รายการโปรด
“ไพรินทร์” สั่งรถไฟใช้โมเดล ทอท.บริหารสนามบินสุวรรณภูมิ ต้นแบบจัดการพื้นที่สถานีกลางบางซื่อ 3 แสนตารางเมตร หวั่นตั้งบริษัทลูกไม่ทัน เล็ง outsource เอกชนมืออาชีพดำเนินการรายสัญญา ไล่ตั้งแต่พื้นที่ร้านค้า เก็บค่าจอดรถ จ้างแม่บ้านยัน รปภ. ส่องผลงานก่อสร้างรุดหน้ากว่า 60% อิตาเลียนไทยขอขยายเวลาเพิ่ม 100 วัน ร.ฟ.ท.ยังคงเป้าเปิดหวูด มิ.ย. 2563
แหล่งข่าวจากการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ขณะนี้ ร.ฟ.ท.อยู่ระหว่างหารือร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) ถึงแนวทางการบริหารจัดการพื้นที่สถานีกลางบางซื่อของรถไฟฟ้าสายสีแดง (บางซื่อ-รังสิต และบางซื่อ-ตลิ่งชัน) เพื่อให้ได้ข้อสรุปก่อนจะเปิดบริการในเดือน มิ.ย. 2563
“จะต้องสรุปว่าการบริหารจัดการจะให้ ร.ฟ.ท.ดำเนินการเองหรือให้เอกชนมาบริหารโครงการ และต้องเปิด PPP หรือไม่ เนื่องจากการจัดตั้งบริษัทบริหารทรัพย์สิน บริษัทลูก ร.ฟ.ท.มาดำเนินการ คงจะไม่ทันกับกำหนดการเปิดบริการของรถไฟฟ้า”
สถานีบางซื่อน้อง ๆ สุวรรณภูมิ
แหล่งข่าวกล่าวว่า ทั้งนี้สถานีกลางบางซื่อเป็นสถานีที่มีขนาดใหญ่ มีพื้นที่ใช้สอยประมาณ 300,000 ตารางเมตร หรือเท่ากับ 1 ใน 3 ของพื้นที่สนามบินสุวรรณภูมิ ทำให้ต้องบริหารพื้นที่สถานีให้เหมือนกับสนามบินสุวรรณภูมิ
จะต้องมีการบริหารพื้นที่หลายส่วน เช่น พื้นที่เชิงพาณิชย์ มีอยู่ 6,000 ตารางเมตร การจ้างพนักงานรักษาความปลอดภัยดูแลภายในและภายนอกสถานี พนักงานรักษาความสะอาด การติดตั้งกล้องวงจรปิด จัดเก็บค่าที่จอดรถ ระบบไฟฟ้า น้ำประปา เป็นต้น ซึ่งประเทศไทยยังไม่เคยมีสถานีรถไฟที่ใหญ่ขนาดนี้มาก่อน
ล่าสุด นายไพรินทร์ ชูโชติถาวร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม สั่งการให้ ร.ฟ.ท.ไปหารือกับบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท.ว่า จะมีแนวทางเสนอแนะอย่างไรได้บ้าง เนื่องจากลักษณะการบริหารจะคล้ายกัน พร้อมกับย้ำว่า ร.ฟ.ท.ไม่ควรจะดำเนินการเอง ควรจ้างเอกชนดำเนินการ เนื่องจากจะมีประสิทธิภาพมากกว่า
จ้างเอกชนบริหารจัดการ
แหล่งข่าวกล่าวอีกว่า ทั้งนี้มีความเป็นไปได้สูงที่ ร.ฟ.ท.จะดำเนินการเอง โดยเปิดให้เอกชนมาดำเนินการในแต่ละงาน ในลักษณะเอาต์ซอร์ซ (outsource) เหมือนกับที่สนามบินสุวรรณภูมิ ที่จะมีการจ้างบริษัทมาเข็นกระเป๋า บริหารพื้นที่ร้านค้า เนื่องจากการให้เอกชนมาร่วม PPP จะต้องใช้เวลาดำเนินการ 2 ปี
