News
icon share

แข่งปักธงไฮสปีดเทรนไทยแลนด์ จีน ลุ้นตอกเข็มสิ้นปี ญี่ปุ่น รอปี”62

LivingInsider Report 2017-11-24 10:13:46
แข่งปักธงไฮสปีดเทรนไทยแลนด์ จีน ลุ้นตอกเข็มสิ้นปี ญี่ปุ่น รอปี”62

แข่งปักธงไฮสปีดเทรนไทยแลนด์ “จีน” ลุ้นตอกเข็มสิ้นปี “ญี่ปุ่น” รอปี”62

 

เดินหน้ารุกหนักอย่างต่อเนื่อง ระหว่าง 2 มหาอำนาจแห่งเอเชีย “จีน-ญี่ปุ่น กับการผลักดันโครงการรถไฟความเร็วสูงโปรเจ็กต์ความร่วมมือรัฐบาลไทย-จีน และไทย-ญี่ปุ่น ให้เป็นจริงในเร็ววัน

หลังโปรเจ็กต์เลื่อนการตอกเข็มมาหลายครั้งหลายครา นับจากลงนามความร่วมมือ19 ธ.ค. 2557 ล่าสุด “จีน” บี้ “ไทย” หลังสองผู้นำประเทศพบปะกันบนเวทีประชุมสุดยอดอาเซียนที่ประเทศสิงคโปร์ที่ผ่านมา

โดย “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” นายกรัฐมนตรี แจ้งในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ถึงข้อความของนายกรัฐมนตรีของจีน ขอให้คมนาคมเร่งรัดดำเนินการรถไฟไทย-จีน เส้นทางกรุงเทพฯ-นครราชสีมา 253 กม. เงินลงทุน 179,412 ล้านบาท โดยเร็ว ว่ากันว่า จากงานนี้มีคำสั่งลับ หากปีนี้คมนาคมยังไม่สามารถเริ่มงานก่อสร้างเฟสแรกสถานีกลางดง-ปางอโศกได้ ไม่ใครก็ใครอาจจะถูกปลดกลางอากาศ

ล่าสุด ผู้เกี่ยวข้องกำลังหาฤกษ์ดีทำพิธีก่อสร้างปักธงสัญลักษณ์โครงการ รอเคลียร์คิวของผู้นำทั้งสองประเทศ คาดว่าจะเป็นช่วงกลางเดือน ธ.ค.เป็นต้นไป

หลังมั่นใจว่าเคลียร์รายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) จะยื่นเป็นครั้งที่ 7 ต่อที่ประชุมคณะกรรมการผู้ชำนาญการ (คชก.) วันที่ 24 พ.ย.นี้ผ่านฉลุย

“อาคม เติมพิทยาไพสิฐ” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า วันที่ 16 พ.ย.ที่ผ่านมาคมนาคมจัดประชุมรถไฟไทย-จีนเพื่อแต่งตั้งคณะกรรมการ 4 ชุด เพิื่อดำเนินงานต่างๆ ส่วนแผนก่อสร้างขยับจากเดิมเป็นกลางเดือน ธ.ค.นี้ เพราะต้องรออีไอเอช่วงบ้านภาชี-โคราช ผ่านการอนุมัติ ส่วนช่วงกรุงเทพฯ-บ้านภาชีอยู่ในแนวเส้นทางเดียวกับกรุงเทพฯ-พิษณุโลก อีไอเอผ่านแล้ว ส่วนวันที่จะเริ่มก่อสร้างชัด ๆ จะหารือร่วมกับจีนในที่ประชุมคณะกรรมการร่วมครั้งที่ 22 วันที่ 24 พ.ย.นี้

แข่งปักธงไฮสปีดเทรนไทยแลนด์ จีน ลุ้นตอกเข็มสิ้นปี ญี่ปุ่น รอปี”62

 

การเตรียมการก่อสร้าง รถไฟไทย-จีนแบ่ง 4 ตอน คือ 1.สถานีกลางดง-ปางอโศก 3.5 กม. วงเงิน 425 ล้านบาท ได้รับแบบจากจีนแล้ว มอบให้กรมทางหลวง (ทล.) เป็นผู้ก่อสร้าง โดยใช้เงินการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.)

