News
icon share

คมนาคมโหมลงทุนภาคเหนือ ปั้น เชียงราย เกตเวย์การค้าเชื่อมโลก

LivingInsider Report 2017-04-21 13:51:02
คมนาคมโหมลงทุนภาคเหนือ ปั้น เชียงราย เกตเวย์การค้าเชื่อมโลก

 

 

หลัง "คมนาคม" โรดโชว์แผนลงทุนโครงสร้างพื้นฐานคมนาคมขนส่งในแผนปฏิบัติเร่งด่วน ปี 2559-2560 จำนวน 56 โครงการ เงินลงทุนร่วม 2.2 ล้านล้านบาท สร้างการรับรู้ของประชาชนและนักลงทุน

 


ในวันที่ 21 เม.ย.นี้เป็นคิวจังหวัด "เชียงราย" ที่ "อาคม เติมพิทยาไพสิฐ"รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ขึ้นเวทีพูดให้นักธุรกิจท้องถิ่นฟังถึงโอกาสจะได้รับจากการลงทุน ภายใต้ยุทธศาสตร์ "One Transport : One Development"ในหัวข้อ "The Northern Connect : ภาคเหนือ เตรียมรับอนาคต"
 


สำหรับ "เชียงราย" อยู่ในกลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน 2 รวมพะเยา แพร่ และน่าน ด้วยศักยภาพพื้นที่ "รัฐบาล คสช." ประกาศเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษครอบคลุม 3 อำเภอ 21 ตำบล ได้แก่ เชียงของ เชียงแสน แม่สาย รวมพื้นที่ 1,523 ตร.กม.รับการค้าแนวระเบียงเศรษฐกิจเหนือ-ใต้เชื่อมไทยทะลุลาวและจีนตอนใต้ ผ่านเส้นทาง R3A เชียงราย-เชียงของ-ห้วยทราย-หลวงน้ำทา-บ่อห่าน-เชียงรุ้ง-คุนหมิง 1,090 กม.และ R3B เชียงราย-แม่สาย-ท่าขี้เหล็ก-เชียงตุง-เชียงรุ้ง-คุนหมิง 
 


ทำให้รัฐต้องเตรียมระบบโครงสร้างพื้นฐานรองรับ ในแผนมีโครงการคมนาคมขนส่งเกี่ยวเนื่องกลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน "บก-ราง-น้ำ-อากาศ" ที่ต้องเร่งขับเคลื่อน มูลค่ากว่า 2 แสนล้านบาท 
 


"ทางบก" ที่กำลังประมูล "ศูนย์ขนส่งสินค้าเชียงของ" ขนาด 280 ไร่ของกรมการขนส่งทางบก (ขบ.) ระยะแรก 1,400 ล้านบาท จะใช้เวลาก่อสร้าง 2 ปีครึ่ง เมื่อแล้วเสร็จจะเป็นจุดบริการครบวงจรครบทั้งด่านศุลกากร ตรวจคนเข้าเมือง ตรวจสินค้าและสัตว์รองรับการค้า "ด่านเชียงของ" ผ่านสะพานข้ามแม่น้ำโขงแห่งที่ 4 (เชียงของ-ห้วยทราย) ที่เชื่อมการค้าไทย ลาว จีน ผ่านเส้นทางบ่อเต็น บ่อหาน ไปถึงคุนหมิง ไม่ใช่ขนส่งสินค้าเท่านั้น ปัจจุบันยังได้รับความนิยมจากนักท่องเที่ยวจีนมาก
 


ด้านโครงข่ายถนน ทางลอดและทางข้ามบนถนนสายหลักและสายรองในเมือง-นอกเมืองที่กรมทางหลวง (ทล.) และกรมทางหลวงชนบท (ทช.) จัดสรรงบประมาณประจำปี เสริมการขนส่งสินค้าท่าเรือเชียงแสนและด่านเชียงของ 
 


เช่น ทช.กำลังสร้างถนนสายแยกทางหลวงหมายเลข 1098-ทางหลวงหมายเลข 1 อ.เมือง จ.เชียงราย ระยะทาง 28.780 กม. ขนาด 4 ช่องจราจร พร้อมจุดกลับรถ 8 แห่ง และก่อสร้างสะพานขนาดใหญ่ข้ามแม่น้ำกก 2 แห่ง วงเงิน 1,656 ล้านบาท จะแล้วเสร็จปลายปี 2561 ส่วน ทล.กำลังศึกษาสร้างมอเตอร์เวย์จากเชียงใหม่-เชียงราย 185 กม. เงินลงทุนกว่า 1 แสนล้านบาทในอนาคต 
 


"ทางราง" สร้างแน่มีรถไฟทางคู่เริ่มจากสาย "ปากน้ำโพ-เด่นชัย" วงเงิน 56,066.25 ล้านบาท โครงการมีจุดเริ่มต้นที่สถานีรถไฟปากน้ำโพ ผ่านนครสวรรค์ พิจิตร พิษณุโลก อุตรดิตถ์ และแพร่ มีจุดสิ้นสุดที่สถานีรถไฟเด่นชัย ระยะทาง 285 กม. ขณะนี้ออกแบบแล้วเสร็จ ตั้งเป้าประกวดราคาได้ภายใน พ.ค.-ต.ค. 2560
 


