News
icon share

กรมทางหลวงอัดแสนล้าน กระตุ้นเศรษฐกิจ เกลี่ยงานใหม่ หมดยุค 5 เสือ

LivingInsider Report 2017-04-24 14:02:49
กรมทางหลวงอัดแสนล้าน กระตุ้นเศรษฐกิจ เกลี่ยงานใหม่ หมดยุค 5 เสือ

 

 

อัดงบฯแสนล้านกระตุ้นเศรษฐกิจ อธิบดีกรมทางหลวงปฏิวัติตัวเอง รื้อไทม์ไลน์งานประมูล สร้างถนนหน้าแล้ง หวังทะลวงเบิกจ่าย จัดเกรดผู้รับเหมาใหม่ กระจายงาน 58 ราย ประมูล ต.ค.นี้ 30 โครงการ 3 หมื่นล้าน ปฏิเสธรายใหญ่วิ่งขายงานกินหัวคิว

 


นายธานินทร์ สมบูรณ์ อธิบดีกรมทางหลวง (ทล.) เปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า หลังรับตำแหน่งเมื่อเดือน มิ.ย. 2559 ได้เร่งปรับรูปแบบและวิธีการทำงานใหม่ให้สอดรับกับนโยบายรัฐบาล โดยรื้อไทม์ไลน์การเบิกจ่ายงบประมาณและปฏิวัติแผนงานก่อสร้างทั้งหมด ทุกขนาดโครงการต้องได้ผู้รับเหมาก่อนเดือน ก.ย.เพื่อเซ็นสัญญาและเบิกจ่าย 15% ภายในเดือน ต.ค.เมื่อผลเบิกจ่ายเร็วขึ้น จะทำให้ธุรกิจกระเตื้อง มีเงินหมุนในระบบ จากเดิมจะประมูลงานในช่วงหน้าร้อนและก่อสร้างในช่วงหน้าฝน ซึ่งผิดธรรมชาติและเกิดแรงกดดันที่ต้องไปเร่งเบิกจ่ายกันช่วงปลายปี ทำให้ที่ผ่านมาการเบิกจ่ายไม่เข้าเป้า 



"อดีตทำงานกันแบบเชิงรับ แต่ยุคนี้ต้องทำแบบเชิงรุก เพราะรัฐเร่งเรื่องการเบิกจ่ายมาก เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ผมจึงต้องรื้อนโยบายใหม่ อย่างงานประมูล ก.ค.-ส.ค. โครงการเล็กต้องเซ็นสัญญา ต.ค. เพื่อให้งานเสร็จ ม.ค."
 


ส่วนโครงการใหญ่ต่ำกว่า 500 ล้านบาทให้เซ็นสัญญาก่อน ธ.ค. ถ้าเกิน 500 ล้านบาทให้เซ็นสัญญา ม.ค.-ก.พ. ซึ่งจะทำให้การเบิกจ่ายงบฯ ปี 2560 ดีขึ้น
 


ปี 2560 กรมได้รับงบฯ 91,200 ล้านบาท ขณะนี้มียอดเบิกจ่ายแล้ว 57% คิดเป็นเงิน 5 หมื่นล้านบาท เทียบเวลาเดียวกันของปีที่แล้ว 56.7% ถือว่าเร็วขึ้นมาก คาดว่าสิ้น ก.ย.จะเบิกจ่ายได้ 98% พร้อมเริ่มก่อสร้างในหน้าแล้งเลย จะทำให้งานเร็วและมีคุณภาพ
 


สำหรับงบประมาณปี 2561 ขอจัดสรรไว้ 107,000 ล้านบาท ซึ่งอยู่ระหว่างพิจารณาจากสำนักงบประมาณ คาดว่าจะได้รับอนุมัติตามที่ยื่นคำขอ เนื่องจากกรมปรับการจัดสรรโครงการใหม่แล้ว เรียกว่านโยบายตะกร้างาน โดยให้แต่ละแขวงลำดับความสำคัญของโครงการ เช่น จัดงบฯให้ 100 โครงการแรกก่อน จากที่ส่งมา 20,000 งาน เป็นต้น ต่อไปจะไม่มีการของานแล้ว
 


