News
icon share

ฟันธงสังหาฯปี 61โตจากปัจจัยบวกศก.ฟื้น-ดอกเบี้ยต่ำ-ลงทุนรัฐ

LivingInsider Report 2018-01-03 14:54:02
ฟันธงสังหาฯปี 61โตจากปัจจัยบวกศก.ฟื้น-ดอกเบี้ยต่ำ-ลงทุนรัฐ

ฟันธงสังหาฯปี 61โตจากปัจจัยบวกศก.ฟื้น-ดอกเบี้ยต่ำ-ลงทุนรัฐ

 

ภาคเอกชนเชื่อมั่นปี 61ตลาดอสังหาฯโต เหตุปัจจัยบวกเศรษฐกิจฟื้น ดอกเบี้ยต่ำ แบงก์คลายกังวลเข้มงวดปล่อยกู้ EEC โครงกาเมกะโปรเจคต์หนุนตลาด กรุงเทพฯ-ปริมณฑลโตทุกตลาด ขณะที่ตลาดต่างจังหวัดเหนื่อยต่อ กำลังซื้อยังไม่ฟื้น ราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ เตือนร่วมทุนต่างชาติทำใจอนาคตหันไปลงทุนเองหลังชำนาญตลาด

 

นายอธิป พีชานนท์ นายกสมาคมธุรกิจบ้านจัดสรร กล่าวถึงภาพรวมตลาดอสังหาริมทรัพย์ว่า ในปี 2561 มีแนวโน้มเติบโตมากกว่าปี 2560 เนื่องจากปัจจัยบวกหลายประการ รวมถึงภาวะเศรษฐกิจที่มีแนวโน้มเติบโตดีขึ้น ส่วนปัจจัยลบที่ยังคงมีอยู่เชื่อว่าไม่ส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นเท่าใดนัก เนื่องจากผู้บริโภคเริ่มชินและปรับตัวกับปัญหาที่เกิดขึ้น ตลาดที่อยู่อาศัยในเขตกรุงเทพฯและปริมณฑลปรับตัวดีขึ้นในทุกตลาด 

 

อสังหาฯต่างจังหวัดยังเหนื่อยต่อ


ส่วนตลาดต่างจังหวัดยังไม่ฟื้นตัวดีนักเนื่องจากกำลังซื้อยังไม่ฟื้นตัว อักทั้งยังมีจำนวนจำกัด ขณะที่ราคาพืชผลเกษตรยังคงตกต่ำอยู่ ทั้งยังมีปัญหาภัยธรรมชาติที่ทำให้ผลผลิตเสียหายไม่ได้ตามที่ต้องการ อย่างไรก็ดีโครงการแนวราบในบางพื้นที่ยังพอไปได้

 

ขณะที่ตลาดเมืองท่องเที่ยวกำลังซื้อส่วนใหญ่เป็นการซื้อเพื่อเป็นบ้านหลังที่สอง หรือซื้อเพื่อลงทุน ผู้ซื้อกลุ่มนี้ยังมีความกังวลกับภาษีที่ดินใหม่ที่จะต้องเสียภาษีเพิ่มขึ้นทำให้มีความกังวล และยังไม่มีความจำเป็นจะต้องซื้อ หรือต้องการรอให้ภาษีที่ดินใหม่ประกาศใช้อย่างเป็นทางการเพื่อความชัดเจน

 

ปัจจัยบวกหนุนอสังหาฯปี 61 โต


สำหรับปัจจัยบวกที่จะส่งดีต่อตลาดอสังหาริมทรัพย์โดยรวม ได้แก่ อัตราดอกเบี้ยที่ยังอยู่ในระดับต่ำต่อเนื่อง ทำให้ผู้ซื้อได้วงเงินกู้สูง ซึ่งเชื่อว่าในครึ่งปีแรก 2561 อัตราดอกเบี้ยจะยังคงไม่ปรับขึ้น แม้ว่าธนาคารกลางสหรัฐอเมริกา (เฟด) จะประกาศปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยล่วงหน้า ไตรมาสละ ครั้ง 3 ไตรมาสติดต่อกันเริ่มจากต้นปี

