News
icon share

วสท.ห่วงตึกแถวเก่า1แสนแห่งทั่วกรุงเทพฯ จี้รัฐแก้กฎหมายดึงเข้าระบบตรวจสอบอาคาร-อสังหาฯขานรับ

LivingInsider Report 2016-09-21 10:25:57
วสท.ห่วงตึกแถวเก่า1แสนแห่งทั่วกรุงเทพฯ จี้รัฐแก้กฎหมายดึงเข้าระบบตรวจสอบอาคาร-อสังหาฯขานรับ

 

 

"วสท." เครื่องร้อนหลังตรวจสอบเหตุตึกทรุดย่านตลาดประชานิเวศน์ 1 พบก่อสร้างล้าสมัย อายุเก่าแก่ ใช้อาคารผิดประเภท แถมไม่ได้บำรุงรักษาตามหลักมาตรฐาน เผยสถิติตึกแถวเก่าทั่วกรุงเทพฯ 1 แสนอาคารเสี่ยงทรุดตัว จี้รัฐแก้กฎหมายบังคับให้ตรวจสอบอาคาร สมาคมบ้านจัดสรรขานรับ แนะรัฐเข้ามาควบคุมให้มีการตรวจสอบใกล้ชิด ส่วนเจ้าของตึกต้องเน้นบำรุงรักษาอาคาร-การต่อเติมต้องขออนุญาตถูกต้อง

 

 

รศ.สิริวัฒน์ ไชยชนะ เลขาธิการ วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (วสท.) เปิดเผยว่า จากเหตุการณ์ตึกแถวเก่าหลังตลาดประชานิเวศน์ 1 เขตจตุจักรมีการทรุดตัวลงมา 12 คูหา เมื่อวันที่ 8 ก.ย.ที่ผ่านมา ทาง วสท.ได้จัดทีมเข้าตรวจสอบในพื้นที่เกิดเหตุ พบว่า อาคารมีปัญหา ขาดการดูแลรักษาและการออกแบบกันสาดที่มีลักษณะอุ้มน้ำ เมื่อฝนตกลงมาทำให้กันสาดต้องรับน้ำหนักบรรทุกเพิ่ม และเมื่อน้ำซึมเข้าไปในตัวคอนกรีตที่เสื่อมสภาพทำให้เหล็กเกิดสนิม รับน้ำหนักบรรทุกต่อไปไม่ไหว ประกอบกับโครงสร้างมีการยึดรั้งที่ไม่สมบูรณ์ จึงเป็นเหตุให้พังลงมา

 

 

ห่วงตึกแถวเก่าแสนแห่ง

 



"สาเหตุหลักทำให้อาคารพังเพราะเป็นอาคารเก่าระบบการก่อสร้างล้าสมัยรวมถึงเป็นอาคารขนาดเล็กทำให้อยู่นอกเหนือข้อบังคับสำหรับอาคารที่ต้องตรวจสอบ9 ประเภทตาม พ.ร.บ.ตรวจสอบอาคาร พ.ศ. 2548 อย่างไรก็ตาม เจ้าของอาคารขนาดเล็ก 1-2 ชั้นสามารถแจ้งไปทางหน่วยงานปกครองท้องถิ่นในพื้นที่เข้าดำเนินการตรวจสอบให้ได้ หากพบมีความผิดปกติ"

 



รศ.สิริวัฒน์กล่าวว่า ในภาพรวมประเมินว่า พื้นที่กรุงเทพฯมีอาคารขนาดเล็กที่ไม่เข้าข่ายกฎหมายตรวจสอบอาคารบังคับใช้ แต่เห็นว่าควรที่จะต้องมีการตรวจสอบเพราะมีการใช้งานมานานแล้ว รวมถึงมีความเสื่อมสภาพของวัสดุตามการใช้งาน 100,000 อาคาร

 



"ข้อแนะนำสำหรับประชาชนทั่วไป โดยเฉพาะเจ้าของที่อยู่อาศัย 2 ชั้น ควรให้ความสำคัญในเรื่องการดูแลบำรุงรักษา ยิ่งอาคารเก่ามากเท่าไหร่ยิ่งต้องดูแลมากกว่าปกติ วิธีการตรวจสอบเบื้องต้น หมั่นสังเกตรอยร้าวที่มีขนาดเกิน 20 มิลลิเมตรถือว่ามีความเสี่ยงมาก เช็กประตูและหน้าต่าง หากมีการเปิด-ปิดที่ผิดปกติอาจเข้าข่ายอาคารร้าว ตรวจสอบพื้นว่ามีความลาดเอียงผิดปกติหรือไม่ โดยเทน้ำลงพื้นถ้ามีการไหลรวดเร็วไปทางใดทางหนึ่ง บ่งบอกสัญญาณว่าอาคารมีความผิดปกติ"

 



แนะแก้ กม.ตรวจตึกเตี้ย

 