สาย "เด่นชัย-เชียงใหม่" วงเงิน 59,924.24 ล้านบาท พาดผ่านพื้นที่แพร่ ลำปาง ลำพูน และเชียงใหม่ รวม 189 กม. เตรียมเสนอกระทรวงคมนาคมอนุมัติโครงการในเดือน มิ.ย. ตั้งเป้าประกวดราคา ก.ค.-ธ.ค.นี้ 
 


ที่เป็นไฮไลต์สาย "เด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ" วงเงิน 76,978.82 ล้านบาท เพราะเป็นเส้นทางสายใหม่ มีจุดเริ่มต้นต่อเชื่อมจากเด่นชัย ผ่านแพร่ ลำปาง พะเยา และเชียงรายปลายทางที่ อ.เชียงของ ระยะทาง 325 กม. โดยมีจุดเชื่อมต่อกับศูนย์เปลี่ยนถ่ายสินค้าที่ชายแดนด้วย จะเสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาเดือน มิ.ย.นี้
 


"ทางอากาศ" ปัจจุบันการท่องเที่ยว จ.เชียงรายเติบโตสูง ทำให้ บมจ.ท่าอากาศยานไทย (ทอท.) จะขยายสนามบินแม่ฟ้าหลวงในระยะ 15 ปีข้างหน้า วงเงิน 6,200 ล้านบาท หลังคาดการณ์ว่าในปี 2563 จะมีเที่ยวบินเพิ่มขึ้นเป็น 18,700 เที่ยวบินผู้โดยสาร 2.5 ล้านคนและปริมาณสินค้า 7,000 ตัน แบ่งการพัฒนาเป็น 3 ระยะ 
 


ระยะที่ 1 ปี 2559-2564 เงินลงทุน 3.7 พันล้านบาท เพิ่มระบบทางวิ่งและทางขับ รองรับเที่ยวบินได้ 16 เที่ยวบินต่อชั่วโมง หลุมจอดอากาศยาน 10 หลุมจอด รองรับผู้โดยสารได้ 3 ล้านคนต่อปี และมีที่จอดรถยนต์ 1,200 คัน
 


ระยะที่ 2 ปี 2564-2568 เงินลงทุน 600 ล้านบาท รับผู้โดยสารได้ประมาณ 3.3 ล้านคนต่อปี ระบบทางวิ่งและทางขับรองรับเที่ยวบินได้ 16 เที่ยวบินต่อชั่วโมง หลุมจอดอากาศยาน 12 หลุมจอด
 


และระยะที่ 3 ปี 2569-2573) เงินลงทุน 1.9 พันล้านบาท รองรับผู้โดยสารได้ 3.7 ล้านคนต่อปี ระบบทางวิ่งและทางขับรองรับเที่ยวบินได้ 30 เที่ยวบินต่อชั่วโมง หลุมจอดอากาศยาน 13 หลุมจอด
 


ไม่ใช่แค่ "ไทย" ที่เร่งลงทุนระบบคมนาคม ทาง "อินเดีย" เตรียมสร้างถนนมาเชื่อมกับการค้าชายแดนของไทย
 


ล่าสุดมีข้อมูลจาก "กงสุลอินเดีย" ระบุว่า ขณะนี้อินเดียเริ่มพัฒนาโครงข่ายคมนาคมทางถนน ราง และน้ำ รองรับระบบคมนาคมตอนเหนือของไทย แต่ด้วยข้อจำกัดทางภูมิประเทศไม่เอื้อต่อการพัฒนาทางรางหรือทางน้ำ จึงได้ดำเนินการโครงการถนนไฮเวย์เชื่อมคมนาคมขนส่งจากอินเดีย-เมียนมา-ไทย 
 


จุดเริ่มต้นอยู่ที่เมืองโมเรห์ รัฐมณีปุระทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของอินเดียเมืองมัณฑะเลย์ กอกะเร็ก เมียวดี สิ้นสุดที่ อ.แม่สอด รวม 1,360 กม. อีกทั้งถนนสายนี้ยังมีทางแยกจากเมืองท่าขี้เหล็ก ต่อเชื่อมตอนเหนือของไทย เข้าสู่ จ.เชียงรายผ่าน อ.แม่สาย รวม 1,318 กม. 
 


ด้าน "กอง ซ่าน ลวิน" กงสุลใหญ่ สถานกงสุลใหญ่ประเทศเมียนมา ณ นครเชียงใหม่ ระบุว่า หากพิจารณาถึงโครงข่ายคมนาคมในทุกมิติทางตอนเหนือของไทยในปัจจุบัน ควรให้ความสำคัญพัฒนาและขยายโครงข่ายถนน เพื่อส่งเสริมการค้าชายแดนระหว่างไทย-เมียนมาในปัจจุบันเป็นศูนย์กลางสำคัญการค้า ระบบโลจิสติกส์ ท่องเที่ยว ลงทุน และประตูการค้าสู่ประเทศอาเซียน เอเชียใต้ และจีนตอนใต้ 
 


ต้องลุ้น "ไทย" จะคว้าโอกาสนี้พลิก "เชียงราย" เป็นฮับ "การค้า-โลจิสตจิกส์-ท่องเที่ยว" ของภูมิภาคได้มากน้อยแค่ไหน

 

 

ขอบคุณภาพและข่าวจาก ประชาชาติธุรกิจ

 

 

http://www.prachachat.net/news_detail.php?newsid=1492592610

 

 

 

>> ช่องทางในการติดตามข่าวสาร <<
ไม่พลาดข่าวสำคัญ แค่กดเป็นเพื่อนกับ ไลน์ @livinginsider ที่นี่

บทความอื่นๆ

livinginsider livinginsider