News
icon share

ญี่ปุ่นผลิตรถช้า สายสีแดง เลื่อน 1 ปี อสังหาไม่สนไทม์ไลน์แห่ลงทุน ปตท. แจมทุ่งสองห้อง

LivingInsider Report 2018-04-04 13:26:53
ญี่ปุ่นผลิตรถช้า สายสีแดง เลื่อน 1 ปี อสังหาไม่สนไทม์ไลน์แห่ลงทุน ปตท. แจมทุ่งสองห้อง

ญี่ปุ่นผลิตรถช้า “สายสีแดง”เลื่อน 1 ปี อสังหาไม่สนไทม์ไลน์แห่ลงทุน “ปตท.”แจมทุ่งสองห้อง

 

ร.ฟ.ท.มึนญี่ปุ่นยังไม่เปิดไลน์ผลิตรถไฟฟ้า ส่งมอบไม่ทันปี”63 กระทบชิ่งไทม์ไลน์เปิดหวูด รถไฟฟ้าสายสีแดง “ตลิ่งชัน-บางซื่อ-รังสิต” เลื่อนออกไปอีก 6-12 เดือน เป็นปี”64 หลังสร้างมาราธอนกว่า 5 ปี มีผลงานคืบหน้า 60% แลนด์ลอร์ดแห่ประกาศขายที่ ปล่อยเช่ายาว ตั้งราคาวาละ 2.5-4 แสนบาท

 

“ปตท.” ลุยอสังหาฯ ซุ่มตุนที่ติดสถานีทุ่งสองห้อง ทุ่มสร้างสกายวอล์ก-ทางลอดเชื่อมโครงการ “เจริญ-ซี.พี.”ยึดนอร์ธปาร์ค “จีแลนด์” ปักหมุดดอนเมืองเปิดขายโซนใหม่ “แกรนด์ คาแนล” ส่วนแลนด์แบงก์ 36 ไร่แยกหลักสี่รอจังหวะลงทุน

 

แหล่งข่าวจากการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า มีแนวโน้มที่โครงการของรถไฟชานเมืองสายสีแดงช่วงบางซื่อ-รังสิต ระยะทาง 26 กม. จะสร้างเสร็จและเปิดให้บริการไม่ทันตามกำหนดในเดือน มิ.ย. 2563 คาดว่าจะล่าช้าออกไปอย่างน้อย 6-12 เดือน หรือเปิดบริการภายในปี 2564

 

ซัพพลายเออร์ผลิตรถให้ไม่ทันเนื่องจากงานติดตั้งระบบอาณัติสัญญาณและจัดหาขบวนรถไฟฟ้ายังล่าช้าจากแผนอยู่มาก สาเหตุส่วนหนึ่งมาจากที่มีการเปลี่ยนระบบอาณัติสัญญาณ จากเดิมระบบ ATO จะรองรับเฉพาะรถไฟฟ้าของญี่ปุ่น เป็นระบบ ETCS จะเปิดกว้างมากขึ้น ทำให้บริษัทซัพพลายเออร์จะต้องออกแบบรถใหม่ กระทบต่อการเปิดไลน์ผลิต

 

อีกทั้งยังมีเรื่องการจ่ายกระแสไฟฟ้าจากการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) ที่เพิ่งจะเริ่มสร้างสถานีจ่ายกระแสไฟฟ้า จะใช้เวลาก่อสร้างกว่า 2 ปี จึงจะสามารถจ่ายกระแสไฟฟ้าให้กับโครงการได้ ทำให้การทดสอบระบบรถไฟฟ้าล่าช้าตามไปด้วย

 

“จากกความล่าช้าของโครงการ เมื่อเร็ว ๆ นี้ทางองค์การเพื่อความร่วมมือแห่งประเทศญี่ปุ่นหรือไจก้า ได้ประชุมร่วมกับรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม (ไพรินทร์ ชูโชติถาวร) ซึ่งทางไจก้ามองว่าสาเหตุที่ทำให้โครงการล่าช้ามี 3 ประเด็น คือ การส่งมอบพื้นที่ งานโยธา และสถานีจ่ายไฟฟ้าที่ไม่ใช่เฉพาะงานระบบอย่างเดียว”

 

ผลงาน 5 ปีคืบหน้า 60%

 

