News
icon share

โคเวิร์กกิ้ง สเปซ บูม ดันตลาดสำนักงาน

LivingInsider Report 2017-10-30 11:29:50
โคเวิร์กกิ้ง สเปซ บูม ดันตลาดสำนักงาน

 

‘โคเวิร์กกิ้ง สเปซ’บูม ดันตลาดสำนักงาน

 

บริการให้เช่าที่นั่งทำงานร่วม (coworking space) กำลังเป็นธุรกิจมาแรงในไทยและเป็นภาคธุรกิจใหม่ ที่ช่วยเพิ่มความต้องการในตลาดอาคารสำนักงานให้เช่าของกรุงเทพฯ 


ยุพา เสถียรภาพอยุทธ์ ผู้อำนวยการฝ่ายบริการธุรกิจอาคารสำนักงาน เจแอลแอล บริษัทที่ปรึกษาและบริการด้านอสังหาริมทรัพย์ กล่าวว่า “โคเวิร์กกิ้ง  สเปซ” เป็นธุรกิจบริการที่นั่งทำงาน ซึ่งเปิดให้บุคคลทั่วไปสามารถเข้ามาใช้ร่วมกันได้ คิดค่าบริการในรูปของค่าเช่ารายชั่วโมง รายวัน ไปจนถึงรายเดือน หรือค่าสมาชิกระยะยาว โดยจัดสรรสิ่งอำนวยความสะดวกไว้ให้ครบวงจร เช่นเดียวกับออฟฟิศสำนักงานของบริษัทต่างๆ ทั่วไป 

 

ผู้ใช้บริการส่วนใหญ่มักเป็นธุรกิจสตาร์ทอัพขนาดเล็ก ที่ไม่ต้องการหรือยังไม่พร้อมเปิดสำนักงานเต็มรูปแบบเป็นของตนเอง ผู้ทำงานอิสระ (freelance) ที่ต้องการที่นั่งทำงานในสภาพแวดล้อมที่กระตุ้นให้มีแรงบันดาลใจในการทำงานมากกว่าการนั่งทำงานที่บ้าน รวมจนถึงการมีโอกาสได้ปฏิสัมพันธ์กับผู้คนจากสาขาอาชีพเดียวกันและสาขาอาชีพอื่นๆ 


พบว่าบริษัทหรือองค์กรขนาดใหญ่บางประเทศเริ่มใช้คอนเซปต์ “โคเวิร์กกิ้ง” ด้วยเช่นกัน โดยจัดให้พนักงานบางแผนกทำงานใน “โคเวิร์กกิ้ง สเปซ” เพื่อให้มีโอกาสพบปะกับมืออาชีพนอกองค์กรและเป็นช่องทางในการเพิ่มแรงบันดาลใจในการทำงาน


ขณะที่ผู้ประกอบการ โคเวิร์กกิ้ง สเปซ ในกรุงเทพฯ ที่มีอยู่ในปัจจุบัน ส่วนใหญ่เปิดให้บริการในตึกขนาดเล็กถึงขนาดกลาง พบว่าเริ่มเปิดให้บริการตามอาคารสำนักงานเต็มรูปแบบมากขึ้น


ตัวอย่าง โคเวิร์กกิ้ง สเปซ ที่เปิดให้บริการในอาคารเต็มรูปแบบ ได้แก่ Glowfish ที่อาคารอโศกทาวเวอร์, Draft Board ที่อาคารอรกานต์ ย่านชิดลม, Meticulous Offices และ Cluster Offices ซึ่งทั้งสองรายเปิดบริการที่อาคารเอสเอสพี ทาวเวอร์ ถนนเอกมัย, Kloud ที่อาคารฟลอริช รัชดาภิเษกซอย 18, Pencave ที่อาคารในป่า อาร์ท คอมเพลกส์ สุขุมวิท 46 และ BIGWork ที่อาคารสาธรนครทาวเวอร์


นอกจากนี้ โคเวิร์กกิ้ง สเปซ บางราย เดิมให้บริการสำนักงานสำเร็จรูปขนาดเล็กให้เช่า (มีเฟอร์นิเจอร์ เครื่องใช้สำนักงาน โทรศัพท์ อินเทอร์เน็ต ตลอดไปจนถึงบริการแม่บ้าน) ซึ่งภายหลังได้ขยายมาให้บริการโคเวิร์กกิ้ง สเปซ ร่วมด้วย เพื่อรองรับความต้องการที่กำลังขยายตัวเพิ่มขึ้นจากธุรกิจสตาร์ทอัพและผู้ทำงานอิสระ 


