News
icon share

ส่องกรุงเทพมหานคร 2561 ปีแห่งมหกรรมรถติด-ค่าเดินทางพุ่ง

LivingInsider Report 2018-01-03 13:38:47
ส่องกรุงเทพมหานคร 2561 ปีแห่งมหกรรมรถติด-ค่าเดินทางพุ่ง

ส่องกรุงเทพมหานคร 2561 ปีแห่งมหกรรมรถติด-ค่าเดินทางพุ่ง

 

การโหมลงทุนก่อสร้างรถไฟฟ้าหลากสีที่จะปิดถนนสายหลักเพื่อเปิดไซต์งานโครงการอย่างเต็มสตรีม ว่ากันว่าจะทำให้ “กรุงเทพมหานคร” ที่ติดโผรถติดที่สุดในโลก จะยิ่งทำให้วิถีชีวิตคนกรุงในยุค 2561 ต้องเผชิญกับวิกฤตจราจรหนักมากยิ่งขึ้นจากสถิติจดทะเบียนรถยนต์ของปี 2560 ที่มีแนวโน้มทะลุ 10 ล้านคัน

 

และไม่ใช่แค่เมืองกรุงอาจจะลามทุ่งไปถึงย่านชานเมืองที่มีรถไฟฟ้าพาดผ่าน โดยเฉพาะย่านรามคำแหง มีนบุรี แจ้งวัฒนะ รามอินทรา

 

เผชิญปัญหารถติด 3 ปี

 

โดย “พล.ต.ต.จิรพัฒน์ ภูมิจิตร” รองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล (ผบ.ชน.) ด้านจราจร ประเมินว่ากรุงเทพฯจะประสบปัญหารถติดไปถึงปี 2563 เพราะมีการใช้พื้นที่ผิวถนนสายหลักก่อสร้างรถไฟฟ้า 6 เส้นทาง จนกว่ารถไฟฟ้าจะสร้างเสร็จ

 

ซึ่งพื้นที่หนักสุดอยู่โซนตะวันออกของกรุงเทพฯ น่าจะเริ่มคลี่คลายเป็นพื้นที่โซนตะวันตกที่รถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินต่อขยายบางซื่อ-ท่าพระและหัวลำโพง-บางแค งานก่อสร้างใกล้เสร็จและทยอยคืนผิวจราจรเกือบหมดแล้ว ทั้งถนนจรัญสนิทวงศ์ ถนนเพชรเกษม จะช่วยบรรเทาได้ระดับหนึ่ง

 

เช่นเดียวกับถนนวิภาวดีรังสิตน่าจะเริ่มดีขึ้น เนื่องจากสายสีแดงบางซื่อ-รังสิตจะทยอยเสร็จ รวมถึงถนนพหลโยธิน แม้ว่าสายสีเขียวต่อขยายหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต ยังสร้างไม่แล้วเสร็จ แต่จะเริ่มคืนผิวจราจรตั้งแต่ต้นปีเป็นต้นไป

 

“การจราจรน่าจะคลี่คลายปี 2562-2563 การก่อสร้างทยอยเสร็จการจราจรจะหนัก 2 ปีแรก คือปี 2561-2562 เพราะต้องปิดถนนเบี่ยงเพื่อสำรวจสาธารณูปโภค สร้างฐานราก ขึ้นตอม่อ วางคานด้านบน” พล.ต.ต.จิรพัฒน์กล่าวย้ำและว่า

 

ปี”61 ปิดจริงสร้างจริงรถไฟฟ้า

 

ตามแผนของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) จะเริ่มงานก่อสร้างสายสีส้มศูนย์วัฒนธรรม-มีนบุรี ระยะทาง 23 กม.อย่างจริงจังตั้งแต่ปีนี้เป็นต้นไป หลังปีที่ผ่านมาสำรวจการรื้อระบบสาธารณูปโภค รูปแบบก่อสร้างมีทั้งอุโมงค์ใต้ดินและโครงสร้างทางยกระดับจะใช้เวลาสร้าง 5 ปี

