News
icon share

ซี.พี. ทุ่ม 1.4 แสนล้านสร้างเมือง ปั้น “มักกะสัน” โกลบอล เกตเวย์

LivingInsider Report 2019-06-03 10:19:08
ซี.พี. ทุ่ม 1.4 แสนล้านสร้างเมือง ปั้น “มักกะสัน” โกลบอล เกตเวย์

 

ถ้าไม่มีอะไรเข้าแทรก ในไม่ช้านี้ประเทศไทยจะได้บันทึกชื่อกลุ่ม ซี.พี. และพันธมิตรเป็นผู้ลงทุนรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา ระยะทาง 220 กม. มูลค่า 2.24 แสนล้านบาท เป็นสายที่ 2 ต่อจากรถไฟความเร็วสูงกรุงเทพฯ-โคราชหรือรถไฟไทย-จีน ที่รัฐลงทุนเอง 179,413 ล้านบาท

 

กล่าวถึงรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน นับเป็นรถไฟขบวนพิเศษที่รัฐบาล คสช.อยากจะให้เกิดโดยเร็ว หวังเป็นแม่เหล็กดูดนักลงทุนลงพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) สิ่งที่น่าจับตานอกจากเม็ดเงินลงทุนโครงการกว่า 2.24 แสนล้านแล้ว ยังมีเรื่องของการพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์ หรือ TOD ที่สถานีมักกะสันและศรีราชา ว่ากันว่าเป็นหัวใจที่จะทำให้โครงการมีกำไร

 

ที่น่าสนใจเพราะได้ทุนยักษ์ของเมืองไทยเป็นผู้พัฒนา จึงอยากจะเห็นโฉมหน้าโมเดลที่จะคลอดออกมา

 

ก่อนหน้านี้ “ศุภชัย เจียรวนนท์” ประธานคณะผู้บริหารเครือเจริญโภคภัณฑ์ (เครือ ซี.พี.) เปิดเผยกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า แผนพัฒนา TOD จะโฟกัสที่สถานีมักกะสัน 150 ไร่เป็นลำดับแรก เพราะอยู่ทำเลระหว่าง 3 สนามบิน และอยู่ในเงื่อนไขสัญญาที่จะได้รับการส่งมอบได้ก่อน ส่วนสถานีอื่นจะเป็นแผนระยะถัดไป

 

“สถานีมักกะสันพัฒนาเป็นมิกซ์ยูส ใช้เงินลงทุน 1.4 แสนล้าน มาจากเงินกู้และระดมทุนจากพันธมิตร เพราะแบ่งเป็นโซนนิ่ง มีพาร์ตเนอร์ลงทุนแต่ละโซน”

 

ส่วนแนวคิดการพัฒนาโครงการ มีบริษัท แมกโนเลียฯ มาช่วยด้านออกแบบมาสเตอร์แพลนให้ ตั้งเป้าให้มักกะสันเป็นทำเลที่สร้างประโยชน์สูงสุดให้กับโครงการและกรุงเทพฯ ใครมาถึงเมืองไทย จะต้องมาที่นี่ ส่วนหนึ่งอาจจะเป็นออฟฟิศ ส่วนหนึ่งจะเป็นตลาดของนักท่องเที่ยวเพราะเชื่อม 3 สนามบิน เช่น พื้นที่คอมเมอร์เชียล และจะเปลี่ยนภูมิทัศน์โดยรอบ

ซี.พี. ทุ่ม 1.4 แสนล้านสร้างเมือง ปั้น “มักกะสัน” โกลบอล เกตเวย์

 

ด้าน “คณิศ แสงสุพรรณ” เลขาธิการอีอีซี ย้ำภาพว่า การพัฒนาสถานีมักกะสันกลุ่ม ซี.พี.จะต้องจ่ายค่าเช่าให้กับการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) ประมาณ 50,000 ล้านบาทตลอดสัญญา 50 ปี เริ่มจ่ายทันทีหลังเซ็นสัญญา และต้องพัฒนาเชิงพาณิชย์ด้านบนสถานีและพื้นที่โดยรอบ จะลงทุนอีกประมาณ 50,000 ล้านบาท หรืออาจจะมากกว่านั้น ขึ้นอยู่กับรูปแบบการพัฒนา

