News
icon share

ญี่ปุ่น ชงแนวไฮสปีด เชียงใหม่ รัฐเปิดหน้าดิน 7 จังหวัดรอพัฒนา

LivingInsider Report 2016-08-19 11:52:11
ญี่ปุ่น ชงแนวไฮสปีด เชียงใหม่  รัฐเปิดหน้าดิน 7 จังหวัดรอพัฒนา

 

 

ปลายปีนี้ผลศึกษาความเหมาะสมไฮสปีดเทรน "กรุงเทพฯ-เชียงใหม่" ระยะทาง 673 กม. ภายใต้ MOC ระหว่างรัฐบาลไทย-ญี่ปุ่นจะแล้วเสร็จ เพื่อเริ่มต้นออกแบบรายละเอียดปี 2560 จะใช้เวลา 1 ปี หากไม่มีการเปลี่ยนแปลงจะตอกเข็มปี 2561 แล้วเสร็จปี 2565



เร่งผลศึกษาเสร็จปลายปีนี้



"ไทม์ไลน์นี้ปรับใหม่ หลังไทยขอให้ญี่ปุ่นเร่งศึกษาโครงการโดยเร็ว ซึ่งขั้นตอนการทำงานของญี่ปุ่นสำหรับรถไฟความเร็วสูง จะใช้เวลาศึกษา 3 ปี ออกแบบรายละเอียด 5 ปี ใช้เวลาก่อสร้าง 10 ปี แต่เราขอให้เร่งขั้นตอนต่าง ๆ ให้เสร็จใน 1 ปี เพื่อนำผลการศึกษาไปสู่การพิจารณารูปแบบการลงทุน จะเป็นรูปแบบไหน รัฐลงทุน 100% รัฐลงทุนงานโยธา และเอกชนลงทุนระบบเดินรถ หรือเอกชนลงทุนทั้งโครงการ" นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมกล่าวและว่า



โดยจะใช้เทคโนโลยีระบบชินคันเซน เป็นระบบรถไฟความเร็วสูงของญี่ปุ่น จะสร้างรางแยกออกมาต่างหากจากระบบรถไฟอื่น ไม่ว่าจะเป็นรถไฟไทย-จีน สายสีแดงและแอร์พอร์ตลิงก์ที่ยังมีพื้นที่ทับซ้อนกันอยู่ช่วงกรุงเทพฯ-ภาชี

 

 

ขณะที่การก่อสร้างทั้งไทย-ญี่ปุ่นมีความเห็นร่วมกันจะแบ่งเป็น2 เฟส ระยะที่ 1 กรุงเทพฯ-พิษณุโลก 384 กม. ระยะที่ 2 พิษณุโลก-เชียงใหม่ 285 กม. ซึ่งเฟส 2 ทางญี่ปุ่นเห็นชอบตามที่สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ทำการศึกษาไว้ จะใช้เส้นทางตัดผ่านพื้นที่ใหม่ จากสถานีพิษณุโลกตัดเข้า จ.สุโขทัย เพราะแนวจะตัดตรงและย่นเวลาเดินทางได้มากกว่า และจะพาดผ่าน อ.ศรีสัชนาลัย เนื่องจากจะมีแหล่งท่องเที่ยวทางประวัติศาสตร์ จากนั้นผ่าน จ.แพร่ ลำปางแล้วเลาะไปตามแนวรถไฟสายเหนือสิ้นสุดที่ จ.เชียงใหม่



พัฒนาสถานีอุดขาดทุน 50 ปี



"จากประสบการณ์ของญี่ปุ่นลงทุนรถไฟชินคันเซน รับเฉพาะผู้โดยสารอย่างเดียวจะใช้เวลา 50 ปีคืนทุนถือว่านาน แต่ก็เป็นปกติ ที่ผลตอบแทนด้านการเงินของโครงการค่อนข้างต่ำ ต้องหารายได้พัฒนาเชิงพาณิชย์และพัฒนาเมืองรอบสถานีด้วย เพื่อให้ผลตอบแทนโครงการสูงขึ้น เพราะรถไฟความเร็วสูงจะช่วยเรื่องการพัฒนาเมืองภูมิภาค ซึ่งญี่ปุ่นจะช่วยเหลือไทยศึกษาจะมีสถานีไหนบ้าง จะสอดรับกับแนวคิดของนายกรัฐมนตรีที่ต้องการให้เกิดการพัฒนา 2 ข้างทางมีการก่อสร้างรถไฟ"



สำหรับเส้นทางเฟสแรกกรุงเทพฯ-พิษณุโลก จะใช้เวลาคืนทุน 50 ปี แต่จะมีโอกาสได้ผลตอบแทนด้านเศรษฐกิจ เนื่องจาก จ.พิษณุโลก เป็นศูนย์กลางเส้นทางระเบียงเศรษฐกิจตะวันตกและตะวันออก ช่วยเสริมคนเข้าในระบบรถไฟได้ อีกทั้งการพัฒนาสถานี รอบสถานีและเมือง 2 ข้างทางจึงเป็นรายได้ที่เข้ามาสนับสนุนตรงนี้ ซึ่งรายงานการศึกษาความเหมาะสมของโครงการที่สมบูรณ์จะแล้วเสร็จเดือน ต.ค.-พ.ย.นี้



