศซบเซาระยะหนึ่ง ทั้งนี้ผู้ประกอบการได้มีการรวมตัวจัดอีเว้นท์หรือมหกรรมสร้างบ้านฯ และจัดโปรโมชั่นปลุกกำลังซื้อที่อั้นมาจากปีก่อนขึ้น รวมถึงมีการใช้งบซื้อโฆษณาทั้งทีวีและออนไลน์มากขึ้น ฯลฯ นอกจากนี้ ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคเองก็เริ่มเป็นไปในทิศทางที่ดีขึ้น ประเมินได้จากบรรยากาศในงานอีเว้นท์ที่มีผู้บริโภคมาเลือกช้อป และว่าจ้างผู้ประกอบการรับสร้างบ้านกันอย่างคึกคัก ทำให้ตัวเลขยอดขายบ้านโดยเฉพาะกลุ่มสมาชิกสมาคมฯ ที่แข่งขันอยู่ในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล มีแชร์ส่วนแบ่งตลาดเพิ่มกันทั่วหน้า
สำหรับตลาดบ้านสร้างเองทั่วประเทศปี 2560 เฉพาะประเภทพักอาศัยถาวร คาดว่ามีมูลค่าตลาดรวมประมาณ 8 หมื่นล้านบาทเศษ โดยกลุ่มผู้ประกอบการในธุรกิจรับสร้างบ้านมีแชร์ส่วนแบ่งตลาดประมาณ 1.4 หมื่นล้านบาทเศษ ขยายตัวใกล้เคียงกับปีที่แล้ว ทั้งนี้มูลค่าตลาดรับสร้างบ้านแบ่งออกได้เป็น 2 กลุ่มคือ 1.มูลตลาดรับสร้างบ้านเฉพาะในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑลมีสัดส่วน 55 - 60% หรือคิดเป็น 8 พันล้านบาทเศษ และ 2.มูลค่าตลาดรับสร้างบ้านต่างจังหวัด มีสัดส่วน 40-45% หรือคิดเป็น 5.5 - 6 พันล้านบาท อย่างไรก็ดี หากพิจารณาสัดส่วนของทั้ง 2 กลุ่มเปรียบเทียบกับในอดีต พบว่าตลาดรับสร้างบ้านในต่างจังหวัด มีสัดส่วนขยายตัวอย่างต่อเนื่องในระยะ 15 ปีที่ผ่านมา เหตุผลนั้นชัดเจนว่ามีผู้ประกอบการรายใหม่ๆ ในต่างจังหวัดเข้ามาในธุรกิจรับสร้างบ้านเพิ่มขึ้น รวมถึงการขยายสาขาและตลาดต่างจังหวัดของกลุ่มผู้ประกอบการรับสร้างบ้านชั้นนำ และสามารถแชร์ส่วนแบ่งตลาดได้เพิ่มมากขึ้น ตลอดจนการรับรู้และความเข้าใจของผู้บริโภคที่มีต่อธุรกิจรับสร้างบ้านดีขึ้นตามลำดับ เมื่อเปรียบเทียบกับในช่วง 10-15 ปีก่อนหน้านี้
กลยุทธ์และการแข่งขัน
สมาคมฯ ประเมินว่าตลาดรับสร้างบ้านในช่วงไตรมาส 2 หรือครึ่งปีแรกยังคงแข่งขันรุนแรงเช่นที่ผ่านมา โดยกลยุทธ์หลักๆ ที่กลุ่มผู้ประกอบการนำมาใช้แข่งขันและเห็นได้ชัดเจน สามารถแบ่งออกได้ 3 ลักษณะคือ 1.กลยุทธ์ราคาต่ำ 2.กลยุทธ์ผลิตภัณฑ์และบริการที่แตกต่าง 3.กลยุทธ์การสร้างภาพลักษณ์และความน่าเชื่อถือของแบรนด์ อย่างไรก็ดี คาดการณ์ว่าผู้ประกอบการกว่าร้อยละ 90 ชูกลยุทธ์ราคาต่ำ ในขณะที่มีผู้ประกอบการส่วนน้อยหรือร้อยละ 10 เท่านั้น ที่จะเน้นให้ความสำคัญกับกลยุทธ์การสร้างแบรนด์และผลิตภัณฑ์ที่แตกต่าง และด้วยเหตุที่ผู้ประกอบการส่วนใหญ่ เลือกใช้กลยุทธ์ราคาต่ำ จึงทำให้ต้องเลือกใช้วิธีลดต้นทุนด้วยการหลบเลี่ยงภาษีโดยอาศัยช่องโหว่ทีมี ซึ่งส่งผลกระทบต่อกลุ่มผู้ประกอบการ ที่ปฏิบัติตามระบบอย่างถูกต้องแข่งขันลำบาก เพราะเสียเปรียบในแง่ต้นทุนทางภาษี
สำหรับภาพรวมการแข่งขันที่เปลี่ยนไป ประการหนึ่งพบว่า ตลาดรับสร้างบ้านมีผู้ประกอบการรายใหม่ๆ เข้ามาแข่งขันในต่างจังหวัดจำนวนเพิ่มมากขึ้น ซึ่งส่วนใหญ่ประกอบธุรกิจอย่างอื่นอยู่ในท้องถิ่นมาก่อนแล้ว แต่แตกไลน์มาทำธุรกิจรับสร้างบ้าน เช่น กลุ่มผู้จำหน่ายวัสดุก่อสร้าง กลุ่มสถาปนิกออกแบบ กลุ่มผู้ประกอบการบ้านจัดสรร กลุ่มผู้รับเหมาทั่วไป ฯลฯ เป็นต้น ทั้งนี้ก็พบว่ากลุ่มผู้ประกอบการต่างใช้กลยุทธ์ราคาต่ำจูงใจผู้บริโภคกันทั่วหน้า ฉะนั้นหากผู้บริโภคเองไม่มีการศึกษาวัสดุก่อสร้าง มาตรฐานการก่อสร้าง รายละเอียดบริการก่อนและหลังการขายอย่างรอบคอบ ก็อาจหลงเข้าใจผิดว่าได้บ้านราคาถูกที่มีมาตรฐานเหมือนๆ กัน ซึ่งในความเป็นจริงแแล้วมิได้เป็นดังที่เข้าใจ อย่างไรก็ตาม ผู้บริโภคจำนวนหนึ่งก็ยอมรับได้กับคุณภาพที่ลดทอนลง แต่ขอจ่ายในราคาที่ต่ำกว่าหรือถูกกว่า