แหล่งข่าวกล่าวว่า ปัจจุบันงานก่อสร้างในภาพรวมมีความคืบหน้าประมาณ 60% นับจากเริ่มงานก่อสร้างเมื่อเดือน ก.พ. 2556 ที่ผ่านมา โดยงานสัญญาที่ 1 งานสถานีกลางบางซื่อ และศูนย์ซ่อมบำรุง เริ่มงานก่อสร้างเมื่อวันที่ 10 ก.พ. 2556 มีกลุ่มกิจการร่วมค้า SU (บมจ.ซิโน-ไทยฯ และ บมจ.ยูนิคฯ) เป็นผู้ก่อสร้าง มีผลงานกว่า 65% ล่าช้าจากแผนงานอยู่ประมาณ 1% ตามสัญญาจะแล้วเสร็จในเดือน พ.ย. 2562

 

สัญญาที่ 2 งานโครงสร้างทางวิ่งยกระดับและระดับพื้น งานสถานี 8 แห่ง และถนนเลียบทางรถไฟและถนนทางข้ามไซต์ก่อสร้างของ บมจ.อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ หลังเริ่มงานตอกเข็มเมื่อวันที่ 10 ก.พ. 2556 ปัจจุบันคืบหน้ากว่า 98% ยังล่าช้าจากแผนเล็กน้อย ตามสัญญาที่ขอขยายใหม่จะแล้วเสร็จในเดือน พ.ค. 2561

 

และสัญญาที่ 3 งานระบบไฟฟ้า เครื่องกลและจัดหาตู้รถไฟฟ้าซึ่งมีกลุ่มมิตซูบิชิ-ฮิตาชิ-สุมิโตโม จากประเทศญี่ปุ่นเป็นผู้ดำเนินการ โดยได้เริ่มงานเมื่อวันที่ 28 มิ.ย. 2559 ล่าสุดมีความคืบหน้า 25% ยังล่าช้าจากแผน 20% ตามสัญญาจะแล้วเสร็จในเดือน มิ.ย. 2563

 

บริษัทลูกรถไฟเดินรถเอง

 

นายวรวุฒิ มาลา รองผู้ว่าการ ร.ฟ.ท.กลุ่มธุรกิจการบริหารทรัพย์สิน กล่าวว่า ด้านการเดินรถไฟฟ้าสายสีแดงทั้งช่วงบางซื่อ-ตลิ่งชัน และช่วงบางซื่อ-รังสิต ทางคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) หรือซุปเปอร์บอร์ดรับหลักการที่ ร.ฟ.ท.เสนอจะตั้งบริษัทลูกขึ้นมาบริหารโครงการเหมือนรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตเรลลิงก์ ทำหน้าที่ทั้งเดินรถและบริหารพื้นที่ภายในสถานีรูปแบบเชิงพาณิชย์

 

ขณะนี้อยู่ระหว่างจัดทำรายละเอียดรูปแบบบริษัทที่จัดตั้งเสนอให้คณะกรรมการ (บอร์ด) การรถไฟฯพิจารณาเพื่อเสนอให้กระทรวงคมนาคมและคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาอนุมัติต่อไป คาดว่าภายในสิ้นปีนี้จะจัดตั้งบริษัทได้ และปีหน้าเปิดเทรนนิ่งคน

 

ที่ดินรอพัฒนาติดโลคอลโรดเพียบ

 

ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” ได้ลงพื้นที่สำรวจแนวรถไฟฟ้าสายสีแดงช่วงสถานีวัดเสมียนนารี-ดอนเมือง พบว่ายังมีที่ดินว่างเปล่าติดแนวโครงการรถไฟฟ้าอยู่หลายแปลง เช่น ช่วงระหว่างสถานีวัดเสมียนนารีกับสถานีบางเขน จะมีที่ดินเปล่า มีบางแปลงทำเป็นที่จอดรถทัวร์ และติดประกาศขายช่วงสะพานข้ามทางแยกเกษตรศาสตร์

 

ถัดจากนั้นก่อนถึงสถานีทุ่งสองห้อง จะมีที่ดินเปล่าขนาด 4 ไร่ ติดประกาศให้เช่า ซึ่งจากการสอบถามไปยังโบรกเกอร์ที่เป็นผู้ดำเนินการให้ ทางเจ้าของที่ดินปล่อยเช่า 30 ปี คิดค่าเปิดหน้าดิน 60 ล้านบาท คิดค่าเช่าปีละ 4.5 ล้านบาท แต่หากต้องการซื้อขายตารางวาละ 4 แสนบาท