ปีหน้าโครงการลงทุนใหม่ จะเน้นพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) 13 โครงการ วงเงิน 20,000 ล้านบาท ทั้งขยายถนน 4 ช่องจราจร ถนนเลี่ยงเมือง ถนนสนับสนุนเขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดน เช่น ทางเข้าด่านสะเดา และเอเชียไฮเวย์ (เชียงราย-ขุนตาล) 
 


"ช่วงรออนุมัติงบฯ ปี"61 จะเร่งแบบรายละเอียดโครงการให้พร้อมเปิดประมูลช่วง ก.ค.-ส.ค. เพื่อให้เซ็นสัญญาและเบิกจ่ายได้ทันที 15% ได้ในเดือน ต.ค.-พ.ย.ปีเดียวกัน คนจะมองว่า กรมได้งบฯเยอะเป็นหมื่นเป็นแสนล้าน แต่ขอบอกว่า งบฯเยอะ ใช่ว่าดี กรมต้องรับแรงกดดันมาก เจ้าหน้าที่เราทำงานหนัก 24 ชม." นายธานินทร์กล่าวและว่า ที่สำคัญ กรมได้เกลี่ยงานประมูลใหม่ให้สอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจ โดยกระจายงานให้กับผู้รับเหมาทุกขนาดมีงานทำ ไม่เฉพาะแต่รายใหญ่เท่านั้นที่ได้งาน ซึ่งจะเริ่มปีงบประมาณ 2561 ที่รอประมูลงานทันทีมี 30 โครงการ รวม 30,000 ล้านบาท"
 


ปัจจุบันรับเหมาที่ขึ้นทะเบียนมี 741 บริษัท 5 ระดับชั้น คือชั้นพิเศษ 58 บริษัท ชั้นหนึ่ง 87 บริษัท ชั้นสอง 121 บริษัท ชั้นสาม 94 บริษัท และชั้นสี่ 206 บริษัท
 


"ในอดีตงานอยู่ที่ผู้รับเหมาชั้นพิเศษเยอะ ทำให้ชั้นที่ 1 ที่จะขึ้นมาก็ยาก เพราะไม่เคยได้งาน เพื่อให้งานกระจาย ปีนี้ผมเกลี่ยใหม่ให้ทุกคน win-win" 
 


"ที่เคยพูดว่า ยุค 5 เสือกรมทางนั้น ก็ต้องพูดใหม่แล้วว่าเป็นยุค 58 เสือ" 
 


สมมุติงานมี 100% แบ่งให้ชั้นพิเศษ 40% ชั้นที่ 1 ได้ 40% อีก 20 % กระจายไปที่ผู้รับเหมาส่วนที่เหลือ ที่ต้องเปลี่ยนวิธีแบ่งงานหรือซอยงาน เพราะต้องการให้เศรษฐกิจดีขึ้น เงินกระจายไปสู่ระดับล่างเร็วขึ้น 
 


"ยอมรับว่า ในประเทศไทยมีผู้รับเหมารายใหญ่แค่ 5-6 เจ้าที่ได้งานมาก อาจเป็นเพราะเงินทุนและเครื่องมือที่เขาพร้อม ฉะนั้นบริษัทชั้น 1 หรือรายกลางต้องพัฒนาตัวเองด้วย ลงทุนเครื่องจักรและยอมข้ามถิ่นไปหลาย ๆ จังหวัด"
 


