News
icon share

คุยกับ ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ อดีต รมต.ที่แข็งแกร่งที่สุดในปฐพี กับบทบาทใหม่ CEO คิว เฮาส์

LivingInsider Report 2016-08-18 12:02:45
คุยกับ ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ อดีต รมต.ที่แข็งแกร่งที่สุดในปฐพี กับบทบาทใหม่ CEO คิว เฮาส์

 

 

หลังหมดหน้าที่ในตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมตั้งแต่ปี 2557 "ดร.ชัชชาติ สิทธิพันธุ์" อดีตรัฐมนตรีขวัญใจชาวโซเชียลมีเดีย ผู้ได้รับฉายาว่าเป็นรัฐมนตรีที่แข็งแกร่งที่สุดในปฐพี ปรับเปลี่ยนบทบาทเข้ามารับตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และกรรมการผู้จัดการ บริษัท ควอลิตีเฮาส์ จำกัด (มหาชน) หรือคิว เฮาส์ ในต้นปี 2558 ที่ลุยงานอย่างจริงจัง ลงตรวจโครงการด้วยตัวเองตั้งแต่ช่วงแรกของการรับตำแหน่งจนกระทั่งปัจจุบัน 



น่าสนใจว่าวิสัยทัศน์ของ ดร.ชัชชาติ ที่คำนึงถึง "คุณภาพ" เหนือสิ่งอื่นใด ส่งผลให้ภาพลักษณ์และผลประกอบการของคิว เฮาส์ เติบโตได้อย่างสวนกระแส "ประชาชาติธุรกิจ" จึงไม่พลาดโอกาสที่จะคุยกับ ดร.ชัชชาติ ถึงแนวทางธุรกิจของคิว เฮาส์ และความแข็งแกร่งในตำแหน่งผู้บริหาร

 


-ปีนี้เศรษฐกิจไม่ดี แต่คิว เฮาส์ก็ยังประสบความสำเร็จ เป็นอย่างไรบ้าง



ครึ่งปีแรกก็ดี รายได้เพิ่ม 26% ประมาณหมื่นล้าน กำไรก็เพิ่มขึ้น 30% แต่อาจจะเป็นเพราะว่าปีที่แล้วไม่ค่อยดีมาก เพราะเรื่องความเชื่อมั่นส่งผลกระทบในหลายด้าน ซึ่งปีนี้ดีขึ้น

 

 

-แสดงว่าครึ่งปีหลังแนวโน้มปัจจัยต่างๆ จะเป็นบวกมากขึ้น?



คิดว่าก็ดีนะ จากประชามติผ่าน ความมั่นใจ-ความชัดเจนทางการเมืองขึ้น เงินต่างประเทศไหลเข้ามามากขึ้น ความเชื่อมั่นการลงทุน ภาครัฐกระตุ้นมากขึ้น ก็คิดว่าน่าจะเป็นแนวโน้มบวกในครึ่งปีหลัง


-ครึ่งปีหลัง คิว เฮาส์จะมีแผนลงทุนอย่างไรบ้าง



จริง ๆ แล้วเราก็ไปด้วยความระมัดระวัง มีเปิดประมาณ 4-5 โครงการ ประมาณ 6,000 ล้านบาท แต่เราก็มีพอร์ตในตัวเองอยู่แล้ว มีโครงการ มีมูลค่าประมาณ 60,000 ล้านบาท แต่เรามีทุกเซ็กเมนต์ ทั้งระดับสูง ระดับกลาง และระดับล่าง ในทุกโปรดักต์ เป็นพรีเมียมของทุกเซ็กเมนต์


-สัดส่วนรายได้ บ้านราคาสูงยังนำอยู่หรือเปล่า



ตอนนี้ระดับกลางจะเยอะกว่า สัดส่วนรายได้ระดับสูง กลาง ล่าง อยู่ที่ร้อยละ 25, 50 และ 25 ตามลำดับ โดยบ้านระดับกลางราคาอยู่ที่ 3-10 ล้านบาท ซึ่งก็เป็นฐานใหญ่เพราะเป็นระดับของชนชั้นกลาง 