 

ปตท.ปักหมุดติดสถานีทุ่งสองห้อง

 

เมื่อข้ามคลองบางเขนไปจะเป็นที่ดินของ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) อยู่ติดกับสถานีทุ่งสองห้องพอดี โดยมีแผนจะพัฒนาโครงการรูปแบบอื่นที่ไม่ใช่ปั๊มน้ำมัน ล่าสุดได้ขอสร้างทางเดินหรือสกายวอล์กเชื่อมกับสถานี และจะเจาะอุโมงค์ทางลอดจากโครงการลอดใต้ถนนโลคอลโรดไปเชื่อมถนนวิภาวดีรังสิต เหมือนกับทางเข้าสนามกอล์ฟนอร์ธปาร์ค

 

ขณะที่ภายในโครงการนอร์ธปาร์ค ทางบริษัททีซีซีแลนด์ ผู้พัฒนาธุรกิจอสังหาฯของนายเจริญ สิริวัฒนภักดี เตรียมนำที่ดินที่ยังเหลือประมาณ 200-300 ไร่ พัฒนาเป็นโครงการมิกซ์ยูสมีทั้งสำนักงานให้เช่าและคอมมิวนิตี้มอลล์ เพื่อรองรับรถไฟฟ้าสายสีแดง

 

นอกจากนี้ บมจ.ซี.พี.แลนด์ ในเครือเจริญโภคภัณฑ์ ลงทุนกว่า 1,200 ล้านบาท พัฒนาที่ดิน 4 ไร่เศษ เป็นโครงการ “ซี.พี.ทาวเวอร์ 4 นอร์ธปาร์ค” สูง 18 ชั้น และชั้นใต้ดิน มีพื้นที่ก่อสร้าง 46,638 ตร.ม. แบ่งเป็นพื้นที่เพื่อเช่า 27,000 ตร.ม. ราคาค่าเช่าเฉลี่ย 600 บาท/ตร.ม. จะแล้วเสร็จเดือน ต.ค. 2562

 

จีแลนด์รอปัดฝุ่นขึ้นคอนโดหลักสี่

 

ด้าน “สถานีหลักสี่” ช่วงบริเวณสะพานข้ามแยกจะมีที่ดินเปล่าอยู่ 1 แปลง คาดว่าจะเป็นของกลุ่มจีแลนด์ ก่อนหน้านี้ นายโยธิน บุญดีเจริญ ประธานกรรมการ บมจ.แกรนด์ คาแนล แลนด์ (จีแลนด์) เคยระบุว่า จะนำที่ดินแนวสายสีแดงมาพัฒนา 3 โครงการ มูลค่ารวม 1.8 หมื่นล้านบาท ได้แก่ คอนโดฯ “เบ็ลสกาย” ย่านหลักสี่ ใกล้โรงแรมมิราเคิล พื้นที่ 36 ไร่

 

สูง 16 ชั้น 17 อาคาร มูลค่ารวม 6,000 ล้านบาท, แกรนด์ คาแนล ดอนเมือง เฟส 2 พื้นที่กว่า 100 ไร่ พัฒนาบ้านเดี่ยวราคา 7-8 ล้านบาท มูลค่าโครงการ 2,000 ล้านบาท และคอนโดฯพื้นที่ 30 ไร่ เป็นอาคารสูง 16 ชั้น 6-7 อาคาร คิดเป็นมูลค่าประมาณ 1 หมื่นล้านบาท

 

ถัดมา “สถานีการเคหะ” จะมีที่ดินว่างเปล่าติดกับสถานีไปตลอดแนวจนถึงแฟลตการเคหะ ส่วน “สถานีดอนเมือง” ทางตลาดใหม่ดอนเมือง (เจ้เล้ง) กำลังมีการปรับปรุงตลาดใหม่ เมื่อเลยสถานีดอนเมืองไปจะมีโครงการ “แกรนด์ คาแนล” ของกลุ่มจีแลนด์ที่กำลังเปิดขายเฟสใหม่

 

 

ขอบคุณภาพและข่าวจากประชาชาติธุรกิจ

 

https://www.prachachat.net/property/news-139024

 

 

>> ช่องทางในการติดตามข่าวสาร <<
ไม่พลาดข่าวสำคัญ แค่กดเป็นเพื่อนกับ ไลน์ @livinginsider ที่นี่

บทความอื่นๆ

livinginsider livinginsider