รายการโปรด
เป็นที่เชื่อกันได้ว่าในช่วงสัปดาห์ สองสัปดาห์ที่ผ่านมานี้ มีข่าวหนึ่งที่ร้อนแรงไม่แพ้ข่าวของนักการเมืองที่เกี่ยวกับการรุกที่ส.ป.ก. หรือที่ป่าสงวน หรือที่ไม่แพ้ข่าวการยุบพรรคอนาคตใหม่ ก็คือข่าวเกี่ยวกับการบังคับใช้กฎหมายภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง (ที่มีการขยายเวลาบังคับใช้ออกไปจนทำให้ใครหลายคนหลงดีใจ นึกว่ายกเลิกหรือระงับใช้ก็ตาม) ที่มาแทนที่กฎหมายเดิมอย่าง กฎหมายภาษีโรงเรือนและสิ่งปลูกสร้าง และกฎหมายภาษีบำรุงท้องที่
โดยแม้ว่าจะไม่ได้เป็นข่าวที่โด่งดังขึ้นหน้าหนึ่งหนังสือพิมพ์หรือสื่อโทรทัศน์ วิทยุ ก็ตาม แต่หากได้ติดตามผ่านทางสื่อออนไลน์สำนักต่าง ๆ บอร์ด กระทู้แสดงความคิดเห็น หรือกระทั่งในไลน์กลุ่มนิติบุคคลต่าง ๆ ก็จะเห็นได้ว่า ได้มีการสนทนา ถกเถียงกันมากมายเกี่ยวกับภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างนี้ เพราะการบังคับใช้กฎหมายใหม่นี้ ได้เปลี่ยนให้หลายต่อหลายคน จากที่เป็นผู้เฝ้าดูอยู่ขอบสนามต้องกลายมาเป็นผู้ลงสนามเสียเองที่ได้รับผลกระทบไม่มากก็น้อย
เชื่อได้ว่าหลายต่อหลายท่านได้รับเอกสารจากภาครัฐที่ทำให้หวั่นใจ สะพรึงใจอยู่ไม่น้อย เกี่ยวกับการระบุประเภทอสังหาริมทรัพย์ของท่านที่ทำให้จะต้องไปเสียภาษีในอัตราต่าง ๆ และเป็นที่แน่นอนว่าใครหลายคนก็กำลังหาหนทางที่ดีที่สุดในการจัดการกับภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่จะทำให้เสียภาษีในอัตราที่น้อยที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้
จนเชื่อได้ว่าในปัจจุบันนี้ด้วยภาษีใหม่นี้ ได้ทำให้กลุ่มบุคคลต่างขวนขวายที่จะหาความรู้ทางด้านกฎหมายภาษีใหม่นี้โดยไม่ต้องมีการบังคับแต่อย่างใด โดยเฉพาะท่าน ที่มีการลงทุน/ถือครองในอสังหาริมทรัพย์เป็นจำนวนมาก อันเนื่องจากการได้รับมาซึ่งมรดกตกทอด เป้าหมายในการหาแหล่งลงทุนที่ปลอดภัย การกระจายความเสี่ยงอันเนื่องจากนโยบายประกันเงินฝากของธนาคาร หรือกระทั่งการพยายามสร้างรายได้เชิงรับ (Passive Income) ก็ตาม
อันที่จริงแล้ว หากมองในอีกมุมหนึ่งภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างก็มีคุณประโยชน์อยู่ไม่น้อยในการบริหารจัดการเมือง ที่กล่าวว่ามีประโยชน์ในการบริหารจัดการนั้น ไม่เพียงเฉพาะที่ว่าภาครัฐจะได้รายได้ที่เพิ่มขึ้นเท่านั้น หากแต่ยังเกี่ยวพันไปสู่เรื่องของการพัฒนาผลิตภาพของที่ดิน หรือที่อาจเรียกในภาษาธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ว่า การใช้ประโยชน์ที่ดีที่สุดที่สูงที่สุดหรือ Highest and Best Use นั่นเอง
