News
icon share

ค่าแรงขั้นต่ำทุบต้นทุนอสังหา-วัสดุ รับเหมาคอนโด-รับสร้างบ้าน-สี ขึ้นแล้ว2-5 เปอร์เซนต์

LivingInsider Report 2018-03-29 14:54:14
ค่าแรงขั้นต่ำทุบต้นทุนอสังหา-วัสดุ รับเหมาคอนโด-รับสร้างบ้าน-สี ขึ้นแล้ว2-5 เปอร์เซนต์

ค่าแรงขั้นต่ำทุบต้นทุนอสังหา-วัสดุ “รับเหมาคอนโด-รับสร้างบ้าน-สี”ขึ้นแล้ว2-5%

 

ดีเดย์ 1 เมษายน 2561 บังคับใช้ค่าแรงใหม่เฉลี่ย 315 บาท/วันทั่วประเทศ รับเหมาคอนโดฯ เผยสัญญาก่อสร้างโครงการใหม่ขอบวกเพิ่ม 2-3% ตามต้นทุนแรงงานก่อสร้างที่ปรับเพิ่มขึ้น อสังหาฯประสานเสียงตรึงราคาบ้าน-ปรับตัวใช้ระบบสำเร็จรูปพรีแคสต์ รับสร้างบ้านอั้นไม่อยู่ปรับขึ้น 3-5% TOA ทยอยเพิ่มค่าสีทาอาคารทุกเกรด 5% ตั้งแต่ต้นปี

 

นับถอยหลังนโยบายปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำที่มีผลบังคับใช้วันที่ 1 เมษายน 2561 มีผลให้เขตกรุงเทพมหานครเดิมค่าแรงขั้นต่ำวันละ 300 บาท เพิ่มเป็นวันละ 325 บาท ในขณะที่ค่าแรงขั้นต่ำเฉลี่ยทั่วประเทศปรับเพิ่มเป็นวันละ 315 บาท จากการสำรวจความเคลื่อนไหวภาคธุรกิจอสังหาริมทรัพย์และธุรกิจเกี่ยวเนื่องพบว่ามีผลกระทบต่อต้นทุนเพิ่มขึ้นแม้จะไม่มากนัก การปรับตัวรองรับจึงมีทั้งตรึงราคาและปรับราคาสินค้าเพื่อสะท้อนต้นทุนที่แท้จริง

 

รับเหมาคอนโดฯขอเพิ่ม 2-3%

 

นายวิโรจน์ เจริญตรา กรรมการผู้จัดการ บริษัท พรีบิลท์ จำกัด (มหาชน) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ค่าแรงขั้นต่ำที่บังคับใช้ 1 เมษายน 2561 เนื่องจากเป็นที่รับรู้มาตั้งแต่ต้นปี ดังนั้นการปรับตัวจึงมีให้เห็นตั้งแต่ต้นปีเช่นกัน โดยธุรกิจรับเหมาก่อสร้างซึ่งบริษัทรับงานในพื้นที่กรุงเทพฯเป็นหลัก

 

มีต้นทุนเพิ่มเป็นวันละ 325 บาท ในภาพรวมเท่ากับต้นทุนเพิ่ม 2-3% แนวทางรับมือจึงขอบวกเพิ่มตามต้นทุนแท้จริงกรณีทำสัญญาก่อสร้างโครงการใหม่ ส่วนสัญญาที่ทำก่อนหน้านี้และมีกำหนดสร้างเสร็จในปีนี้ไม่ได้มีการปรับราคาแต่อย่างใด

ค่าแรงขั้นต่ำทุบต้นทุนอสังหา-วัสดุ รับเหมาคอนโด-รับสร้างบ้าน-สี ขึ้นแล้ว2-5 เปอร์เซนต์

 

ปัจจุบันพรีบิลท์รับงานก่อสร้างเฉลี่ยปีละ 10 โครงการ มูลค่างานตกปีละ 4,000 ล้านบาท เฉลี่ยการใช้แรงงานก่อสร้างของไซต์ก่อสร้างคอนโดมิเนียม ถ้าเป็นคอนโดฯโลว์ไรส์ 200 ห้อง เฉลี่ยใช้ 100-200 คน ใช้เวลาสร้าง 1 ปี คอนโดฯไฮไรส์ขนาด 1,000 ห้อง ใช้คนงาน 1,000 คนบวกลบ ใช้เวลาสร้าง 2 ปี ค่าเฉลี่ยการใช้แรงงานเท่ากับ 1 ห้อง/1 คน

 

