News
icon share

ฝันหวาน หรือ ฝันค้าง กดปุ่ม ระบบตั๋วร่วม ประเทศไทย

LivingInsider Report 2017-05-19 13:24:17
ฝันหวาน หรือ ฝันค้าง กดปุ่ม ระบบตั๋วร่วม ประเทศไทย

 

 

ดูเหมือนจะกลายเป็นฝันค้างไปเสียแล้ว สำหรับ "ระบบตั๋วร่วม" ที่รัฐบาล คสช.กำลังผลักดันผ่านบัตรแมงมุม เพื่อให้ประเทศไทยนำมาใช้บริการระบบขนส่งสาธารณะได้ทุกโหมด เหมือนนานาประเทศ



พลันที่ "กระทรวงคมนาคม" ยังไม่สามารถเข็นโครงการให้เปิดตัวได้ตามแผน จากไทม์ไลน์เดิม "อาคม เติมพิทยาไพสิฐ" รัฐมนตรีกระทรวงคมนาคม ประกาศก้องจะเริ่มใช้ "บัตรแมงมุม" ภายในเดือน มิ.ย.ที่จะถึงนี้ กับ 4 รถไฟฟ้า มีบีทีเอส ใต้ดิน สายสีม่วง (เตาปูน-คลองบางไผ่) และแอร์พอร์ตลิงก์



ล่าสุดขยับไทม์ไลน์ออกไปเป็นภายในเดือน ก.ย.แทน ยังต้องลุ้นจะเป็นตามเป้าหรือไม่



ถึงจะปรับไทม์ไลน์มาหลายครั้ง แต่ "อาคม" ยังมั่นใจจะสามารถผลักดันโครงการได้ทันกับมาตรการของรัฐบาล คสช.อย่างแน่นอน
 


"ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีวันที่ 9 พ.ค.ที่ผ่านมา เร่งรัดให้กระทรวงคมนาคมนำระบบตั๋วร่วมมาใช้บริการในการเชื่อมต่อการเดินทางสาธารณะของประชาชนก่อนที่มาตรการค่าครองชีพรถเมล์และรถไฟฟรีจะสิ้นสุดในเดือนก.ย.นี้ รวมถึงรองรับโครงการลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐปี 2560 คาดว่าจะออกบัตรในเดือน ส.ค.-ก.ย. และเริ่มใช้งานในเดือน ต.ค.นี้"นายอาคมกล่าวย้ำ
 


ว่ากันว่า เหตุผลที่เจอโรคเลื่อนกลางคัน เนื่องจากโครงการยังไม่สะเด็ดน้ำ ถึงระบบอุปกรณ์จะติดตั้งพร้อม แต่ยังไม่มีบริษัทกลางมาบริหารจัดการตั๋วร่วม (CTC) แม้จะให้ธนาคารกรุงไทยและการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เป็นเจ้าภาพเพื่อตั้งไข่โครงการ แต่ถึงขณะนี้ยังไม่มีความคืบหน้าแต่อย่างใด
 


ขณะที่แหล่งข่าวจากสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร(สนข.) กล่าวว่า สาเหตุที่ไม่สามารถเริ่มได้เป็นปัญหาทางด้านเทคนิค คือการปรับระบบรถไฟฟ้าเดิมที่ให้บริการอยู่แล้ว ให้สามารถอ่านบัตรแมงมุมได้ต้องใช้เวลาอย่างน้อย 10 เดือนขึ้นไป ซึ่งค่าปรับปรุงระบบแยกเป็นรถไฟฟ้าใต้ดิน 80 ล้านบาท บีทีเอส 60 ล้านบาท แอร์พอร์ตเรลลิงก์ 60 ล้านบาท แต่หากเป็นการติดตั้งระบบใหม่ในรถโดยสารสาธารณะ เช่น รถเมล์ จะสามารถทำได้เร็วกว่า
 


