รายการโปรด
กว่าจะกู้บ้านผ่านว่ายากแล้ว แต่การต้องดูแลรักษาบ้านให้อยู่กับเราไปนานๆ นั้นยากยิ่งกว่า ซึ่งถ้าเราซื้อในหมู่บ้านจัดสรร เรื่องการซ่อมแซมส่วนต่างๆ ของบ้าน ทางโครงการจะจัดการให้ในช่วงระยะเวลานึง (หลังจากที่บ้านโอนเป็นชื่อของเราเรียบร้อยนะ) หรือที่เรียกว่า “ประกันโครงสร้างบ้าน” ซึ่งเชื่อเถอะว่าเรื่องนี้รู้ไว้ก่อนไม่เสียหาย เพราะวันข้างหน้าอาจได้ใช้ก็เป็นได้ใครจะรู้ล่ะเนอะ
ประเด็นแรกที่ต้องเข้าใจก่อนคือ “การประกันโครงสร้างบ้าน” จะแบ่งออกเป็น 2 ประเภทหลักๆ
ประเภทแรก ประกัน 5 ปี เป็นส่วนของ โครงสร้างตัวบ้าน ไม่ว่าจะเป็น เสาเข็ม เสา ฐานราก คาน ผนังรับน้ำหนัก พื้นคอนกรีต โครงหลังคา ซึ่งพวกนี้เวลาเกิดปัญหาทีถือเป็นเรื่องใหญ่ เพราะแก้ยากแถมค่าใช้จ่ายก็ค่อนข้างสูง ทางโครงการเค้าเลยดูแลให้เราถึง 5 ปีเต็ม (แต่ถ้ามีปัญหาขึ้นมาจริงๆ ภายในไม่ถึง 5 ปี ก็น่าคิดแล้วนะเนี่ยว่าบ้านจะอยู่ไปตลอดรอดฝั่งรึเปล่า แหะๆ)
ประเภทสอง ประกัน 1 ปี อันนี้จะเป็นอุปกรณ์ส่วนประกอบของบ้าน เดี๋ยวจะแบ่งเป็นข้อๆ เพื่อให้เข้าใจง่ายมากขึ้น
รั้ว/กำแพง ราวระเบียง และประตูหน้าบ้าน ตัดเรื่องสีซีดและขึ้นสนิมไปได้เลย เรื่องนี้โครงการไม่รับผิดชอบให้นะ เพราะเป็นเรื่องที่เกิดเองตามธรรมชาติ โดยจะรับประกันในเรื่องของการชำรุด เช่น ล้อเลื่อนไม่ตรงร่อง ประตูปิดไม่ลงล็อก หรือรั้ว/กำแพง เกิดความเสียหาย เป็นต้น
มุงหลังคา/ฝ้าเพดาน เป็นเรื่องการรั่วซึมที่เกิดจากน้ำฝนตามกระเบื้องมุงหลังคา รวมไปถึงท่อน้ำดี-น้ำเสีย ที่มีการรั่ว ซึม หรือแตกตามฝ้าเพดาน
ผนัง เมื่อเกิดรอยแตกร้าว จะรับประกันในส่วนของงานก่อฉาบผิวผนังทั่วไป ซึ่งอันนี้ถือเป็นงานใหญ่อาจต้องแจ้งล่วงหน้าอย่างน้อย 1-3 เดือน และส่วนใหญ่จะซ่อมให้เพียง 1 ครั้ง ดังนั้นควรคำนวณเวลาในการแจ้งซ่อมให้ดี ก่อนหมดประกัน
ขอบคุณภาพ : stuff
พื้น/บันได ดูแลในส่วนที่มีการยืด-หดตัวของพื้นและบันได ในส่วนของการแตกยุบตัวไม่ได้อยู่ในการรับประกัน เพราะทางโครงการคาดว่าสาเหตุของปัญหานี้ อาจมาจากตัวเจ้าของบ้านเป็นคนทำเองก็ได้ ซึ่งเค้าจะทำการทาสีแต่งเติม พื้น/บันได ให้ใช้งานได้เท่านั้น