แล้วผู้รับเหมาไทยส่วนใหญ่จะทำธุรกิจแบบครอบครัว การตัดสินใจลงทุนจะค่อนข้างยาก 
 


"ประชาชาติธุรกิจ" ถามว่า มีกระแสข่าววงในว่า มีรายใหญ่แห่ขายงานแล้วกินค่าคิวหรือเปอร์เซ็นต์ รายที่ไม่ค่อยมีงานก็จำใจต้องรับแล้วมาลดต้นทุนงานก่อสร้าง เป็นเรื่องจริงหรือไม่ ซึ่งนายธานินทร์กล่าวปฏิเสธทันทีว่า "ไม่เคยได้ยิน" 
 


"การประมูลงานจะเป็นไปตามกลไกตลาด ถึงฟันราคากันมาก แต่ไม่มีขายงาน ยกเว้นงานเฉพาะ เช่น งานเสาเข็ม ผมย้ำยุคนี้คือคุณภาพงาน ใครไม่ได้คุณภาพต้องรื้อ ทุบทิ้ง ผู้ควบคุมงานต้องมีความรู้ ใส่ใจ การอำนวยความปลอดภัยระหว่างการก่อสร้าง ถ้ามีอุบัติเหตุ ผมให้โอกาสครั้งเดียว ถ้ามีครั้งที่ 2 ถือว่าบกพร่อง หากเป็นนายช่างโครงการก่อสร้าง เจ้าหน้าที่เขตหรือแขวง จะไม่ให้ทำงานส่วนนี้ ปัจจุบันเราวางระบบค่อนข้างดี ถามว่าเหนื่อยไหม เหนื่อยมาก เพราะมีงานอื่นต้องทำด้วย เช่น อำนวยความปลอดภัยช่วงเทศกาล แต่เจ้าหน้าที่ทุกคนมีใจบริการ วันเสาร์-อาทิตย์แวะมาเคลียร์งาน เหมือนว่ากรมเป็นบ้านหลังที่ 2" นายธานินทร์กล่าวและว่า 
 


นอกจากนี้ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. 61 กรมจะปรับหลักเกณฑ์และคัดเลือกคุณสมบัติผู้รับเหมาใหม่ ตามความพร้อมด้านฐานะการเงิน ประสบการณ์ทำงาน เครื่องมือเครื่องจักร และบุคลากร แต่ยังคง 5 ระดับชั้นเหมือนเดิม โดยชั้นพิเศษต้องมีทุนจดทะเบียน 400 ล้านบาท วงเงินสินเชื่อ 500 ล้านบาท รับงานไม่เกิน 6 โครงการ วงเงินต่อโครงการ 1,200 ล้านบาท, ชั้น 1 ทุนจดทะเบียน 100 ล้านบาท วงเงินสินเชื่อ 150 ล้านบาท รับงานไม่เกิน 3 โครงการ วงเงินต่อโครงการ 600 ล้านบาท, ชั้นที่ 2 ทุนจดทะเบียน 40 ล้านบาท วงเงินสินเชื่อ 40 ล้านบาท ไม่เกิน 2 โครงการ วงเงินต่อโครงการ 300 ล้านบาท, ชั้นที่ 3 ทุนจดทะเบียน 20 ล้านบาท วงเงินสินเชื่อ 20 ล้านบาท ไม่เกิน 2 โครงการ วงเงินต่อโครงการ 150 ล้านบาท และชั้นที่ 4 ทุนจดทะเบียน 5 ล้านบาท วงเงินสินเชื่อ 5 ล้านบาท ไม่เกิน 2 โครงการ วงเงินต่อโครงการ 60 ล้านบาท
 


การเลื่อนชั้นผู้รับเหมาชั้นพิเศษ ต้องมีหนึ่งโครงการที่เคยทำกับรัฐ มูลค่า 540 ล้านบาท เคยทำงานกับกรมทางหลวงแล้ว 5 โครงการ ตลอด 10 ปีที่ผ่านมามีโครงการที่มีมูลค่ารวม 1,200 ล้านบาท ชั้นที่ 1 ต้องมีหนึ่ง โครงการที่เคยทำกับรัฐ มูลค่า 120 ล้านบาท เคยทำงานกับกรมทางหลวงแล้ว 3 โครงการ ตลอด 10 ปีที่ผ่านมามีโครงการที่มีมูลค่ารวม 250 ล้านบาท ชั้นที่ 2 ต้องมีหนึ่ง โครงการที่เคยทำกับรัฐ มูลค่า 20 ล้านบาท เคยทำงานกับกรมทางหลวงแล้ว 1 โครงการ ตลอด 10 ปีที่ผ่านมามีโครงการที่มีมูลค่ารวม 100 ล้านบาท และชั้นที่ 3 ตลอด 10 ปีที่ผ่านมามีโครงการที่มีมูลค่ารวม 50 ล้านบาท
 