2.ปากช่อง-คลองขนานจิตร 11 กม. 3.แก่งคอย-นครราชสีมา 119.5 กม. และ 4.กรุงเทพฯ-แก่งคอย 119.5 กม. ภายใน 6 เดือนจีนจะทยอยส่งแบบเพื่อนำไปสู่การ

จัดซื้อจัดจ้าง จะใช้ผู้รับเหมาไทย คาดว่าไตรมาสแรกปีหน้าจะทยอยเปิดประมูลฝ่ายไทยและจีนได้เซ็นสัญญาจ้างที่ปรึกษาออกแบบ 1,706 ล้านบาท และ ที่ปรึกษาควบคุมงานก่อสร้าง 3,500 ล้านบาทแล้ว ส่วนสัญญาจัดหาระบบและขบวนรถ ซึ่งใช้เทคโนโลยีจีน เมื่อเซ็นสัญญาแล้วคู่สัญญาจะเป็นการรถไฟไทยและการรถไฟจีน เมื่อมีข้อสรุปรูปแบบการเดินรถแล้วถึงจะถ่ายโอนให้กับองค์กรที่จะมาเดินรถอีกครั้ง

ด้านแหล่งเงินก่อสร้างจะใช้เงินกู้ภายในประเทศ ส่วนการซื้อระบบรถไฟต้องรอสรุปวงเงินวันที่ 24 พ.ย.นี้ขณะเดียวกัน จะหารือจีนศึกษาช่วงนครราชสีมา-หนองคาย ตั้งเป้าให้แล้วเสร็จปี 2565 พร้อมรถไฟจีน-ลาว

ท่ามกลางการรุกคืบของ “จีน” ในส่วนของ “ญี่ปุ่น” ได้ลงนาม MOC วันที่ 27 พ.ค. 2558 ก็เริ่มสปีด ล่าสุดจัดงานใหญ่โชว์ศักยภาพระบบรถไฟ

ชินคันเซ็นที่จะนำมาใช้เส้นทางกรุงเทพฯ-เชียงใหม่ มีระยะทาง 672 กม. ใช้เงินลงทุนกว่า 5 แสนล้านบาท จะประเดิมเฟสแรกกรุงเทพฯ-พิษณุโลก 380 กม. ค่าก่อสร้าง 276,225 ล้านบาท

แต่ด้วยระยะทางที่ยาวและเงินลงทุนมากประกอบกับต้องใช้เวลาออกแบบรายละเอียดนาน 2 ปี ล่าสุด “ไทย” ขอ “ญี่ปุ่น” ทยอยออกแบบและสร้างเป็นเฟสๆเหมือนรถไฟไทย-จีน

“อาคม” กล่าวว่า ผลศึกษาช่วงกรุงเทพฯ-พิษณุโลกเสร็จแล้ว และผ่านการอนุมัติอีเอไอแล้ว ขณะนี้ขอให้ญี่ปุ่นช่วยดูรูปแบบการลงทุนใหม่เป็นเอกชนร่วมลงทุนPPP หรือรัฐบาลญี่ปุ่นร่วมลงทุนด้วย จากเดิมให้รัฐบาลลงทุนทั้งหมด

“เมื่อญี่ปุ่นอยากจะให้หลาย ๆ ประเทศใช้ระบบชินคันเซ็นก็ต้องแก้กฎหมายให้จัดตั้งบริษัทมาร่วมทุนในต่างประเทศได้ จากปัจจุบันเป็นแค่ที่ปรึกษาโครงการ ตัวอย่างโครงการที่ญี่ปุ่นเสนอ คือ ไฮสปีดไต้หวัน ช่วงแรกเอกชนเป็นผู้ดำเนินการ สุดท้ายรัฐบาลเข้ามารับภาระ”

และเพื่อให้โครงการนี้เกิดเป็นรูปธรรมเร็วที่สุด มีข้อเสนอแบ่งตอนออกแบบและก่อสร้างช่วงกรุงเทพฯ-พิษณุโลก เป็น 3 ตอน จากกรุงเทพฯ-อยุธยา ระยะทาง 70 กม., อยุธยา-ลพบุรี และลพบุรี-พิษณุโลก เริ่มช่วงกรุงเทพฯ-อยุธยาเป็นลำดับแรก คาดว่าจะเริ่มสร้างปี 2562 แล้วเสร็จปี 2564 เนื่องจากหากรอสร้างพร้อมกันทั้งโครงการจะใช้เวลาออกแบบรายละเอียด 2 ปี และก่อสร้าง 4-5 ปี รวม 7 ปี

เป็นความคืบหน้าล่าสุดไฮสปีดเทรนประเทศไทยของ 2 สัญชาติ ที่ปรารถนาจะปักธงรถไฟหัวกระสุนในไทยให้สำเร็จ ภายใต้การขับเคลื่อนของรัฐบาล คสช.

รอลุ้นที่สุดแล้ว “รถไฟไทย-จีน-ญี่ปุ่น” จะเป็นจริงหรือเป็นแค่รถไฟสายการทูตของรัฐบาลทหาร

 

 

ขอบคุณภาพและข่าวจาก ประชาชาติธุรกิจ

 

https://www.prachachat.net/property/news-76979

 

 

>> ช่องทางในการติดตามข่าวสาร <<
ไม่พลาดข่าวสำคัญ แค่กดเป็นเพื่อนกับ ไลน์ @livinginsider ที่นี่

บทความอื่นๆ

livinginsider livinginsider