News
icon share

ฝ่าแรงต้านวิกฤติโลก ปลดล็อกกู้ร่วม ต่อท่อหายใจอสังหาฯ

LivingInsider Report 2019-08-26 10:38:35
ฝ่าแรงต้านวิกฤติโลก ปลดล็อกกู้ร่วม ต่อท่อหายใจอสังหาฯ

 

อสังหาฯ ฝ่าแรงต้านวิกฤติโลก ปลดล็อก LTV กู้ร่วมไม่นับเป็นสัญญา-แบงก์ใหญ่ดาหน้าลดดอกเบี้ย ช่วยต่อท่อหายใจกำลังซื้อไหล 10-15% ดีเวลอปเปอร์รวมพลังจัดมหกรรมบ้านเทกระจาด

 

กรณีธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ผ่อนเกณฑ์ LTV ผู้กู้ร่วมไม่นับเป็นสัญญากู้ ประเมินว่าจะมีกำลังซื้อที่อยู่อาศัยระดับกลาง-ล่างหรือราคาตํ่ากว่า 3 ล้านบาทไหลเข้าสู่ตลาดไม่ตํ่ากว่า 10-15% สมทบกับสถาบันการเงินปรับลดอัตราดอกเบี้ย ยิ่งเพิ่มสีสันชีวิตชีวาให้ธุรกิจนี้มากขึ้น แต่จะให้พลิกฟื้นกลับมาเหมือนเดิมท่ามกลางวิกฤติเศรษฐกิจโลก คงเป็นไปได้ยาก 

 

กลับกันหากเป็นลักษณะการฝ่าแรงต้านขยับเป็นบวกได้เล็กน้อยก็ถือว่าดีมากแล้ว ซึ่งดีเวลอปเปอร์ต่างตระหนักรับมือ ไม่พัฒนาโครงการเพิ่ม เร่งระบายสต๊อก จัดแคมเปญรวมตัวในงานมหกรรมที่อยู่อาศัยทั้งบ้านมือหนึ่งและมือสอง

 

จากการให้สัมภาษณ์ของนายอธิป พีชานนท์ กรรมการ สภาหอการค้าแห่งประเทศไทยที่ระบุว่าการผ่อนเกณฑ์ LTV ของแบงก์ชาติสำหรับผู้กู้ร่วมไม่นับเป็นสัญญากู้ถือว่าช่วยตลาดอสังหาฯ ได้ดีขึ้น ซึ่งดีกว่าไม่ขยับอะไร ท่ามกลางปัจจัยอื่นกดดัน เช่น สงครามการค้า ค่าเงินหยวนอ่อนทำให้ลูกค้าจีนต้องซื้อคอนโดฯ ในไทยแพงขึ้น อีกทั้งความไม่ชัดเจนของมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล ฯลฯ

 

อย่างไรก็ตาม การปลดล็อกครั้งนี้มองว่าธุรกิจอสังหาฯยังไม่สามารถต้านทานกับวิกฤติเศรษฐกิจโลกไหว แต่มุมกลับยังช่วยให้กำลังซื้อบ้านกลุ่มตํ่ากว่า 5 ล้านบาทและตํ่ากว่า 3 ล้านบาท หรือระดับกลาง-ล่างหวนกลับมา 10% จากมาร์เก็ตแชร์ในตลาด 40% “ดีกว่าไม่ทำอะไรเหมือนคนถูกปล่อยให้ยืนอยู่กลางฝนแต่เมื่อมีเสื้อกันฝนมาสวมใส่ให้ แต่อาการป่วย เป็นหวัด ก็ยังมี”

ฝ่าแรงต้านวิกฤติโลก ปลดล็อกกู้ร่วม ต่อท่อหายใจอสังหาฯ

 

สอดคล้องกับนายไตรเตชะ ตั้งมติธรรม กรรมการผู้จัดการ บริษัท ศุภาลัย จำกัด (มหาชน) กล่าวถึงแนวโน้มตลาดอสังหาริม ทรัพย์ในช่วงครึ่งปีหลัง โดยเชื่อว่านอกจากปัจจัยบวก เรื่องรัฐบาลเตรียมประกาศนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจรอบใหม่ และเดินหน้าแผนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ อย่างต่อเนื่องแล้ว 

 

กรณีล่าสุดสถาบันการเงินหลายแห่งพร้อมใจกันลดอัตราดอกเบี้ยลง ตามมติของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) นั้นถือเป็นสัญญาณบวกสำหรับตลาดอสังหาฯ เพราะทุก ๆ การลดอัตราดอกเบี้ยลง 1% จะช่วยเพิ่มความสามารถของกำลังซื้อให้สูงขึ้นได้ประมาณ 7-8% 

 

ซึ่งนับเป็นการช่วยเหลือกลุ่มลูกค้าที่เดิมทีอาจกู้ไม่ผ่าน ให้กลับมาผ่านได้ หรือเอื้อสำหรับคนที่ต้องการบ้านหลังใหญ่ แต่เมื่อคำนวณความสามารถแล้ว กู้ได้เพียงหลังเล็กเท่านั้น ฉะนั้นมองว่าแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยที่ลดลง จะช่วยกระตุ้นให้ลูกค้าเข้ามาในตลาดมากขึ้น

 