ตัวอย่างผู้ประกอบการในกลุ่มนี้ ได้แก่ Regus ซึ่งเปิดบริการในอาคารสำนักงานกว่า 10 แห่งทั่วกรุงเทพฯ, Antares Office ที่อาคารอาร์เอสยูทาวเวอร์ ถนนสุขุมวิท และ CEO Suite ที่แอทธินีทาวเวอร์ ถนนวิทยุ


ทั้งนี้ มีผู้ประกอบการโคเวิร์กกิ้ง สเปซ หลายรายทั้งในระดับภูมิภาคและระดับโลกกำลังหาโอกาสเข้ามาเปิดธุรกิจในกรุงเทพฯ ส่วนใหญ่มีแผนที่เข้ามาอย่างเต็มรูปแบบ โดยต้องการพื้นที่สำนักงานขนาดใหญ่ 1,000-3,000 ตร.ม.ในอาคารสำนักงานเกรดเอ ตั้งอยู่ใกล้กับสถานีรถไฟฟ้าหรือรถไฟฟ้าใต้ดิน


ภาวะขาดแคลนพื้นที่สำนักงานนับเป็นความท้าทายสำคัญ ทั้งผู้ประกอบการโคเวิร์กกิ้ง สเปซ รายใหญ่ที่ต้องการเข้ามาเปิดธุรกิจและผู้ประกอบการปัจจุบันที่ต้องการขยายกิจการ เนื่องจากอาคารสำนักงานคุณภาพดีในทำเลใกล้กับสถานีรถไฟฟ้าบีทีเอสและรถไฟใต้ดิน ส่วนใหญ่มีผู้เช่าเต็มหรือเกือบเต็ม


“ผู้ประกอบการโคเวิร์กกิ้ง สเปซ บางรายต้องหันไปพิจารณาอาคารสำนักงานเกรดรองแทน แต่ยังคงต้องอยู่ไม่ไกลจากสถานีรถไฟฟ้าบีทีเอสและรถไฟใต้ดิน นอกจากนี้ ผู้ประกอบการรายใหม่หรือรายเดิมที่ต้องการขยายสาขาบางรายต้องหันไปเลือกพิจารณาอาคารเกรดเอ ที่กำลังใกล้จะสร้างเสร็จ โดยทั่วไปยังคงมีพื้นที่ว่างเหลือให้จับจองมากกว่าอาคารที่มีอยู่เดิม”


ธุรกิจโคเวิร์กกิ้ง สเปซ ในกรุงเทพฯมีแนวโน้มเติบโตต่อไปอีก เพราะนอกจากธุรกิจสตาร์ทอัพและผู้ทำงานอิสระ มีความเป็นไปได้ที่บริษัทหรือองค์กรขนาดใหญ่จะหันมาใช้บริการโคเวิร์กกิ้ง สเปซ ตามแนวโน้มที่เกิดขึ้นในต่างประเทศ


ข้อดีของการใช้พื้นที่ทำงานร่วม คือมีสภาพแวดล้อมของสังคม ซึ่งกระตุ้นให้เกิดการปฏิสัมพันธ์และการแลกเปลี่ยนความรู้ สอดรับกับไลฟ์ไตล์ของคนทำงานและวัฒนธรรมองค์กรที่กำลังเปลี่ยนแปลงในเศรษฐกิจยุคดิจิทัล เชื่อว่าโคเวิร์กกิ้ง สเปซ จะกลายเป็นองค์ประกอบที่สำคัญของตลาดอาคารสำนักงานในกรุงเทพฯ

 

 

ขอบคุณภาพและข่าวจาก กรุงเทพธุรกิจ

 

http://www.bangkokbiznews.com/news/detail/778776

 

 

 

>> ช่องทางในการติดตามข่าวสาร <<
ไม่พลาดข่าวสำคัญ แค่กดเป็นเพื่อนกับ ไลน์ @livinginsider ที่นี่

บทความอื่นๆ

livinginsider livinginsider