 

ขณะที่ไทยคาดว่าจะปรับขึ้นในไตรมาส 4 เนื่องจากเศรษฐกิจไทยยังไม่ฟื้นตัวดีนัก นอกจากนี้การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยยังส่งผลให้เงินบาทแข็งค่าขึ้นอาจส่งผลกระทบต่อภาคการท่องเที่ยวและส่งออกอีกด้วย หากปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเร็วเกินไปจะส่งผลกระทบต่อภาวะเศรษฐกิจได้ นอกจากนี้ยังทำให้ตลาดหลักทรัพย์ยังมีเงินทุนไหลเข้าอย่างต่อเนื่อง 

 

แบงก์คลายกังวลปล่อยกู้ง่ายขึ้น


ธนาคารพาณิชย์คลายความกังวลและลดความเข้มงวดในการพิจารณาปล่อยเชื่อมากขึ้น เนื่องจากเชื่อมั่นในภาวะเศรษฐกิจและรายได้ของผู้กู้ จากเดิมที่กังวลว่าภาคธุรกิจจะได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจตกต่ำและมีการเลิกจ้างหรือลดค่าแรงจนทำให้กระทบต่อการผ่อนชำระจนกลายเป็นหนี้เสีย แต่ที่ในปีที่ผ่านมาเกิดกรณีเลิกจ้างหรือปิดกิจการน้อยมากหรืออยู่ในระดับปกติ อัตราการว่างงานลดลง อีกทั้งภาวะเศรษฐกิจมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นแบบค่อยเป็นค่อยไปจึงทำให้ธนาคารคลายความกังวล

 

EEC ความหวังเศรษฐกิจไทย


การลงทุนโครงการภาครัฐ เริ่มเป็นรูปธรรมมากขึ้น มีการประมูลและเริ่มทยอยก่อสร้างในหลายโครงการ ทำให้มีเม็ดเงินไหลเข้าระบบและขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ภาคเอกชนเกิดความเชื่อมั่นว่ามีการลงทุนจริงและเริ่มลงทุนตาม ซึ่งหนึ่งในโครงการสำคัญที่จะช่วยผลักดันให้เศรษฐกิจไทยโตได้ตามที่ประมาณการณ์กันไว้คือ โครงการระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก หรือ EEC

 

หากเกิดขึ้นได้ก็จะทำให้มีเม็ดเงินลงทุนจากต่างประเทศเข้ามาจำนวนมาก ซึ่งการที่รัฐบาลใช้มาตร 44 ในเรื่องผังเมืองเพื่อให้สามารถดำเนินการพัฒนาโครงการได้เร็วขึ้นช่วยประโยชน์ได้อย่างมาก ซึ่งคาดว่าหลังจากนี้จะใช้ระยะเวลาประมาณ 15 เดือนข้อกำหนดการใช้ประโยชน์ในที่ดินในพื้นที่ EEC น่าจะแล้วเสร็จหรือในปี 2562 ซึ่งประมาณกลางปี2561 ผู้ประกอบการก็สามารถเข้าไปลงทุนได้ 

 

ทั้งนี้ขึ้นอยู่ว่าระบบสาธารณูปโภคของภาครัฐจะแล้วเสร็จทันกลางปีหน้าหรือไม่ โดยเฉพาะเรื่องของน้ำ ซึ่งเป็นสิ่งที่สำคัญมาก เพราะที่ผ่านมานิคมอุตสาหกรรมภาคตะวันออกมีความดึงตัวเรื่องน้ำและมีปัญหาในบางปี ซึ่งจำเป็นต้องสร้างอ่างเก็บน้ำขึ้นมารองรับภาคอุตสาหกรรมใหม่ที่จะมีเพิ่มมากขึ้นจำนวนมาก 

 

