Favorite
สวัสดีครับ เจอกันอีกครั้งกับประกันเรื่องใกล้ตัว กับ Art Living Insure ครับ
มา EP นี้เรามาพูดถึงเรื่องสุขภาพกันบ้างดีกว่า ยิ่งยุคนี้เป็นยุคที่ใคร ๆ ก็หันมาใส่ใจสุขภาพมากขึ้น หลายคนหันมาออกกำลังกาย เเต่ก่อนอาจจะเน้นการเข้าฟิตเนสเป็นหลัก ปัจจุบันนี้มีทางเลือกมากขึ้นไม่ว่าจะเป็นการปั่นจักรยาน การวิ่ง การเล่นคาร์ดิโอ การเต้นซุมบ้า หรือหากจะออกกำลังกายตาม Influencer สายสุขภาพก็สามารถเลือกทำตามได้เลย และที่ไม่พูดถึงไม่ได้คือ การออกกำลังกายแบบคุณเบเบ้ ที่ทำให้เรารู้ว่าการออกกำลังกายแบบเบา ๆ เป็นอย่างไร....อิอิอิ
หากพูดถึงการดูแลสุขภาพ หลายคนคิดว่า หากเราดูแลสุขภาพร่างกายของเราดีอยู่แล้ว โรค ภัย ไข้ เจ็บ ก็ไม่สามารถทำอะไรเราได้ หรืออย่างมากก็เป็นไข้หวัดนิดหน่อย ไม่กี่วันก็หาย ซึ่งจริง ๆ แล้วไม่ถูกต้องเสมอไป เพราะการเจ็บป่วยที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน บางคนเป็นแบบที่ไม่รู้ตัว บางคนตรวจสุขภาพเป็นประจำทุกปีก็ไม่เจอ บางคนกินอาหารที่มีประโยชน์ ออกกำลังกายทุกวัน ก็ยังเจ็บป่วยแบบฉับพลันได้ พูดง่าย ๆ คือ ความแน่นอนคือความไม่แน่นอนครับ
"เครื่องมือหนึ่งที่จะเป็นตัวช่วยของเรา ในเวลาที่สุขภาพไม่แข็งแรง หรือต้องเข้ารักษาพยาบาล
ซึ่งหลายคนมักมองข้ามหรือคิดว่าไม่น่าจะจำเป็นนั่นก็คือ ประกันภัยสุขภาพ"
ประกันสุขภาพถูกพูดถึงกันมากขึ้นในช่วงที่โควิด-19 ระบาดอย่างรุนแรง คนที่มีประกันสุขภาพติดตัวไว้จะค่อนข้างมีโอกาสเข้าถึงการรักษา หรือเข้าถึงสถานพยาบาลได้มากกว่าคนที่ไม่มี ซึ่งเราต้องยอมรับว่ามันเป็นแบบนั้นจริงๆ และใครที่มีบัตรประกันสุขภาพ เรียกได้ว่า มีใบเบิกทางในการเข้ารับการรักษาได้เลย (หากเพื่อนๆ คนไหนเคยเจอประสบการณ์แบบนี้สามารถแชร์ได้นะครับ)
ประกันสุขภาพในปัจจุบันมี 2 เเบบ
1. แบบแยกค่าใช้จ่าย เป็นแบบที่บริษัทประกันจะกำหนดวงเงินแยกย่อยตามหมวดความคุ้มครอง ซึ่งเราต้องพิจารณาวงเงินในแต่ละหมวดว่าวงเงินที่ให้มานั้นเพียงพอต่อความต้องการหรือไม่
2. แบบเหมาจ่าย เป็นแบบที่ดูง่ายกว่าแบบแยกค่าใช้จ่าย เพราะบริษัทประกันจะกำหนดวงเงินความคุ้มครองโดยรวมหลาย ๆ หมวดเข้าด้วยกัน แล้วกำหนดเป็นวงเงินการรักษาต่อครั้งหรือต่อปีให้เลย (สังเกตง่าย ๆ จะมีคำว่า “จ่ายตามจริง” ระบุในแต่ละหมวด) แต่แบบเหมาจ่ายนี้ค่าเบี้ยประกันจะค่อนข้างสูงกว่าแบบแยกค่าใช้จ่าย
ซึ่งทั้ง 2 แบบตามที่กล่าวมา ความคุ้มครองจะไม่แตกต่างกันเลยครับ เพราะว่าในปี 2565 ประกันสุขภาพมีการปรับรูปแบบใหม่เรียกว่า New Health Standard ที่หมวดความคุ้มครองของทุกแผนหรือทุกบริษัทจะเหมือนกันหมด ต่างกันแค่วงเงินความคุ้มครองในแต่ละหมวดเท่านั้น ซึ่งง่ายต่อการเปรียบเทียบมากกว่าแต่ก่อนเยอะเลย
ความคุ้มครองของ New Health Standard มีอะไรบ้าง ?