“เรื่องเร่งด่วนตอนนี้ คือ จะทำยังไงกับการบริหารพื้นที่สถานีกลางบางซื่อ ทุกอย่างต้องแล้วเสร็จในปี 2562 เพราะเมื่อถึงปี 2563 รถไฟฟ้าเปิดใช้แล้ว พื้นที่คอมเมอร์เชี่ยลหรือการบริการอื่น ๆ ก็ต้องพร้อมให้บริการผู้โดยสารที่มาใช้รถไฟฟ้าด้วย”
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สถานีกลางบางซื่อ มีพื้นที่กว่า 400 ไร่ (สถานีบางซื่อเก่ารวมกับบริเวณใกล้เคียง) เป็นสถานีต้นทางของรถไฟฟ้าสายสีแดง และเป็นสถานีมีพื้นที่ใหญ่ที่สุด โดยอาคารสถานีมีพื้นที่ใช้สอย 300,000 ตารางเมตร เมื่อแล้วเสร็จจะเป็นศูนย์กลางการเดินทางด้วยระบบรางแห่งใหม่และใหญ่ที่สุดของประเทศและภูมิภาคอาเซียน
เนื่องจากจะเป็นสถานีชุมทางของรถไฟทางไกลสายเหนือ สายตะวันออก และสายใต้ ระบบรถไฟชานเมืองสายสีแดง แอร์พอร์ตลิงก์ และรถไฟความเร็วสูงที่จะพัฒนาในอนาคต
รูปแบบสถานีออกแบบเป็น 4 ชั้น มี 24 ชานชาลา เริ่มจาก “ชั้นใต้ดิน” เป็นพื้นที่สำหรับจอดรถประมาณ 1,700 คัน มีโถงเชื่อมต่อขึ้นไปยังชั้นจำหน่ายตั๋วโดยสาร และมีทางเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าใต้ดินสถานีบางซื่อ
“ชั้นพื้นดิน” หรือชั้น 1 เป็นพื้นที่โถงพักคอยและรับผู้โดยสาร มีพื้นที่ชั้นลอยสำหรับควบคุมระบบการเดินรถ และต้อนรับบุคคลสำคัญ มีพื้นที่จำหน่ายตั๋วโดยสาร พื้นที่พาณิชยกรรม ร้านค้า และเป็นจุดเชื่อมต่อไปยังสถานีบางซื่อของรถไฟฟ้าใต้ดิน รถ บขส.และ ขสมก.
“ชั้นที่ 2” เป็นชั้นชานชาลารถไฟสายสีแดง 4 ชานชาลา และรถไฟทางไกลทุกเส้นทาง 8 ชานชาลา และ “ชั้นที่ 3” เป็นชั้นชานชาลารถไฟความเร็วสูงทุกเส้นทาง 10 ชานชาลา และรถไฟแอร์พอร์ตลิงก์ 2 ชานชาลา
ใช้โมเดล ทอท.เป็นต้นแบบ
ด้านนายไพรินทร์ ชูโชติถาวร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ได้มอบให้ ร.ฟ.ท.ไปศึกษารูปแบบการจัดการบริหารพื้นที่สถานีกลางบางซื่อกับ ทอท. เนื่องจาก ทอท.มีประสบการณ์บริหารพื้นที่สนามบินสุวรรณภูมิมาแล้ว
ซึ่งสถานีกลางบางซื่อส่วนที่เป็นอาคารสถานีมีขนาดใหญ่มากพอ ๆ กับสนามบินสุวรรณภูมิ เพราะออกแบบเป็นอาคารสูง 3 ชั้นรวมใต้ดินเป็น 4 ชั้น ส่วนการดำเนินการยังไม่สรุปว่า ร.ฟ.ท.จะดำเนินการเองโดยจ้างเอกชนมาดำเนินการเป็นส่วน ๆ หรือให้บริษัทลูกที่ ร.ฟ.ท.จะจัดตั้งมาบริหารจัดการ อยู่ระหว่างทำรายละเอียด แต่คงไม่ให้ ร.ฟ.ท.ดำเนินการเองเหมือนที่ผ่านมา ที่มีการซอยสัญญายิบย่อย ทั้งนี้จะเร่งดำเนินการโดยเร็วเพื่อให้เปิดบริการพร้อมกับรถไฟฟ้าสายสีแดงในปี 2563