“ผลกระทบจริง ๆ ต้องบอกว่าค่าแรงขั้นต่ำประโยชน์ตกอยู่กับแรงงานต่างด้าว เพราะแรงงานไทยไม่ทำงานไร้ฝีมือ ปรับตัวเป็นแรงงานฝีมือซึ่งได้ค่าแรงวันละ 400-500 บาท เช่น ช่างปูกระเบื้อง ช่างไม้ ช่างทำบันได ฯลฯ ส่วนแรงงานต่างด้าวไร้ฝีมือตำแหน่งงานกรรมกร ลักษณะงานเป็นงานโครงสร้าง เช่น ผูกเหล็ก ขุดดิน ฯลฯ จึงได้ค่าแรงตามแรงงานขั้นต่ำ”

 

บ้านหรูจ้างแพงเกิน 400 บาท

 

นายเลิศมงคล วราเวณุชย์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท เดวา เรียลเอสเตท จำกัด เจ้าของโครงการบ้านเดี่ยวลักเซอรี่ทำเลเอกมัย-รามอินทรา ภายใต้แบรนด์ D8 กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า บริษัทไม่ได้รับผลกระทบจากการปรับค่าแรงขั้นต่ำในครั้งนี้ เนื่องจากการใช้แรงงานก่อสร้างมีต้นทุนค่าแรงสูงกว่าวันละ 325 บาทอยู่แล้ว

 

รายละเอียดโครงการ D8 ออกแบบเป็นบ้านเดี่ยว 5 ชั้น จำนวน 6 ยูนิต ที่ดิน 64-68 ตารางวา พื้นที่ใช้สอย 700 ตารางเมตร ฟังก์ชั่น 4 ห้องนอน 9 ห้องน้ำ 6-9 ที่จอดรถ 1 ห้องแม่บ้าน พร้อมลิฟต์-สระว่ายน้ำ ราคาเริ่มต้น 39.9 ล้านบาท มูลค่าโครงการ 240 ล้านบาท วางแผนเริ่มก่อสร้างเดือนเมษายน 2561 คาดว่าแล้วเสร็จภายในต้นปี 2562

 

“เนื่องจาก D8 เป็นโครงการระดับลักเซอรี่ ตอนทำบิสสิเนสโมเดลเราสอบถามผู้รับเหมาว่า รัฐบาลปรับค่าแรงขั้นต่ำต้นทุนเพิ่มไหม คำตอบคือค่าแรงที่จ่ายทุกวันนี้เกินค่าแรงขั้นต่ำไปมาก ส่วนใหญ่จ้างช่างวันละ 400-450 บาท ประกอบกับบริษัทจ้างเอาต์ซอร์ซผู้รับเหมาซึ่งคิดต้นทุนแบบเหมาจ่ายค่าแรง ทำให้เฉลี่ยต่อวันเกินค่าแรงขั้นต่ำ จึงมองว่าไม่มีผลต่อต้นทุนพัฒนาโครงการบ้านระดับลักเซอรี่”

ค่าแรงขั้นต่ำทุบต้นทุนอสังหา-วัสดุ รับเหมาคอนโด-รับสร้างบ้าน-สี ขึ้นแล้ว2-5 เปอร์เซนต์

 

รอเช็กต้นทุนก่อนปรับราคา

 

นายภาคย์ธนา ปรีดาวิภาต กรรมการผู้จัดการ บริษัท ภาพัฒน์ พรอพเพอร์ตี้ จำกัด เจ้าของทาวน์โฮมชิเซน พัฒนาการ 32 กล่าวว่า ผลกระทบขึ้นค่าแรงขั้นต่ำประเมินทำให้ต้นทุนแรงงานก่อสร้างเพิ่ม 5% อย่างไรก็ตาม บริษัทมีนโยบายตรึงราคาบ้านจนถึงไตรมาส 3/61 จากนั้นจึงประเมินต้นทุนพัฒนาโครงการอีกครั้ง

 

นางสาวอนงค์ลักษณ์ แพทยานันท์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท เจ้าพระยามหานคร จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า เนื่องจากพอร์ตพัฒนาโครงการส่วนใหญ่เป็นคอนโดฯ ซึ่งมีการล็อกสัญญากับผู้รับเหมาไว้หมดแล้ว ทั้งนี้ ค่าแรงขั้นต่ำในระดับสูงมีผลต่อต้นทุนพัฒนาโครงการโดยตรงอยู่แล้ว การปรับตัวบริษัทหันไปเน้นก่อสร้างพรีแคสต์หรือระบบก่อสร้างสำเร็จรูปมากขึ้น รวมทั้งซื้อวัสดุบิ๊กลอตเพื่อให้มีต้นทุนต่ำลง

