News
icon share

ภิรมย์ภักดี ลุยธุรกิจกระจกประหยัดพลังงาน

LivingInsider Report 2017-05-02 14:15:40
ภิรมย์ภักดี ลุยธุรกิจกระจกประหยัดพลังงาน

 

 

"บางกอกกล๊าส" ร่วมทุนผู้ผลิตสวิตเซอร์แลนด์ ทุ่ม 5 พันล้าน ปักหมุดนิคมกบินทร์บุรี ผุดโรงงานผลิตกระจกแผ่นประหยัดพลังงาน 30-40% แบรนด์ BGF เจาะตลาดบ้าน ตึกสูง เดินเครื่อง Q3 เปิดขาย Q4 คาดโกยรายได้ 450 ล้าน ท้าชนเจ้าตลาด "อาซาฮี-การ์เดี้ยน" ผงาดเบอร์ 3 กินส่วนแบ่งตลาด 20%

 

 

นายศุภสิน ลีลาฤทธิ์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่กลุ่มการพาณิชย์ บริษัท บางกอกกล๊าส จำกัด (มหาชน) หรือ BG ธุรกิจของตระกูลภิรมย์ภักดี เปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า หลังก่อตั้ง บจ. บีจี โฟลต กล๊าส หรือบีจีเอฟ (BGF) เมื่อปี 2557 เพื่อทดลองจำหน่ายกระจกแผ่นนำเข้าจากต่างประเทศ อาทิ กระจกแผ่นสีใส สีเขียว สีชาดำ ล่าสุดบริษัทได้ร่วมกับ บมจ. กลาส เทรอช โฮลดิ้ง ผู้ผลิตกระจกจากประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ลงทุน 5,000 ล้านบาท สร้างโรงงานผลิตกระจกที่นิคมอุตสาหกรรมกบินทร์บุรี จ.ปราจีนบุรี บนเนื้อที่ 150 ไร่ มีกำลังการผลิต 219,000 ตันต่อปี จะแล้วเสร็จไตรมาสที่ 3 และเริ่มเดินเครื่องผลิตสินค้าออกสู่ตลาดได้ในไตรมาสที่ 4 นี้



"เราอยู่กับธุรกิจขวดแก้วมาร่วม 40 ปี กำลังจะขยายธุรกิจแก้วให้ครบวงจรโดยใช้คำนิยามว่าโทเทิลกล๊าสโซลูชั่น อะไรที่เกี่ยวกับแก้วเราสนใจหมด จึงขยายตลาดมาสู่ธุรกิจกระจกแผ่นใช้แบรนด์ BGF ซึ่งที่ผ่านมาเรานำเข้าสินค้าแบบซื้อมาขายไปจากต่างประเทศเพื่อทดลองตลาดและศึกษาอยู่ 2 ปี เล็งเห็นถึงการเติบโตของอุตสาหกรรมอย่างต่อเนื่องปีละ 5-7% จากมูลค่าตลาดรวม 1.2 หมื่นล้านบาท มีสัดส่วนนำเข้า 20% หรือ 2.4 พันล้านบาท แสดงว่าตลาดยังมีช่องว่าง ที่สำคัญมีผู้ผลิตในตลาดแค่ 2 รายคือ อาซาฮีกับการ์เดี้ยน เราจะเป็นผู้ผลิตรายที่ 3 ที่เป็นของคนไทยเกือบ 100%"
 


การทำตลาดประมาณ 50-60% จะใช้ช่องทางขายผ่านตัวแทนจำหน่ายกระจกทั่วประเทศที่มีอยู่ 150 ราย โดยใช้โรงงานบางกอกกล๊าสทั้ง 5 แห่งเป็นศูนย์กระจายสินค้ารัศมีไม่เกิน 300 กม. เช่น ปทุมธานี ปีหน้ามีแผนจะไปลงทุนสร้างศูนย์กระจายที่ จ.ขอนแก่นเพิ่ม เพื่อกระจายสินค้าในพื้นที่ภาคอีสาน
 