ประตูในบ้าน หน้าต่าง และอุปกรณ์ แน่นอนว่าต้องเสียหายเพราะตัวสินค้านั้นๆ เอง สำหรับประตูในบ้านและหน้าต่าง จะรับประกันในส่วนเกิดการรั่วซึม โดยจะทำการปิดรอยให้เรียบร้อย รวมถึงยืด-หดตัวของวงกบ ที่แก้ด้วยการทาสีเหมือนกับในส่วนของพื้น/บันได
ขอบคุณภาพ : propalliance
สุขภัณฑ์ อุปกรณ์ใช้งานในห้องน้ำทั้ง อ่างล้างหน้า ก๊อกน้ำ ฝักบัว สายชำระ ฉากกั้นอาบน้ำ (ถ้ามี) ซึ่งต้องเกิดปัญหาจากการติดตั้งหรือการชำรุดของสินค้า แต่ต้องดูรายละเอียดอีกที ว่าโครงการจะรับผิดชอบเฉพาะค่าแรง ไม่รวมอุปกรณ์ หรือรับผิดชอบทั้งคู่รึเปล่า
ระบบไฟฟ้า เฉพาะกรณีไฟฟ้ารั่ว ช็อต หรือลัดวงจร และ ระบบประปา ในกรณีท่อน้ำดี-น้ำเสีย ซึม รั่ว หรือแตกเท่านั้น ทั้งสองเรื่องนอกเหนือจากกรณีที่ว่าจะไม่อยู่ในการรับประกัน
เฟอร์นิเจอร์ เครื่องใช้ไฟฟ้า ข้อนี้การรับประกันจะเป็นส่วนเดียวกับเงื่อนไข ที่ระบุในเอกสารของสินค้าชนิดนั้นๆ 6 เดือน ถึงกี่ปีก็ว่ากันไป
ขอบคุณภาพ : ambientedge
การรับประกันโครงสร้างบ้าน ที่ว่ามาเป็นมาตรฐานตามที่กฎหมายกำหนด แต่ก็ไม่ได้ตายตัวเหมือนกันทุกโครงการ บางอย่างอาจเหมือนหรือแตกต่างไปบ้าง
แต่เคล็ดลับของเรื่องนี้คือ ให้ตรวจทุกอย่างภายในบ้าน และถ้าไม่เหลือบ่ากว่าแรง ควรแจ้งซ่อมแซมเพียงครั้งเดียว ในช่วงเวลาที่ใกล้หมดประกัน 1 ปี (แต่อย่าฉุกละหุกมากเกินไปนะ ล่วงหน้าสัก 1-2 เดือนกำลังดี) จะดีที่สุด เพราะถ้าอันนู้นพังแจ้งที อันนี้เจ๋งแจ้งที คงจะวุ่นวายและเสียเวลาน่าดู
ขอบคุณภาพ : albaninspect
ทั้งนี้ทั้งนั้น ทุกอย่างจะสลายหายไปกับตาถ้า… เจ้าของบ้านเป็นคนทำเอง!!! ไม่ว่าจะเป็นการต่อเติมบ้านเอง ติดตั้งอุปกรณ์เครื่องใช้โดยพลการ หรือแม้กระทั่งมาจากสัตว์อย่าง ปลวก มด แมลงสาบ จะไม่อยู่ในเงื่อนไขการรับประกันทั้งสิ้น… ยังไงก็ระมัดระวังกันด้วยนะ ไม่อยากให้เสียผลประโยชน์ไปฟรีๆ เพราะความประมาทของเราเอง
เหนือ Developer ก็มี Blogger นี่แหล่ะค่ะ ทำให้เราเข้าใจอะไรมากขึ้น ขอบคุณค่ะ
ชอบบทความดีไซด์มากเลยค่ะ ได้ไอเดียไปด้วย
เยี่ยมมากๆ ครับ น่าสนใจ FC เลยครับ
อ่านแล้ว เหมือนได้ได้ไปดูโครงการเลยค่ะ ละเอียดดีจริงๆ
มีประโยชน์มากๆค่ะ ขอบคุณสำหรับข้อมูลน่ะค่ะ