 

“การก่อสร้างสายสีส้ม จะอยู่บนถนนสายหลัก คือ ถนนรัชดาภิเษก พระราม 9 และรามคำแหง น่าห่วงคือรามคำแหง เพราะปริมาณการจราจรหนาแน่นอยู่แล้ว ยังจะต้องรื้อสะพานยกะดับอีก และทางเลี่ยงแทบจะไม่มี ส่วนพระราม 9 ไม่กระทบมากนัก เพราะการก่อสร้างช่วงศูนย์วัฒนธรรมมุ่งหน้ารามคำแหงจะเป็นงานใต้ดินและเป็นพื้นที่ รฟม. จะกระทบจุดที่ขึ้นลงของสถานี”

 

ขณะที่ “สายสีชมพู” แคราย-มีนบุรี ระยะทาง 34.5 กม.เมื่อปลายปีที่แล้วเริ่มปิดถนนเบี่ยงจราจรช่วงถนนติวานนท์ แจ้งวัฒนะและรามอินทราทดสอบเสาเข็มก่อสร้างและรื้อย้ายระบบสาธารณูปโภคใต้ดินถึงวันที่ 15 มี.ค.จะรื้อย้ายเสร็จเดือน ธ.ค. 2561 ซึ่งถนนรามอินทราคาดว่าจะหนักสุด

 

“แนะนำให้ใช้ทางเลี่ยงถนนสายรองและตรอกซอกซอยเป็นหลักในช่วงเช้าและเย็น เช่น ถนนสามัคคี ถนนประชาชื่น ถนนเลี่ยงเมืองปากเกร็ด ซอยแจ้งวัฒนะ 14 ถนนปัญญาอินทรา ถนนเสรีไทย ขึ้นทางด่วนอาจณรงค์ – รามอินทรา ซอยรามอินทรา 39 เป็นต้น”

ส่องกรุงเทพมหานคร 2561 ปีแห่งมหกรรมรถติด-ค่าเดินทางพุ่ง

 

กำลังจะเริ่มลงมืออีกสายคือ “สายสีเหลือง” ลาดพร้าว-สำโรง ระยะทาง 30.4 กม. เตรียมจะปิดถนนเบี่ยงจราจรในเร็ว ๆ นี้สำรวจระบบสาธารณูปโภค คาดว่าจะมีปัญหาการจราจรหนัก เพราะเป็นย่านที่มีปัญหาการจราจรอยู่แล้วในปัจจุบัน

 

โดยโครงสร้างรถไฟฟ้าจะเป็นทางยกระดับตลอดเส้นทาง สร้างอยู่บนเกาะกลางถนนลาดพร้าวตลอดแนว มุ่งหน้าไปลำสาลีและเข้าถนนศรีนครินทร์ มีจุดเริ่มต้นอยู่ช่วงจุดตัดลาดพร้าว-รัชดาภิเษกจุดเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าใต้ดิน

 

“ลาดพร้าวจะมีปัญหารถติดไม่แพ้รามคำแหง เพราะมีท่อประปาขนาดใหญ่ 1.50 เมตรอยู่ตรงกลางถนนพอดี ทำให้การรื้อย้ายต้องยกท่อประปาออกจะใช้เวลารื้อย้ายสาธารณูปโภคนานกว่าปกติ”

 

ตำรวจแนะใช้ขนส่งสาธารณะ

 

ส่วนการจัดการจราจร “พล.ต.ต.จิรพัฒน์” กล่าวว่า ทั้งรามคำแหง และลาดพร้าวจะเหมือนกันเพราะทางเลี่ยงมีไม่มาก ทำได้ คือ ปิดจุดกลับรถ เบี่ยงช่องจราจร และอาจจะให้จราจรในพื้นที่ออกข้อบังคับห้ามจอดตลอดเวลาเหมือนที่มีนบุรี ขณะเดียวกันได้แนะนำ รฟม.จัดรถชัตเติลบัสรับส่งคนจากซอยต่าง ๆ ไปยังรถไฟฟ้าหรือใช้ระบบขนส่งสาธารณะอื่น ๆ เพื่อลดการใช้รถยนต์ส่วนตัว และไม่ใช่แค่การก่อสร้างรถไฟฟ้าสารพัดสีที่กำลังตอกเข็ม