"นอกจากจัดระเบียบรับเหมา ยังได้เตรียมคนทดแทนผู้เกษียณอายุราชการอีก 2-3 ปีข้างหน้า บุคลากรส่วนใหญ่ของกรมเกือบครึ่งหนึ่ง จะจบระดับด็อกเตอร์จากต่างประเทศ มีอายุเฉลี่ย 40-45 ปี นโยบายของผม จึงให้ออกไปต่างจังหวัดประมาณ 2-3 ปี เพื่อเรียนรู้บริหารคน จากนั้นค่อยเข้ามาทำงานในกรม เพื่อทดแทนคนที่จะเกษียณ จากการประเมิน หากใครไม่สามารถบริหารคนได้ก็ให้เข้ามารับในตำแหน่งสายวิชาการในกรม การที่คนเก่งได้มี 2 อย่าง ปกครองลูกน้องได้ แก้ปัญหาได้" 
 


นายธานินทร์กล่าวถึงการแก้ปัญหารถติดว่า ต้องสร้างมอเตอร์เวย์เพิ่มอย่างน้อยปีละ 100 กม.ซึ่งกรมมีแผนแม่บทที่องค์การเพื่อความร่วมมือระหว่างประเทศแห่งญี่ปุ่น (ไจก้า) ศึกษาไว้เมื่อปี 2540 ใช้เวลาพัฒนา 20 ปี รวมระยะทาง 4,000 กม.ปัจจุบันเพิ่งมี 2 เส้นทาง คือ สาย 7 และสาย 9 ระยะทางรวมกว่า 100 กม. กำลังสร้างเพิ่ม 3 เส้นทาง คือ พัทยา-มาบตาพุด, บางปะอิน-โคราช และบางใหญ่-กาญจนบุรี รวม 324 กม. จะเปิดบริการในปี 2563 โดยกรมใช้งบประมาณและเงินจากกองทุนมอเตอร์เวย์มาก่อสร้าง อีกทั้งมีแผนจะสร้างเพิ่มอีก 1 เส้นทาง คือ นครปฐม-ชะอำ ระยะทาง 109 กม. ซึ่งสายนี้จะให้เอกชนร่วมลงทุน PPP วงเงินกว่า 8 หมื่นล้านบาท 
 


ขณะที่การพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกหรืออีอีซี อธิบดีกรมทางหลวงแสดงความคิดเห็นว่า เป็นโครงการที่ดีเนื่องจากเป็นการต่อยอดจากอีสเทิร์นซีบอร์ดเฟสแรก เนื่องจากเป็นพื้นที่มีศักยภาพอยู่ติดทะเลจะต่างจากเขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดน ตามแผนของรัฐบาล ต้องเร่งก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานก่อน เช่น รถไฟความเร็วสูง ถนน เพื่อดึงดูดนักลงทุนต่างชาติเข้ามา ซึ่งกรมมีโครงการรองรับไว้อยู่แล้ว

 

 

ขอบคุณภาพและข่าวจาก ประชาชาติธุรกิจ

 

 

http://www.prachachat.net/news_detail.php?newsid=1492944730

 

 

>> ช่องทางในการติดตามข่าวสาร <<
ไม่พลาดข่าวสำคัญ แค่กดเป็นเพื่อนกับ ไลน์ @livinginsider ที่นี่

บทความอื่นๆ

livinginsider livinginsider