-เศรษฐกิจไม่ดี บ้านหรือคอนโดฯจองคิว เฮาส์จะลดราคาไหม



ไม่น่าจะลดนะ เพราะเราคิดว่าเราให้ value ที่เหมาะสมกับราคาอยู่แล้ว การลดราคาจะมีผลกระทบหลายด้าน คนที่ซื้อไปแล้วเขาอาจจะรู้สึกไม่ดี เรื่องลดราคาจึงอาจจะไม่ใช่กลยุทธ์ของบริษัท


-ทำเลที่พัฒนาโครงการ ในกรุงเทพฯกับต่างจังหวัดตอนนี้เป็นอย่างไรบ้าง
 


ต่างจังหวัดตอนนี้ก็ฝืดนิดหน่อย แต่เชียงใหม่ตอนนี้ดีขึ้น โตเป็นเท่าตัวถ้าเทียบกับปีที่แล้ว ส่วนภาคตะวันออกยังชะลออยู่ แถวศรีราชา ชลบุรี ระยอง คิดว่าคงเป็นเพราะเรื่องนิคมอุตสาหกรรม การจ้างงาน คงต้องรอเศรษฐกิจหรือนักลงทุนต่างประเทศกลับมาให้มากกว่านี้


-รัฐบาลกำลังจะทำเขตเศรษฐกิจพิเศษตะวันออก(EEC)จะเป็นตัวช่วยได้ไหม



ต้องบอกว่าไปถูกทางเลยตอนแรกไปเน้นชายแดนผมว่าชายแดนทำเขตเศรษฐกิจพิเศษลำบากอาจจะเป็นแค่โลจิสติกส์เป็นศูนย์กระจายสินค้า การเอาโรงแรมไปตั้งชายแดนนั้นไม่มีประโยชน์อะไร หัวใจของเราคืออยู่ที่ภาคตะวันออก ที่ส่งออก 75% ผ่านแหลมฉบัง และผ่านสุวรรณภูมิอีก 25% ต้องเอาตรงนี้เป็นหัวใจ แล้วส่งไปทั่วโลก ถ้าเกิดมาตรงนี้ ผมว่ามาถูกทาง

 


-แนะนำผู้บริโภคหน่อยว่าหากจะซื้อบ้านหรือคอนโดฯ ควรจะซื้อปีนี้หรือปีหน้าดี



ผมว่าถ้าพร้อมก็ซื้อเลย เพราะช่วงนี้เป็นช่วงนาทีทอง ดอกเบี้ยถูก มีสินค้าให้เลือกในตลาดค่อนข้างเยอะ ถ้าพร้อมแล้วมีโอกาสใช้ก่อน อยู่ก่อน ก็คุ้มตรงนี้ หากรออนาคต เศรษฐกิจโลกอาจจะส่งผลต่อดอกเบี้ยได้


-วิเคราะห์ทำเลเด่น ๆ หน่อยว่ามีตรงไหนบ้าง



อสังหาฯก็ขึ้นอยู่กับการคมนาคมและแหล่งงาน หากมองตอนนี้โซนราชพฤกษ์น่าจะมาดีขึ้น เพราะว่ามีทางด่วนศรีรัช-วงแหวนรอบนอก รถไฟฟ้าสายสีม่วง คือฝั่งธนฯยังเป็นฝั่งที่มีพื้นที่ที่พัฒนาได้ แต่ปัญหาที่ผ่านมาเป็นเพราะการข้ามแม่น้ำเจ้าพระยานั้นรถติด การมีทางด่วนใหม่และรถไฟฟ้าสายสีม่วงคิดว่าจะช่วยให้วงแหวนตะวันตกฝั่งธนฯนั้นดีขึ้น 