แนะรัฐออกมาตรการคุมเกร็งกำไรที่ดิน


อย่างก็ตามภาครัฐจะต้องหามาตรการมารองรับไม่ให้เกิดการเก็งกำไรในพื้นที่ EEC เพื่อไม่ให้ราคาซื้อขายที่ดินสูงมากจนเกินไป อาจจะออกเป็นกฎหมายท้องถิ่น ไม่ให้ไปใช้ในพื้นที่ส่งเสริมการลงทุนทั้ง 4 จุด ก่อนที่กฎหมายผังเมืองเฉพาะจะประกาศออกมาใช้ ซึ่งมีเวลาอย่างน้อย 15 เดือน ในการดำเนินการเรื่องผังเมือง ระบบสาธารณูปโภค

 

โครงสร้างพื้นฐานด้านการสื่อสาร ให้แล้วเสร็จ โครงการ EEC จะเป็นตัวชี้วัดผลงานของรัฐบาล ว่าสามารถผลักดันโครงการได้มากน้อยเพียงใด เพราะจะเป็นตัวผลักดันให้GDP โตได้มากกว่า 4% เพราะจะเกิดการว่าจ้างงานอีกมาก และรถไฟฟ้าสายสีต่างๆ ก็จะทำให้เกิดโครงการอสังหาฯมากขึ้น 

 

ส่วนรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน เส้นทางกรุงเทพฯ-นครราชสีมา ซึ่งดำเนินการโดยกลุ่มทุนจากจีน จะเริ่มดำเนินการก่อสร้างในปี 2561 ด้านรถไฟความเร็วสูงสายเหนือ จากกรุงเทพฯ-เชียงใหม่ จะเป็นการก่อสร้างโดยกลุ่มทุนจากญี่ปุ่น ส่วนรถไฟทางคู่ ก็จะเริ่มดำเนินการในปีหน้าเช่นกัน ขณะที่ถนนมอเตอร์เวย์ เส้นทางนครราชสีมา-กรุงเทพฯ ซึ่งทุกโครงการจะช่วยกระตุ้นให้เกิดการลงทุนของภาคเอกชน โดยเฉพาะด้านอสังหาฯ

 

การขยายสนามบิน อาทิ สนามบินสุวรรณภูมิเฟส 2 สนามบินภูเก็ต สนามบินอูตะเภา รวมถึงสนามบินอื่นๆที่มีความแออัดของผู้โดยสารก็มีแนวโน้มที่จะขยายอีกหลายสนามบินเช่นกัน ซึ่งจะช่วยให้การท่องเที่ยวของไทยขยายตัวมากยิ่งขึ้น ปัจจุบันนักท่องเที่ยวยุโรปเริ่มกลับมาท่องเที่ยวไทยอีกครั้งหลังภาวะเศรษฐกิจปรับตัวดีขึ้น รวมถึงรัชเซีย ขณะที่นักท่องเที่ยวจีนมีเพิ่มมากขึ้นเช่นกัน ซึ่งเริ่มซื้ออสังหาฯในไทยผ่านเอเจนซี่มากขึ้น จากเดิมที่ชาวจีนจะเข้ามาเที่ยวเพียงอย่างเดียว 

 

เตือนร่วมทุนนอกระวังตีจากลงทุนเอง


ส่วนการร่วมทุนกับผู้ประกอบการจากต่างประเทศ จะต้องมีการศึกษาถึงข้อดี ข้อเสียก่อนตัดสินใจ เพราะผู้ร่วมทุนชาวต่างชาติบางกลุ่มเมื่อถึงจุดหนึ่งที่สามารถเรียนรู้การดำเนินธุรกิจ การตลาด พฤติกรรมผู้บริโภค กฎหมายจนเชื่อมั่นว่าสามารถดำเนินธุรกิจเองได้ก็จะทิ้งผู้ร่วมทุนและลงทุนเอง ซึ่งเคยเกิดขึ้นในหลายอุตสาหกรรม เช่น อุตสาหกรรมยานยนต์ ซึ่งหากเป็นผู้ประกอบการรายใหญ่เมื่อไม่มีการร่วมทุนก็ยังสามารถอยู่รอดได้

