News
icon share

คมนาคมรายงาน ครม.ผลศึกษาทำไมต้องขยายสัมปทาน”ทางด่วน-รถไฟฟ้าสายสีเขียว”

LivingInsider Report 2020-07-01 15:07:09
คมนาคมรายงาน ครม.ผลศึกษาทำไมต้องขยายสัมปทาน”ทางด่วน-รถไฟฟ้าสายสีเขียว”

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 30 มิ.ย. 2563 มีมติรับทราบผลการศึกษาเรื่องการพิจารณาศึกษาการขยายสัญญาสัมปทานทางด่วนและรถไฟฟ้าบีทีเอส ของคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาการขยายสัญญาสัมปทานทางด่วนและรถไฟฟ้า (บีทีเอส) สภาผู้แทนราษฎร ตามที่กระทรวงคมนาคม เสนอ และแจ้งให้สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรทราบต่อไป

 

โดยกระทรวงคมนาคมได้แต่งตั้งคณะกรรมการพิจารณาศึกษาแนวทางและความเหมาะสมของรายงานการพิจารณาศึกษาการขยายสัมปทานทางด่วนและรถไฟฟ้าบีทีเอส ของคณะกรรมาธิการวิสามัญ สภาผู้แทนราษฎร

 

ในกรณีคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ เห็นด้วยกับขยายสัญญาสัมปทานทางด่วน ซึ่งการขยายระยะเวลาสัมปทานทางด่วนนั้น ครม.มีมติวันที่ 18 ก.พ. 2563 เห็นชอบการแก้ไขสัญญาโครงการระบบทางด่วนขั้นที่ 2 รวมถึงส่วน D และสัญญาทางด่วนสายบางปะอิน – ปากเกร็ด รวม 2 ฉบับ ตามที่คมนาคมเสนอ

 

โดยให้ต่อขยายระยะเวลาสัญญาทางด่วนขั้นที่ 2 ส่วน A B C ออกไปอีก 15 ปี 8 เดือน นับแต่วันสัญญาสิ้นสุดในวันที่ 29 ก.พ. 2563 สำหรับส่วน D ขยายเป็นระยะเวลา 8 ปี 6 เดือน นับแต่สัญญาส่วน D สิ้นสุดในวันที่ 21 เม.ย. 2570 และทางด่วนสายบางปะอิน – ปากเกร็ดต่อขยายเป็นระยะเวลา 9 ปี 1 เดือน นับแต่วันสัญญาสิ้นสุดในวันที่ 26 ก.ย. 2569

คมนาคมรายงาน ครม.ผลศึกษาทำไมต้องขยายสัมปทาน”ทางด่วน-รถไฟฟ้าสายสีเขียว”

 

เพื่อยุติปัญหาข้อพิพาทที่เกิดขึ้นตามสัญญาเดิมทั้งหมด เป็นการบริหารความเสี่ยงเกี่ยวกับสถานะทางการเงินของการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กพท.) โดยไม่ต้องต่อสู้คดีกันต่อไป

 

สำหรับการต่อสัมปทานใน 15 ปีหลัง ซึ่งให้มีการก่อสร้างทางด่วนขึ้นที่ 2 นั้น ครม.มีมติให้คมนาคมไปพิจารณาศึกษา แล้วนำเสนอ ครม.ต่อไป

 

รวมทั้งเอกชนที่เป็นคู่สัญญาตกลงให้ความร่วมมือยกเว้นค่าผ่านทางในเทศกาลต่าง ๆ และจะไม่เรียกร้องค่าชดเชยและค่าเสียหายด้วย ส่วนการสอบสวนหาผู้กระทำความผิดเพื่อตรวจสอบการดำเนินการเกี่ยวกับการเกิดข้อพิพาทจนนำไปสู่การขยายสัญญาสัมปทาน ในเรื่องนี้คมนาคมได้ส่งเรื่องให้กรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) พิจารณาดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไปแล้ว

 

ทั้งนี้การขยายสัญญาสัมปทานดังกล่าวเป็นการบรรเทาความเสียหายที่เกิดขึ้นกับ กทพ. โดย กทพ.ไม่ต้องนำส่วนแบ่งรายได้ชำระหนี้ให้แก่เอกชน และหาก กทพ.ต้องจ่ายค่าชดเชยตามคำพิพากษาก็ยังสามารถให้บริการประชาชนต่อไปได้โดยไม่เกิดผลกระทบต่อรายได้ที่จะนำส่งรัฐ ซึ่งการขยายสัมปทานเป็นการลดความสูญเสียจากการแพ้คดี

 

และในสัญญาโครงการระบบทางด่วนขั้นที่ 2 (ฉบับแก้ไข) และสัญญาทางด่วนสายบางปะอิน – ปากเกร็ด (ฉบับแก้ไข) ยังคงเงื่อนไขให้ปรับอัตราค่าผ่านทางทุก 5 ปี และยังมีการยกเว้นค่าผ่านทางให้แก่ประชาชนในเทศกาลต่าง ๆ ด้วย

 

และการแก้ไขสัญญาสัมปทานกรณีนี้เป็นการดำเนินการตามพระราชบัญญัติการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ พ.ศ. 2556 มาตรา 47 ประกอบกับพระราชบัญญัติการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 ซึ่งเป็นไปตามความเห็นของสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ

