News
icon share

ล็อกซเล่ย์สนลงทุนPPPโปรเจ็กต์รัฐส่ง สมาร์ทบัส เจาะสมาร์ทซิตี้-เมืองหลัก

LivingInsider Report 2018-02-23 11:06:16
ล็อกซเล่ย์สนลงทุนPPPโปรเจ็กต์รัฐส่ง สมาร์ทบัส เจาะสมาร์ทซิตี้-เมืองหลัก

ล็อกซเล่ย์สนลงทุนPPPโปรเจ็กต์รัฐส่ง”สมาร์ทบัส”เจาะสมาร์ทซิตี้-เมืองหลัก

 

ล็อกซเล่ย์พร้อมลุยทั้ง “PPP บ้านประชารัฐ-งานทางหลวงพิเศษ-สนามบิน” ชูสมาร์ทบัสเจาะสมาร์ทซิตี้ เร่งจัดทัพใหม่รุก “เซอร์วิส-ฟู้ดส์” รับอานิสงส์ EEC-ร้านอาหารญี่ปุ่นบูม ปักธง 5 ปี รายได้ธุรกิจใหม่แซงหน้างานโครงการรัฐ

 

นายสุรช ล่ำซำ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ล็อกซเล่ย์ เปิดเผยว่า บริษัทยังให้ความสำคัญกับการเข้าร่วมโครงการภาครัฐ ซึ่งปัจจุบันเป็นรายได้ราว 70% แต่จะเน้นเฉพาะโครงการที่ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมระดับสูง ไม่เข้าโครงการที่ต้องตัดราคาแข่งขัน

 

โดยปีนี้มีหลายโครงการที่สนใจและกำลังศึกษารูปแบบการเข้าร่วมโครงการ ได้แก่ โครงการคนไทยบ้านประชารัฐในที่ราชพัสดุ ซึ่งใช้รูปแบบรัฐร่วมลงทุนกับเอกชน (PPP) โครงการทางพิเศษของกรมทางหลวงและการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) ระบบรักษาความปลอดภัยอัจฉริยะในสนามบิน ซึ่งเดิมล็อกซเล่ย์เข้าไปได้ 8 สนามบิน

 

“เดิมล็อกซเล่ย์รับงานสร้างบ้านเอื้ออาทรของการเคหะฯ ต่อเนื่องอยู่แล้ว จึงสนใจขยับรูปแบบมาลงทุน PPP ในส่วนโครงการทางหลวงพิเศษ เดิมเป็นซับคอนแทร็กต์ของ ช.การช่าง ก็ขยับหาโมเดลรับงานตรงเพิ่มขึ้น”

 

ปัจจุบันบริษัทมีโครงการรอรับรู้รายได้ 10,660 ล้านบาท จะรับรู้รายได้ปีนี้ 7,000 ล้านบาท และยังมีลุ้นโครงการที่มีศักยภาพสูง (high potential) 12,000 ล้านบาท และ potential อีก 8,600 ล้านบาท แต่เพื่อสร้างความมั่นคงทางรายได้ บริษัทได้ปรับโครงสร้างธุรกิจใหม่ และวางเป้าลดรายได้โครงการรัฐเหลือ 40% ใน 3-5 ปี เร่งเพิ่มรายได้ธุรกิจเซอร์วิส

 

อาทิ ระบบรักษาความปลอดภัย การจัดการในอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งปัจจุบันมีรายได้ 12% ของรายได้รวม คือราว 1,600 ล้านบาท แต่ที่ผ่านมาเติบโตสูง 25-30% กับธุรกิจอาหารและการจัดจำหน่าย เดิมมีรายได้ 23% หรือ 3,200 ล้านบาท เติบโตปีละ 15-20%

 

“โครงการภาครัฐมีความไม่แน่นอนสูง ขณะที่ธุรกิจเซอร์วิสกำลังเติบโตเพราะบริษัทส่วนใหญ่ตัดงานส่วนนี้เป็นเอาต์ซอร์ซ ยิ่งมี EEC ความต้องการยิ่งเพิ่ม ส่วนธุรกิจอาหารมองว่า อย่างไรคนก็ต้องกินต้องใช้ จะรุกอาหารสดมากขึ้น เพราะได้สิทธิ์นำเข้าวัสดุดิบพรีเมี่ยมมาหลายตัวที่เป็นผู้นำเข้าเพียงรายเดียว กำหนดราคาทิศทางตลาดได้ ซึ่งมีกลุ่มร้านอาหารญี่ปุ่นเพิ่มในไทยเยอะมาก รวมถึงโรงแรมต่าง ๆ”

 

ขณะเดียวกันเตรียมรุกตลาดสมาร์ทบัส หลังจากได้เข้าร่วมทุนกับ EYD บริษัทผลิตรถไฟฟ้ารายใหญ่ของจีน ซึ่งได้ทำสัญญาซื้อขายกับบริษัทลูกของ “ภูเก็ตพัฒนาเมือง” แล้ว กำลังจะเข้าไปเจรจากับจังหวัดอื่น ๆ ในโครงการสมาร์ทซิตี้ด้วย

 

สำหรับปรับโครงสร้างธุรกิจใหม่แบ่งเป็น 5 กลุ่ม 1.Network Solutions กลุ่มงานโครงการขนาดใหญ่ ปัจจุบันสัดส่วนรายได้ 26% หรือ 4,000 ล้านบาท 2.Information Technology รายได้ 21% หรือ 3,000-3,200 ล้านบาท 3.Energy รายได้ 11% หรือ 1,200-1,500 ล้านบาท ทั้ง 3 กลุ่มโตเฉลี่ยปีละ 12-15% ขณะที่ Food Service & Distribution กับ Services เป็นกลุ่มที่มีรายได้เติบโตสูง

 

“การแบ่งเป็น 5 กลุ่มธุรกิจจะทำให้โฟกัสทิศทางได้ชัดเจนขึ้น ต่อไปการเปิดบริษัทย่อยหรือร่วมทุนกับพาร์ตเนอร์ ถ้าไม่สอดคล้องกับ 5 กลุ่มนี้จะไม่เปิดใหม่ และ 28 บริษัทย่อยเดิมที่ไม่โฟกัสตรงกลุ่มก็จะทยอยปิด”

 

 

ขอบคุณภาพและข่าวจาก ประชาชาติธุรกิจ

 

https://www.prachachat.net/property/news-121160

 

 

>> ช่องทางในการติดตามข่าวสาร <<
ไม่พลาดข่าวสำคัญ แค่กดเป็นเพื่อนกับ ไลน์ @livinginsider ที่นี่

บทความอื่นๆ

livinginsider livinginsider