News
icon share

บิ๊กตู่ สั่งทบทวนไฮสปีดเทรนกรุงเทพฯ-เชียงใหม่ ลดสเป็กเป็น รถไฟความเร็วปานกลาง-รัฐเอกชนร่วมทุน

LivingInsider Report 2017-12-27 14:05:55
บิ๊กตู่ สั่งทบทวนไฮสปีดเทรนกรุงเทพฯ-เชียงใหม่ ลดสเป็กเป็น รถไฟความเร็วปานกลาง-รัฐเอกชนร่วมทุน

“บิ๊กตู่”สั่งทบทวนไฮสปีดเทรนกรุงเทพฯ-เชียงใหม่ ลดสเป็กเป็น”รถไฟความเร็วปานกลาง”-รัฐเอกชนร่วมทุน

 

เมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2560 ที่สถาบันการพลศึกษา วิทยาเขตสุโขทัย จังหวัดสุโขทัย พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงผลการประชุมคณะรัฐมนตรีนอกสถานที่อย่างเป็นทางการ (ครม.สัญจร) ครั้งที่ 52/2560 ว่า ที่ประชุมครม.สัญจรเห็นชอบภาพรวมการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งภาคเหนือของกระทรวงคมนาคม ดังนี้

 

1.การพัฒนาระบบคมนาคมขนส่งทางบก โครงสร้างพื้นฐานทางถนน รวมระยะทาง 25,506.28 กิโลเมตร วงเงินรวมระหว่างปี 2557-2561 วงเงินรวม 115,179,440 ล้านบาท ได้แก่ การก่อสร้างถนน 4 ช่องจราจร เช่น ทางหลวงหมายเลข 12 แม่สอด-มุกดาหาร การก่อสร้างทางเลี่ยงเมืองสันป่าตอง-หางดง (จังหวัดเชียงใหม่) การพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะในเมืองหลักในจังหวัดเชียงใหม่และพิษณุโลกอยู่ระหว่างศึกษา

 

2.การพัฒนาระบบขนส่งทางราง ได้แก่ โครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ ช่วงลพบุรี-ปากน้ำโพ คาดว่าจะลงนามในสัญญาจ้างได้ภายในต้นปี 2561 และ ช่วงปากน้ำโพ-เด่นชัย และโครงการก่อสร้างทางรถไฟสายใหม่ สายเด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ ระยะทาง 323 กิโลเมตร คาดว่าจะนำเสนอครม.พิจารณาภายในต้นปี 2561

 

โครงการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูง เส้นทางกรุงเทพ ฯ-เชียงใหม่ โดยจะเริ่มดำเนินการในระยะที่ 1 เส้นทางกรุงเทพ ฯ-พิษณุโลก ระยะทาง 380 กิโลเมตร 7 สถานี คาดว่าจะเสนอครม.พิจารณาอนุมัติโครงการได้ภายในต้นปี 2561 และเริ่มก่อสร้างได้ประมาณ ปี 2562

 

3.การพัฒนาระบบคมนาคมขนส่งทางน้ำ โดยกรมเจ้าท่า ได้ดำเนินการขุดลอกและบำรุงรักษาแม่น้ำสำคัญ ระหว่างปี 2557-2561 จำนวน 98 ร่องน้ำ รวมวงเงินงบประมาณ 597.494 ล้านบาท

 

4.การพัฒนาระบบคมนาคมขนส่งทางอากาศ โดยกรมท่าอากาศยานและบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) พัฒนาท่าอากาศยานเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการรองรับปริมาณผู้โดยสารและอากาศยาน เช่น การก่อสร้างอาคารผู้โดยสารหลังใหม่และปรับปรุงอาคารผู้โดยสารของท่าอากาศยานแม่สอด แพร่และเพชรบูรณ์

 

การพัฒนาท่าอากาศยานเชียงใหม่ จากเดิมในปัจจุบันสามารถรองรับผู้โดยสารได้ 8 ล้านคน/ปี รองรับเที่ยวบินได้ 24 เที่ยวบิน/ชั่วโมง จะพัฒนาให้สามารถรองรับผู้โดยสารได้ 20 ล้านคนต่อปี รองรับเที่ยวบินได้ 34 เที่ยวบินต่อชั่วโมง ได้จนถึงปี 2578 นอกจากนี้มีแผนจะสร้างท่าอากาศยานเชียงใหม่แห่งที่ 2 พื้นที่บริเวณ อ.สันกำแพง จ.เชียงใหม่ และ อ.บ้านธิ จ.ลำพูน

 

ขณะที่ นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้สั่งการในที่ประชุมครม.สัญจร ให้กระทรวงคมนาคมไปปรับรูปแบบโครงการรถไฟฟ้าความเร็วสูงไทย-ญี่ปุ่น เส้นทางกรุงเทพ ฯ – เชียงใหม่ ความเร็ว 250-300 ก.ม.ต่อชั่วโมงใหม่ให้เหมาะสม

 

เนื่องจากโครงการนี้ ไม่สามารถเชื่อมต่อเส้นทางไปยังจังหวัดอื่นหรือประเทศเพื่อนบ้านได้ จึงอาจไม่คุ้มทุนและไม่คุ้มค่า โดยอาจปรับความเร็วลดลงเป็นความเร็วปานกลางที่ 180-200 ก.ม.ต่อชั่วโมงแทน