"บัตรแมงมุมที่จะใช้ร่วม 4 รถไฟฟ้า จะเริ่มทยอยจากแอร์พอร์ตลิงก์ สายสีม่วงบีทีเอส และใต้ดิน จนถึงกลางปีหน้า ยังเป็นการใช้บัตรแบบตั๋วต่อ ยังไม่ใช่ตั๋วร่วม ซึ่งค่าโดยสารยังคงใช้อัตราเดิมของแต่ละสาย
 


ขณะเดียวกัน ก็เตรียมเจรจาหารือกับการทางพิเศษฯ และกรมทางหลวงในการใช้บัตรแมงมุมร่วมกับทางด่วนและมอเตอร์เวย์ในช่องจ่ายเงินสด"
 


นอกจากนี้ ต้องรอให้ พ.ร.บ.ระบบตั๋วร่วมบังคับใช้ ขณะนี้อยู่ในกระบวนการยกร่าง ซึ่งเนื้อหาประกอบด้วย 3 ส่วน คือ 1.ให้อำนาจหน่วยงานที่กำกับดูแลตั๋วร่วม 2.กำหนดอัตราค่าโดยสาร ค่าธรรมเนียมตั๋วร่วม และ 3.กำหนดมาตรฐานที่เกี่ยวข้อง คาดว่าภายในเดือน พ.ค.นี้จะเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณา
 


จากความไม่พร้อมทำให้เป้าหมายการใช้ "ระบบตั๋วร่วม" เปลี่ยนจาก"รถไฟฟ้า" มาเป็น "รถเมล์ของ ขสมก." แทน หลังเปิดประมูลระบบ e-Ticket โดยมี "บมจ.ช.ทวี ดอลลาเซียน" เป็นผู้ชนะประมูลด้วยวงเงิน 1,600 ล้านบาท
 


ขณะนี้อยู่ระหว่างอัยการสูงสุดตรวจร่างสัญญา โดยเงื่อนไขจะมีการติดตั้งระบบ e-Ticket บนรถ ขสมก.ไม่ต่ำกว่า 100 คัน ภายในระยะเวลา 120 วันนับถัดจากวันที่ลงนามในสัญญา
 


จากนั้นต้องติดตั้งระบบได้ไม่น้อยกว่า 700 คัน ภายใน 180 วัน และติดตั้งให้ครบ 2,600 คัน ภายใน 1 ปี เพื่อให้สามารถเชื่อมการเดินทางทั้งรถไฟฟ้าและรถโดยสารสาธารณะ
 


"สมศักดิ์ ห่มม่วง" รักษาการผู้อำนวยการองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) กล่าวว่า ที่ประชุมคณะกรรมการ (บอร์ด) ขสมก.ให้ตรวจสอบการใช้ระบบ e-Ticket ส่วนที่เป็นช่องเงินสด กรณีต้องถอนเงินจะมีบริการอย่างไรให้ไม่ใช้ทรัพยากรที่มากและซ้ำซ้อน หากไม่มีอะไรคาดว่าจะเริ่มใช้บริการในเดือน ก.ย.-ต.ค.นี้ เพื่อรองรับกับบัตรสวัสดิการผู้มีรายได้น้อยของกระทรวงการคลัง
 


เวลา 4 เดือนที่เหลือจะเป็นเครื่องพิสูจน์ สิ่งที่คิดและพูดจะเกิดเป็นรูปธรรมได้มากน้อยแค่ไหน

 

 

ขอบคุณภาพและข่าวจาก ประชาชาติธุรกิจ

 

 

http://www.prachachat.net/news_detail.php?newsid=1495010062

 

 

 

>> ช่องทางในการติดตามข่าวสาร <<
ไม่พลาดข่าวสำคัญ แค่กดเป็นเพื่อนกับ ไลน์ @livinginsider ที่นี่

บทความอื่นๆ

livinginsider livinginsider