News
icon share

เปิดมุมมอง พีระพงศ์ จรูญเอก วิเคราะห์ New Normal อสังหาฯหลัง COVID-19 และแนวทางรับมือของ ออริจิ้น

LivingInsider Report 2020-04-08 15:15:00
เปิดมุมมอง พีระพงศ์ จรูญเอก วิเคราะห์ New Normal อสังหาฯหลัง COVID-19 และแนวทางรับมือของ ออริจิ้น

 

COVID-19 กำลังกลายเป็นปัจจัยสำคัญที่เข้ามาเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตของผู้คนทั่วโลก และส่งผลกระทบไปยังทุกกลุ่มธุรกิจ ทุกกลุ่มอุตสาหกรรม ไม่เว้นแม้แต่กลุ่มธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ที่อาจจะต้องเผชิญกับ “ความปกติแบบใหม่” หรือ “New Normal” จากความเปลี่ยนแปลงของพฤติกรรมผู้บริโภค

 

สำหรับ พีระพงศ์ จรูญเอก ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ออริจิ้น พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด (มหาชน) หนึ่งในบิ๊กอสังหาฯไฟแรงของวงการ ยอมรับว่า กระแสความปั่นป่วน (Disruption) ที่เกิดขึ้นรวดเร็วกว่าปกติ จากสถานการณ์ COVID-19 จะส่งผลให้เกิด New Normal ต่อวงการอสังหาฯในอนาคตอย่างแน่นอน สิ่งที่สำคัญคือการ “เตรียมรับมือ” ของผู้ประกอบการทั้งในวันนี้และในอนาคต ตั้งแต่ด้านการพัฒนาสินค้า การตอบโจทย์พฤติกรรมผู้บริโภค ตลอดจนวิธีคิด หรือ Mindset และกระบวนการในการดำเนินธุรกิจ

 

เปลี่ยนพนักงานสู่ Micro-Influencer รับมือปี 63

ก่อนจะเจาะถึงสถานการณ์ New Normal ของวงการอสังหาฯ พีระพงศ์ ฉายภาพสถานการณ์ระยะสั้นก่อนว่า ภาพรวม “ดีมานด์” ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ในปี 2563 มีแนวโน้มปรับตัวลดลง 15-30% ขึ้นอยู่กับว่า COVID-19 จะจบช้าหรือเร็วแค่ไหน หากไม่ทำอะไรเลย หรือใช้เพียงวิธีการเดิมๆ ที่เคยทำมา เช่น โปรโมทโครงการผ่านสื่อกลุ่ม Out of Home ผู้ประกอบการก็มีโอกาสจะโดน “ดิสรัปท์” ไปพร้อมตลาดที่ดีมานด์หดตัว 15-30%

เปิดมุมมอง พีระพงศ์ จรูญเอก วิเคราะห์ New Normal อสังหาฯหลัง COVID-19 และแนวทางรับมือของ ออริจิ้น

 

นอกจากจะมีมาตรการช่วยเหลือลูกบ้าน มาตรการช่วยเหลือพนักงาน และมาตรการคุมเข้มเรื่อง COVID-19 แล้ว อีกสิ่งที่ออริจิ้นทำทันที คือการให้พนักงานทุกคน ก้าวมาเป็น Micro-Influencer ภายใต้โปรเจ็คท์ Everyone can sell” เนื่องจากมองว่า พนักงานแต่ละคนต่างรู้จักกลุ่มเป้าหมาย รู้จักจุดแข็งจุดอ่อนของตัวเองดี เมื่อแต่ละคนมีช่องทางในการสื่อสาร

 

เช่น Youtube Channel เป็นของตัวเอง ก็จะมีทั้งกลุ่มเป้าหมายและวิธีในการเล่าเกี่ยวกับสินค้าแตกต่างกันออกไป ทีมสถาปนิกมีวิธีเล่าแบบหนึ่ง ทีมกราฟฟิกดีไซเนอร์ก็มีวิธีเล่าอีกแบบหนึ่ง ผลลัพธ์ที่ออกมาคือ ในช่วงไตรมาส 1 ที่ผ่านมา ออริจิ้นมียอดขายภายใต้โปรเจ็คท์ดังกล่าวถึงกว่า 500 ล้านบาท