เพราะเมื่อที่ดินคือทรัพย์สินที่ไม่มีค่าเสื่อม ไม่มีวันเสื่อมสลาย อีกทั้งโดยทั่วไปแล้วมูลค่ามักจะเพิ่มสูงขึ้นเรื่อย ๆ อันเนื่องจากที่ดินที่มีจำกัด จึงทำให้ใครหลายคน โดยเฉพาะเศรษฐี นักลงทุนต่าง นำเงินทองมาลงทุนในที่ดิน ในการเก็งกำไรไม่ว่าจะระยะสั้นหรือระยะยาวก็ตาม เพราะอาจกล่าวได้ว่า เป็นการลงทุนที่ง่าย ไม่ต้องดูแล ไม่มีใครขโมยไปได้ ไม่มีเน่าไม่มีเสีย ซื้อมาพักเอาไว้ก็ได้มูลค่าเพิ่มขึ้นเอง เพียงใช้ระยะเวลารอให้มีการเจริญเติบโตของสิ่งแวดล้อมรอบข้างเท่านั้น
ถ้าวันดีคืนดี โชคดีมีเมกะโปรเจกต์ของภาครัฐหรือเอกชนไม่ว่าจะเป็นถนน ทางด่วน สถานีรถไฟฟ้า ศูนย์ราชการ ศูนย์การค้า โรงพยาบาลมาอยู่ใกล้ ๆ ด้วยแล้วก็จะยิ่งโชคดีทวีคูณ ทำให้ราคาที่ดินเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็วอีกด้วย
อย่างไรก็ตาม การที่นักลงทุนต่างเอาเงินไปลงทุนในที่ดินที่ว่างเปล่าต่าง ๆ โดยเป็นการจับจองพื้นที่ โดยที่ไม่ได้มีวัตถุประสงค์ในการพัฒนาใดใดก็ย่อมจะเป็นการไม่ก่อให้เกิดการพัฒนาขึ้น ทำให้ที่ดินที่มีจำกัดอยู่แล้วไม่ถูกใช้ประโยชน์อย่างที่ควรจะเป็น ทั้งยังทำให้เกิดที่ดินว่างเปล่า ที่รกร้าง ปราศจากการดูแลจนอาจเป็นแหล่งเสื่อมโทรม อีกด้วย
ในขณะเดียวกันผู้ที่ต้องการที่อยู่อาศัยที่แท้จริง (Real Demand) หรือที่ต้องการพื้นที่ในการประกอบการใดใดก็ยิ่งนับเป็นอุปสรรคเป็นอย่างมากอันเนื่องจากการขาดแคลนที่ดินซึ่งเป็น องค์ประกอบหนึ่งที่สำคัญในการพัฒนากิจการต่าง ๆ อันจะส่งผลให้ไม่เกิดการหมุนเวียนของสภาพเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศนั่นเอง
จากเหตุผลดังกล่าว จึงเห็นได้ว่า ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างประเภทที่ดิน รกร้าง ว่างเปล่า จึงมีอัตราในการเรียกเก็บที่มีเพดานที่สูงที่สุดนั่นเอง ซึ่งในประเด็นดังกล่าวนี้ย่อมจะส่งผลกระทบให้เกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้นต่อวงการอสังหาริมทรัพย์อย่างแน่นอน
โดยอาจวิเคราะห์ให้เห็นได้ถึงภาพการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญในหลายแง่มุมต่อวงการอสังหาริมทรัพย์ทั้งในระยะสั้นและระยะยาวนับจากที่จะมีการบังคับใช้กฎหมายภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างอย่างเต็มรูปแบบ ดังนี้
1) อาจจะได้เห็นเรือกสวนไร่นา ผุดขึ้นกลางเมืองเป็นจำนวนมาก อันเนื่องจากการที่เจ้าของที่ดินต่างปรับปรุงที่ดินของตนให้เข้าไปอยู่ในประเภทที่ดินเพื่อการเกษตรกรรม เพื่อให้จ่ายภาษีในอัตราที่น้อยที่สุด (ซึ่งถ้าเข้าใจไม่ผิดแล้ว โดยปลายทางของเจตนารมณ์ของกฎหมายนี้จะมีเรื่องของการพิจารณาถึง การใช้ประโยชน์ที่ดีที่สุดที่สูงที่สุด ที่เหมาะสมในแต่ละพื้นที่ด้วย ไม่ใช่เพียงแค่การทำสวนมะนาว สวนมะม่วง บ่อปลาสลิด ในพื้นที่ที่มีตารางวาละล้านสองล้าน แล้วจะสามารถจัดให้เป็นที่ดินเพื่อการเกษตรกรรมได้)