งานก่อสร้างคืบหน้า 60%
สำหรับความคืบหน้าของรถไฟฟ้าสายสีแดง แหล่งข่าวกล่าวว่า ขณะนี้ภาพรวมงานก่อสร้างทั้งโครงการคืบหน้าแล้วกว่า 60% แยกเป็นงานสัญญาที่ 1 งานสถานีกลางบางซื่อ และศูนย์ซ่อมบำรุง เริ่มงานก่อสร้างเมื่อวันที่ 10 ก.พ. 2556 มีกลุ่มกิจการร่วมค้า SU (บมจ.ซิโน-ไทยฯ และ บมจ.ยูนิคฯ) เป็นผู้ก่อสร้าง ล่าสุดมีผลงานเร็วกว่าแผน มีความคืบหน้าอยู่ที่ประมาณ 65% ตามแผนที่ปรับตามการขอขยายเวลาของผู้รับเหมาจะแล้วเสร็จในปี 2562
สัญญาที่ 2 งานโครงสร้างทางวิ่งยกระดับและระดับพื้น งานสถานี 8 แห่ง และถนนเลียบทางรถไฟและถนนทางข้ามไซต์ก่อสร้างของ บมจ.อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ หลังเริ่มงานตอกเข็มเมื่อวันที่ 10 ก.พ. 2556 ปัจจุบันคืบหน้า 94.65% ยังล่าช้าจากแผนเล็กน้อย ล่าสุดขอขยายเวลาก่อสร้างออกไปอีก 100 วัน จากสิ้นสุดวันที่ 10 ก.พ.ที่ผ่านมา เป็นเดือน พ.ค. 2561
และสัญญาที่ 3 งานระบบไฟฟ้า เครื่องกลและจัดหาตู้รถไฟฟ้า ได้กลุ่มมิตซูบิชิ-ฮิตาชิ-สุมิโตโมจากประเทศญี่ปุ่น เป็นผู้ดำเนินการ ซึ่งได้เริ่มงานเมื่อวันที่ 28 มิ.ย. 2559 ล่าสุดมีความคืบหน้า 24.39% ยังล่าช้าจากแผน 20% ตามแผนจะแล้วเสร็จในปี 2563
ขอบคุณภาพและข่าวจาก ประชาชาติธุรกิจ
https://www.prachachat.net/property/news-120604
พลัส พร็อพเพอร์ตี้ ขึ้นแท่นอันดับ 1 ด้านคุณภาพการบริหารจัดการระดับสากล กวาด ISO มากที่สุด ครบ 3 มาตรฐานครอบคลุมทุกมิติ เป็นเจ้าแรกในประเทศไทย
2022-07-14
นัมเบอร์วันเฮ้าส์ซิ่ง ดิเวลลอปเม้นท์ ส่งโครงการ THE ONE life bangna บุกเมกาบางนา บ้านเดี่ยวอารมณ์รีสอร์ตใช้ชีวิตใกล้ชิดธรรมชาติ ทำเลต้นบางนา
2022-07-14
Last Call Promotion!! กับแคมเปญ “ชีวาทัยเป็นได้มากกว่าเพื่อน” หมดเขต 31 ก.ค.นี้เท่านั้น
2022-07-14
ASW เสริมกลยุทธ์ Lifestyle Community จัด Monstr Concert Festival Series#1 ตอบรับไลฟ์สไตล์ลูกบ้านโครงการคอนโดฯ เคฟทาวน์ สเปซ
2022-07-14
เตือนภัยขอสินเชื่อบ้าน-ที่ดินระวังโดนโกง
2022-07-11
บทความมีประโยชน์มากค่ะ
รอติดตามเธออยู่นะจ๊ะ
ขอบคุณบทความดี รีวิวอ่านง่าย
เขียนบทความตามกระแส ทันเหตุการณ์ดีค่ะ
เข้าใจลึกซึ่งเลยครับ 555555
ขอบคุณมากค่ะ ที่เขียนบทความดีๆนี้ให้อ่านน่ะคะ