 

“เดิมเรามีทีมฝ่ายขายและการตลาดประมาณ 250 คน แต่วันนี้เราเปลี่ยนพนักงานทั้งเครือกว่า 1,200 คน เข้ามาร่วมในโปรเจ็คท์ดังกล่าว ทุกคนตอนนี้ไม่มีใครเป็นภาระของบริษัทและกลายเป็น profit center ที่สามารถสร้างรายได้เฉลี่ยถึง 4.1 แสนบาทต่อคนในช่วงไตรมาสแรก แม้ดีมานด์ภาพรวมอาจจะหดตัว แต่เรายังขับเคลื่อนไปต่อได้ เพราะทีมงานทุกคนรู้จักกลุ่มเป้าหมายของตัวเองดี และยอดขายจากโปรเจ็คท์นี้ก็มีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ”

person wearing blue and green plaid collared button-up long-sleeved shirt sitting while using MacBook Pro

 

ซื้อขายบ้านยุคใหม่ ไม่ต้องชมห้องตัวอย่าง

สำหรับ New Normal เรื่องแรกที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจอสังหาฯระยะยาว คือ พฤติกรรมการซื้ออสังหาฯของผู้บริโภค พีระพงศ์ ประเมินว่า Work From Home กลายเป็นตัวเร่งให้อสังหาริมทรัพย์คล้ายคลึงกับสินค้าอุปโภคบริโภคทั่วไปมากขึ้น ผู้บริโภคจะ “เริ่มยอมรับได้” กับการซื้อบ้านหรือคอนโด ซึ่งเป็นสินทรัพย์ขนาดใหญ่ โดยไม่ต้องเห็นห้องตัวอย่างจริงจากโครงการ คลิปวิดีโอรีวิวจะมีความสำคัญมากขึ้น ผู้บริโภคจะใช้ข้อมูลเหล่านี้ในการเปรียบเทียบแต่ละโครงการ แทนการตระเวนสำรวจทีละ 5-10 โครงการด้วยตัวเอง

 

“ในจีนเองตอนนี้มีแพลทฟอร์มเอเจนซี่ขายอสังหาริมทรัพย์ออนไลน์ชื่อ เหย่าลู่ บนแพลทฟอร์มดังกล่าวมีทีมขายอสังหาฯทั้งสิ้นเพียง 25 คน แต่สามารถสร้างยอดขายได้ถึง 1 หมื่นล้านบาทต่อปี โดยกว่า 40% ของผู้ซื้อ สามารถตัดสินใจซื้อโดยไม่ต้องไปเยี่ยมชมโครงการ ในไทยเองต่อไปเราอาจจะได้เห็นผู้ประกอบการหันมาแข่งกันขายคอนโดผ่านออนไลน์ อาจจะมีไลฟ์ขายของพร้อมโปรโมชั่นแบบจำกัดช่วงเวลา เพื่อกระตุ้นยอดขายให้เกิดเร็วขึ้น”

 

ทั้งนี้ ออริจิ้น พร็อพเพอร์ตี้ เอง ก็เดินหน้าในการขายสินค้าผ่านแพลทฟอร์มออนไลน์มากขึ้น อาทิ การเปิด Official Store บนแพลทฟอร์ม Shopee และ Lazada พร้อมทั้งจัดโปรโมชั่นคอนโดพร้อมอยู่ จอง 1,999 บาท และผ่อนเริ่มต้นล้านละ 999 บาทต่อเดือน ล่าสุด ได้จัดทำ LINE@ภายใต้ชื่อ @Origin Property และ @PARK LUXURY ให้ผู้บริโภคสามารถติดต่อขอข้อมูล จอง ซื้อ ไปจนถึงโอนกรรมสิทธิ์อสังหาริมทรัพย์ได้อีกด้วย

เปิดมุมมอง พีระพงศ์ จรูญเอก วิเคราะห์ New Normal อสังหาฯหลัง COVID-19 และแนวทางรับมือของ ออริจิ้น