2) อาจจะได้เห็นการโยกย้ายสำมะโนประชากรครั้งใหญ่ ในการย้ายชื่อไปสู่ทะเบียนบ้านหลังใหม่ ส่งผลให้บ้านแต่ละหลังจะมีจำนวนสมาชิกผู้อยู่อาศัยเฉลี่ยที่น้อยลง ด้วยวัตถุประสงค์ของการทำให้ทรัพย์สินเข้าไปอยู่ในประเภทของบ้านหลังแรก ที่มีอัตราภาษีที่ต่ำกว่า
3) เมื่อเจ้าของที่ดินมีภาระภาษีที่เพิ่มมากยิ่งขึ้น อาจจะต้องขึ้นราคาที่ดินที่ได้รวมค่าภาษีที่ได้จ่ายไปแล้ว ส่งผลให้ต้นทุนที่ดินมีราคาขยับสูงเพิ่มมากยิ่งขึ้น ซึ่งจะเป็นผลเสียต่อผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์และนักลงทุนรายย่อย ตลอดจนผู้อยู่อาศัยที่แท้จริง
4) สำหรับเจ้าของที่ดินที่ไม่สามารถแบกรับภาระภาษีที่ดินได้ อาจจะต้องทำการรีบขายที่ดินออกไปโดยเร็ว ในราคาที่ไม่ได้มโนไปเองของเจ้าของที่ดิน ซึ่งจะส่งผลดีกับผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ที่จะมีวัตถุดิบในการพัฒนาให้เลือกได้มากยิ่งขึ้น
5) นักลงทุนรายย่อยในที่ดินและคอนโดมิเนียม จะมีภาระที่เพิ่มสูงขึ้นจากภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างทำให้ได้รับ ผลตอบแทนที่แท้จริงจากค่าเช่าหรือการขาย ที่ต่ำกว่าที่เคยได้ จนอาจทำให้ตลาดอสังหาริมทรัพย์ไม่ใช่แหล่งลงทุนที่ดีที่สุดอีกต่อไป ซึ่งก็เป็นที่แน่นอนว่า ย่อมจะส่งผลต่อยอดขายของนักพัฒนาอสังหาริมทรัพย์อย่างไม่อาจหลีกเลี่ยง
6) แม้ว่า ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างจะทำให้นักพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ หรือนักลงทุนรายย่อยมีภาระที่เพิ่มสูงขึ้น แต่หากว่า นักพัฒนาอสังหาริมทรัพย์หรือนักลงทุนรายย่อย ยังไม่สามารถที่จะหาแหล่งลงทุนที่ดีกว่าได้ ก็ย่อมจะต้องยอมรับผลตอบแทนที่ต่ำลง จนนำไปสู่การปรับฐานอัตราผลตอบแทนจากการดำเนินธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ครั้งใหม่
7) หากนักลงทุนรายย่อยสามารถ ผลักภาระภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ไปให้ผู้เช่าด้วยการขึ้นราคาได้ก็ย่อมจะไม่เกิดผลกระทบใดใดต่อการลงทุนนัก ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว ดูจะเกิดขึ้นได้ยากนัก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุคปัจจุบันที่มีอุปทานคอนโดมิเนียมที่ดูจะมากกว่าอุปสงค์
