News
icon share

ผ่าเครือข่าย บีทีเอส ผนึก3ธุรกิจโตพรวด

LivingInsider Report 2017-05-29 16:57:03
ผ่าเครือข่าย บีทีเอส ผนึก3ธุรกิจโตพรวด

 

 

ผ่าอาณาจักร "กาญจนพาสน์" ผนึกพันธมิตร 3 ธุรกิจ หนุนรายได้ทะลุหมื่นล้าน บีทีเอสโต 7-10% วีจีไอโฆษณาพุ่งเท่าตัว "แสนสิริ" คือคีย์ซักเซส ลุย 4 คอนโดฯปีนี้ 1.2 หมื่นล้าน ร่วม "ยูซิตี้" ผุดมิกซ์ยูส "หมอชิต คอมเพล็กซ์" ปัดฝุ่นที่ 48 ไร่สร้างโปรเจ็กต์ 2 หมื่นล้านรับสายสีเขียว "หมอชิต-คูคต"

 

นายกวิน กาญจนพาสน์ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) เปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า ขณะนี้ได้เข้ามาบริหารบีทีเอส กรุ๊ปอย่างเต็มตัวแล้ว ตั้งแต่เดือนเมษายน 2558 โดยดูภาพรวมธุรกิจโฆษณา อสังหาริมทรัพย์และบริการ นอกเหนือจากรถไฟฟ้า

 

"หลัก ๆ ผมดูหมด แต่รถไฟฟ้าคุณพ่อ (คีรี กาญจนพาสน์) และคุณสุรพงษ์ (ซีอีโอ) ยังต้องดูแลใกล้ชิด ตอนนี้งานหนักขึ้น เพราะกำลังจะเซ็นสัญญาสายสีชมพูกับสายสีเหลืองที่ร่วมกับพันธมิตรคือซิโน-ไทยฯและราชบุรีโฮลดิ้งส์ ลงทุนทั้งโครงการแสนล้านบาท"

 

รายได้ทะลุหมื่นล้าน

 

ภาพรวมผลประกอบการของบริษัทยังเติบโตต่อเนื่อง ปี 2559 มีรายได้รวม 10,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2558 รายได้รวมอยู่ที่ 8,000 ล้านบาท ธุรกิจที่มีรายได้มากที่สุดยังเป็นรถไฟฟ้า (บมจ.ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ) คิดเป็น 40% หรือปีละ 6,000-7,000 ล้านบาท เติบโตปีละ 7-10% ปัจจุบันมีผู้โดยสารเฉลี่ย 7-8 แสนเที่ยวคน/วัน

 

รองมาคือ ธุรกิจสื่อโฆษณา (บมจ.วีจีไอ โกลบอล มีเดีย) คิดเป็น 34% ซึ่งโตเพิ่มขึ้นเท่าตัวจากปีที่แล้ว 2,000 ล้านบาท เป็น 4,000 ล้านบาท เนื่องจากรับรู้รายได้เป็นเงินก้อน หลังขายเข้ากองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานระบบขนส่งมวลชนทางรางบีทีเอสโกรทเมื่อ 3-4 ปีที่ผ่านมา ประกอบกับได้เข้าซื้อกิจการหลายแห่ง เช่น MACO ซึ่งเป็นสื่อกลางแจ้ง, บัตรแรบบิทสื่อดิจิทัลและออนไลน์, แอร์โรมีเดีย สื่อโฆษณาในสนามบินและเดโมเพาเวอร์ ที่จะช่วยหนุนให้รายได้ปี 2560-2561 เติบโตขึ้นอย่างเห็นได้ชัด 

 

วีจีไอโตเท่าตัว

 

"มาร์เก็ตแคป (มูลค่าตลาด) ของวีจีไอใหญ่มาก ประมาณ 3 หมื่นกว่าล้านบาท การขายโฆษณาในยุคนี้จะต่างจากสมัยก่อนโดยสิ้นเชิง เพราะถึงจุดเปลี่ยนทั้งเทคโนโลยีและพฤติกรรมของผู้บริโภค ในยุคโซเชียลมีเดียครองโลก"

 

สำหรับพื้นที่โฆษณามีที่บีทีเอสคือ 23 สถานี รวมทั้งหมด 1 หมื่น ตร.ม.ซึ่งถือว่ายังน้อยอยู่ ปัจจุบันบริษัทจะเปิดขายเป็นแพ็กเกจ ทำในลักษณะเป็นห้างใหญ่ที่มีทุกอย่างครบ เพื่อให้สื่ออื่นเข้ามาร่วมธุรกิจด้วย เหมือนเป็นบิ๊กดาต้า เช่น สิ่งพิมพ์ จะใช้ฐานข้อมูลบัตรแรบบิทมีผู้ถืออยู่ในกรุงเทพฯ 3 ล้านใบเป็นเครือข่าย ไปใช้ซื้อของ ขึ้นรถไฟฟ้า และล่าสุดบริษัทยังทำตลาดในรูปแบบใหม่ โดยซื้อไลน์เพย์ 50% ต่อไปคนจะใช้โทรศัพท์แตะจุดทางเข้า-ออกแล้วก็ขึ้นรถไฟฟ้าได้เลย"

