News
icon share

รื้อค่าโดยสารส่วนขยายบีทีเอส กทม.จุก! แบกหนี้ 8.5หมื่นล้าน อ้อนคลังช่วย

LivingInsider Report 2018-02-01 10:25:44
รื้อค่าโดยสารส่วนขยายบีทีเอส กทม.จุก! แบกหนี้ 8.5หมื่นล้าน อ้อนคลังช่วย

รื้อค่าโดยสารส่วนขยายบีทีเอส กทม.จุก! แบกหนี้ 8.5หมื่นล้าน อ้อนคลังช่วย

 

กทม.หน้า มืดแบกหนี้ก้อนโต 8.5 หมื่นล้าน รถไฟฟ้าสายสีเขียวต่อขยาย อ้อนรัฐยืดหนี้ปี”73-85 ให้คลังรับภาระ 10 ปี 2.5 หมื่นล้านสบน.เมินข้อเสนอ จี้เอกชนรับภาระ บีทีเอสเร่งทดสอบรถใหม่เตรียมเปิดหวูดแบริ่ง-ปากน้ำ ธ.ค.นี้ จ่อรื้อค่าโดยสารใหม่

 

แหล่งข่าวจากกระทรวงคมนาคมเปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า การประชุมคณะกรรมการพิจารณาโอนหนี้สินและทรัพย์สินรถไฟฟ้าสายสีเขียว ส่วนต่อขยายหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต และแบริ่ง-สมุทรปราการ ระหว่างการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) และกรุงเทพมหานคร (กทม.)

 

ตามมติคณะกรรมการจัดระบบการจราจรทางบก (คจร.) ที่มีนายไพรินทร์ ชูโชติถาวร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคมเป็นประธาน ได้ข้อสรุป กทม.จะรับหนี้งานโยธาท 60,860 ล้านบาท เดิมให้รัฐรับภาระแทน และ กทม.รับภาระเฉพาะค่างานระบบ 2 หมื่นล้านบาท

 

ขอใช้หนี้หลังหมดสัมปทาน

 

โดย กทม.ขอยืดหนี้ 10 ปี เริ่มปี 2561 จะคืนปี 2573-2585 เพราะสัมปทานบีทีเอสจะหมดอายุ 5 ธ.ค. 2572 คาดจะมีรายได้เกิน 1 แสนล้านบาท จึงขอให้รัฐรับภาระ 25,000 ล้านบาท ซึ่งคาดว่ารายได้ไม่พอกับรายจ่าย เนื่องจาก กทม.ต้องจ่ายค่าจ้างเดินรถ ดอกเบี้ย รวมทั้งค่าใช้จ่ายในการบริหารจัดการต่าง ๆที่ประชุมจึงให้ กทม.หารือกับสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะว่า จะหาเงินจากไหนมาจ่ายคืนให้รัฐ

 

จี้เจรจาเอกชนช่วยรับภาระหนี้

 

นาย ประภาศ คงเอียด ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) เปิดเผยว่า ขณะนี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรอให้ กทม.เจรจาบีทีเอสซีให้เข้ามาช่วยรับภาระปี 2562-2572 หากมีข้อสรุปจะประชุมหน่วยงาน ได้แก่ สบน. กระทรวงการคลัง สนข.กระทรวงคมนาคม อีกครั้ง

 

“พิจารณาแล้วรายได้จากส่วนต่อขยาย เมื่อรวมกับรายได้บีทีเอส ถือว่าเพียงพอจะชำระค่าจัดการงานระบบในปี 2573-2575 ค่าก่อสร้างและโยธาปี 2573-2585 แต่ช่วงปี 2562-2572 หรือ 10 ปีแรก ก่อนสัมปทานจะหมดอายุ รายได้คงไม่พอ”

 

BTS อ้างควัก 2 หมื่น ล.แล้ว

 

นาย สุรพงษ์ เลาหะอัญญา กรรมการและผู้อำนวยการใหญ่สายปฏิบัติการ บมจ.บีทีเอสซี กล่าวว่า ยังไม่ได้รับการติดต่อจาก กทม. ที่ผ่านมา กทม.ให้ บจ.กรุงเทพธนาคม (เคที) วิสาหกิจของ กทม. ว่าจ้างบีทีเอสเดินรถทั้งระบบ 30 ปี วงเงิน 3.5 แสนล้านบาท ส่วนต่อขยายจะหมดสัญญาปี 2585

 

“งานติดตั้งระบบของสายสี เขียวส่วนต่อขยายไปคูคตกับสมุทรปราการ กว่า 2 หมื่นล้านบาท บริษัทลงทุนให้ก่อน และเคทีชำระคืนภายหลัง ขณะนี้เรากำลังเร่งติดตั้งระบบช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ ให้สามารถเปิดให้บริการเดือน ธ.ค.นี้ ส่วนช่วงหมอชิต-คูคต ปี 2562 จะเปิดให้บริการ 1 สถานี จากสถานีหมอชิต-ห้าแยกลาดพร้าว ช่วยบรรเทาปัญหาการจราจร และรองรับผู้ใช้บริการที่เพิ่มขึ้น”

 

รื้อใหม่ค่าโดยสารส่วนต่อขยาย

 

นาย สุรพงษ์กล่าวว่า บริษัทได้ซื้อรถขบวนใหม่ 46 ขบวน รวม 148 ตู้ วงเงิน 1.1 หมื่นล้านบาท สำหรับรองรับผู้โดยสารส่วนต่อขยายใหม่ ในเดือน พ.ค. 2561 นี้ จะเริ่มทดสอบรถขบวนแรกที่สั่งซื้อจากซีเมนส์ 22 ขบวน ส่วนรถของ บจ.ฉางชุน เรลเวย์ เวฮิเคิล อีก 24 ขบวน จะทยอยมาถึงในปี 2562

 

ขณะเดียวกัน มีรายงานข่าวว่า กทม.จะรื้ออัตราค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีเขียวต่อขยายใหม่ จากเดิมคิดอัตราเหมาจ่าย 15 บาท เปลี่ยนเป็นคิดตามระยะทาง หรือกำหนดเป็นพื้นที่โซน เนื่องจากมีระยะทางเดินรถเพิ่มขึ้น

 

อย่างไรก็ตาม รายละเอียดอัตราค่าโดยสารที่รื้อใหม่จะเป็นเท่าใดนั้นขึ้นอยู่กับนโยบายของ ผู้ว่าฯ กทม. รวมทั้งต้องเจรจากับบีทีเอสให้ลดค่าแรกเข้า หลังมีบัตรโดยสารตั๋วร่วม หรือบัตรแมงมุมสำหรับใช้บริการเชื่อมต่อระบบขนส่งสาธารณะ เป้าหมายเพื่อให้ประชาชนได้ประโยชน์สูงสุด

 

 

ขอบคุณภาพและข่าวจาก ประชาชาติธุรกิจ

 

https://www.prachachat.net/property/news-110239

 

 

>> ช่องทางในการติดตามข่าวสาร <<
ไม่พลาดข่าวสำคัญ แค่กดเป็นเพื่อนกับ ไลน์ @livinginsider ที่นี่

บทความอื่นๆ

livinginsider livinginsider