 

เพราะการร่วมทุนกับต่างชาติจะเป็นในรูปแบบก่อตั้งบริษัทร่วมทุนขึ้นมาพัฒนา ส่วนผู้ประกอบการรายกลางก็จะอยู่ยากเพราะเงินลงทุนมีจำกัด ในปีหน้าผู้ประกอบการหลายรายจะเริ่มให้ความสำคัญเรื่องเทคโนโลยีสมัยใหม่มากขึ้นไปอีก เพราะคนรุ่นใหม่นิยมใช้อุปกรณ์มือถือในการควบคุมระบบต่างๆภายในที่อยู่อาศัย ซึ่งมีความสะดวกสบาย 

 

ปัจจัยลบฉุดตลาดผันผวน


ส่วนปัจจัยลบ ที่จะมีผลกระทบต่อธุรกิจอสังหาฯ ได้แก่ หนี้ครัวเรือนที่ยังอยู่ในระดับสูง ราคาพืชผลทางการเกษตรที่ยังไม่ดีเท่าที่ควร ประกอบกับปริมาณการผลิตไม่สามารถควบคุมได้ จากปัญหาภัยธรรมชาติแห้งแร้ง น้ำท่วม เกษตรกรเป็นหนี้เป็นสิน

 

รวมถึงไทยยังไม่สามารถควบคุมการผลิตของเกษตรกรได้ พืชผลที่ได้ราคาดีเกษตรกรก็จะแห่ไปปลูกจนผลผลิตออกมาล้นตลาดทำให้ราคาตกต่ำ เช่น ยางพารา ปาล์มน้ำมัน เป็นต้น ขณะเดียวกันก็ยังไม่สามารถหาตลาดส่งออกได้ เพราะเศรษฐกิจในหลายๆประเทศยังไม่ฟื้นตัว

 

ขณะที่ปัญหาทางการเมือง แม้ว่าการเมืองจะนิ่งแต่ประชาชนยังไม่มั่นใจว่าจะมีการเลือกตั้งได้ในช่วงปลายปีหรือไม่ หรือจะมีการเลือกตั้งเมื่อไหร่ ส่วนปัญหาความขัดแย้งของหลายๆประเทศ เช่นยุโรป เกาหลีเหนือ จะต้องคอยจับตามองว่าจะมีผลกระทบเศรษฐกิจหรือไม่ ร่วมถึงภัยก่อการร้าย ส่วนสภาวะเศรษฐกิจของหลายประเทศยังไม่ฟื้นตัวดีนักโดยเฉพาะจีน และอเมริกาที่ยังไม่ฟื้นตัว 100% ซึ่งเป็นตลาดส่งออกหลักของไทย 

 

นอกจากนี้ยังมีปัญหากฎหมายเกี่ยวกับธุรกิจอสังหาฯ ในหลายเรื่องที่ยังไม่ชัดเจน เช่น พระราชบัญญัติผังเมือง ที่มีคำถามว่าจะออกมาอย่างไร มีผลกระทบมากน้อยแค่ไหน ซึ่งอาจจะกระทบต่อสินค้าบางกลุ่ม เช่น บ้านพักตากอากาศ ซึ่งผลกระทบต่อการตัดสินใจซื้อของลูกค้าบางกลุ่มหรือไม่ 

 

ส่วนกฎหมายภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างฯ อาจจะมีการเปลี่ยนแปลง โดยสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เตรียมปรับลดอัตราการจัดเก็บลง เนื่องจากไม่ต้องการให้กระทบกับประชาชนมากเกินไป โดยได้เสนอกำหนดอัตราจัดเก็บภาษีที่ดินฯในช่วง 2 ปีแรกในอัตราผ่อนปรน ไว้ในบัญชีแนบท้ายของกฎหมาย ส่วนปีที่ 3 เป็นต้นไป รัฐบาลขณะนั้นจะเป็นผู้ออกพระราชกฤษฎีกากำหนดอัตราภาษีที่จัดเก็บจริงต่อไป ซึ่งคาดว่าจะมีผลบังคับใช้ในปี 2562 