 

ปัจจุบันในพื้นที่กรุงเทพฯ มีงานก่อสร้างทางลอดของ กทม.ที่กำลังดำเนินการอยู่ 4 แห่ง ได้แก่ 1.แยกไฟฉายแนวถนนจรัญสนิทวงศ์-พรานนก 2.ทางลอดถนนพัฒนาการ-รามคำแหงถาวรธวัช 3.ทางลอดถนนศรีนครินทร์-ร่มเกล้า จะเปิดใช้ปลายปี 2561 และ 4.ทางลอดรัชโยธินแนวถนนรัชดาภิเษก

 

ยังมีแผนจะสร้างอุโมงค์ทางลอดเพิ่มอีก 4 แห่ง ได้แก่ 1.แยกรัชดาภิเษก-ราชพฤกษ์ 2.ทางลอดแยกถนนศรีอยุธยา-พระราม 6 3.ทางลอดถนนกาญจนาภิเษก-รามคำแหง และ 4.ทางลอดศรีนครินทร์-พัฒนาการ แนวถนนรถไฟตะวันออกรวมถึง 3 โครงการแก้จราจรแนวถนนรามคำแหง จะสร้างทางยกระดับและอุโมงค์ทางลอด จากแยกลำสาลี-คลองบ้านม้า เป็นทางยกระดับ 4 ช่องจราจร พาดยาว 5 กม. ใช้เวลาสร้าง 3 ปี

 

สร้างอุโมงค์ทางลอดใต้ถนนกาญจนาภิเษกจากคลองบ้านม้า-ถนนราษฎร์พัฒนา ใช้เวลาสร้าง 4 ปี และขยายผิวถนนช่วงถนนราษฎร์พัฒนาเชื่อมกับคลองบางชันเป็น 8 ช่องจราจร จะใช้เวลา 2 ปี เป็นแผนงานโครงการก่อสร้างที่จะถาโถมลงเสาเข็มใน 2-3 ปีนี้ ส่วนจะบรรเทาปัญหาได้แค่ไหน อยู่ที่การบริหารจัดการของทุกฝ่ายที่จะบูรณาการร่วมกัน

 

ค่าเดินทางขยับยกแผง

 

จาก “ปัญหารถติด” มาดูเรื่องค่าเดินทางของคนกรุงในปี 2561 ที่พาเหรดขยับขึ้นถ้วนหน้า เนื่องจากเป็นปีที่บางโหมดครบกำหนดสัญญาจะต้องปรับค่าเดินทาง รวมถึงการเปิดใช้เส้นทางใหม่ ๆ หลัง รฟม.กลับมาเก็บค่าโดยสารสายสีม่วงช่วงเตาปูน-คลองบางไผ่ เป็นอัตราปกติอยู่ที่ 14-42 บาทเมื่อวันที่ 1 พ.ย. 2560 เมื่อการต่อเชื่อมกับสายสีน้ำเงินที่สถานีบางซื่อเปิดใช้บริการ โดยยกเว้นค่าแรกสำหรับผู้ใช้บริการทั้ง 2 ระบบ จากคลองบางไผ่-หัวลำโพง จะเสียค่าโดยสาร 70 บาทต่อเที่ยว

 

ล่าสุด “รถไฟฟ้าใต้ดิน” จะครบกำหนดปรับราคาค่าโดยสารทุก ๆ 2 ปีตามสัญญาสัมปทานในวันที่ 3 ก.ค. 2561 ตามดัชนีผู้บริโภค (CPI)

 

ปีนี้มีการแจ้งข่าวจาก “สมบัติ กิจจาลักษณ์” เอ็มดี บมจ.ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ (BEM) ผู้รับสัมปทานเดินรถสายสีน้ำเงินเตาปูน-หัวลำโพงจาก รฟม.