 

ทั้งนี้เชื่อว่าหากดำเนินการได้จะสามารถรองรับทั้งการท่องเที่ยวและการขนส่งสินค้าโดย รวมทั้งให้ดูรูปแบบของการลงทุนใหม่ว่าอาจปรับเป็นแบบการร่วมทุนกับเอกชนหรือ PPP ได้มากน้อยเพียงใด จากเดิมที่เป็นโครงการแบบรัฐบาลต่อรัฐบาลหรือ G to G ซึ่งโครงการดังกล่าว ถือเป็นโครงการหนึ่งตามแผนทิศทางการพัฒนาพื้นที่ภาคเหนือ ที่รัฐบาลได้เดินทางมาลงพื้นที่ และจัดประชุมครม.สัญจร

 

“ก่อนหน้านี้องค์การความร่วมมือระหว่างประเทศญี่ปุ่นหรือไจก้า ได้เสนอความเป็นไปได้ในการลงทุนของโครงการนี้มูลค่า 4-5 แสนล้านบาท แต่ถ้ามีการปรับลดขนาดความเร็วลง ก็น่าจะทำให้ขนาดการลงทุนลดลงตามไปด้วย เชื่อว่าใช้เวลาไม่นานเพราะมีผลการศึกษาอยู่แล้วและน่าจะดำเนินการได้ภายในปี 61 ก่อนหน้านี้มองว่าเป็นโครงการที่คุ้มค่าหากเป็นสปีดเทรนเพราะสามารถเชื่อมต่อไปยังประเทศจีนทางยูนานได้ แต่เวลานี้จีนได้สร้างรถไฟเชื่อมต่อทางหนองคายแล้ว จึงควรปรับรูปแบบใหม่”

 

นายสมคิดกล่าวว่า นอกจากนี้นายก ฯ ยังสั่งการเพิ่มเติมให้กระทรวงคมนาคมไปดูระบบโครงข่ายการเชื่อมโยงระบบขนส่งทางถนนใหม่ โดยต้องการให้คิดใหม่ทำใหม่ โดยเน้นไปที่การท่องเที่ยวให้มากขึ้น จากเดิมที่เน้นเรื่องการขนส่งเท่านั้น แต่จากนี้ไปจะทำเหมือนเดิมไม่ได้ แต่ต้องมุ่งเน้นเรื่องของท่องเที่ยวให้สามารถเดินทางเชื่อมต่อกันให้ได้โดยเฉพาะจังหวัดท่องเที่ยวและเมืองรอง ซึ่งจากนี้ไปรัฐบาลจะให้ความสำคัญกับการท่องเที่ยวในประเทศให้หนักขึ้น

 

ด้าน นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คมนาคม กล่าวว่า ตอนนี้กระทรวงคมนาคมไม่ได้ชะลอโครงการรถไฟความเร็วสูง เส้นทางกรุงเทพฯ – เชียงใหม่ โดยล่าสุดญี่ปุ่นได้ส่งผลการศึกษาเบื้องต้นมาแล้ว มีวงเงินโครงการกว่า 4 แสนล้านบาท ดังนั้นจึงได้รายงานให้ที่ประชุมครม.สัญจร รับทราบ และนายกฯ ได้สั่งให้ไปดูว่า มีความคุ้มค่าหรือไม่ หรือจะมีเส้นทางเชื่อมโยงระหว่างประเทศได้อย่างไร

 

ซึ่งกระทรวงคมนาคมจะกลับไปสรุปรายละเอียดและนำมาเสนอที่ประชุมครม.พิจารณาอีกครั้งภายในเดือน มี.ค.61 หากครม.เห็นชอบก็เริ่มขั้นตอนการสำรวจออกแบบ โดยในระยะแรกจะเริ่มทำช่วงกรุงเทพฯ-พิษณุโลก วงเงินประมาณ 2.76 แสนล้านบาทก่อน

 

นายอาคมกล่าวเพิ่มเติม ว่าขณะเดียวกันที่ประชุมครม.สัญจร ยังรับทราบภาพรวมการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งภาคเหนือ ทั้งทางถนน ทางราง ทางอากาศ และทางน้ำ เน้นการเชื่อมโยงประเทศเพื่อนบ้าน และเชื่อมโยงระหว่างภาค รวมไปถึงเชื่อมโยงสถานที่ท่องเที่ยวในเมืองรอง โดยที่ประชุมได้มอบหมายให้กระทรวงคมนาคมไปคุยกับกระทรวงการท่องเที่ยวละกีฬา เพื่อหาทางดูแลอำนายความสะดวกนักท่องเที่ยวด้วยการจัดรถประจำทางไว้คอยบริการในพื้นที่ท่องเที่ยวด้วย

 

 

ขอบคุณภาพและข่าวจาก ประชาชาติธุรกิจ

 

https://www.prachachat.net/property/news-93074

 

 

>> ช่องทางในการติดตามข่าวสาร <<
ไม่พลาดข่าวสำคัญ แค่กดเป็นเพื่อนกับ ไลน์ @livinginsider ที่นี่

บทความอื่นๆ

livinginsider livinginsider