 

โดยอัตราภาษีที่คณะกรรมาธิการวิสามัญ (กมธ.) พิจารณาร่างพระราชบัญญัติภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ…เสนอ กรณีที่ดินเกษตรกรรมที่เจ้าของเป็นบุคคลธรรมดา ถ้ามูลค่าที่ดินไม่เกิน 50 ล้านบาท ได้รับยกเว้นภาษี, 50-75 ล้านบาท เก็บที่ 0.01%, 75-100 เก็บที่ 0.03%, 100-500 ล้านบาท เก็บที่ 0.05%, 500-1,000 ล้านบาทเก็บที่ 0.07%

 

ส่วนที่ดินเกษตรกรรมที่เจ้าของเป็นนิติบุคคล มูลค่าที่ดินระหว่าง 0-75 ล้านบาท เก็บที่ 0.01%, 75-100 ล้านบาท เก็บที่ 0.03%, 100-500 ล้านบาท เก็บที่ 0.05%, 500-1,000 ล้านบาท เก็บที่ 0.07% และเกิน 1,000 ล้านบาท เก็บที่ 0.10%

 

ขณะที่ราคาที่ดินจะมีการปรับตัวค่อนข้างเร็วมาก เห็นได้ว่าราคาคอนโดมิเนียมต่อตารางเมตรปรับสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง จนเกินกว่าความสามารถของผู้บริโภคที่มีรายได้ปานกลางที่จะซื้อได้ ซึ่งถือเป็นกลุ่มใหญ่ของตลาด เช่น คอนโดมิเนียมราคา 3 ล้านบาท ผู้ซื้อจะต้องมีรายเดือนละ 60,000 บาท หรือใช้วิธีกู้ร่วม บ้านราคา 1 ล้านบาท จะต้องผ่อนชำระเดือนละประมาณ 7,500 บาท ระยะเวลา 20 ปี

 

ด้านอัตราแลกเปลี่ยนในปี 2561 ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นมาแตะที่ 32 บาท ซึ่งจะมีผลกระทบต่ออัตราดอกเบี้ย ส่งออก การท่องเที่ยว รวมไปถึงการไหลเข้า-ออกของเงินทุนด้วย 

 

“เชื่อว่าตลาดอสังหาฯปี 61 เติบโตขึ้นกว่าปี 60 อย่างแน่นอน เพราะถือว่าผ่านจุดต่ำสุดมาแล้ว จากปัจจัยบวกหลายอย่าง ทั้งภาวะเศรษฐกิจที่มีแนวโน้มดีขึ้นตั้งแต่ปลายปีที่แล้ว อัตราดอกเบี้ยต่ำ แบงก์คลายความกังวลลดความเข้มงวดในการปล่อยกู้ และอีกหลายปัจจัย ส่วนปัจจัยลบเช่น กำลังซื้อยังไม่ฟื้นตัวดีนัก หนี้ครัวเรือน ราคาพืชผลทางการเกษตรตกต่ำ ล้วนเป็นปัญหาที่มีมาต่อเนื่องยาวนาน ผู้บริโภคเริ่มชินและอยู่กับปัญหาที่เกิดขึ้นเหล่านี้ได้” นายอธิปกล่าว

 

นายอธิป กล่าวต่อว่า ผู้ประกอบการควรพัฒนาในทำเลที่ตนเองมีความถนัดมากกว่า เพราะมีข้อมูลจริงและฐานลูกค้าอยู่แล้ว ไม่ควรไปลงทุนในทำเลที่ตัวเองยังไม่มีความถนัดหรือในภาวะตลาดไม่ดี ซึ่งทำเลอื่นก็สามารถพัฒนาได้เมื่อมีอัตราการเติบโตแล้ว หรือศึกษาตลาดมาเป็นอย่างดี สำหรับตลาดคอนโดมิเนียมหากไม่มีความมั่นใจก็ไม่ควรเข้ามาพัฒนา

 