 

ส่วนธุรกิจอสังหาริมทรัพย์มีทั้งเชิงพาณิชยกรรมและที่อยู่อาศัย มีรายได้ 15% ของรายได้รวม ซึ่งเริ่มดีขึ้นเรื่อย ๆ หลังร่วมทุนเป็นพันธมิตรกับบริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน) เพื่อเสริมแกร่งในธุรกิจ โดยมีโครงการร่วมทุนเป็นคอนโดมิเนียมแนวรถไฟฟ้า ระยะแค่ 500 เมตรจากสถานี ตั้งเป้าภายใน 5 ปีจะพัฒนา 25 โครงการ มูลค่ารวม 1 แสนล้านบาท 

 

ปัจจุบันพัฒนาไปแล้ว 8 โครงการ 4,382 ยูนิต มูลค่า 3 หมื่นล้านบาท มียอดจองกว่า 70% คิดเป็นมูลค่า 2.1 หมื่นล้านบาท ปีที่แล้วเริ่มมียอดโอนโครงการเดอะไลน์ สุขุมวิท 71 จำนวน 1,400 ล้านบาท ปีนี้จะโอนโครงการเดอะไลน์ จตุจักร-หมอชิต และเปิดโครงการใหม่ 4 โครงการ มูลค่ารวม 1.2 หมื่นล้านบาท ล่าสุดเปิดโครงการ "เดอะเบส เพชรเกษม" เป็นโครงการที่ 9 มูลค่า 1,850 ล้านบาท 

 

สร้างรายได้ระยะยาว

 

"เราร่วมกับแสนสิริพัฒนาคอนโดฯขาย ก็ขายง่ายขึ้น เราลงเงิน หาที่ดิน ตอนนี้ซื้อที่ดินครบหมดแล้ว อยู่ทำเลแนวรถไฟฟ้าสายเก่าและใหม่ รวมถึงชมพู เหลือง รอขึ้นโครงการอย่างเดียว ส่วนการพัฒนายกให้คุณเศรษฐา (ทวีสิน) ดูแล เพราะเป็นคนเก่งและมีประสบการณ์ เขาสร้างแบรนด์แสนสิริได้ดี ทั้งสวย ทันสมัย เมื่อได้เรียนรู้และทำงานร่วมกับคุณเศรษฐามาพักหนึ่งแล้วก็เริ่มสนุก ปีนี้ก็เป็นที่ 3 แล้ว เร็วมาก" 

 

ทั้งนี้ ธุรกิจอสังหาฯที่บีทีเอสลงทุนเอง คือโครงการธนาซิตี้ที่บางนา-ตราด ยังมีที่ดินเหลือ 300 ไร่ กำลังพัฒนาเป็นเซอร์วิสอพาร์ตเมนต์ จะเปิดปลายปีนี้ รับลูกค้าไต้หวัน จีน ญี่ปุ่น ที่ทำงานในภาคตะวันออก และกำลังก่อสร้างจะนำที่ดิน 167 ไร่ พัฒนาโรงเรียนนานาชาติ ร่วมทุนกับผู้ดำเนินธุรกิจโรงเรียนนานาชาติ American International School (AIS) จากฮ่องกง เงินลงทุน 4,000-5,000 ล้านบาท จะสร้างเสร็จเปิดบริการปี 2563

 

และยังเข้าซื้อหุ้น บมจ.ยูซิตี้ (บมจ.แนเชอรัลพาร์คเดิม) 35.64% ร่วมกันพัฒนาโครงการอสังหาริมทรัพย์ ประเภทโรงแรม และสำนักงานทั้งในประเทศและต่างประเทศ เพื่อสร้างรายได้ในระยะยาวปี 2560 ลงทุน 2 โครงการเป็นรูปแบบมิกซ์ยูส มูลค่า 1.2 หมื่นล้านบาท แปลงแรกที่ดิน 7 ไร่ติดบีทีเอสสถานีพญาไท พัฒนาเป็นคอมเพล็กซ์ 50 ชั้น พื้นที่ใช้สอย 100,000 ตร.ม. มีร้านค้า สำนักงานเกรดเอ โรงแรม อาคารจอดรถมูลค่า 6,000 ล้านบาท อีก 2 เดือนจะเริ่มสร้างและเสร็จปลายปี 2563

 

ปักธงหมอชิต 

 