ทั้งนี้ นายไตรเตชะ เห็นด้วยกรณีล่าสุด ธปท. ผ่อนคลายมาตรการ LTV ลง โดยปลดล็อกเงื่อนไขไม่นับผู้กู้ร่วมที่ไม่ใช่เจ้าของกรรมสิทธิ์ เป็นสัญญาที่ 1 หรือ ผู้ถือกรรมสิทธิ์ ตามหลักเกณฑ์เดิมเพราะที่ผ่านมาประเด็นดังกล่าว ทำให้ภาพรวมตลาดหดตัวอย่างมาก และเป็นสิ่งที่ผู้ประกอบการเรียกร้องให้ ธปท. ผ่อนคลายมาโดยตลอด 

 

หลังจากปัจจุบันแทบไม่มีสัญญากู้ในลักษณะกู้ร่วมเข้ามาในตลาดเลย จากอดีตของบริษัทอยู่ที่ 20% คาดเนื่องจากผู้กู้ร่วมมีความกังวลถึงอนาคตของตนเอง ว่าหากในระยะช่วง 1-3 ปี มีความต้องการซื้อบ้านเป็นของตนเอง จำเป็นต้องวางดาวน์สูงตามเงื่อนไขที่ถูกนับเป็นสัญญาที่ 2 จึงคาดว่าการปลดล็อกเงื่อนไขดังกล่าวครั้งนี้ จะช่วยเพิ่มกำลังซื้อในตลาดไม่ตํ่ากว่า 15%

 

“แอลทีวี หนักสุดสำหรับผู้กู้ร่วม อดีตมีสัดส่วนในตลาดสูงถึง 30% โดยเฉพาะในกลุ่มบ้านราคาตํ่าไม่ถึง 3 ล้านบาท การปลดล็อกเงื่อนไขดังกล่าวเป็นสัญญาณที่ดีต่อตลาด เพราะเวลาผ่อนเขาไม่ได้มาผ่อนด้วย แบงก์แค่ต้องการหลักประกันกรณีเกิดปัญหา แต่แท้จริงคนผ่อนคือคนคนเดียวกัน ซึ่งตามหลักก็ไม่ควรนับอยู่แล้ว”

 

‘DSR’ ทําร้ายอาชีพอิสระ      

ความกังวลของผู้ประกอบการ ต่อปัจจัยนับจากนี้นั่นคือ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะออกนโยบายใหม่ โดยกำหนดให้สถาบันการเงินต่าง ๆ ใช้มาตรฐานกลาง มาคำนวณภาระผ่อนชำระหนี้เทียบกับรายได้ (Debt Service Ratio : DSR) เพื่อแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนที่สูงขึ้น 

 

โดยเฉพาะในกลุ่มหนี้เสีย หรือหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ว่า น่าจะทำให้เกิดปัญหาตามมา ควบคุมได้ยากหากนำมาใช้กับกลุ่มผู้ยื่นขอสินเชื่อบ้าน เพราะแม้ ธปท. จะกำหนดเป็นหลักคำนวณกลางออกมา แต่ในทางปฏิบัติแล้วย่อมขึ้นอยู่กับการพิจารณาของแต่ละสถาบันการเงิน ซึ่งมีแตกต่างกันแน่นอน และจะกลายเป็นข้อจำกัดใหม่ในการเข้าถึงสินเชื่อของกลุ่มผู้ประกอบอาชีพอิสระ ที่ปัจจุบันมีสัดส่วนเข้ามาในระบบมากขึ้น กรุงเทพฯ-ปริมณฑลประมาณ 30% ของลูกค้าตลาดบ้านทั้งหมด 

 

ขณะที่ต่างจังหวัดสัดส่วนสูงถึง 70% เพราะส่วนใหญ่เป็นกลุ่มพ่อค้า แม่ค้า เกษตรกร ที่มีรายได้ไม่คงที่ต่างกับมนุษย์เงินเดือนทั่วไป ฉะนั้นแม้ในหลักการที่ออกมาจะดูดี แต่คาดการนำมาใช้น่าจะเกิดความยุ่งยากไม่น้อย

 

“จริงอยู่ ตัวหนี้อาจวัดไม่ยาก เพราะเช็กกับเครดิตบูโรก็รู้แล้ว แต่ในส่วนรายได้มีปัญหาแน่นอนกลุ่มพ่อค้า, แม่ค้า ไม่เหมือนกับมนุษย์เงินเดือน ที่ยื่นกู้ไปกี่ธนาคาร ผลก็คล้ายคลึงกัน ลูกค้าที่ประกอบอาชีพอิสระ คนเดียวกันยื่น 3 แบงก์ แต่ละแบงก์ก็ใช้วิธีคิดต่างกัน อยู่ที่แบงก์ประเมินความเสี่ยงของอาชีพนั้น ๆ แล้ว ธปท. จะคุมยังไง บอกได้ไหม อาชีพไหนเสี่ยง ไม่เสี่ยง?”

 

ขอบคุณข่าวจาก ฐานเศรษฐกิจ

https://www.thansettakij.com/content/407642

>> ช่องทางในการติดตามข่าวสาร <<
ไม่พลาดข่าวสำคัญ แค่กดเป็นเพื่อนกับ ไลน์ @livinginsider ที่นี่

บทความอื่นๆ

livinginsider livinginsider