News
icon share

สะดุดจุดบอด ศรีรัช-วงแหวน รถติดตรึม-ไล่แก้คอขวดรอยต่อ หมอชิต

LivingInsider Report 2016-08-23 10:45:38
สะดุดจุดบอด ศรีรัช-วงแหวน รถติดตรึม-ไล่แก้คอขวดรอยต่อ หมอชิต

 

 

หลังทางด่วนใหม่ "ศรีรัช-วงแหวนรอบนอก" ระยะทาง 16.7 กม. เปิดให้ประชาชนทดลองใช้ระหว่างวันที่ 15-17 ส.ค.ที่ผ่านมา ผลสะท้อนที่ออกมามีทั้งเสียงชื่นชมเพราะช่วยให้การเดินทางเชื่อม 2 ฝั่งแม่น้ำ "พื้นที่ธนบุรี-พระนคร" รวดเร็วขึ้นใน 25-30 นาที 



ขณะที่บางส่วนติติงถึงการประชาสัมพันธ์และจุดขึ้น-ลง จะทำให้เกิดปัญหารถติดหลังเปิดใช้จริงวันที่ 22 ส.ค.นี้ 



โดยเฉพาะช่วงหัว-ท้าย ในจุดเชื่อมกับ "ถนนกาญจนาภิเษก" ซึ่งปัจจุบันปริมาณการจราจรก็ค่อนข้างหนาแน่น และจุดเชื่อมกับทางด่วนขั้นที่ 2 ที่จะอลหม่านไม่มากก็น้อย เมื่อผู้ใช้ทางจากฝั่งธนฯจะมุ่งหน้าไปยังแจ้งวัฒนะ-บางปะอิน จะยังไม่สามารถเดินทางเชื่อมต่อได้อย่างสะดวกโยธิน ต้องลงที่ "ด่านพระราม 6" แล้ววิ่งบนถนนประชาราษฎร์ เพื่อขึ้นทางด่วนบางปะอิน-ปากเกร็ด ที่ด่านประชาชื่น 
 

 

สะดุดจุดบอด ศรีรัช-วงแหวน รถติดตรึม-ไล่แก้คอขวดรอยต่อ หมอชิต

 

 

นายณรงค์ เขียดเดช ผู้ว่าการ กทพ. กล่าวกับ "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า หลังเปิดใช้ทางด่วนใหม่จะมีปัญหาการจราจรติดขัดช่วงต่อเชื่อมกับทางด่วนขั้นที่ 2 ด่านศรีรัชบริเวณถนนกำแพงเพชร 2 กับช่วงด่านกาญจนาภิเษกจะเชื่อมกับถนนกาญจนาภิเษก 



เนื่องจากรถที่มาใช้บริการในวันแรกจะเป็นตามเป้าที่ตั้งไว้ประมาณ 8.8 หมื่นเที่ยวคัน/วัน ที่จะมาเติมเข้าไปกับทางด่วนขั้นที่ 2 จะทำให้เกิดปัญหารถติดบนทางด่วนเพิ่มขึ้นอีก 



ซึ่งวิธีการแก้ไขจะส่งเจ้าหน้าที่ไปอำนวยความสะดวกบริเวณหน้าด่าน เพื่อแก้ปัญหาในระยะสั้น ส่วนการแก้ปัญหาระยะยาว จะสร้างทางขึ้น-ลงเพิ่มอีก 1 แห่ง บริเวณจุดเชื่อมกับทางด่วนขั้นที่ 2 



เพื่อรับรถจากฝั่งธนบุรีที่ต้องการจะเดินทางไปย่านแจ้งวัฒนะ เนื่องจากรูปแบบเดิมจะรับรถจากฝั่งธนฯเพื่อเข้าเมือง และรับรถจากทางด่วนขั้นที่ 2 ไปฝั่งธนฯได้อย่างเดียว ซึ่งงานส่วนนี้ทาง บมจ.ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ (BEM) 



จะเป็นผู้ลงทุนก่อสร้าง และผ่านการพิจารณาจากคณะกรรมการ (บอร์ด) บริษัทแล้ว ใช้เงินลงทุนประมาณ 300 ล้านบาท 



ขณะนี้รอการอนุมัติจากการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) ให้เข้าใช้พื้นที่เพื่อก่อสร้าง ซึ่ง กทพ.จะจ่ายค่าขอใช้พื้นที่ ร.ฟ.ท.ประมาณ 100 ล้านบาท ตามแผนทาง BEM จะใช้เวลาก่อสร้างประมาณ 14 เดือน ทั้งนี้จะต้องนำแผนการก่อสร้างทางเชื่อมทางด่วนกับโทลล์เวย์ที่สำนักงานคณะกรรมการนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร(สนข.)กำลังศึกษารายละเอียดโครงการมาประกอบด้วยเพราะใช้พื้นที่และฐานรากร่วมกัน 



"ตอนนี้บอกไม่ได้ว่าแลมป์จะรับคนไปแจ้งวัฒนะจะเริ่มสร้างหรือเสร็จเมื่อไหร่ เพราะมีโจทย์ใหม่เพิ่มให้สร้างทางเชื่อมทางด่วนกับโทลล์เวย์ ต้องรอให้ได้ข้อสรุปตรงนี้ก่อน ซึ่งรถจากฝั่งธนฯจะไปใช้แจ้งวัฒนะมีประมาณ 1,000-2,000 เที่ยวคัน/วัน"



ถึงจะมีปัญหาตามมาภายหลัง แต่ "ผู้ว่าการ กทพ." ย้ำว่า ทางด่วนสายนี้จะเป็นทางลัดการเดินทางสำหรับผู้ที่อยู่ฝั่งธนฯ ไม่ว่าย่านถนนบรมราชชนนี กาญจนาภิเษก และราชพฤกษ์ ให้เดินทางเข้าเมืองได้เร็วยิ่งขึ้น 



จากเดิมที่ใช้ถนนตรอกซอกซอยเป็นหลักเมื่อใช้ทางด่วนสายนี้จะร่นเวลาเดินทางจากเดิม 1 ชั่วโมง เหลือประมาณ 25-30 นาที โดยเสียค่าผ่านทางเหมาจ่ายที่ 50 บาทสำหรับรถยนต์ 4 ล้อ และหากไปเชื่อมกับทางด่วนขั้นที่ 2 จะเสียอีก 50 บาท เท่ากับเสีย 100 บาท หากใช้ทั้งไปและกลับจะอยู่ที่วันละ 200 บาท 

 


ทั้งหมดเป็นแค่การประมาณการในเบื้องต้น ยังต้องติดตามหลังจากกดปุ่มเปิดใช้จริงไปแล้ว จะคุ้มค่าเวลากับเงินที่เสียไปหรือไม่

 

 

ขอบคุณข่าวจาก ประชาชาติธุรกิจ

 

 

www.prachachat.net
 

>> ช่องทางในการติดตามข่าวสาร <<
ไม่พลาดข่าวสำคัญ แค่กดเป็นเพื่อนกับ ไลน์ @livinginsider ที่นี่

บทความอื่นๆ

livinginsider livinginsider