สำหรับ New Health Standard นั้นจะเน้นความคุ้มครองในกรณีที่เป็นผู้ป่วยใน หรือกรณีที่สามารถรักษาเสร็จภายในวันได้ (เช่น การผ่าตัดเล็ก หรือการผ่าตัดใหญ่ที่สามารถกลับไปพักรักษาตัวที่บ้านได้) แบ่งความคุ้มครองออกเป็น 2 กลุ่ม รวม 13 หมวด เพื่อให้ครอบคลุมการรักษาโรคต่าง ๆ ประกอบไปด้วย
1. ผลประโยชน์กรณีผู้ป่วยใน
หมวดที่ 1 ค่าห้อง และค่าอาหาร ค่าบริการในโรงพยาบาล (ผู้ป่วยใน) ต่อการเข้าพักรักษาเป็นผู้ป่วยในครั้งใดครั้งหนึ่ง ในกรณีที่ผู้เอาประกันภัยได้รับการรักษาในห้องผู้ป่วยวิกฤต (Intensive Care Inpatient Room) จะจ่ายค่าห้อง และค่าอาหาร ค่าบริการในโรงพยาบาล (ผู้ป่วยใน) ให้เป็นจำนวน......เท่า ของผลประโยชน์สำหรับค่าห้องและค่าอาหารผู้ป่วยใน สูงสุดไม่เกิน…….วัน
หมวดที่ 2 ค่าบริการทางการแพทย์เพื่อการตรวจวินิจฉัยหรือบำบัดรักษา ค่าบริการโลหิตและส่วนประกอบของโลหิต ค่าบริการทางการพยาบาล ค่ายา ค่าสารอาหารทางหลอดเลือด และค่าเวชภัณฑ์ต่อการเข้าพักรักษาเป็นผู้ป่วยในครั้งใดครั้งหนึ่ง
หมวดที่ 3 ค่าผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม (แพทย์) ตรวจรักษา ต่อการเข้าพักรักษาเป็นผู้ป่วยในครั้งใดครั้งหนึ่ง
หมวดที่ 4 ค่ารักษาพยาบาลโดยการผ่าตัด (ศัลยกรรม) และหัตถการ ต่อการเข้าพักรักษาเป็นผู้ป่วยในครั้งใดครั้งหนึ่ง
หมวดที่ 5 การผ่าตัดใหญ่ที่ไม่ต้องเข้าพักรักษาตัวเป็นผู้ป่วยใน (Day Surgery)
2. ผลประโยชน์กรณีไม่ต้องเข้าพักรักษาตัวเป็นผู้ป่วยใน
หมวดที่ 6 ค่าบริการทางการแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยที่เกี่ยวข้องโดยตรงก่อนและหลังการเข้าพักรักษาตัวเป็นผู้ป่วยในหรือค่ารักษาพยาบาลผู้ป่วยนอกที่ต่อเนื่องเกี่ยวข้องโดยตรงหลังการเข้าพักรักษาตัวเป็นผู้ป่วยใน ต่อการเข้าพักรักษาเป็นผู้ป่วยในครั้งใดครั้งหนึ่ง
หมวดที่ 7 ค่ารักษาพยาบาลการบาดเจ็บ กรณีผู้ป่วยนอก ภายใน……ชั่วโมงของการเกิดอุบัติเหตุต่อครั้ง
หมวดที่ 8 ค่าเวชศาสตร์ฟื้นฟู หลังการเข้าพักรักษาตัวเป็นผู้ป่วยใน แต่ละครั้งต่อการเข้าพักรักษาเป็นผู้ป่วยในครั้งใดครั้งหนึ่ง
หมวดที่ 9 ค่าบริการทางการแพทย์เพื่อการบำบัดรักษาโรคไตวายเรื้อรัง โดยการล้างไตผ่านทางเส้นเลือด ต่อรอบปีกรมธรรม์ประกันภัย
หมวดที่ 10 ค่าบริการทางการแพทย์เพื่อการบำบัดรักษาโรคเนื้องอกหรือมะเร็ง โดยรังสีรักษา รังสีร่วมรักษา เวชศาสตร์นิวเคลียร์รักษา ต่อรอบปีกรมธรรม์ประกันภัย
หมวดที่ 11 ค่าบริการทางการแพทย์เพื่อการบำบัดรักษาโรคมะเร็ง โดยเคมีบำบัดต่อรอบปีกรมธรรม์ประกันภัย