 

“ซี.พี.ต้องลงทุนพัฒนาหลายอย่าง ซึ่งที่ดินมักกะสัน ปัจจุบันจะมีปัญหาการเข้า-ออก และสถานีไม่มีการใช้ประโยชน์ ก็เลยให้ ซี.พี.สร้างเทอร์มินอลใหม่ และสร้างทางเข้า-ออกเพิ่ม มีอุโมงค์ใต้ดินเชื่อมจากอาคารไปยังรถไฟฟ้าใต้ดินที่สถานีเพชรบุรี อาจจะมีรถไฟฟ้าระบบไลต์เรลเชื่อมภายในโครงการ”

 

รายงานข่าวแจ้งว่า ล่าสุด ขนาดพื้นที่สถานีมักกะสันที่จะส่งมอบให้ ซี.พี.พัฒนาเชิงพาณิชย์จาก 150 ไร่ เมื่อรังวัดจริงแล้วเหลือ 140 ไร่ ทำให้รัฐได้ค่าเช่าน้อยลงจากเดิมประเมินไว้ 50 ปี เป็นเงิน 54,000 ล้านบาท

 

สำหรับแนวคิดการพัฒนาเชิงพาณิชย์ที่สถานีมักกะสัน ทางอีอีซีกำหนดเป็นธีม “อีอีซี เกตเวย์” ส่วนธีมที่ ซี.พี.เสนอเป็น “โกลบอล เกตเวย์” เป็นการพัฒนาโครงการมิกซ์ยูสที่มีขนาดใหญ่ระดับโลก เนื่องจากเป็นโครงการที่เชื่อมกับ 3 สนามบิน ด้วยรถไฟความเร็วสูง

 

“เรากำหนดให้เอกชนปรับปรุงช่วงถนนอโศกมนตรี จากแยกพระราม 9 มุ่งหน้าแยกเพชรบุรี ซึ่งปัจจุบันไม่สามารถเลี้ยวขวาเข้าสถานีมักกะสันได้ จะให้สร้างเป็นแรมป์เชื่อมเข้ากับสถานีเพื่อเป็นการเข้าออก ส่วนที่เหลือ ซี.พี.จะปรับปรุงอะไรก็ได้ นอกจากนี้มีทางจักรยาน มีรถไฟฟ้าไลต์เรลระดับดินวิ่งบริการ ซึ่งการพัฒนาจะคล้ายกับสมาร์ทซิตี้”

 

รายงานข่าวกล่าวอีกว่า ซี.พี.กังวลการส่งมอบพื้นที่ จึงขอให้รัฐกำหนดไว้ในสัญญาให้ชัดเจน ซึ่งพื้นที่ส่งมอบมี 4 พื้นที่ 1.พื้นที่โล่งแนวเขตทางรถไฟ 2.พื้นที่เวนคืนใหม่ เช่น ฉะเชิงเทรา จะใช้เวลา 2 ปี 3.พื้นที่มีคนบุกรุก จะค่อนข้างยาก จะใช้เวลา 2 ปี และ 4.พื้นที่มีระบบสาธารณูปโภคอยู่ เช่น ไฟฟ้า ประปา แผนส่งมอบต้องให้เสร็จก่อนเซ็นสัญญาในเดือน มิ.ย.นี้

 

ขอบคุณข่าวจาก ประชาชาติธุรกิจ 

https://www.prachachat.net/property/news-332604

>> ช่องทางในการติดตามข่าวสาร <<
ไม่พลาดข่าวสำคัญ แค่กดเป็นเพื่อนกับ ไลน์ @livinginsider ที่นี่

บทความอื่นๆ

livinginsider livinginsider