เพราะใช้เวลา 2-3 ปีกว่าจะโอนกรรมสิทธิ์ได้ ทั้งนี้คอนโดมิเนียมที่มีปัจจัยเอื้อ ได้แก่ ใกล้รถไฟฟ้า ใกล้สิ่งอำนวยความสะดวก ริมแม่น้ำ จะขายได้ ซึ่งหายมีหลายปัจจัยรวมกันก็จะยิ่งขายดี ส่วนโครงการแนวราบหากอยู่ใกล้ทางด่วน ห้างสรรพสินค้า แหล่งงาน โรงเรียนฯลฯ ก็จะเป็นจุดขายที่ดี เพราะลูกค้าที่ซื้อส่วนใหญ่ไม่ค่อยย้ายถิ่นฐาน ดังนั้นการสำรวจดีมานด์ ซัพพลาย ค่อนข้างมีความสำคัญเป็นอย่างมาก

ฟันธงสังหาฯปี 61โตจากปัจจัยบวกศก.ฟื้น-ดอกเบี้ยต่ำ-ลงทุนรัฐฟันธงสังหาฯปี 61โตจากปัจจัยบวกศก.ฟื้น-ดอกเบี้ยต่ำ-ลงทุนรัฐ

 

คาดปี 61 คอนโดฯเปิดตัว 5.6 หมื่นยูนิต


นายสุรเชษฐ กองชีพ ผู้เชี่ยวชาญตลาดอสังหาริมทรัพย์ คาดการณ์ตลาดอสังหาริมทรัพย์ปี 2561 ว่า ตลาดอสังหาริมทรัพย์ในปี 2560 ค่อนข้างคึกคักทั้งในเรื่องของการเปิดตัวโครงการคอนโดมิเนียมใหม่ที่มีมากกว่า 56,000 ยูนิตมากที่สุดในรอบ 4 - 5 ปีที่ผ่านมา และเรื่องของการร่วมทุนระหว่างผู้ประกอบการไทยและต่างชาติ

 

โดยเฉพาะญี่ปุ่นที่ปีนี้มีการประกาศการร่วมทุนออกมาหลายราย รวมไปถึงการพัฒนาโครงการมิกซ์ยูสขนาดใหญ่อีกหลายโครงการที่เปิดตัวโครงการมาตั้งแต่ต้นปีจนถึงเดือนสุดท้ายของปี แม้หลายโครงการจะสร้างความฮือฮาแต่ก็เริ่มมีความกังวลตามมาด้วยเช่นกัน เพราะบางโครงการมีขนาดใหญ่มาก ซึ่งอาจมีผลกระทบต่อหลายๆ ด้านในทุกมิติแน่นอน 

 

ตลาดคอนโดมิเนียมในปี 2561 มีแนวโน้มดีต่อเนื่องจากช่วงครึ่งหลังปี 2560 ผู้ประกอบการหลายรายยังคงมีแผนขยายตัวต่อเนื่องโดยเฉพาะรายใหญ่ในตลาดหลักทรัพย์โดยคาดว่าคอนโดมิเนียมเปิดขายใหม่ในปี 2561 ใกล้เคียงกับปี 2560 คือประมาณ 56,000 ยูนิต

 

ซึ่งจำนวนยูนิตอาจจะลดลงหรือมากกว่านี้ต้องพิจารณาเรื่องของกำลังซื้อและการโอนกรรมสิทธิ์ประกอบด้วย เพราะหากโครงการที่สร้างเสร็จในปี 2561 แล้วมีคนไม่สามารถโอนกรรมสิทธิ์ได้ในจำนวนที่ไม่ได้แตกต่างจากปี 2560 ทั้งด้วยเรื่องของการขอสินเชื่อธนาคารไม่ผ่านและเรื่องของการไม่อยากจะโอนกรรมสิทธิ์ก็อาจจะมีผลต่อผู้ประกอบการต่อเนื่องเช่นกัน 

 

