News
icon share

บีทีเอส พร้อมเจรจารัฐพิจารณาค่าโดยสารร่วมรถไฟฟ้าสารพัดสีรับบัตรแมงมุม

LivingInsider Report 2017-12-21 13:45:38
บีทีเอส พร้อมเจรจารัฐพิจารณาค่าโดยสารร่วมรถไฟฟ้าสารพัดสีรับบัตรแมงมุม

“บีทีเอส” พร้อมเจรจารัฐพิจารณาค่าโดยสารร่วมรถไฟฟ้าสารพัดสีรับบัตรแมงมุม

 

นายสุรพงษ์ เลาหะอัญญา กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือบีทีเอสซี ผู้รับสัมปทานเดินรถไฟฟ้าบีทีเอส เปิดเผยถึงกรณีมีกระแสข่าวออกมาว่าบีทีเอสจะขอขึ้นค่าโดยสารหลังมีบัตรตั่วร่วมแมงมุมว่า บริษัทขอยืนยันว่าไม่เป็นความจริงและเป็นความเข้าใจผิดมากกว่า

 

ในความเป็นจริงแล้ว ทางคุณคีรี กาญจนพาสน์ มีความเป็นห่วงว่าหากรถไฟฟ้าสายใหม่เปิดให้บริการครบในปี 2563 และต้องจ่ายค่าแรกเข้าแต่ละสายจะทำให้ค่าเดินทางจากต้นทาง-ปลายทางสูงเกินไป จึงอยากให้รัฐเร่งดำเนินการพิจารณาส่วนนี้ เนื่องจากฐานผู้โดยสารจะขยายใหญ่มากขึ้น คาดว่าเฉพาะที่บริษัทรับสัมปทานเดินรถของสายสีเขียว สีชมพู และสีเหลือง จะมีผู้โดยสารถึง 2 ล้านเที่ยวคนต่อวันในปี 2563

 

“บีทีเอสให้ความร่วมมือกับรัฐมาตลอด และพร้อมจะหารือร่วมกับรัฐในการพิจารณาเรื่องค่าแรกเข้าการใช้รถไฟฟ้าต่างสายต่างสีกันในอนาคต เช่น จะลดค่าแรกเข้าหรืออะไรก็แล้วแต่ ซึ่งเราก็พร้อมแต่รัฐก็ต้องให้ความช่วยเหลือเอกชนด้วย ก็ต้องหารือร่วมกันต่อไปให้ win win ด้วยกัน ตอนนี้ยังไม่มีการหารือใดๆ ทั้งสิ้น และเราเป็นรายแรกที่ริเริ่มบัตรตั๋วร่วมนั้นก็คือบัตรแรบบิท และเมื่อหลายปีที่ผ่านมาก็มีการเซ็นบันทึกความร่วมมือกับรัฐบาลเพื่อทำระบบตั๋วร่วมเชื่อมต่อระหว่างบีทีเอสกับรถไฟฟ้าใต้ดินมาแล้วด้วย”

 

ปัจจุบันเป็นการหารือร่วมกันจะใช้บัตรใบเดียวหรือบัตรแมงมุมเข้าใช้บริการรถไฟฟ้า 4 สาย ได้แก่ สายสีเขียว สีม่วง สีน้ำเงินและแอร์พอร์ตลิงก์ ที่กระทรวงคมนาคมคาดว่าจะเริ่มใช้ในเดือนต.ค.2561 ยังไม่มีการพิจารณาเรื่องค่าโดยสารร่วมแต่อย่างใด ซึ่งเรื่องนี้กระทรวงคมนาคมมอบให้การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เป็นผู้ดำเนินการระหว่างรอการคัดเลือกให้เอกชนมาลงทุน

 

“สายสีเขียวเดิมและต่อขยายไปคูคตและสมุทรปราการอยู่ในความดูแลของกทม. จะไม่มีเรื่องค่าแรกเข้า แต่สายสีชมพู เหลือง น้ำเงิน ส้ม อยู่ในความดูแลของ รฟม. หากเดินทางร่วมกันจะไม่มีปัญหาเรื่องค่าแรกเข้า เพราะ รฟม.รับภาระค่าใช้จ่ายส่วนนี้ให้ เหมือนที่สายสีม่วงต่อเชื่อมกับรถไฟฟ้าใต้ดินในปัจจุบัน แต่หากต้องมาต่อเข้ากับสายสีเขียวจะต้องมีค่าแรกเข้า ตรงนี้ที่ทางเรามองว่ารัฐควรจะต้องเริ่มพิจารณา”

 

 

ขอบคุณภาพและข่าวจาก ประชาชาติธุรกิจ

 

https://www.prachachat.net/property/news-90196

 

 

>> ช่องทางในการติดตามข่าวสาร <<
ไม่พลาดข่าวสำคัญ แค่กดเป็นเพื่อนกับ ไลน์ @livinginsider ที่นี่

บทความอื่นๆ

livinginsider livinginsider