 

ดร.เกษรา ธัญลักษณ์ภาคย์ กรรมการบริหาร บริษัท เสนา ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า บริษัทได้รับผลกระทบในแง่ผู้รับเหมา เนื่องจากมีผู้รับเหมาจำนวนมาก และอาจต้องปรับค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น เช่น OT หรือค่าล่วงเวลา ส่วนการปรับราคาบ้านอาจต้องดูต้นทุนโดยรวมว่าเพิ่มขึ้นมากน้อยแค่ไหน

 

และ ดร.สืบวงษ์ สุขะมงคล ประธานกรรมการบริหาร บริษัท วิจิตรากรุ๊ป จำกัด กล่าวว่า บริษัทได้รับผลกระทบเล็กน้อย และปรับตัวใช้พรีแคสต์ในกลุ่มบ้านราคา 1-3 ล้านบาท และทาวน์เฮาส์ 5 แสนบาทขึ้นไป เพื่อลดจำนวนแรงงานและต้นทุนให้น้อยลง

 

รับสร้างบ้านสุดอั้นขึ้น 3-5%

 

นางสาวพรรัตน์ มณีรัตนะพร ผู้อำนวยการฝ่าย บริษัท แลนดี้โฮม จำกัด กล่าวว่า บริษัทรับสร้างบ้านโดยรวมมีแนวโน้มปรับขึ้นราคาสร้างบ้านมากกว่า 5% จากการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำและค่าวัสดุก่อสร้าง อย่างไรก็ตาม แลนดี้โฮมพยายามตรึงราคารับสร้างบ้าน ในกรณีต้นทุนเพิ่มขึ้นมาก มีนโยบายขึ้นราคาต่ำกว่าคู่แข่งหรือไม่เกิน 3% เพื่อช่วยบรรเทาภาระให้กับผู้บริโภค

 

ทั้งนี้ แลนดี้โฮมจัดโปรโมชั่นกระตุ้นการตัดสินใจสร้างบ้านบนที่ดินตัวเอง ซึ่งจะหมดอายุแคมเปญวันที่ 1 เมษายน 2561 อาทิ ส่วนลดสร้างบ้านสูงสุด 30% รับฟรีทองคำสูงสุด 2.50 บาท เสาเข็มเจาะ ฯลฯ

 

TOA ขึ้นค่าสี 5%

 

นายพงษ์เชิด จามีกรกุล กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ทีโอเอ เพ้นท์ ประเทศไทย จำกัด (มหาชน) หรือ TOA เปิดเผยว่า ปีนี้มีปัจจัยต้นทุนแพงขึ้นซึ่งมีผลกระทบต่อราคาขาย ล่าสุดเมื่อต้นปี 2561 ที่ผ่านมา ทีโอเอได้ทยอยปรับขึ้นราคาสินค้าเฉลี่ย 5% ในกลุ่มผลิตภัณฑ์สีทาอาคาร (decorative paint and coating products) ซึ่งเป็นพอร์ตรายได้หลัก ทั้งเกรดพรีเมี่ยม เกรดปานกลาง เกรดอีโคโนมี เพื่อชดเชยต้นทุนวัตถุดิบที่เพิ่มขึ้น มั่นใจว่าไม่ส่งผลกระทบกับยอดขาย เนื่องจากคู่แข่งมีการปรับขึ้นราคาสินค้าเช่นกัน

 

“วัตถุดิบหลักในการผลิตสีทาอาคารคือไทเทเนียมไดออกไซด์มีการทยอยปรับขึ้น 4-10% ตั้งแต่ปลายปีที่แล้ว สำหรับปีนี้ทีโอเอเจรจาล็อกราคาล่วงหน้า 1 ปี หรือมีต้นทุนเดิมตลอดปี 2561 ปริมาณ 50% ของความต้องการใช้ในปีนี้ ส่งผลดีต่อการควบคุมต้นทุนการผลิตสินค้า” นายพงษ์เชิดกล่าว

 

 

ขอบคุณภาพและข่าวจาก ประชาชาติธุรกิจ

 

https://www.prachachat.net/property/news-136870

 

 

 

>> ช่องทางในการติดตามข่าวสาร <<
ไม่พลาดข่าวสำคัญ แค่กดเป็นเพื่อนกับ ไลน์ @livinginsider ที่นี่

บทความอื่นๆ

livinginsider livinginsider