Knowledge
icon share

รวมวิธีกำจัดเชื้อราหน้าฝน สะอาดปลอดภัยไร้ปัญหา

Triumph 2020-05-13 09:34:37
รวมวิธีกำจัดเชื้อราหน้าฝน สะอาดปลอดภัยไร้ปัญหา

 

หลังจากทนร้อนมาหลายวัน ในที่สุดประเทศไทยเราก็เข้าหน้าฝนแล้วจ้า ชุ่มฉ่ำแต่เช้าเชียว แต่ฝนไม่ได้พาแค่ความเย็นมาดับร้อนอย่างเดียวนะ แต่ฝนมักจะพาปัญหาเชื้อราตามมาด้วย ซึ่งเชื้อรานอกจากจะทำให้บ้านสกปรกแล้ว ยังอาจส่งผลต่อสุขภาพเจ้าของบ้านได้อีกต่างหากนะครับ เป็นอันตรายที่ห้ามมองข้ามเลย ... อย่าปล่อยให้เชื้อราเข้ามายึดบ้านเราครับ มาหาวิธีจัดการมันดีกว่า ! 

 

เชื้อราในบ้านมาจากไหน ?

เชื้อรามักมากับความชื้นและชอบอยู่จุดที่แสงแดดส่องไม่ถึงและอากาศไม่ถ่ายเท อย่างเช่นในห้องน้ำ ตะกร้าใส่ผ้าใช้แล้ว หรือรอยรั่วริมกำแพง พื้นที่เหล่านี้มักเป็นมุมอับที่อากาศถ่ายเทได้ไม่ดีและมีความชื้นมากกว่าบริเวณอื่น ๆ ซึ่งสปอร์ของเชื้อราสามารถลอยไปในอากาศและพัดไปตกได้ทุกที่ เกิดมันไปตกในพื้นที่ที่สภาพแวดล้อมเอื้ออำนวยก็จะทำให้เกิดราขึ้นมานั่นเองครับ  

รวมวิธีกำจัดเชื้อราหน้าฝน สะอาดปลอดภัยไร้ปัญหา

ขอบคุณภาพจาก rd.com

 

วิธีกำจัดเชื้อราภายในบ้าน ต้องทำอย่างไร

อย่างที่บอกไปตอนต้นว่าเชื้อรามักมากับความชื้นครับ ให้ลองสำรวจในห้องน้ำ หลังตู้เสื้อผ้า หรือใต้ตะกร้าผ้าดูนะครับ ถ้าเจอรอยจุดดำ ๆ ล่ะก็นั่นแหละ เจ้าเชื้อรามันมาแล้ว ถ้ามันมาต้องทำไงล่ะ ? ไม่ต้องตกใจครับ เราสามารถกำจัดมันได้ง่าย ๆ ด้วยการทำตามขั้นตอน ดังนี้ 

 

1. ใช้ทิชชู่ชุบน้ำเช็ดบริเวณที่มีเชื้อรา

เมื่อเจอเจ้าเชื้อราตัวร้ายแล้ว อย่างแรกที่ควรทำคือใช้ทิชชู่หรือหนังสือพิมพ์ชุบน้ำพอหมาด ๆ แล้วเช็ดทไปในทางเดียวกันครับ อย่าเช็ดแบบแห้งหรือถูวนไปมานะครับ เพราะอาจทำให้เชื้อราฟุ้งกระจายได้ หลังจากเช็ดจนทั่วแล้วให้นำกระดาษที่ใช้เช็ดทิ้งในถุงแล้วมัดปากถุงขยะให้มิดชิดเลยครับ ป้องกันเชื้อรากลับมาใหม่

 

2. ใช้น้ำสบู่หรือน้ำยาล้างจานเช็ดตาม

หลังจากใช้ทิชชู่ชุบน้ำเช็ดเรียบร้อยแล้ว ขั้นตอนต่อมาให้ใช้ทิชชู่หรือกระดาษหนังสือพิมพ์ชุบน้ำสบู่หรือน้ำยาล้างจานเช็ดที่จุดเดิมอีกครั้งหนึ่ง

 

3. ใช้น้ำยาฆ่าเชื้อราเช็ดซ้ำ

ในส่วนของน้ำยาที่ใช้ฆ่าเชื้อราได้นั้นมีหลายชนิดครับ เช่น น้ำส้มสายชู 5%-7%, แอลกอฮอล์ความเข้มข้น 60%-90%, คลอลีน บลีช (Chlorine Bleach), ไฮโดรเจนเพอร์ออกไซด์ (Hydrogen Peroxide), เบ้กกิ้งโซดา หรือสารบอแรกซ์ เป็นต้น โดยให้ใช้กระดาษทิชชู่หรือกระดาษหนังสือพิมพ์เช็ดเหมือนเดิมนะครับ 

 