 

ส่วนผลการศึกษาการขยายสัมปทานเดินรถไฟฟ้าสายสีเขียวของ บมจ.ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ (บีทีเอส) ของคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ ให้กรุงเทพมหานคร (กทม.) ดำเนินการตามคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ 3/2562 เรื่อง การดำเนินการโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ลงวันที่ 11 เม.ย.2562 ให้ครบถ้วน และเป็นไปตามกฎหมาย เพื่อให้มีการต่อสัญญาสัมปทานนี้ต่อไป

 

ขอบเขตของคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติดังกล่าวจะมีผลให้เอกชนต้องรับภาระค่าใช้จ่ายต่าง ๆ แทน กทม. ในช่วงต้นโครงการ และ กทม. ได้รับส่วนแบ่งจากค่าโดยสาร สถานีเชื่อมต่อการเดินทาง เช่น สถานีห้าแยกลาดพร้าว ได้มีการออกแบบเพื่อรองรับการเดินรถในระบบ Through Operation

 

และไม่มีการเรียกเก็บค่าแรกเข้าซ้ำซ้อน อัตราค่าโดยสารตามสัญญาร่วมทุนมีราคาน้อยกว่าหรือเท่ากับอัตราค่าโดยสารที่มีการจัดเก็บในปัจจุบัน และอัตราค่าโดยสารตลอดสายสูงสุด 65 บาท และตามสัญญาร่วมลงทุนได้รวมการปรับปรุงบริเวณสถานีตากสินไว้ด้วย จะทำให้สถานีสีลมมีค่าความถี่การให้บริการดีขึ้น และมีการกำหนดค่าความหนาแน่นของผู้โดยสารตามมาตรฐานที่มีความเหมาะสม

 

เป็นการแก้ไขปัญหาภาระการเงินของ กทม. ในอนาคต ซึ่ง กทม.อาจนำส่วนแบ่งผลประโยชน์มาเป็นส่วนลดค่าโดยสารให้กับประชาชนนั้น เนื่องจากการเจรจาผลตอบแทนกับภาคเอกชน ได้พิจารณารายได้จากเส้นทางหลัก ส่วนต่อขยายที่ 1 และส่วนต่อขยายที่ 2 ในคราวเดียวกัน โดยนำผลกำไรจากเส้นทางหลักมาชดเชยผลขาดทุนของส่วนต่อขยายที่ 1 และส่วนต่อขยายที่ 2

 

จากแนวทางดังกล่าวจะทำให้มีอัตราค่าโดยสารเหมาะสม คือสูงสุดไม่เกิน 65 บาท และไม่กระทบภาระทางการเงินของ กทม. สำหรับต้นทุนภาระทางการเงิน 107,000 ล้านบาท ในการสร้างส่วนต่อขยายรถไฟฟ้าสายสีเขียวนั้น กทม. จะนำเงินรายได้ของโครงการมาชำระค่างานโยธา ดอกเบี้ย และภาระอื่น ๆ สำหรับส่วนต่อขยายที่ 2 จากการรับโอนทรัพย์สินและหนี้สินจากการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.)

 

การที่ไม่ส่งข้อมูลให้คณะกรรมาธิการฯ ทำให้ไม่สามารถพิจารณาประเด็นภาระต้นทุนทางการเงินของ กทม. ได้นั้น กทม. ได้ให้ข้อมูลสูงสุดที่สามารถให้ได้จากการเจรจาแล้ว

 

สำหรับแนวทางการแก้ไขปัญหาทางการเงินของภาครัฐด้วยการขยายสัญญาสัมปทานควรอยู่ 5 ในกรอบของ 1.ระยะเวลาการขยายสัมปทาน 2.อัตราค่าโดยสาร 3.การจัดหาผู้ประกอบการที่สามารถบริการตามความต้องการของประชาชน และ 4.การดำเนินการตามกระบวนการทางกฎหมาย นั้น กทม.ได้ยึดถือแนวทางดังกล่าวเป็นกรอบในการเจรจาสัญญาร่วมลงทุนระหว่าง กทม. กับภาคเอกชน

 

อย่างไรก็ตาม กทพ. ควรเร่งดำเนินการให้เป็นไปตามมติ ครม.เมื่อวันที่ 18 ก.พ. 2563 และเพื่อความรอบคอบในการบริหารกิจการขององค์กร กทพ.ควรศึกษาผลกระทบและปัจจัยเสี่ยงอันเกิดจากการดำเนินการตามข้อสัญญาเดิม เพื่อมิให้เกิดข้อพิพาทในลักษณะเช่นเดียวกันกับที่ผ่านมา

 

สำหรับกรณี กทม.ควรดำเนินการตามขั้นตอนของคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 3/2562 ดังกล่าวให้ครบถ้วน รวมทั้งต้องปฏิบัติตามกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้อง

 

 

ขอบคุณภาพและข่าวจาก ประชาชาติธุรกิจ

https://www.prachachat.net/property/news-484926

>> ช่องทางในการติดตามข่าวสาร <<
ไม่พลาดข่าวสำคัญ แค่กดเป็นเพื่อนกับ ไลน์ @livinginsider ที่นี่

บทความอื่นๆ

livinginsider livinginsider