News
icon share

รอคลังทุบโต๊ะ TOR ไฮสปีดระยอง ถกไม่จบงบหนุนเอกชน 1.2 แสนล้าน

LivingInsider Report 2018-02-22 14:56:41
รอคลังทุบโต๊ะ TOR ไฮสปีดระยอง ถกไม่จบงบหนุนเอกชน 1.2 แสนล้าน

รอคลังทุบโต๊ะ TOR ไฮสปีดระยอง ถกไม่จบงบหนุนเอกชน 1.2 แสนล้าน

 

ทีโออาร์ไฮสปีดเชื่อม 3 สนามบิน 2 แสนล้าน ยังฝุ่นตลบ รัฐร่อนตะแกรงจ่ายเงินอุดหนุนเอกชน 1.2 แสนล้าน เริ่มจ่ายปีที่ 1 หรือหลังงานก่อสร้างเสร็จ หวั่นกระทบต้นทุนโครงการในระยะยาว รถไฟแจงเอกชนได้สิทธิ์พื้นที่ทุกสถานี ยกเว้นสถานีกลางบางซื่อ และอู่ตะเภา ได้แค่พื้นที่ขายตั๋ว จอดรับส่งผู้โดยสาร จ่อให้สิทธิ์เอกชนมืออาชีพบริหาร เปิดสัมปทานรอบใหม่พร้อมพื้นที่สนามบิน

 

นายอานนท์ เหลืองบริบูรณ์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงคมนาคม และรักษาการผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ขณะนี้การร่างทีโออาร์ประกาศเชิญชวนเอกชนลงทุน PPP Net Cost ระยะเวลา 50 ปี โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา) ระยะทาง 226 กม.

 

เงินลงทุนกว่า 2.06 แสนล้านบาท ยังไม่ได้ข้อยุติ ต้องรอคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) พิจารณารายละเอียด โดยคณะอนุกรรมการอีอีซีจะประชุมวันที่ 26 ก.พ.นี้ หากได้ข้อยุติจะเสนอคณะกรรมการอีอีซีพิจารณาต่อไป

 

คลังทุบโต๊ะหนุนเอกชนแสน ล.

 

“ทุกฝ่ายพยายามเร่งรัดให้โครงการเปิดประมูลเดือน มี.ค.นี้ เพื่อเซ็นสัญญาก่อสร้างกับเอกชนทันสิ้นปีนี้ตามแผน แต่เนื่องจากเป็นโครงการใหญ่ เงินลงทุนสูง ต้องพิจารณาให้รอบคอบ เช่น ระยะเวลาที่รัฐต้องจ่ายเงินสนับสนุนให้เอกชนระยะเวลา 10 ปี จะเริ่มปีไหน เช่น ปีที่ 1 หรือปีที่ 6 เพราะมีผลต่อต้นทุนดอกเบี้ยที่เอกชนกู้เงินมาลงทุนให้ก่อน

 

หากจ่ายตั้งแต่ปีที่ 1 จะประหยัดดอกเบี้ย ถ้ารอ 5 ปีให้งานก่อสร้างเสร็จ ดอกเบี้ยจะมากขึ้น เพราะวงเงิน 1.2 แสนล้านบาท เป็นมูลค่าที่คิดในปัจจุบัน แต่อีก 10 ปีข้างหน้า ถ้ารวมดอกเบี้ยด้วยจะเป็นอีกวงเงิน ต้องรอกระทรวงการคลังชี้ขาด”

 

นายอานนท์กล่าวว่า หลักการใหญ่ ๆ ยังคงเดิม เช่น รัฐบาลจะสนับสนุนเงินลงทุนเอกชนไม่เกินวงเงินค่างานโยธา 1.2 แสนล้านบาท ให้สัมปทาน 50 ปี พร้อมสิทธิ์พัฒนาที่ดินมักกะสัน และศรีราชา รวมถึงให้สิทธิ์เดินรถและพัฒนาพื้นที่สถานีของแอร์พอร์ตลิงก์ ส่วนการพัฒนาพื้นที่ภายในสถานีของรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ใน 9 สถานี มี 2 สถานีที่เอกชนจะไม่ได้พื้นที่สถานีพัฒนาเชิงพาณิชย์

 

แยกสัมปทานบางซื่อ-อู่ตะเภา

 