พักไกลที่ทำงานมากขึ้น เพื่อห้องใหญ่ขึ้น

ขณะที่ New Normal เรื่องที่สอง เกี่ยวข้องกับพฤติกรรมการเลือกที่อยู่อาศัย พีระพงศ์ ขยายความว่า เมื่อสังคมรับได้กับการ Work From Home มากขึ้น ความจำเป็นในการอยู่อาศัยในเขตเมืองอาจลดลง ที่พักอาศัยจำเป็นต้องมีขนาดใหญ่เพียงพอ เพื่อให้คนใช้ชีวิตทั้งวันต่อเนื่องได้โดย “ไม่เบื่อ” ส่วนต่อขยายใหม่ๆ ของรถไฟฟ้าสายต่างๆ และการ Work From Home จะส่งผลให้คนกล้าตัดสินใจซื้อบ้านในสถานีที่ไกลจากที่ทำงานมากขึ้น เพื่อให้ได้ห้องพักขนาดใหญ่ขึ้น ภายใต้งบประมาณเดิม บ้านจัดสรรอาจยังไม่ได้รับผลกระทบเรื่องขนาดมากนัก แต่เชื่อว่าคอนโดมิเนียมขนาด 1 ห้องนอนในสถานีส่วนต่อขยาย อาจต้องมีขนาดประมาณ 35 ตร.ม.ขึ้นไป เพื่อตอบรับไลฟ์สไตล์ใหม่ของผู้บริโภค

 

ขณะเดียวกัน ภายในห้องพักจะต้องมีความยืดหยุ่น (Flexibility) มากขึ้น และมี WFH Function” ครบถ้วน เพราะภายในห้องอาจกลายเป็นทั้งพื้นที่สำหรับกิน นอน ทำงาน และออกกำลังกาย ไม่ว่าจะเตียงหรือระเบียง อาจต้องมีฟังก์ชั่นใช้สอยที่มากกว่าเดิม โดยที่ผ่านมา ออริจิ้น ในฐานะหนึ่งในผู้นำด้านการออกแบบพื้นที่ภายในห้องพัก (Unit Space Design) ก็พยายามออกแบบพื้นที่ห้องให้คนสามารถอยู่อาศัยได้กับฟังก์ชั่นที่ยืดหยุ่น เช่น การออกแบบห้องสไตล์ลอฟท์ ที่มีเพดานสูง 4.2-4.5 เมตร ทำให้ห้องดูกว้างขวางและปรับเปลี่ยนฟังก์ชั่นใช้สอยได้มากขึ้น

 

สู่ยุค Touchless, Wellness และ Individual Society

โจทย์ใหญ่อีกเรื่องของผู้ประกอบการ คือเรื่อง “การเติมเต็มชีวิต” หรือ Life Fulfillment” ในยุคที่เกิด New Normal เรื่องที่สาม คือ พฤติกรรมการใช้ชีวิตแบบเป็นปัจเจก พีระพงศ์ เล่าว่า สังคมจะกลายเป็น Individual Society” ทุกคนยังคงต้องการใช้พื้นที่ส่วนกลาง ขณะเดียวกัน ผู้คนจะหวงแหนความเป็นส่วนตัวมากขึ้น ใส่ใจเรื่องความปลอดภัยของสุขภาพมากขึ้น

 

หน้าที่ของผู้ประกอบการจึงเป็นการสร้างพื้นที่ส่วนกลางที่เติมเต็มชีวิตในรูปแบบนั้นได้ เช่น การออกแบบ Co-separate space ให้คนไว้นั่งแยกกันในพื้นที่ส่วนกลางเดียวกัน เป็นพื้นที่ใหม่แทนหรือเพิ่มเติมจาก Co-working space การนำเทคโนโลยีมาตอบโจทย์การใช้ชีวิตแบบไร้สัมผัส หรือ Touchless เช่น ระบบสแกนจากการจดจำใบหน้า (Face Recognition) หรือระบบ การสั่งการด้วยเสียง (Voice Command) สำหรับใช้ในพื้นที่ส่วนกลาง เช่น ลิฟท์ เพื่อเพิ่มความปลอดภัยด้านสุขภาพในการใช้งาน