 

จากการคำนวณแล้วพบว่าตลอดเส้นทาง 18 สถานี อัตราค่าโดยสารราคาเริ่มต้นและสูงสูดจะยังคงเท่าเดิม 16-42 บาท แต่จะมี 3 สถานีระหว่างทางจะปรับขึ้นสถานีละ 1 บาท จะกระทบกับผู้โดยสารที่ใช้บริการระยะสั้น ๆ จะประกาศราคาใหม่ล่วงหน้า 1 เดือน อีกทั้งจะจัดโปรโมชั่นออกบัตรโดยสารประเภทต่าง ๆ ให้มากขึ้น เพื่อเป็นทางเลือกให้กับผู้ใช้บริการ เช่น บัตรไม่จำกัดจำนวนเที่ยวที่ชะลอไปก่อนหน้านี้

 

ขณะที่ “รถไฟฟ้าบีทีเอส” มีผู้ใช้บริการร่วม 9 แสนเที่ยวคนต่อวัน ทาง บมจ.ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ (BTSC) ผู้รับสัมปทานเดินรถจากรุงเทพมหานคร (กทม.) ปรับค่าโดยสารเมื่อวันที่ 1 ต.ค. 2560 ของสายสุขุมวิท (สถานีหมอชิต – สถานีอ่อนนุช) และสายสีลม (สถานีสนามกีฬาแห่งชาติ – สถานีสะพานตากสิน) จากเดิม 1-3 บาท เป็น 16 บาท – 44 บาท แต่ยังคงราคาเดิมสำหรับผู้ใช้บัตรแรบบิทประเภทเติมเงินถึงวันที่ 31 มี.ค. 2561

ส่องกรุงเทพมหานคร 2561 ปีแห่งมหกรรมรถติด-ค่าเดินทางพุ่ง

 

กทม. รื้อราคา BTS ปากน้ำ

 

ส่วนบีทีเอสส่วนต่อขยายที่ กทม.จัดเก็บค่าโดยสารเองของสายสุขุมวิทช่วงอ่อนนุช-แบริ่ง 5.25 กม.มี 5 สถานี และสายสีลมช่วงวงเวียนใหญ่-บางหว้า 5.3 กม. 4 สถานี ปัจจุบันจัดเก็บอยู่ที่ราคา 15 บาทตลอดสาย ซึ่งปรับขึ้นเมื่อวันที่ 1 เม.ย. 2560

 

ขณะเดียวกันกำลังศึกษาจะปรับโครงสร้างราคาบีทีเอสส่วนต่อขยายสายสุขุมวิทใหม่เพื่อให้รับกับการเปิดใช้สายสีเขียวต่อขยายแบริ่ง-สมุทรปราการระยะทาง 12.8 กม. จำนวน 9 สถานี ภายในเดือน ธ.ค. 2561 นี้ จะเก็บค่าโดยสารส่วนต่อขยายสายสุขุมวิทจากอ่อนนุช-แบริ่ง-สมุทรปราการ เป็นอัตราเดียวตลอดสายกำลังพิจารณาจะเก็บอัตรา 35 บาท หรือ 40 บาท ส่วนบีทีเอสต่อขยายสายสีลมยังเก็บ 15 บาทตลอดสาย

 

ทางด่วนจ่อขึ้น 5-10 บาท

 

ด้าน “ทางด่วน” มีแนวโน้มจะปรับราคาขึ้น 2 สายทาง คือ ทางด่วนขั้นที่ 1 และขั้นที่ 2 หลัง “BEM” คู่สัญญาสัมปทานของ “กทพ.-การทางพิเศษแห่งประเทศไทย” จะครบกำหนดสัญญาต้องพิจารณาปรับค่าผ่านทางทุก 5 ปี ตาม CPI วันที่ 1 ก.ย. 2561

 