โซนต่อมาก็น่าจะเป็นโซนดอนเมือง เพราะว่ามีแหล่งงานก็คือดอนเมือง แล้วก็จะมีรถไฟฟ้าสายสีแดง มีทางด่วนขั้น 2 ประกบอีก อีกโซนที่คึกคักมากคือบางนา เพราะว่าใกล้ทางด่วน และเข้ามาที่บีทีเอสบางนาได้ไม่ไกล แต่ที่โดนกดดันหนักคงจะเป็นพระราม 2 เพราะไม่มีโครงการรถไฟฟ้า ซึ่งสายสีม่วงใต้ก็คงต้องผลักดันให้เร็วขึ้นหน่อย ก็จะช่วยช่วงพระราม 2 ได้ กับสายสีแดงช่วงบางซื่อ-พระราม 2 ซึ่งก็อีกนาน ก็จะเป็นการกดดันโซนพระราม 2 


-ในยุคปัจจุบันที่มีการใช้โซเชียลมีเดียกันมาก มองว่าโซเชียลมีเดียเป็นปัจจัยบวกหรือปัจจัยลบ



ปัจจัยบวกมากๆ เลยนะ คือเมื่อก่อนเราขายอสังหาฯจะต้องใช้ป้าย รอคนมาดูโครงการ มันมีข้อจำกัดอยู่ แล้วค่าใช้จ่ายที่แพงที่สุดคือป้าย ถ้าเทียบค่าใช้จ่ายแล้วอาจเป็นแสนบาทต่อคนซื้อ 1 คนเลย แต่โซเชียลมีเดียเป็นแพลตฟอร์มที่ลูกค้าสามารถเข้ามาโดยไม่มีข้อจำกัด เฉลี่ยแล้วค่าใช้จ่ายที่เรียกคนมาถูกลง 10 เท่า


-แต่โซเชียลมีเดียก็เหมือนเป็นดาบสองคม เพราะข้อร้องเรียนก็เยอะมาก



หัวใจของเราคือ quality (คุณภาพ) อยู่แล้ว เพราะฉะนั้นเรามั่นใจว่าเรื่องร้องเรียนเราน่าจะมีน้อย แล้วเรา handle (จัดการ) ได้ ซึ่งถ้าเราชูเรื่องควอลิตี้นำ การมีโซเชียลก็ยิ่งดี เพราะเราก็จะยิ่งดูแลลูกค้า เพราะสุดท้ายแล้วในระยะยาว คุณภาพคือหัวใจ ยิ่งในยุคโซเชียลมีเดีย ไม่มีทางที่เราจะไปหลอกลูกค้าได้ ถ้ามีปัญหาเราจะไปแก้ทันที ทำให้ทุกคนตื่นตัวขึ้น



-เข้ามาในคิว เฮาส์ 1 ปี 8 เดือน ตรวจโครงการเองทุกวันเลยเหรอ

 


ทุกวันนี้ตรวจทุกเสาร์-อาทิตย์ หลักการคือเราอยากให้คนอื่นให้ความสำคัญกับเรื่องไหน เราก็ต้องให้ความสำคัญกับเรื่องนั้น เราอยากให้คนในบริษัทเราใส่ใจกับเรื่องคุณภาพ เราก็ต้องใส่ใจกับคุณภาพด้วยเหมือนกัน ซึ่งพอเราไปตรวจเอง ไปคุยกับลูกบ้านเอง ก็ทำให้ลูกน้องเราเข้มแข็งขึ้นด้วย
 


-ปีที่แล้วอัพอะไรลงโซเชียลบ่อย ทำไมปีนี้อัพน้อยลง



ตอนนี้เราเป็นมหาชน เวลาเราใช้โซเชียลก็ต้องระวังนิดนึง เพราะบางทีก้มีคนเอาไปโยงกับเรื่องการเมือง ก็จะละเอียดอ่อนนิดนึง การเมืองอาจจะมีทั้งคนที่ชอบและไม่ชอบ แต่พอมาเป็นผู้บริหารบริษัทมหาชน เราจะมีเรื่องเกี่ยวกับการเมืองไม่ได้ ต้องพยายามให้เป็นกลาง
 