รศ.สิริวัฒน์กล่าวต่อว่า ปัจจุบันมีกฎหมายควบคุมและบังคับให้อาคาร 9 ประเภทต้องจัดทำรายงานตรวจสอบอาคาร ได้แก่ 1.อาคารสูง 2.อาคารขนาดใหญ่พิเศษ พื้นที่ 10,000 ตร.ม.ขึ้นไป 3.อาคารชุมนุมคน 4.โรงมหรสพ 5.โรงแรม 6.อาคารชุด/อาคารอยู่อาศัยรวม 7.โรงงาน 8.สถานบริการ 9.ป้ายโฆษณา (คัตเอาต์ บิลบอร์ด) ต้องตรวจสอบอาคารรายปี และตรวจสอบใหญ่ทุก 5 ปี สถิติมี 20,000 อาคาร คาดว่ามีอาคารเก่าไม่น้อยกว่า 4,000 อาคารที่ไม่เคยจัดทำรายงานตรวจสอบอาคาร

 



"ผู้ตรวจสอบอาคารต้องมีใบประกาศวิชาชีพวิศวกรหรือสถาปนิก และผ่านการอบรมจากสำนักงานวิชาชีพ ซึ่ง วสท.ได้มีการอบรมแล้วกว่า 2,000 คน อัตราค่าตรวจสอบถัวเฉลี่ย 4-5 บาท/ตร.ม. ดังนั้นเจ้าของอาคารขนาดเล็กหรือบ้านเรือนตึกแถวทั่วไปน่าจะรับได้ ไม่สูงมากนัก น่าจะเป็นแรงจูงใจให้ตรวจสอบอาคารมากขึ้น"

 



รศ.เอนก ศิริพานิชกร ประธานสาขาวิศวกรรมโยธา วสท. กล่าวเพิ่มเติมว่า วสท.อยู่ระหว่างเสนอแก้กฎกระทรวง ตาม พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 ไปยังกระทรวงมหาดไทย เพื่อให้ภาครัฐต้องมีการตรวจสอบการใช้อาคารทุกประเภทให้ถูกต้องตรงกับวัตถุประสงค์ในการขออนุญาตก่อสร้าง เนื่องจากสภาพปัญหาปัจจุบันที่พบคือ มีการใช้อาคารผิดประเภท โดยเฉพาะในประเภทอาคารพาณิชย์ที่พบว่ามีความสุ่มเสี่ยงสูง

 



อสังหาฯขานรับ

 



นายอธิป พีชานนท์ นายกสมาคมธุรกิจบ้านจัดสรร กล่าวกับ "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า ปัญหาอาคารถล่มหรือทรุดตัวมีมาตลอด เนื่องจากกฎหมายควบคุมให้มีการตรวจเฉพาะอาคารขนาดใหญ่ ขณะที่อาคารสูง 1-2 ชั้นกฎหมายมีการควบคุมเฉพาะเรื่องการขออนุญาตก่อสร้าง ทำให้มีความเสี่ยงมากกว่าตึกสูง เนื่องจากอาคารจะปลอดภัยหรือไม่ขึ้นกับเจ้าของอาคารมีการบำรุงรักษาอย่างดีหรือไม่

 



ดังนั้น ข้อเสนอแนะคือหน่วยงานราชการเมื่อออกใบอนุญาตก่อสร้างแล้ว ต้องมีการตรวจสอบใกล้ชิดด้วย ขณะเดียวกัน ในฝั่งประชาชนเจ้าของในการต่อเติมหรือดัดแปลงอาคารจำเป็นต้องขออนุญาตอย่างถูกต้อง เพื่อให้หน่วยงานรัฐเข้ามามีส่วนร่วมดูแลความปลอดภัยในการใช้อาคาร ที่สำคัญจำเป็นต้องมีการบำรุงรักษาให้มีมาตรฐานและมีความปลอดภัยในการใช้อาคาร

 



"เวลามีปัญหาตึกทรุดตึกถล่มผู้บริโภคจะวิตกกังวลว่าคอนโดมิเนียมหรือตึกสูงจะถล่มหรือไม่ผมบอกได้เลยว่าไม่ต้องระแวงเพราะกฎหมายคุมเข้มงวดมากกับการก่อสร้างตึกสูงทำให้มีความปลอดภัยสูงมาก ในด้านการก่อสร้างเราได้มาตรฐานเทียบเท่าตึกสูงในสิงคโปร์ กลุ่มที่น่าเป็นห่วงคืออาคารพาณิชย์กับทาวน์เฮาส์ เพราะมีการใช้อาคารผิดประเภทกับมีการต่อเติมดัดแปลงอาคารสูงมาก" นายอธิปกล่าว
 

 

ขอบคุณภาพและข่าวจาก ประชาชาติธุรกิจ

 

 

http://www.prachachat.net/news_detail.php?newsid=1474267311

>> ช่องทางในการติดตามข่าวสาร <<
ไม่พลาดข่าวสำคัญ แค่กดเป็นเพื่อนกับ ไลน์ @livinginsider ที่นี่

บทความอื่นๆ

livinginsider livinginsider