แนวโน้มไตรมาส 2
นายสิทธิพร สุวรรณสุต นายกสมคมไทยรับสร้างบ้าน เปิดเผยว่า กำลังซื้อผู้บริโภคไตรมาสแรกปรับตัวดีขึ้นแต่สำหรับไตรมาส 2 ยอมรับว่ายังมีความกังวลอยู่บ้าง เพราะเป็นช่วงที่มีเทศกาลวันหยุดยาว อย่างไรก็ดี หากภาพรวมเศรษฐกิจปีนี้มีแนวโน้มขยายตัวและการเมืองมีความชัดเจน ก็จะเป็นปัจจัยบวกที่ช่วยกระตุ้นให้ผู้บริโภคและประชาชนมีความเชื่อมั่นตามมา พร้อมที่จะจับจ่ายใช้สอยและลงทุนเรื่องบ้านหรือที่อยู่อาศัยกันมากขึ้น ปัจจุบันราคาพืชผลทางการเกษตรที่เป็นพืชเศรษฐกิจปรับตัวดีขึ้น เช่น ยางพารา ปาล์ม อ้อย กอปรกับเรามีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่แล้ว และจะนำไปสู่การเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตยที่ชัดเจน ซึ่งถือเป็นสัญญาณที่ดีและเป็นปัจจัยบวกที่จะส่งผลต่อกำลังซื้อผู้บริโภคในช่วงไตรมาส 2 และปี 2560 นี้
สำหรับแนวโน้มการแข่งขันของตลาดรับสร้างบ้านในช่วงไตรมาส 2 นี้ที่คาดว่าจะยังคงแข่งขันราคากันรุนแรงนั้นไม่น่ากังวลมากนัก เพราะกลุ่มผู้บริโภคตัวจริงที่ต้องการใช้บริการศูนย์รับสร้างบ้าน ส่วนใหญ่จะมีการศึกษารายละเอียดและหาข้อมูลเปรียบเทียบมาเป็นอย่างดี ก่อนจะพูดคุยและตัดสินใจเลือกผู้ประกอบการรายใดเป็นผู้สร้างบ้าน ฉะนั้นเรื่องการให้บริการก่อนและหลังการขาย คุณภาพวัสดุที่ต้องการ ดีไซน์แบบบ้าน ฝีมือและผลงานที่ผ่านมา ตลอดจนเสียงจากผู้ที่เคยใช้บริการมาแล้ว ทั้งหมดยังคงเป็นองค์ประกอบสำคัญ ที่ผู้บริโภคตัวจริงเสียงจริงใช้ประกอบการพิจารณา หาใช่เฉพาะราคาต่ำเพียงอย่างเดียว ฉะนั้นแนะนำว่าผู้ประกอบการรับสร้างบ้านที่เป็นตัวจริงเช่นกัน ก็ควรเน้นวางกลยุทธ์แข่งขันให้สอดคล้องกับสิ่งที่ผู้บริโภคต้องการ เพราะหากเลือกที่จะใช้ราคาต่ำแข่งขันไปตลอด สุดท้ายจะไม่สามารถพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการให้ก้าวทันเทคโนโลยี และตอบสนองไลฟ์สไตล์ผู้บริโภคได้อย่างพึงพอใจ
ลลิล พร็อพเพอร์ตี้ ส่งโปรสวัสดีปีใหม่ ขนทัพบ้านทุกทำเลทั่วกรุงเทพฯ-ปริมณฑล ลดสูงสุด 3 แสน วันที่ 18-19 ม.ค. 68
2025-01-10
แสนสิริปลื้มปี 67 โกยยอดโอน 43,700 ลบ. ตามเป้า เตรียมออกหุ้นกู้ 3 ชุด นำทุนรุกธุรกิจปี 68 จองขั้นต่ำ 1,000 บาท ดอกเบี้ย 3.90-4.50% ต่อปี
2025-01-10
สโคป ทองหล่อ ปล่อยทีเซอร์แอนิเมชัน “A Sky Manor” ผลงานศิลปินระดับโลก “Andrea Mongia” พร้อมเปิดให้เข้าชมโครงการ Q1/68
2025-01-10
SC Asset เปิดตัว “เรฟเฟอเรนซ์ เกษตร ดิสทริค” ดีไซน์คอนโดตรงข้ามม.เกษตรฯ ชูห้องรูปแบบใหม่ VertiSpace พร้อม Concierge Service เจาะกลุ่ม GEN Y
2025-01-10
MQDC โชว์ Backlog 24,000 ลบ. พร้อมเตรียมแผนขยายโครงการต่อเนื่อง
2025-01-08
อ่านแล้วรู้สึกดี จะดีกว่านี้ถ้าโครงการลดราคาและให้ของฟรีด้วย อิอิ
อ่านสนุกดีค่ะ ถึงแม้ส่วนตัวจะไม่ชอบอ่าน แต่บทความที่นี่อ่านได้เรื่อยๆเลยค่ะ
อ่านเพลินดี ชอบค่ะ