News
icon share

ประชานิเวศน์ตลาดต้นแบบ งบสร้าง 2 พันล./เปิดทางเอกชนสร้างที่อยู่อาศัย

LivingInsider Report 2016-09-19 12:22:15
ประชานิเวศน์ตลาดต้นแบบ งบสร้าง 2 พันล./เปิดทางเอกชนสร้างที่อยู่อาศัย

 

 

จุฬาฯ เผยต้นแบบตลาดประชานิเวศน์ 1 โฉมใหม่ คาดใช้งบก่อสร้าง 2 พันล้าน เร่งส่งผลสรุปให้กทม.ด้าน รองผู้ว่าฯกทม.ยันเดินหน้าดำเนินการตามกฎหมายปกครอง หากประชาชนไม่ย้ายออกจากตลาด ย้ำชัดสนง.ตลาดฯทำตามขั้นตอน วสท.เผยหากโครงสร้างแข็งแรงและมีการตรวจสอบสม่ำเสมอ เชื่ออยู่ได้ 50 ปี ด้านผู้พักอาศัยแจงสำนักงานตลาดไม่เคยดูแลอาคาร

 

 

ประชานิเวศน์ตลาดต้นแบบ งบสร้าง 2 พันล./เปิดทางเอกชนสร้างที่อยู่อาศัย

 

 

ศาสตราภิชาน รศ.มานพ พงศทัต อาจารย์ผู้ทรงคุณวุฒิ ภาควิชาเคหการคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และที่ปรึกษาศูนย์บริการวิชาการแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผย “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ภายหลังจากที่คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เข้าตรวจสอบอาคารในตลาดประชานิเวศน์ 1 ในปี 2557 พบว่า ไม่มีความแข็งแรงพอที่จะอยู่อาศัย สำนักงานตลาดฯจึงมีหนังสือแจ้งให้ผู้เช่าย้ายออก ในขณะเดียวกันก็ว่าจ้างให้ศูนย์บริการวิชาการแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ศึกษาวิเคราะห์รูปแบบตลาดใหม่ ซึ่งทางศูนย์ได้ออกแบบมาทั้งหมด 3 แบบ คาดว่าจะใช้งบประมาณในการก่อสร้างประมาณ 2,000 ล้านบาท พื้นที่รวม 1 แสนตารางเมตร

 

 

สำหรับรูปแบบที่ 1 ประกอบด้วย อาคารตลาด 2 ชั้น 266 หน่วย อาคารพาณิชย์ 4 ชั้น 129 หน่วย อาคารสำนักงาน 6 ชั้น อาคารจอดรถ 4 ชั้น 260 คัน และที่จอดรถแนวราบ 43 คัน , แบบที่ 2 ประกอบด้วย อาคารพาณิชย์ 4 ชั้น 129 หน่วย อาคารสำนักงาน 6 ชั้น อาคารจอดรถ 4 ชั้น 260 คัน อาคารที่พักอาศัย 15 ชั้น 225 หน่วย ที่จอดรถแนวราบ 77 คัน และแบบที่ 3 ประกอบด้วย อาคารพาณิชย์ 4 ชั้น 73 หน่วย อาคารสำนักงาน 6 ชั้น อาคารจอดรถ 4 ชั้น 260 คัน อาคารที่พักอาศัย 30 ชั้น 696 หน่วย ขนาด 40 ตารางเมตรต่อหน่วย พลาซ่า 4 ชั้น+ที่จอดรถใต้ดิน 693 คัน ที่จอดรถแนวราบ 72 คัน

 

 

โดยทั้ง 3 แบบยังไม่ได้มีการสรุปเลือกแบบแต่อย่างไร ซึ่งคาดว่าจะสามารถสรุปแบบได้หลังจากมีการรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างออกแล้ว เบื้องต้นคาดว่าจะมีการเสนอเพิ่มอีก 1 แนวทาง เพื่อเพิ่มทางเลือกให้กับกรุงเทพมหานคร คือ ไล่พัฒนาทีละเฟส เพื่อลดแรงต่อต้านจากคนในพื้นที่

 

 