4. ไม่ควรใช้ผ้าขี้ริ้วเช็ด

สาเหตุที่ไม่ควรใช้ผ้าขี้ริ้วเช็ดทำความสะอาดเชื้อราเป็นเพราะว่า เชื้อราที่เช็ดออกจากพื้นหรือผนังอาจฝังติดอยู่บนผ้าขี้ริ้วแทน แล้วผ้าขี้ริ้วผืนนั้นก็จะกลายเป็นแหล่งเพาะเชื้อราต่อไปนั่นเองครับ

 

5. ใส่ถุงมือและสวมแมสก์ทุกครั้ง

นอกจากเชื้อราจะเป็นอันตรายต่อบ้านแล้ว ยังเป็นอันตรายต่อร่างกายของเราอีกด้วยครับ หากเชื้อราเข้าสู่ร่างกายอาจทำให้เกิดความระคายเคือง คัดจมูก น้ำมูกไหล มีไข้ ซึ่งบางครั้งอาจก่อให้เกิดโรคภูมิแพ้ หอบหืด หรือปอดอักเสบได้เลยทีเดียว ฉะนั้นอย่าลืมสวมถุงมือและแมสก์ทุกครั้งที่กำจัดเชื้อรานะครับ  

 

รวมวิธีกำจัดเชื้อราหน้าฝน สะอาดปลอดภัยไร้ปัญหา

ขอบคุณภาพจาก sapphireinspections.ca

 

วิธีป้องกันเชื้อราตัวร้ายจากบ้านของเรา

ถึงแม้เชื้อราจะอยู่ในอากาศและมองแทบไม่เห็นด้วยตาเปล่า แต่ก็ใช่ว่าจะป้องกันไม่ได้นะครับ เราสามารถลดความเสี่ยงต่อเชื้อราตัวร้ายได้ด้วยวิธีการดังต่อไปนี้

 

  • ทำความสะอาดบ้านเป็นประจำ เพราะเชื้อราชอบอยู่ตามมุมอับ ๆ ชื้น ๆ ถ้าเราทำความสะอาดบ้านบ่อย ๆ ก็จะช่วยลดความเสี่ยงที่เชื้อราจะเจริญเติบโตได้ครับ 
  • เปิดประตู-หน้าต่างระบายอากาศ การเปิดประตูและหน้าต่างเพื่อให้อากาศถ่ายเทเข้ามาภายในห้อง ถือเป็นการช่วยลดความอับชื้นครับ ทำให้เชื้อราไม่สามารถเจริญเติบโตได้ 
  • เสื้อเปียกอย่าหมักไว้ ช่วงหน้าฝนยิ่งต้องระวังครับ บางคนเปียกฝนกลับมาก็โยนผ้าลงตะกร้า กว่าจะซักก็อีกหลายวัน จึงทำให้เสี่ยงต่อเชื้อรา ถ้าจะให้ดีควรซักเลยจะปลอดภัยกว่า
  • ตรวจเช็ครอยรั่วซึมรอบบ้าน เป็นธรรมดาที่บ้านจะเกิดรอยแตกรอยร้าวหรือรั่วซึม เป็นหน้าที่เจ้าของบ้านที่ต้องคอยสังเกตให้ดี หากเกิดรอยร้าวรอยรั่วขึ้นมาให้รีบแก้ไขซ่อมแซม ไม่งั้นหน้าฝนนี้อาจต้องรบกับเชื้อราบนฝ้าเพดานหรือผนังบ้านได้

 

รวมวิธีกำจัดเชื้อราหน้าฝน สะอาดปลอดภัยไร้ปัญหา

ขอบคุณภาพจาก seekster.co

 

ทั้งหมดนี้เป็นวิธีการรับมือกับเชื้อราในหน้าฝนที่กำลังจะมาถึงนี้นะครับ ถ้าจะให้ดีอย่ารอให้เชื้อราเจริญเติบโตในบ้านเราจะดีที่สุด แต่ถ้ามันเล็ดรอดสายตาไปจริง ๆ เจออีกทีก็สร้างอาณาจักรเรียบร้อยแล้วแบบนี้ ก็สามารถใช้วิธีที่แนะนำไปจัดการได้เลยครับ สะอาดเอี่ยมไร้กังวลแน่นอน

 

อ่านอะไรต่อดี ?

รวมเทคนิคการทำความสะอาดบ้านให้ครบ จบในรอบเดียว !

เคล็ดลับเช็ดกระจกให้สะอาด ใสวิ้ง เงาวับ ไม่ทิ้งคราบสกปรกกวนใจ

เครื่องฟอกอากาศในบ้าน จำเป็นจริงหรือ ?

 

>> ช่องทางในการติดตามข่าวสาร <<
ไม่พลาดข่าวสำคัญ แค่กดเป็นเพื่อนกับ ไลน์ @livinginsider ที่นี่

บทความอื่นๆ

livinginsider livinginsider