-ระหว่างเป็นรัฐมนตรีกับเป็นซีอีโอ อันไหนยาก-ง่ายกว่ากัน



คิดว่ายากทั้ง 2 ด้าน แต่ว่าเรื่องคมนาคมกับบริหารก็คล้าย ๆ กัน เพราะเราต้องดูแลประชาชนเหมือนกับที่เราดูแลลูกค้า ลงไปตรวจก็เหมือนกัน เพราะมันคือ service industry ในการให้บริการ ของเอกชนดีอย่างคือเขาให้ความเชื่อถือเรา ให้อำนาจเราในการตัดสินใจค่อนข้างเยอะ แสดงว่าเขาไว้ใจเรา ส่วนรัฐ จะมีแนวคิดว่าโกงไว้ก่อน ยังมีข้อจำกัดเยอะ และเราเองก็ไม่มีอำนาจอะไรเลย เป็นผู้บริหารก็สนุกดี มีความคล่องตัวสูงกว่าราชการ


คิดว่ายังเป็นบุคคลที่แข็งแกร่งที่สุดในปฐพีอยู่ไหม



(หัวเราะ)ไม่หรอกอันนี้ไม่ใช่ของจริงเป็นเหมือนตัวการ์ตูนมากกว่าส่วนเรื่องโซเชียลที่โพสต์ไปออกกำลังกายก็เป็นเรื่องดีเพราะอย่างที่ผมไปวิ่งที่สวนลุมตอนเช้าก็เห็นคนรุ่นใหม่มาวิ่งเยอะขึ้น ผมวิ่งตีห้า ทุกวันจันทร์-ศุกร์ เพราะผมนอนเร็ว ก็มีคนทักทายเยอะ ส่วนเสาร์-อาทิตย์จะไปขี่จักรยานที่สุวรรณภูมิตั้งแต่หกโมงเช้า ก็เห็นคนเยอะขึ้น มองว่าเป็นเทรนด์ที่ดีนะใส่ใจสุขภาพมาแรง เพราะทำให้จิตใจดี ร่างกายแข็งแรง


นอกจากเป็นอาจารย์ เป็นรัฐมนตรี เป็นผู้บริหาร แล้วยังอยากเป็นอะไรอีก



อยากเป็นสตาร์ตอัพนะ สตาร์ตอัพเป็นการเอาดิจิทัล เทคโนโลยีมาประกอบ กำลังดูว่าสามารถมาปรับใช้อะไรกับธุรกิจเราได้บ้าง อย่างที่บอกว่าการสื่อสารมันเปลี่ยนไปเป็นแพลตฟอร์มแล้ว แล้วแพลตฟอร์มของเรียลเอสเตทมีอะไรให้ต้องทำเพิ่มไหม อยากให้เป็นอะไรที่รวมข้อมูลไว้ตรงกลางให้คนเข้ามาดู ให้ทั้ง user และ developer มาร่วมกันที่แพลตฟอร์มนี้ได้ไหม ทำให้เป็นเหมือนดาต้าเบส เพราะบางทีข้อมูลของแต่ละบริษัทมันกระจัดกระจายมาก ต้องดูว่าจะเอาข้อมูลที่ไม่มีการไบแอสมารวมกันได้ไหม ซึ่งก็กำลังให้ทีมทำอยู่ เพราะอนาคตของประเทศคือต้องมี innovation (นวัตกรรม) ไม่อย่างนั้นทุกอย่างจะเป็นเหมือนคอมมิวนิตี้ที่ขายกันที่ราคาอย่างเดียว คนรุ่นใหม่ก็ต้องมองตรงนี้ให้มากขึ้น

 

 

ขอบคุณข่าวจาก ประชาชาติธุรกิจ

 

 

www.prachachat.net

>> ช่องทางในการติดตามข่าวสาร <<
ไม่พลาดข่าวสำคัญ แค่กดเป็นเพื่อนกับ ไลน์ @livinginsider ที่นี่

บทความอื่นๆ

livinginsider livinginsider