ด้าน "พีระพล ถาวรสุภเจริญ" รองปลัดด้านโครงสร้างพื้นฐาน กระทรวงคมนาคม กล่าวว่า ผลการทำรายละเอียดพื้นที่รอบสถานีตามแนวรถไฟความเร็วสูงกรุงเทพฯ-เชียงใหม่ ทีมศึกษาจากญี่ปุ่นโดยองค์การความร่วมมือระหว่างประเทศแห่งญี่ปุ่น (ไจก้า) มี 4 สถานีที่มีศักยภาพจะพัฒนาเมืองและเชิงพาณิชย์ได้



ปักหมุด 4 สถานีลุยมิกซ์ยูส



ประกอบด้วย 1.สถานีลพบุรี สร้างบนพื้นที่ใหม่เป็นที่ราชพัสดุของกรมธนารักษ์ ห่างจากกรุงเทพฯ 120 กม. ใช้เวลาเดินทาง 45 นาที จะใช้วิธีการจัดรูปที่ดิน 2.สถานีนครสวรรค์ ตั้งบนสถานีรถไฟเดิม เป็นที่ราชพัสดุของกรมธนารักษ์ ห่างจากกรุงเทพฯ 237 กม. ใช้เวลาเดินทาง 1 ชั่วโมง 15 นาที จะใช้วิธีการจัดรูปที่ดิน



3.สถานีพิษณุโลก ตั้งอยู่ที่เดิม ห่างจากกรุงเทพฯ 380 กม. ใช้เวลาเดินทาง 2 ชั่วโมง จะใช้พื้นที่ของการรถไฟฯเป็นหลัก และ 4.สถานีเชียงใหม่ ตั้งบนที่เดิมเป็นที่ดินของการรถไฟฯ ห่างจากกรุงเทพฯ 673 กม. ใช้เวลาเดินทาง 3 ชั่วโมง 20 นาที



หลังจากนี้ไจก้าจะออกแบบผังแม่บทการพัฒนาพื้นที่รอบสถานีทั้ง 4 แห่ง มีทั้งการพัฒนาเชิงพาณิชย์ ศูนย์การค้า ที่จอดรถ นิคมอุตสาหกรรม ที่อยู่อาศัยจะต้องร่วมกับการเคหะแห่งชาติ (กคช.) ด้วย ส่วนรูปแบบการลงทุนอาจจะตั้งบริษัทร่วมทุนรูปแบบนิติบุคคลเฉพาะกิจ (SPV) ระยะเวลาการพัฒนาประมาณ 30+30 ปี ขึ้นอยู่กับขนาดการลงทุนของแต่ละสถานี



ธนารักษ์-เคหะเปิดหน้าดินรับ



แหล่งข่าวจากกรมธนารักษ์กล่าวว่าจากการสำรวจที่ราชพัสดุแนวรถไฟความเร็วสูงกรุงเทพฯ-เชียงใหม่ ใน 7 จังหวัด มีที่ดินจะสามารถพัฒนาได้ 13 แปลง เนื้อที่ 23,205 ไร่ ได้แก่ จ.ลพบุรี 2,588 ไร่ นครสวรรค์ 9,505 ไร่ พิษณุโลก 9,320 ไร่ พิจิตร 156 ไร่ ลำพูน 160 ไร่ ลำปาง 1,008 ไร่ และเชียงใหม่ 468 ไร่



ขณะที่ กคช.มีที่ดินมีพื้นที่มากกว่า 5 ไร่ รัศมี 5 กม. จากสถานี 10 แปลง เนื้อที่ 136 ไร่ ได้แก่ ทุ่งสองห้อง 3 แปลง 45 ไร่ ห่างจากสถานีดอนเมือง 2.5-3.1 กม. สรงประภา 1 แปลง 25 ไร่ ห่างจากสถานีรถไฟดอนเมือง 2.8 กม. ลำปาง 3 แปลง 24 ไร่ ห่างจากสถานีรถไฟลำปาง 3-3.2 กม. เชียงใหม่บริเวณหนองหอย 3 แปลง 42 ไร่ ห่างจากสถานีรถไฟเชียงใหม่ 2.7-2.9 กม.

 

 

ขอบคุณข่าวจาก ประชาชาติธุรกิจ

 

 

www.prachachat.net

>> ช่องทางในการติดตามข่าวสาร <<
ไม่พลาดข่าวสำคัญ แค่กดเป็นเพื่อนกับ ไลน์ @livinginsider ที่นี่

บทความอื่นๆ

livinginsider livinginsider