 

“เรื่องความมีสุขภาพดี หรือ Wellness จะกลายเป็นอีกเรื่องที่สำคัญมากในที่อยู่อาศัย เดิมทีเรามีบริการมาตรฐานระดับโรงแรม หรือ Hotel Service เข้าไปให้บริการผู้บริโภคอยู่แล้ว ต่อไปเราจะต่อยอดไปด้วย Medical Service เข้าไปอำนวยความสะดวกภายในที่พักอาศัยเพื่อตอบโจทย์เรื่อง Wellness ให้ผู้บริโภคด้วย ขณะนี้อยู่ระหว่างพูดคุยกับพันธมิตร และคาดว่าจะเปิดเผยข้อมูลได้เร็วๆ นี้”

 

แตกไลน์ธุรกิจ ขับเคลื่อนความเป็น Disruptor

ไม่เพียงแต่โครงการที่อยู่อาศัย พีระพงศ์ มองว่า โครงการอสังหาริมทรัพย์ประเภทอื่นๆ ก็ยังสามารถลุยต่อได้ เช่น ธุรกิจโรงแรม สำหรับโรงแรมในเครือของออริจิ้นเอง เป็นโรงแรมเพื่อการเข้าพักเชิงธุรกิจ (Business Purpose) ผู้เข้าพักส่วนใหญ่เป็นผู้เข้าพักระยะยาว (Long-stay) จึงไม่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ COVID-19 มากนัก อย่างไรก็ดี ภาพรวมธุรกิจโรงแรมจะกลับมาฟื้นตัวได้หลังสถานการณ์จบแน่นอน เนื่องจากผู้คนยังคงต้องการท่องเที่ยว ดีมานด์ที่ถูกอั้นไว้ในช่วงนี้จะระเบิดออกมาหลังสถานการณ์คลี่คลาย

 

ทั้งนี้ ออริจิ้น พร็อพเพอร์ตี้ ยังได้ทยอยเพิ่มบริการใหม่ๆ ตลอดจนธุรกิจใหม่ๆ ให้สอดคล้องกับความต้องการที่เพิ่มขึ้นของผู้บริโภคด้วย เช่น มีบริการรับฉีดฆ่าเชื้อ COVID-19 ให้กับโครงการที่ออริจิ้นดูแลอยู่เอง เพื่อเพิ่มความปลอดภัยให้ลูกบ้าน ขณะเดียวกัน กำลังอยู่ระหว่างพัฒนาธุรกิจใหม่ที่เกี่ยวข้องกับอาหาร เพื่อเพิ่มความสะดวกในการใช้ชีวิตของลูกบ้านออริจิ้นกว่า 2 หมื่นครอบครัวในขณะนี้

 

“ในระหว่างวิกฤติ เราต้องเป็น Disruptor คิดว่าลูกค้าต้องการอะไร แล้วลุกขึ้นมาทำ ขึ้นมาเปลี่ยนแปลงทันที ปรับตัว ปรับสภาพแวดล้อม ให้เข้ากับการดำเนินธุรกิจที่เปลี่ยนแปลงไป ออริจิ้นเราโชคดีที่วัฒนธรรมองค์กรเราแข็งแกร่ง พนักงานของเรามี Disruptor Mindset จึงทำให้ยังมีไอเดียใหม่ๆ ออกมาอย่างสม่ำเสมอ และพอจะเปลี่ยนแปลงอะไร ก็ทำได้อย่างรวดเร็ว เราจะใช้ความเป็น Disruptor ของทีมงานทุกคน ขับเคลื่อนองค์กร สร้างสรรค์อะไรใหม่ๆ ตอบโจทย์ New Normal ของผู้บริโภคต่อไป” พีระพงศ์ ทิ้งท้าย

 

>> ช่องทางในการติดตามข่าวสาร <<
ไม่พลาดข่าวสำคัญ แค่กดเป็นเพื่อนกับ ไลน์ @livinginsider ที่นี่

บทความอื่นๆ

livinginsider livinginsider