อีก 30% ขายผ่านโครงการ เช่น ตึกสูง และอีก 5-10% เป็นการแปรรูปและส่งออกไปยังประเทศกลุ่ม CLMV เนื่องจากประเทศไทยเป็นศูนย์กลางของภูมิภาค สามารถขนส่งสินค้าโดยรถยนต์ได้ ไม่ว่าประเทศเมียนมา สปป.ลาว กัมพูชา มาเลเซีย ยังมีอัตราการเติบโตอสังหาริมทรัพย์เป็น 2 ดิจิต หรือกว่า 10% มาโดยตลอด และระบบโครงสร้างพื้นฐานยังไม่สมบูรณ์ที่จะมาซัพพอร์ตการสร้างโรงงาน จึงมองว่าตลาดยังมีโอกาสและเอื้อต่อการเข้าไปทำตลาดอีกมาก
 


"เมื่อก่อนเราทำธุรกิจแบบซื้อมาขายไปมีรายได้ปีละ200 ล้านบาท หลังไตรมาส 3 ปีนี้สินค้าเราออกวางขาย จะขยับเป็น 450 ล้านบาท จากมูลค่าขาย 3.5 หมื่นตันและในปี"61 จะโตขึ้นเป็น 1.5-1.6 แสนตัน และมีรายได้ 1.8 พันล้านบาท คาดว่าจะมีส่วนแบ่งการตลาดธุรกิจกระจกที่ 20% และถึงจุดคุ้มทุนปีที่ 9"
 


ทั้งนี้กลยุทธ์การตลาดถึงจะเป็นหน้าใหม่ แต่มีการเตรียมความพร้อม คงไม่แข่งขันด้านราคา จะเน้นเจาะกลุ่มลูกค้า 3 กลุ่ม ได้แก่ ตัวแทนจำหน่าย ซาปั๊ว และผู้ใช้ โดยมีการทำโปรโมชั่นเก็บแต้มสะสมของรางวัลเพื่อคืนกำไรให้ลูกค้า สำหรับปีนี้มีไปเที่ยวประเทศอังกฤษ ญี่ปุ่น
 


"ราคาสินค้าจะมีระดับเดียวกันหมด ปัจจุบันราคาขายกระจกมี 2 แบบ คือ ธรรมดา ราคาฟุตละ 10 กว่าบาท แต่ถ้าเป็นไฮเอนด์จะเอามาประกบเป็น 2 แผ่น เรียกว่าลามิเนต ราคาจะแพงขึ้นเป็น 40 50 60 บาท ของเราจะไม่เหมือนใคร คือ จะเป็นฮาร์ตโครท เป็นกระจกแผ่นอีโคเบอร์ห้า 100% เจ้าแรกในประเทศ สามารถป้องกันความร้อนจากแสงยูวีและประหยัดพลังงานได้ 30-40% โดยไม่ต้องไปลามิเนต จะทำเป็นกระจกบ้าน ติดในตึกสูงก็ได้ สินค้ามีทุกสี ทั้งใส เขียว ชาดำ ส่วนแบบมีลวดลายจะยังคงนำเข้าจากจีน อินโดนีเซีย" นายศุภาสินกล่าวและว่า
 


ในอนาคตจะเพิ่มมูลค่าสินค้ากระจกแผ่น พัฒนาเป็นลามิเนตด้วยการนำกระจก 2 แผ่นมาประกบกันเพื่อให้เกิดความแข็งแรง การทำเทมเปอร์ หรือสามารถนำไปประกอบกับเฟอร์นิเจอร์ ติดตั้งในโชว์รูม และฟิตติ้งกระจกสำหรับประตูบ้าน เพื่อเป็นการต่อยอดธุรกิจและขยายตลาดให้เข้าถึงกลุ่มลูกค้าหลากหลาย

 

 

ขอบคุณภาพและข่าวจาก ประชาชาติธุรกิจ

 

 

http://www.prachachat.net/news_detail.php?newsid=1493615903

 

 

>> ช่องทางในการติดตามข่าวสาร <<
ไม่พลาดข่าวสำคัญ แค่กดเป็นเพื่อนกับ ไลน์ @livinginsider ที่นี่

บทความอื่นๆ

livinginsider livinginsider