News
icon share

ผ่าอสังหาฯ ปี 62 คนซื้อขยาดราคาแพงเกิน

LivingInsider Report 2019-12-02 10:36:56
ผ่าอสังหาฯ ปี 62 คนซื้อขยาดราคาแพงเกิน

 

ปี 2562 นับเป็นอีก 1 ปี ที่โครงข่ายรถไฟฟ้าทั่วเมือง กทม.-ปริมณฑล ขยายเส้นทางอย่างรวดเร็ว ส่งผลราคาที่ดินและที่อยู่อาศัยใหม่สูงขึ้นมาก เกิดภาพผู้มีรายได้ไม่มากผลักตัวเองไปอยู่ในพื้นที่ชานเมือง ขณะที่การประกาศเลื่อนใช้ราคาประเมินที่ดินใหม่จากปี 2563 ไปเป็นปี 2564 คาดจะทำให้ราคาที่ดินปรับขึ้นจากรอบก่อนหน้านับสิบเปอร์เซ็นต์ ส่งผลในแง่ความคุ้มค่าของการพัฒนาโครงการน้อยลง และคงบีบให้ราคาขายทะยานขึ้นอีกในทำเลโดดเด่น 

 

ซึ่งจากผลสำรวจของ ดีดีพร็อพเพอร์ตี้ เว็บไซต์สื่อกลางซื้อ-ขายอสังหาริม ทรัพย์ของไทย โดยยอดผู้ใช้งานเฉลี่ย 3 ล้านคนต่อเดือนพบประเด็นดังกล่าว เป็นความกังวลในฝั่งผู้บริโภคเช่นกัน 80% ของคนต้องการมีบ้านในปี 2562 มองราคาอสังหาฯไทยแพงและเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วเกินไป ท่ามกลางปัญหาเศรษฐกิจ และการอนุมัติสินเชื่อที่เข้มงวด แม้จะมีมาตรการกระตุ้นของภาครัฐแต่ไม่มีความหมาย

 

นางกมลภัทร แสวงกิจ ผู้จัดการใหญ่ประจำประเทศไทย ดีดีพร็อพเพอร์ตี้ เว็บไซต์สื่อกลางซื้อ-ขายอสังหาริมทรัพย์ของไทย กล่าวว่า จากการเก็บรวบรวมข้อมูลย้อนหลังตลาดอสังหาริมทรัพย์ไทยในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา (ปี 2557-2561) พบราคาอสังหาฯ ไทยปรับสูงขึ้น โดยเฉพาะคอนโดมิเนียมตามแนวรถไฟฟ้า โดยเฉพาะกลุ่มราคา 8.5-15 ล้านบาท เติบโตขึ้น 10% ในรอบ 1 ปี ซึ่งถือเป็นการเติบโตสวนทางกับภาวะเศรษฐกิจและรายได้ของคนไทยอย่างชัดเจน 

 

ทำให้ภาพรวมตลาดชะลอตัว ท่ามกลางจำนวนที่อยู่อาศัยที่รอขายสะสมในตลาดสูงถึง 1.52 แสนหน่วย เพราะปริมาณคนซื้อลดน้อยลง ความสามารถในการซื้อของคนหดหาย ซึ่งสอดคล้องกับผลวัดความพึงพอใจต่อตลาดอสังหาฯ ของคนไทย ที่ลดลงเหลือเพียง 61% เท่านั้น เนื่องจากส่วนใหญ่มองว่า อสังหาฯไทย มีราคาแพงเกินไป และไม่กล้าตัดสินใจซื้อในภาวะที่เศรษฐกิจยังไม่ฟื้นตัวดี อีกทั้งยังระบุว่านโยบายของรัฐไม่เอื้อต่อการซื้ออสังหาฯ ซึ่งเป็นสัดส่วนที่เพิ่มขึ้นจากการสำรวจก่อนหน้ามากกว่า 10%

ผ่าอสังหาฯ ปี 62 คนซื้อขยาดราคาแพงเกิน

 

