News
icon share

ย้อนรอยเมืองใหม่ไฮสปีด จาก เพื่อไทย ถึง "รัฐบาล คสช

LivingInsider Report 2016-07-12 11:45:37
ย้อนรอยเมืองใหม่ไฮสปีด จาก เพื่อไทย ถึง

 

 

หลังโครงการ 2 ล้านล้านล่มไป ทำให้ "เมืองใหม่ไฮสปีดเทรน" ถูกลืมเลือน แต่ดูเหมือนกำลังจะถูกหยิบมาปัดฝุ่นอีกครั้ง พลันที่ "ญี่ปุ่น" เสนอแนะ "รัฐบาล คสช." ลงทุนสร้างรถไฟความเร็วสูง "กรุงเทพฯ-พิษณุโลก" ต้องพัฒนาพื้นที่ควบคู่ไปด้วยโครงการถึงจะคุ้มค่า เหมือนที่ญี่ปุ่นทำสำเร็จมาแล้ว

 

 

ซึ่งโมเดลนี้อยู่ในใจ "บิ๊กตู่-พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา" นายกรัฐมนตรีมาตลอด นับจากเยือนญี่ปุ่นครั้งแรกต้นปีที่แล้ว ล่าสุดสั่ง "อาคม เติมพิทยาไพสิฐ" เจ้ากระทรวงคมนาคม เปิดประมูลโครงการระบบรางไปพร้อมกับพัฒนาพื้นที่ หวังจูงใจเอกชนร่วมลงทุน
 
 
สำหรับโมเดลเมืองใหม่ไฮสปีดเทรน เกิดขึ้นปี 2556 โดย "กรมโยธาธิการและผังเมือง" เป็นเจ้าภาพร่วมกับคมนาคม วางกรอบพัฒนาโดยรอบสถานีทั้ง 4 เส้นทาง 17 สถานี ครอบคลุม 4 ภูมิภาค มี 4 สถานีปลายทาง "พิษณุโลก-หัวหิน -โคราช-ระยอง" นำร่อง
 
 
มีทั้ง "เมืองขนาดเล็กและขนาดใหญ่" ขึ้นอยู่กับไซซ์แต่ละสถานี มีทั้งพัฒนาสถานีเดิมและเปิดพื้นที่ใหม่ ในรัศมีห่างจากเมือง 5-10 กม.ขนาดพื้นที่ 2,000-5,000 ไร่ โดยใช้หลักคิดการพัฒนาของญี่ปุ่นมาเป็นต้นแบบ เพื่อเพิ่มมูลค่าพื้นที่สถานีรถไฟความเร็วสูงให้เกิดประโยชน์ 
 
 
ขณะที่การพัฒนา มี 2 ทาง คือ วางผังพัฒนาพื้นที่เฉพาะจัดเป็นโซนนิ่ง "ที่อยู่อาศัยสาธารณูปโภค-พาณิชยกรรม" และใช้การจัดรูปที่ดิน 
 
 
ส่วนพื้นที่เป้าหมายของสาย "กรุงเทพฯ-พิษณุโลก" มี 1.พระนครศรีอยุธยา 5,000 ไร่ อยู่สถานีรถไฟอยุธยาเดิม ใกล้เมืองอยุธยาและใกล้แหล่งท่องเที่ยว 2.ลพบุรี 5,000 ไร่ อยู่สถานีรถไฟบ้านป่าหวาย ต.ป่าตาล อ.เมืองลพบุรี ห่างสถานีรถไฟลพบุรี 5 กม. 3.นครสวรรค์ 5,000 ไร่ อยู่สถานีรถไฟนครสวรรค์เดิม ต.หนองปลิง อ.เมือง ห่างศูนย์กลางเมือง 6 กม. และ 4.พิจิตร 5,000 ไร่ จะเปิดพื้นที่ใหม่ห่างจากสถานีเดิม 2 กม.
 
 
สาย "กรุงเทพฯ-นครราชสีมา" ประกอบด้วย 1.สระบุรี มี 2 ทางเลือก คือ สถานีรถไฟสระบุรีเดิม 1,200 ไร่ หรือห่างจากสถานีเดิมไป 4 กม. บนถนนวงแหวนรอบนอก 3,000 ไร่ 2.สถานีปากช่อง 3,000 ไร่เศษ ห่างสถานีรถไฟเดิม 5 กม. เป็นที่ดินของกรมธนารักษ์ ปัจจุบันใช้ประโยชน์เป็นที่ตั้งของกรมพลาธิการทหารบก 3.นครราชสีมา มี 3 ทางเลือก คือ สถานีรถไฟนครราชสีมาเดิม 7,000 ไร่ หรือที่สถานีภูเขาลาด 3,000 ไร่ และสถานีชุมทางบ้านจิระ 3,000 ไร่
 
 
สาย "กรุงเทพฯ-หัวหิน" ประกอบด้วย 1.นครปฐม 3,000-4,000 ไร่ อยู่สถานีรถไฟนครปฐมเดิม 2.ราชบุรี 3,000 ไร่ เป็นพื้นที่ใหม่ห่างจากสถานีเดิม 3 กม. และ 3.เพชรบุรี 3,000-4,000 ไร่ ห่างจากในเมือง 2 กม. และ 4.สถานีหัวหิน 5,000 ไร่ ตรงข้ามสนามบินหัวหิน บริเวณบ่อฝ้าย-ห้วยจิก ห่างจากหัวหิน 6 กม. และชะอำ 17 กม.
 
 
สุดท้ายสาย "กรุงเทพฯ-พัทยา-ระยอง" ประกอบด้วย 1. ฉะเชิงเทรา อยู่สถานีรถไฟเดิม 2,500 ไร่ 2. ชลบุรี อยู่สถานีรถไฟเดิม 3,000-4,000 ไร่ 3. ศรีราชา มี 2 ทางเลือก คือ สถานีรถไฟศรีราชาเดิม 400 ไร่ กับห่างจากสถานีเดิมมาด้านใต้ 3-4 กม. ขนาด 7,000 ไร่ 4.เมืองพัทยา 5,000-6,000 ไร่ มี 3 ทางเลือก คือ สถานีรถไฟพัทยาเดิม 5,000 ไร่ หรือห่างจากสถานีเดิมขึ้นไปทางเหนือ 5 กม.และห่างจากสถานีเดิมมาด้านใต้ 8 กม. และ 5.ระยอง 4,000-5,000 ไร่ ห่างจากสถานีรถไฟมาบตาพุดขึ้นไปทางตัวเมืองระยอง 8 กม.
 
 
จะเป็นการลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน โดยรัฐอาจจะลงทุนระบบสาธารณูปโภคและเอกชนลงทุนที่อยู่อาศัยและพาณิชยกรรม คาดว่าจะใช้เงินลงทุนไม่ต่ำกว่า 1 แสนล้านบาท
 
 

ขอบคุณข่าวจาก  ประชาชาติธุรกิจ

 

 

อ่านรายละเอียดเพิ่มเติ่มได้ที่

 

 

http://www.prachachat.net/news_detail.php?newsid=1468213991

>> ช่องทางในการติดตามข่าวสาร <<
ไม่พลาดข่าวสำคัญ แค่กดเป็นเพื่อนกับ ไลน์ @livinginsider ที่นี่

บทความอื่นๆ

livinginsider livinginsider