Favorite
ตอนนี้มิจฉาชีพคืออยู่ทุกวงการจริงๆ นะ อย่างซื้อออนไลน์และไม่ได้ของหรือได้สินค้าไม่ตรง หรือที่ฮิตช่วงนี้ก็คอลเซนเตอร์โทรแอบอ้างหลอกให้โอนเงิน แม้แต่ในวงการอสังหาริมทรัพย์ก็มีมิจฉาชีพแฝงตัวมาเป็นนายหน้า และหลอกให้ลูกค้าโอนเงินค่ามัดจำหรือค่าจองห้องอยู่ตลอด ดังนั้นมาเช็กให้มั่นใจก่อนโอนเงินกันเถอะ!!
ทำตัวให้เป็นเซียนจับผิด
อย่างแรกเลยที่นายหน้าปลอมๆ ชอบทำกันคือ การตั้งประกาศราคาห้องที่ต่ำกว่าราคาตลาดแบบเวอร์เกินไป ยิ่งถ้าเป็นห้องดีๆ วิวสวยๆ ยากมากที่ราคาจะถูก และมักจะชอบอ้างว่าคนสนใจเยอะมาก ถ้าอยากได้ต้องรีบโอนไวๆ ก่อนห้องจะหลุดไปให้คนอื่น ถ้าเจอแบบนี้ให้คิดไว้ก่อนว่าอาจเป็นมิจฉาชีพ
วิธีเช็กชัวร์โอนถูกคน
หนึ่งในวิธีที่ดีที่สุดคือ ขอดูโฉนดที่ดินเจ้าของห้อง หรือเจ้าของบ้านที่เราจะทำการเช่า-ซื้อ เพราะด้านหลังของโฉนดจะมีบอกชื่อเจ้าของกรรมสิทธิ์ หรือขอดูบิลค่าน้ำค่าไฟ ซึ่งชื่อก็จะต้องเป็นเจ้าของเช่นเดียวกัน ถ้าไม่อย่างนั้นก็ ขอดูสำเนาบัตรประชาชน และเปรียบเทียบว่าตรงกันกับบัญชีการโอนเงินไหม
อีกกรณีหนึ่งถ้ายังไม่มั่นใจ แนะนำว่าให้ลองสอบถามโดยตรงกับนิติบุคคล แต่เจ้าหน้าที่ก็อาจไม่บอกเพราะห่วงเรื่องความปลอดภัยของลูกบ้าน และติดปัญหาเรื่องพรบ.ป้องกันข้อมูลส่วนบุคคล จึงต้องให้เจ้าหน้าที่ติดต่อกับเจ้าของห้องเพื่อขออนุญาตเปิดเผยข้อมูล ซึ่งถ้าอยากขายหรือปล่อยเช่าจริงๆ เจ้าของย่อมต้องยอมยินดีให้ตรวจสอบอยู่แล้ว
หากเสียรู้ไปแล้วจะขอเงินคืนได้ยังไง?
ก่อนอื่นเตรียมเอกสารให้ครบ ได้แก่ ภาพโปรไฟล์ของนายหน้ามิจฉาชีพ โพสต์ที่ประกาศเช่า-ซื้อห้อง พร้อมบัญชีธนาคารที่โอนเงินไป รวมถึงหลักฐานสลิปการโอน และแคปแชทที่มีการพูดคุยระหว่างเรากับนายหน้าปลอมๆ หรือข้อมูลอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องและเป็นประโยชน์ จากนั้นไปโรงพักเพื่อแจ้งความให้เร็วที่สุด โดยบอกกับเจ้าหน้าที่ว่า “ขอแจ้งจับดำเนินคดี”
ซึ่งทางเจ้าหน้าที่จะให้เอกสารที่มีตราครุฑประทับ เป็นหนังสือตรวจสอบรายการเดินบัญชี หรือ Statement เพื่อนำไปให้ธนาคารที่เราโอนเงินไป โดยเจ้าหน้าที่ธนาคารจะเอาเอกสารมาให้กรอก เพื่อต้องการขอเงินคืน ขั้นตอนต่อไปธนาคารจะทำการอายัดบัญชีของมิจฉาชีพทั้งหมด ซึ่งจะไม่สามารถทำธุรกรรมอะไรได้เลย และทางธนาคารจะพิจารณาการคืนเงินให้
ขอบคุณภาพ : Facebook สำนักงานยุติธรรมจังหวัดสมุทรปราการ
แต่อยากให้เผื่อใจไว้บ้าง เพราะโอกาสการได้เงินคืนค่อนข้างน้อย เนื่องจากมิจฉาชีพมักจะถอนเงินออกทันที นอกจากว่าจะตามจับตัวได้เพื่อไกล่เกลี่ยขอเงินคืน แต่หากไม่มีเงินคืนเรื่องก็จะไปถึงศาลเพื่อรอพิพากษาคดี
เพื่อไม่ให้โดนโกงเราจึงต้องตรวจสอบให้ละเอียดในทุกๆ วิธีที่สามารถทำได้ อย่างไรก็ตามหากโดนหลอกไปแล้ว แนะนำให้แจ้งความเพิ่มในคดีพรบ.คอมพิวเตอร์ เพื่อให้เป็นคดีที่ยอมความกันไม่ได้และมีโทษสูงอีกด้วย ฉะนั้นแล้วระมัดระวังและรอบคอบให้มากที่สุดนะทุกคน... ด้วยความปรารถนาดีจาก Livinginsider
ได้ไอเดียๆ ดีๆ จากนี้นี่เลย ขอบคุณค่ะ เขียนบทความบ่อยๆ น๊าา
ดีไซน์เว็บสวยดีค่ะ ดูง่าย ชอบมาก
กำลัังตัดสิ้นอยู่ ขอบคุณฮะ
เนื้อหาน่าสนใจ เข้ามาให้คะแนนเปนกำลังใจให้ทีมงานล่ะกันคัฟ