ได้แก่ สถานีกลางบางซื่อกับสถานีอู่ตะเภา โดยสถานีกลางบางซื่อมีพื้นที่ 3 แสน ตร.ม. เอกชนจะได้สิทธิ์ใช้พื้นที่เฉพาะขายตั๋วและจอดรับส่งผู้โดยสาร เนื่องจาก ร.ฟ.ท.จะเปิดประมูลให้เอกชนมาบริหารพื้นที่เหมือนกับสนามบินสุวรรณภูมิ เช่น ร้านค้า ส่วนสถานีอู่ตะเภาเป็นพื้นที่กองทัพเรือที่ให้พื้นที่ ร.ฟ.ท.ใช้สร้างสถานี และใช้พื้นที่ขายตั๋ว อยู่ใต้อาคารผู้โดยสารหลังที่ 3

 

รายงานข่าวกล่าวเพิ่มเติมว่า สถานีอู่ตะเภาตามวัตถุประสงค์ของคณะกรรมการอีอีซี จะพัฒนาเป็นท่าอากาศยานนานาชาติหลักแห่งที่ 3 เป็นเขตส่งเสริมเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก รองรับการขยายตัวของอีอีซี และเชื่อมโยงการขนส่งผู้โดยสารกับสนามบินดอนเมือง และสนามบินสุวรรณภูมิ รวมทั้งเป็นศูนย์กลางการบินสำคัญในภูมิภาค รองรับผู้โดยสารได้ 60 ล้านคนต่อปี

 

ตามแผนแม่บทมีพื้นที่ 6,500 ไร่ มูลค่าโครงการ 2 แสนล้านบาท องค์ประกอบการพัฒนา แยกเป็น 1.อาคารผู้โดยสารหลังที่ 3 และสถานีรถไฟความเร็วสูง 1,400 ไร่ 2.พื้นที่เชิงพาณิชย์ 675 ไร่ 3.เขตปลอดอากร 950 ไร่ 4.อาคารสินค้าระยะที่ 2 พื้นที่ 450 ไร่ 5.ศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยานระยะที่ 2 พื้นที่ 570 ไร่ 6.ศูนย์ฝึกอบรมบุคลากรด้านการบินและอวกาศระยะที่ 2 พื้นที่ 200 ไร่

 

“การพัฒนาพื้นที่สถานีรถไฟความเร็วสูงที่อู่ตะเภา จะนำไปรวมกับสัมปทานที่จะเปิดให้เอกชนมาบริหารพื้นที่สนามบิน ยังไม่รู้ว่ากองทัพเรือไทย หรืออีอีซีดำเนินการ”

 

เปิดจุดเวนคืนสร้างสถานีแปดริ้ว

 

สำหรับตำแหน่งสถานีจะสร้างอยู่บนเขตทางรถไฟเดิม 8 สถานี และสร้างบนที่ใหม่มีเพียง 1 สถานี คือ สถานีฉะเชิงเทรา โดยจะเวนคืนที่ดิน 84 ไร่ ทางทิศเหนือห่างจากสถานีรถไฟชุมทางฉะเชิงเทรา 1.5 กม. ติดกับถนน 304 เนื่องจากพื้นที่สถานีฉะเชิงเทราเดิมมีขนาดเล็ก หากเปิดพื้นที่ใหม่จะทำให้การพัฒนาพื้นที่โดยรอบสถานีทำได้ง่าย ซึ่งปัจจุบันที่ดินโดยรอบสถานีแห่งใหม่เป็นพื้นที่โล่งสามารถมาพัฒนาได้

 

“ส่วนเอกชนที่จะมาลงทุนสามารถปรับตำแหน่งได้ หากเห็นว่าพื้นที่สถานีที่กำหนดให้มีขนาดไม่ใหญ่พอ อยากจะสร้างเพิ่มหรือมีที่ดินอยู่แล้วอยากจะให้สถานีเข้าไปในพื้นที่ก็ทำได้ แต่ต้องจ่ายค่าเวนคืนเอง”

 

 

ขอบคุณภาพและข่าวจาก ประชาชาติธุรกิจ

 

https://www.prachachat.net/property/news-120678

 

 

>> ช่องทางในการติดตามข่าวสาร <<
ไม่พลาดข่าวสำคัญ แค่กดเป็นเพื่อนกับ ไลน์ @livinginsider ที่นี่

บทความอื่นๆ

livinginsider livinginsider