จะเริ่มพิจารณาในเดือน เม.ย. 2561 นี้ ขึ้นอยู่กับ CPI อาจจะปรับขึ้นหรือไม่ปรับก็ได้ ซึ่งที่ผ่านมาปรับขึ้นเฉลี่ยอยู่ที่ 5-10 บาท โดยอัตราค่าผ่านทางปัจจุบัน รถ 4 ล้อ 50 บาท รถ 6-10 ล้อ 75 บาท มากกว่า 10 ล้อ 110 บาท ส่วนทางด่วนขั้นที่ 2 ส่วน C รถ 4 ล้อ 15 บาท รถ 6-10 ล้อ 20 บาท มากกว่า 10 ล้อ 35 บาท ส่วน D รถ 4 ล้อ 25 บาท รถ 6-10 ล้อ 55 บาท มากกว่า 10 ล้อ 75 บาท

 

จากนั้นวันที่ 1 พ.ย. 2561 จะเป็นคิวของทางด่วนบางปะอิน-ปากเกร็ด จะครบกำหนดปรับค่าผ่านทาง จากปัจจุบันช่วงแจ้งวัฒนะ-เชียงราก รถ 4 ล้อ 45 บาท รถ 6-10 ล้อ 100 บาท มากกว่า 10 ล้อ 150 บาท และช่วงเชียงราก-บางไทร รถ 4 ล้อ 10 บาท รถ 6-10 ล้อ 20 บาท มากกว่า 10 ล้อ 30 บาท

 

มอเตอร์เวย์พัทยาจ่าย 105 บ.

 

ในส่วนของ “มอเตอร์เวย์” ตั้งแต่วันที่ 5 ม.ค. 2561 กรมทางหลวงจะทดลองใช้ด่านเก็บค่าผ่านทางถาวรแบบระบบปิด ช่วงชลบุรี-พัทยา ระยะทาง 42 กม. ส่วนต่อเชื่อมกรุงเทพฯ-ชลบุรี ให้ใช้ฟรีเพื่อให้เกิดความคุ้นเคย จะเริ่มเก็บค่าผ่านทางหลังสงกรานต์ โดยเก็บค่าผ่านทางตามระยะทางที่ใช้จริงมี 5 ด่าน ได้แก่ 1.ด่านบ้านบึง จากลาดกระบัง-ด่านบ้านบึง รถ 4 ล้อ เก็บ 55 บาท

 

2.ด่านบางพระ จากลาดกระบัง-ด่านบางพระ รถ 4 ล้อเก็บ 60 บาท 3.ด่านหนองขาม จากลาดกระบัง-ด่านหนองขาม รถ 4 ล้อ เก็บ 80 บาท 4.ด่านโป่ง จากลาดกระบัง-ด่านโป่ง รถ 4 ล้อ เก็บ 100 บาท และ 5.ด่านพัทยา จากลาดกระบัง-ด่านพัทยา รถ 4 ล้อ เก็บ 105 บาท หากใช้ตั้งแต่ลาดกระบัง-พัทยา เสียค่าผ่านทาง 105 บาท จากปัจจุบันถึงชลบุรีเสีย 60 บาท

 

ส่วน “ดอนเมืองโทลล์เวย์” ทาง บมจ. ทางยกระดับดอนเมือง (โทลล์เวย์) ผู้รับสัมปทานจากกรมทางหลวง ตามสัญญาจะปรับค่าผ่านทางทุก 5 ปี จะครบกำหนดวันที่ 22 ธ.ค. 2562 ทำให้ค่าผ่านทางช่วงดินแดง-ดอนเมือง รถ 4 ล้อ เป็น 80 บาท ช่วงดอนเมือง-อนุสรณ์สถานเป็น 35 บาท

 

 

ขอบคุณภาพและข่าวจาก ประชาชาติธุรกิจ

 

https://www.prachachat.net/property/news-94865

 

 

>> ช่องทางในการติดตามข่าวสาร <<
ไม่พลาดข่าวสำคัญ แค่กดเป็นเพื่อนกับ ไลน์ @livinginsider ที่นี่

บทความอื่นๆ

livinginsider livinginsider