“งบประมาณก่อสร้างจำนวน 2,000 ล้านบาทไม่ใช่งบประมาณที่น้อยๆจะให้ขอสนับสนุนจากทางภาครัฐคงเป็นเรื่องยาก ดังนั้นกทม.ต้องหาเงินเอง โดยการทำตลาดให้เป็นมากกว่าตลาดอย่างในปัจจุบัน เช่น สร้างที่อยู่อาศัย เพื่อปล่อยเช่าระยะยาว เนื่องจากทำเลดังกล่าวมีศักยภาพอย่างมาก โดยอาจให้ภาคเอกชนเข้ามาร่วมประมูลพัฒนาโครงการที่อยู่อาศั”

 

 

ด้าน นายอมร กิจเชวงกุล รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า อาคารตึกแถวตลาดประชานิเวศน์ 1 ไม่เหมาะที่จะพักอาศัย ขณะนี้มีมีคำสั่งเด็ดขาดให้ย้ายออกภายใน 45 วัน หากผู้พักอาศัยไม่ปฏิบัติตาม ทางกรุงเทพมหานครจะดำเนินการตามกฎหมายทันที เนื่องจากได้มีการผ่อนปรนมาเป็นเวลานานแล้ว โดยการปรับปรุงใหม่ในครั้งนี้ ทางคณะกรรมการตลาดจะยังคงยึดหลักปฎิบัติที่ว่า ประชาชนจะต้องไม่เดือดร้อน ผู้ร่วมพัฒนาจะได้รับประโยชน์

 

 

สำหรับ รศ.สิริวัฒน์ ไชยชนะ เลขาธิการ ผู้แทนวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทยฯ (วสท.) กล่าวว่า ทันที่ที่เกิดเหตุทางวสท.ลงพื้นที่ตรวจสอบ พบว่า การถล่มของกันสาดของอาคารตึกแถวมาจาก 3 สาเหตุหลัก คือ 1.ความบกพร่องของโครงสร้าง ขาดการยึดรั้งที่สมบูรณ์ ขาดความต่อเนื่องทำให้อาคารขาดความมั่นคงแข็งแรง ไม่เสถียรภาพ และ 2.มาตรฐานของการก่อสร้างไม่ดีพอ การต่อเหล็กเสริม การวางเหล็กเสริมคาน-พื้นก่อสร้างในยุคที่พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.)ควบคมอาคาร พ.ศ.2522 เพิ่งประกาศใช้ และ 3.ไม่มีระบบการบริหารจัดการการใช้อาคารให้ปลอดภัย

 

 

“เนื่องจากเป็นอาคารเก่าที่ก่อสร้างมานานถึง 30 ปี ตามหลักการใช้อาคารให้มีประสิทธิภาพ จะต้องมีการตรวจสอบสภาพ เช่น ความเสื่อมสภาพของคอนกรีต การเป็นสนิมของเหล็กเสริม รอยแยก รอยแตกร้าวต่างๆอย่างสม่ำเสมอทุกปี โดยผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้าน และตรวจสอบใหญ่ 3 ปีครั้ง โดยผู้มีใบอนุญาตตรวจสอบอาคาร หากมีการตรวจสอบอย่างสม่ำเสมอ เชื่อว่าตัวอาคารจะสามารถอยู่ได้มากกว่าอายุการใช้งานปกติที่มีอายุ 20-30 ปี”รศ.สิริวัฒน์ กล่าว

 

 

จากการสอบถามนายคชพจน์ หนึ่งในผู้พักอาศัยในอาคารพักอาศัยตลาดประชานิเวศน์ กล่าวว่า นับตั้งแต่สำนักงานตลาดแจ้งให้ย้ายออก ก็มิได้นิ่งเฉยแต่ด้วยสภาพความเป็นอยู่และปัญหาด้านการเงินทำให้ไม่สามารถหาที่อยู่อาศัยในบริเวณเดียวกันได้ ขณะเดียวกันบ้านเช่าในพื้นที่มีการปรับราคาเพิ่มเท่าตัวหลังเกิดเหตุการณ์จาก 1 หมื่นบาทต่อเดือน เป็น 2 หมื่นบาทต่อเดือน

 

 

ขอบคุณภาพและข่าวจาก ฐานเศรษฐกิจ

 

 

http://www.thansettakij.com/2016/09/19/98501

>> ช่องทางในการติดตามข่าวสาร <<
ไม่พลาดข่าวสำคัญ แค่กดเป็นเพื่อนกับ ไลน์ @livinginsider ที่นี่

บทความอื่นๆ

livinginsider livinginsider