News
icon share

เร่ง Fast Track เมกะโปรเจ็กต์ ดูดเงินเอกชนลงทุน 2.4 แสนล้าน

LivingInsider Report 2016-09-14 11:12:38
เร่ง Fast Track เมกะโปรเจ็กต์ ดูดเงินเอกชนลงทุน 2.4 แสนล้าน

 

 

PPP Fast Track หมัดเด็ดที่ดรีมทีมเศรษฐกิจรัฐบาล คสช. หวังเป็นพระเอกขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยให้สดใส  ถึงนาทีปฏิเสธไม่ได้ว่า ยังไม่เป็นไปตามที่คาดหวังมากนัก เมื่อการเดินทางของแต่ละโครงการยังดีเลย์จาก "Fast Track" เลยอยู่ในโหมด "Slow Track" แทน



นับจากนี้อาจจะเห็นบางโครงการอาจจะถึงขั้นใช้มาตรการดับเบิล "Fast Track" กรุยทางให้ฉลุย ดีเดย์ 15 ก.ย.นี้ "บอร์ด-คณะกรรมการ PPP" มี"พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา" นายกรัฐมนตรี เป็นประธานเตรียมจัดประชุมคัดโครงการลงทุนกระตุกเศรษฐกิจโค้งสุดท้าย



วาระงาน "สคร.-สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ" เตรียมชงโปรเจ็กต์ของคมนาคมให้ที่ประชุมกดปุ่มเดินหน้าตามขั้นตอน PPP Fast Track อย่างน้อย 2 โครงการ โดยเปิดให้เอกชนร่วมทุนติดตั้งและจัดเก็บระบบค่าผ่านทางมอเตอร์เวย์สายบางปะอิน-โคราช และบางใหญ่-กาญจนบุรี มูลค่ารวมกว่า 2 หมื่นล้านบาท



หากได้รับไฟเขียวอย่างเร็วก็ประมูลภายในปีนี้ อย่างช้าก็ต้นปีหน้า ตามแผนจะแล้วเสร็จพร้อมกับงานก่อสร้างที่ "ทล.-กรมทางหลวง" เทกระจาดประมูลรอครบทั้งเส้นทางแล้ว



นอกจาก 2 โครงการที่รอบอร์ด PPP เคาะ ในบัญชีของคมนาคมยังมีอีกหลายโครงการที่เข้าคิวรอให้ "รัฐบาล คสช."กดปุ่ม
 


ล่าสุด "ชาติชาย ทิพย์สุนาวี" ปลัดกระทรวงคมนาคม ได้รายงานความก้าวหน้าโครงการภายใต้แผนยุทธศาสตร์การให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐปี 2558-2562 รวมถึงเสนอโครงการที่ให้เอกชนร่วมลงทุนเพิ่มเติมต่อ สคร.รวมทั้งสิ้น 27 โครงการ มูลค่าลงทุนกว่า 1.39 ล้านล้านบาท แยกเป็นกิจการที่สมควรให้เอกชนมีส่วนร่วมลงทุนกว่า 1 ล้านล้านบาท เป็นเงินลงทุนของเอกชน 248,394 ล้านบาท



มีรถไฟฟ้า 8 โครงการ ทั้งกำลังประมูลและก่อสร้าง ได้แก่ สายสีเขียวแบริ่ง-สมุทรปราการ และหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต, สีส้มตะวันออก ช่วงศูนย์วัฒนธรรม-มีนบุรี และส่วนตะวันตก ช่วงตลิ่งชัน-ศูนย์วัฒนธรรม, สีม่วง ช่วงเตาปูน-วงแหวนรอบนอก, สีชมพู แคราย-มีนบุรี, สีเหลืองลาดพร้าว-สำโรง และสีน้ำเงิน ส่วนขยายหัวลำโพง-บางแค และบางซื่อ-ท่าพระ



ยังมีทางด่วนสายกะทู้-ป่าตอง จ.ภูเก็ต อยู่ระหว่างการพิจารณารายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (EIA), การพัฒนาท่าเรือขนส่งสินค้า 5 โครงการ ได้แก่ ท่าเรือแหลมฉบังเฟส 3, ท่าเรือคลองใหญ่ จ.ตราด, ท่าเรือน้ำลึกสงขลา แห่งที่ 2, ท่าเรือชุมพร และท่าเรือปากบารา จ.สตูล ที่กำลังทบทวนความเหมาะสมและสำรวจออกแบบ รวมถึงหารือระหว่างกรมเจ้าท่ากับกรมธนารักษ์ เกี่ยวกับการกำหนดผลประโยชน์ตอบแทนการบริหารจัดการท่าเรือที่เหมาะสม ก่อนคัดเลือกเอกชนดำเนินการ
 


นอกจากนี้มีรถไฟความเร็วสูง 2 โครงการที่ให้เอกชน PPP ทั้งโครงการ ได้แก่ สายกรุงเทพฯ-ระยอง วงเงิน 152,448 ล้านบาท และกรุงเทพฯ-หัวหิน วงเงิน 101,952 ล้านบาท



ส่วนโครงการที่รัฐส่งเสริมให้เอกชนมีส่วนร่วมในการลงทุน มี 11 โครงการ ได้แก่ เก็บค่าผ่านทางมอเตอร์เวย์สายนครปฐม-ชะอำ, วงแหวนรอบนอกกรุงเทพฯ ด้านตะวันตก-ราชบุรี (ปากท่อ), หาดใหญ่-ชายแดนไทย/มาเลเซีย, ส่วนต่อขยายโทลล์เวย์ ช่วงรังสิต -บางปะอิน, บางปะอิน-นครราชสีมา และบางใหญ่-กาญจนบุรี



โครงการพัฒนาสถานีขนส่งบรรจุแยกและกระจายสินค้าที่ไอซีดี ลาดกระบัง, ศูนย์เปลี่ยนถ่ายรูปแบบการขนส่งสินค้าเชียงของ จ.เชียงราย, ศูนย์การขนส่งสินค้าชายแดน จ.นครพนม และพัฒนาสถานีขนส่งสินค้าภูมิภาคเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการขนส่งทางถนนด้วยรถบรรทุก อยู่ในขั้นตอนการศึกษาและวิเคราะห์โครงการตาม พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ ปี 2556 และการจัดหาผู้บริหารจัดการและบำรุงรักษาระบบตั๋วร่วม



ยังรวมถึงการเสนอโครงการที่มีความเป็นไปได้ นำมาระดมทุนผ่านกองทุนโครงสร้างพื้นฐาน เพื่ออนาคตของประเทศไทย (ThailandFuture Fund) อีก 2 โครงการ คือ มอเตอร์เวย์กรุงเทพฯ-บ้านฉาง และถนนวงแหวนรอบนอกกรุงเทพฯ และทางด่วนสายพระราม 3-ดาวคะนอง-วงแหวนรอบนอกตะวันตก
 


เป็นความคืบหน้าการจัดทัพเมกะโปรเจ็กต์ ขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยให้เดินหน้า ฝ่าวงล้อมทั้งการเมือง เศรษฐกิจภายในและภายนอก

 

 

ขอบคุณภาพและข่าวจาก ประชาชาติธุรกิจ

 

 

http://www.prachachat.net/news_detail.php?newsid=1473658441

>> ช่องทางในการติดตามข่าวสาร <<
ไม่พลาดข่าวสำคัญ แค่กดเป็นเพื่อนกับ ไลน์ @livinginsider ที่นี่

บทความอื่นๆ

livinginsider livinginsider