จากที่ได้กล่าวมาข้างต้นนี้ อาจสรุปได้ว่า การเปลี่ยนแปลงอาจเกิดขึ้นได้ในหลายทิศทางที่ยังไม่สามารถหาบทสรุปที่ชัดเจนได้ เป็นเพียงการคาดการณ์ถึงสมมติภาพ (Scenario) ที่น่าจะเป็น ที่มีผู้เกี่ยวข้องที่สำคัญอันได้แก่ เจ้าของที่ดิน ผู้พัฒนาโครงการ นักลงทุนรายย่อย และผู้เช่า โดยประเด็นที่สำคัญย่อมจะอยู่ที่อำนาจต่อรองของแต่ละกลุ่มว่า กลุ่มใดจะมีอำนาจในการต่อรองผลักภาระภาษีนี้ไปให้กลุ่มอื่น ๆ ได้มากที่สุด หรืออาจจะต้องเป็นลักษณะของวัดครึ่งกรรมการครึ่ง หรือการแชร์ค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นในส่วนนี้ก็เป็นได้
โดยในทัศนะข้างต้นนี้ ย่อมจะแสดงให้เห็นถึงแง่มุมการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญที่กำลังจะเกิดขึ้นกับวงการอสังหาริมทรัพย์ของไทย ที่ผู้ที่เกี่ยวข้องในวงการอสังหาริมทรัพย์จะต้องปรับตัวโดยเร่งด่วนอีกครั้ง (ทั้งที่ได้ปรับมาหลายกระบวนท่าแล้วก็ตาม)
บทความโดย รศ.ดร.นิติ รัตนปรีชาเวช ผู้อำนวยการโครงการธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
โครงการปริญญาโทสาขาธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ (MRE) คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เปิดรับสมัครนักศึกษาใหม่ ตั้งแต่บัดนี้ ถึงวันที่ 31 มีนาคม 2563
รายละเอียดเพิ่มเติม www.re.tbs.tu.ac.th Tel : 02-613-2260, 02-613-2297 https://www.facebook.com/RE.Thammasat
ศุภาลัย เปิดตัว “พาร์ควิลล์ สุขุมวิท-บางนา” บ้านเดี่ยวบนถนนนิคมบางพลีเมืองใหม่ เชื่อมต่อเมืองสะดวก เริ่ม 3.99 ล้านบาท* Pre-Sales 8-9 ก.พ.นี้
27 นาทีที่แล้ว
เปิดขายครั้งแรก! บ้านเดี่ยวระดับ Luxury สไตล์อังกฤษ “เบลกราเวีย เอ็กซ์คลูซีฟ ราชพฤกษ์-พระราม 5” 15-16 ก.พ.นี้ Best Location ติดถนนใหญ่ ใกล้แหล่งอำนวยความสะดวก ราคาเริ่ม 39 ล้านบาท*
4 ชั่วโมงที่แล้ว
“20 ปี แอสเซทไวส์” โชว์กลยุทธ์ “Growing Success, Growing Happiness” ปั้น 10 โครงการใหม่มูลค่า 22,000 ล้านบาท ตั้งเป้ายอดขายรวม 19,500 ล้านบาท และเป้ารายได้ 10,500 ล้านบาท
เมื่อวานนี้
แสนสิริ เบอร์หนึ่งอสังหาฯ ปลุกเซ็นติเมนต์ตลาด ประกาศแผนปี 68 “Dynamic Growth” เติบโตแข็งแกร่ง เป้ายอดขาย 53,000 ลบ. ยอดโอน 46,000 ลบ.
เมื่อวานนี้
เครือออริจิ้น X LINE MAN-LINE Pay-Wongnai จัดแคมเปญ “ออริจิ้น COMBO SET โปรคุ้ม รับส่วนลดเป็นชุด” มอบส่วนลดสูงสุด 5 ล้านบาท*
2025-02-04
อ่านสนุก ได้ความรู้ด้วย
ชอบนะคะ บทความหลากหลายดี
ได้ความรู้ดีครับ ชอบครับ
เยี่ยมมากๆ ครับ น่าสนใจ FC เลยครับ
มีประโยชน์มากๆค่ะ ขอบคุณสำหรับข้อมูลน่ะค่ะ