“ซัพพลายในกรุงเทพฯ ยังเพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้า 3% และมีปริมาณโอเวอร์ในบางพื้นที่ หนาแน่นสุดในกลุ่มตํ่ากว่า 3.5 ล้านบาท ส่งผลต่อหน่วยคงค้างในตลาดที่มีมาก แต่สวนทางกับความสามารถในการซื้อของคนไทย เมื่อค่าแรงไม่โตตามราคาอสังหาฯ ก็จะทำให้ตลาดยังเหนื่อยต่อไปจนกว่าภาวะเศรษฐกิจจะปรับตัวขึ้น”

 

ทั้งนี้ ตัวขับเคลื่อนสำคัญให้ราคาที่อยู่อาศัยปรับตัวสูงขึ้น มาจากรถไฟฟ้าส่วนต่อขยาย และแลนด์มาร์กใหม่ๆ กระจุกตัวโดดเด่นใน 3 ทำเลสำคัญ คือ เขตบางกะปิ เติบโตต่อเนื่อง 8 ไตรมาส รองลงมา เขตคลองสาน และเขตบางนา

 

“ฐานเศรษฐกิจ” สำรวจราคาที่ดิน แนวเส้นทางรถไฟฟ้า สายใหม่ๆ พบราคาปรับตัวสูง อย่าง สายสีเหลือง ช่วงจุดตัดแยกรัชดาฯตัด-ลาดพร้าว ราคาที่ดิน ช่วง 3 ปีก่อน สูงสุด 7-8 แสนบาทต่อตารางวา ล่าสุดเมื่อมีรถไฟฟ้าก่อสร้างราคาพุ่งไปที่ 1 ล้านบาทต่อตารางวา และมีแนวโน้มขยับขึ้นอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากผังเมืองรวมกรุงเทพมหานครฉบับใหม่ ปรับการใช้ประโยชน์ที่ดิน ให้บริเวณดังกล่าวพัฒนาได้มากขึ้นรวมทั้งถนนลาดพร้าวตลอดทั้งสาย 

 

ขณะทำเลจุดตัดรถไฟฟ้าสายสีเหลืองกับสายสีส้มตะวันออก บริเวณนี้มีผู้ประกอบการ ปักหมุดขึ้นโครงการจำนวนมาก ราคาที่ดินขยับสูง จาก 2 แสนบาทต่อตารางวา ล่าสุดไม่ตํ่ากว่า 4-5 แสนบาทต่อตารางวา เนื่องจากเป็นทำเลศักยภาพ เป็นจุดเปลี่ยนถ่ายการเดินทางสำคัญอีกแห่งหนึ่งของกทม. พัฒนาคอนโด มิเนียมได้มากขึ้น

 

มาที่ทำเลห้าแยกลาดพร้าว ถึงแยกรัชโยธิน ราคาขยับไปที่ 9 แสน- 1 ล้านบาทต่อตารางวา เนื่องจากเป็นทำเลทองที่มีโครงการคอนโดมิเนียมเกิดขึ้นจำนวนมาก รองรับการเปิดให้บริการรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยาย สายหมอชิต-คูคต ที่ล่าสุดจะเดินรถต่อจากห้าแยกลาดพร้าวไปถึงมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วันที่ 4 ธันวาคม 2562 นี้

 

ขณะย่านฝั่งธนราคาที่ดินขยับไม่แพ้กัน เนื่องจากรถไฟฟ้าสายสีนํ้าเงิน ส่วนต่อขยายที่จะเปิดให้บริการ ครบวงแหวน ส่งผลให้ราคาที่ดินย่าน เพชรเกษม จรัญสนิทวงศ์ขยับสูง อยู่ที่ 3-4 แสนบาทต่อตารางวา เช่นกัน อย่างไรก็ตาม เมื่อเส้นทางรถไฟฟ้าขยายผู้ประกอบการขยับการ พัฒนา แน่นอนว่าทั้งราคาที่ดินและราคาขายต่อหน่วยย่อมแพงขึ้น

 

ขอบคุณข่าวจาก ฐานเศรษฐกิจ

https://www.thansettakij.com/content/property/415745?utm_source=category&utm_medium=internal_referral&utm_campaign=property

>> ช่องทางในการติดตามข่าวสาร <<
ไม่พลาดข่าวสำคัญ แค่กดเป็นเพื่อนกับ ไลน์ @livinginsider ที่นี่

บทความอื่นๆ

livinginsider livinginsider