อย่างไรก็ตามตลาดคอนโดมิเนียมจะยังคงขยายตัวต่อไปโดยเฉพาะในพื้นที่ตามแนวเส้นทางรถไฟฟ้าที่กำลังก่อสร้างและที่จะเริ่มการก่อสร้างเพราะผู้ประกอบการยังคงต้องการพัฒนาโครงการที่สามารถเข้าถึงผู้ซื้อส่วนใหญ่ที่มีกำลังซื้อไม่เกิน 3 - 4 ล้านบาทต่อยูนิต

 

แต่ผู้ประกอบการก็ยังคงให้ความสำคัญกับโครงการราคาสูงในพื้นที่เมืองชั้นในเพื่อเพิ่มช่องทางสร้างรายได้หลากหลาย อีกทั้งโครงการบ้านจัดสรรยังเป็นรูปแบบโครงการที่ผู้ประกอบการให้ความสำคัญต่อเนื่อง แต่สัดส่วนของบ้านจัดสรรในกรุงเทพมหานครอาจจะลดลงเพราะราคาที่ดินที่สูงขึ้น 

 

ปี 2561 อาจจะเป็นปีที่ผู้ประกอบการให้ความระมัดระวังต่อตลาดคอนโดมิเนียมมากขึ้น เพราะจะพึ่งพานักลงทุนหรือนักเก็งกำไรแบบที่ผ่านมาก็อาจจะยากลำบากมากขึ้น อัตราการขายเฉลี่ยของโครงการเปิดขายใหม่คาดว่าจะอยู่ที่ประมาณ 65 - 70% มากกว่าปี 2560 ประมาณ 7 - 8% แต่ยังต้องพิจารณาเรื่องของภาวะเศรษฐกิจประกอบด้วย ส่วนทำเลเด่นๆ สำหรับตลาดคอนโดมิเนียมยังคงเป็นทำเลตามแนวเส้นทางรถไฟฟ้าที่กำลังก่อสร้างและจะเริ่มสร้างในอนาคตรวมไปถึงพื้นที่เมืองชั้นใน

ฟันธงสังหาฯปี 61โตจากปัจจัยบวกศก.ฟื้น-ดอกเบี้ยต่ำ-ลงทุนรัฐ

 

โครงการรูปแบบอื่นๆ จะยังคงมีการขยายตัวตามภาวะตลาดต่อไป ซึ่งตลาดที่น่าสนใจคือ ตลาดอาคารสำนักงานที่ในช่วง 1 - 2 ปี นับจากปี 2561 เป็นต้นไปจะยังคงมีการขยายตัวในเรื่องของความต้องการพื้นที่สำนักงานแต่หลังจากนั้นเมื่อมีอาคารสำนักงานใหม่ๆ เข้าสู่ตลาดซึ่งคาดว่าจะมีพื้นที่รวมมากกว่า 750,000 ตารางเมตรภายในปี 2564 ก็อาจจะต้องดูเรื่องของความต้องการพื้นที่ใหม่ว่าจะมีต่อเนื่องหรือไม่ 

 

โครงการค้าปลีกอาจประสบกับปัญหาที่ชัดเจนกว่าโครงการรูปแบบอื่นๆ เพราะผู้เช่าประสบกับปัญหาเรื่องของรายได้ที่ลดลงทั้งจากการขยายตัวของตลาดออนไลน์หรือการที่คนไทยใช้จ่ายเงินลดลงในช่วงที่ผ่านมา การขยายตัวของโครงการค้าปลีกจึงอาจจะอยู่ในภาวะชะลอตัวกว่าที่เคยเป็นมาในอดีต ยกเว้นโครงการที่อยู่ระหว่างการก่อสร้างที่ยังคงเดินหน้าต่อไปตามเดิม

 

 

ขอบคุณภาพและข่าวจาก MGR ONLINE

 

https://mgronline.com/stockmarket/detail/9600000131575

 

 

 

>> ช่องทางในการติดตามข่าวสาร <<
ไม่พลาดข่าวสำคัญ แค่กดเป็นเพื่อนกับ ไลน์ @livinginsider ที่นี่

บทความอื่นๆ

livinginsider livinginsider