แปลงที่ 2 ที่ดินจตุจักร-หมอชิต ยังเหลือ 10 ไร่เศษ จะพัฒนาโครงการหมอชิต คอมเพล็กซ์ มูลค่า 6,000 ล้านบาท สูง 40-50 ชั้น จำนวน 2 อาคาร พื้นที่ใช้สอย 151,208 ตร.ม. มีอาคารสำนักงาน โรงแรม รีเทล สวนลอยฟ้า ขณะนี้รอการอนุมัติรายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) จะเริ่มโครงการในปีนี้ ใช้เวลาดำเนินการ 42-48 เดือน 

 

"รวมทั้งลงทุนสร้างสกายวอล์ก ระยะทาง 480 เมตร เชื่อมจากบีทีเอสหมอชิต มายังคอนโดฯเดอะไลน์ ผ่านหมอชิต คอมเพล็กซ์และยาวไปถึงธนาคารทหารไทยสำนักงานใหญ่ ซึ่งเป็นแหล่งจ้างงานและช็อปปิ้ง เหมือนที่ราชดำริ" นายกวินกล่าวและว่าที่สำคัญ ได้เตรียมนำที่ดิน 48 ไร่ ตรงข้ามแดนเนรมิตเดิม ร่วมกับ บมจ.แกรนด์ คาแนล แลนด์ (จีแลนด์) พัฒนาโครงการมิกซ์ยูส มูลค่ากว่า 2 หมื่นล้านบาท รองรับรถไฟฟ้าในอนาคต สายสีเขียว (หมอชิต-คูคต) และสีเหลือง (ลาดพร้าว-สำโรง) จะขยายเส้นทางถึงแยกรัชโยธิน 

 

ขอการเมืองนิ่ง ๆ

 

นายกวินฉายภาพแนวโน้มเศรษฐกิจว่า ถ้ามอง 3 ธุรกิจในเครือ ถือว่าปีนี้มีแนวโน้มดีต่อเนื่อง แต่ต้องจับตา 3 ปัจจัยเสี่ยง คือ 1.ปัจจัยภายนอกจากการเลือกตั้งของต่างประเทศยังไม่นิ่งอย่างน้อย 6-9 เดือน แต่ขณะนี้หลาย ๆ ประเทศเริ่มเลือกตั้งผู้นำเสร็จเรียบร้อยแล้ว ข้อดีปีนี้คือเราจะได้เห็นช่วงฮันนีมูนพีเรียด แต่ปี 2561 อาจเป็นอีกเรื่อง ต้องคอยดูกันต่อไป

 

ส่วนข้อ 2.คือปัจจัยภายในประเทศ ในฐานะนักธุรกิจขอเพียงแค่ให้การเมืองนิ่ง ๆ เพราะนักธุรกิจมีแผนลงทุนชัดเจนอยู่แล้ว ขอสร้างความมั่นใจและ 3.เรื่องหนี้สินครัวเรือน เป็นเรื่องที่น่ากลัวของประเทศไทย ต้องใช้เวลาในการแก้ไข เพราะก่อตัวมานาน ต้องเริ่มวินัยเรื่องการใช้เงินใช้ชีวิต 

 

"ในส่วนของหนี้ภาคเอกชนที่เกิดจากการลงทุนนั้น บีทีเอสผ่านจุดนั้นมาแล้ว ในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจปี 2540 ต้องยกนิ้วให้คุณพ่อที่มองการณ์ไกลและอดทนรอคอย"

 

แม้การสร้างรถไฟฟ้าในสมัยนั้น ต้องใช้เงินลงทุนของเราเองหลายหมื่นล้าน เราก็ต้องฝ่าไปให้ได้ 

 

"ยิ่งเมื่อสร้างเสร็จ แต่คนใช้มีน้อย รายได้ไม่พอรายจ่ายกับดอกเบี้ย ก็ต้องอดทนสู้"

 

นายกวินระบุว่า หลังผ่านไป 5-10 ปี บริษัทได้หันกลับมาสร้างองค์กรใหม่ หลังจากธุรกิจขยายเร็วและเติบโตมาก ทั้งรถไฟฟ้า กองทุน วีจีไอ ฯลฯ โดยมีพนักงาน 10,000 คนแล้ว

 

"ที่ผ่านมาเราซื้อกิจการไปเยอะ แต่ปีนี้จะไม่ซื้อแล้ว จะเดินหน้าพัฒนาสิ่งที่มีอยู่ให้เติบโตต่อเนื่องและยั่งยืน"

 

 

ขอบคุณภาพและข่าวจาก ประชาชาติธุรกิจ

 

 

http://www.prachachat.net/news_detail.php?newsid=1495982057

 

 

>> ช่องทางในการติดตามข่าวสาร <<
ไม่พลาดข่าวสำคัญ แค่กดเป็นเพื่อนกับ ไลน์ @livinginsider ที่นี่

บทความอื่นๆ

livinginsider livinginsider