หมวดที่ 12 ค่าบริการรถพยาบาลฉุกเฉิน
หมวดที่ 13 ค่ารักษาพยาบาล โดยการผ่าตัดเล็ก
ในหมวดที่ 2, 4 และ 6 จะมีความคุ้มครองแยกย่อยออกมาอีกนะครับ เพื่อน ๆ สามารถดูในแผนประกันภัยได้ และ New Health Standard จะเพิ่มการมีส่วนร่วมจ่ายค่ารักษาของผู้เอาประกันภัยเข้าไปด้วย ซึ่งบางบริษัทอาจจะกำหนดเป็นค่าความรับผิดส่วนแรก (บาท) หรือ ค่าใช้จ่ายร่วม (% ของค่ารักษา) เพื่อทำให้ค่าเบี้ยประกันภัยต่อปีที่เราต้องจ่ายนั้นถูกลง
ทั้งนี้ เงื่อนไขประกันสุขภาพ New Health Standard จะมีการกำหนดระยะเวลารอคอย (Waiting Period) ไว้ด้วย เช่น
• การเจ็บป่วยที่เกิดขึ้นในระยะเวลา 30 วัน (Waiting Period) นับแต่วันที่กรมธรรม์ประกันภัยมีผลบังคับเป็นครั้งแรก
• การเจ็บป่วยดังต่อไปนี้ ที่เกิดขึ้นในระยะเวลา 120 วัน (Waiting Period) นับแต่วันที่กรมธรรม์ประกันภัยมีผลบังคับเป็นครั้งแรก เนื้องอก ถุงน้ำ หรือมะเร็งทุกชนิด, ริดสีดวงทวาร, ไส้เลื่อนทุกชนิด, ต้อเนื้อ หรือต้อกระจก, การตัดทอนซิล หรืออดีนอยด์, นิ่วทุกชนิด, เส้นเลือดขอดที่ขา, เยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่
รวมถึงไม่คุ้มครองสภาพที่เป็นมาก่อนการเอาประภันภัย (Pre-existing Condition) หรือพูดง่าย ๆ คือ ไม่คุ้มครองโรคที่เป็นมาก่อนการทำประกันภัยนั่นเอง
เราควรซื้อประกันสุขภาพแบบไหนดี
ก่อนที่เราจะซื้อประกันสุขภาพ อย่างแรกเลยคือ ต้องกำหนดงบประมาณของเราก่อน ว่าค่าเบี้ยประกันต่อปีที่เราสามารถจ่ายได้นั้นกี่บาท อย่างที่สอง คือ วงเงินความคุ้มครองที่เราต้องการหรือที่เราพอใจนั้นอยู่ที่เท่าไร อย่างที่สาม เราต้องสำรวจตัวเองก่อนว่าเคยเข้ารักษาพยาบาลด้วยโรคอะไร เป็นโรคที่ร้ายแรงหรือไม่
เพราะบางโรค เช่น เบาหวาน ความดัน หัวใจ มะเร็ง เป็นต้น หากเป็นแล้วบริษัทประกันมักจะไม่รับประกันภัย หรือหากรับก็จะมีเงื่อนไขการรับประกัน เช่น ปรับเบี้ยเพิ่มขึ้น ยกเว้นการจ่ายหากเป็นโรคนั้น ๆ ยกเว้นการจ่ายหากเป็นโรคที่เป็นสาเหตุสืบเนื่องมาจากโรคเดิม
หรือหากเป็นเบาหวานต้องทำการควบคุมระดับน้ำตาลตามที่บริษัทกำหนดให้ได้ เป็นต้น ซึ่งทางที่ดีเราควรทำประกันสุขภาพในวันที่สุขภาพร่างกายของเรายังแข็งแรง เพราะเมื่อไรเรามีประวัติการเข้ารักษาแล้ว ประวัตินั้นจะติดตัวเราไปตลอดครับ
เมื่อเรากำหนดงบประมาณ วงเงินความคุ้มครอง และสำรวจสุขภาพของตนเองเรียบร้อยแล้ว ขั้นตอนต่อไป เราต้องมาดูว่าอยากทำประกันสุขภาพแบบแยกค่าใช้จ่ายหรือแบบเหมาจ่าย เพราะทั้ง 2 แบบนี้ วงเงินความคุ้มครองในแต่ละหมวดและเบี้ยประกันภัยจะแตกต่างกัน ตรงนี้ขึ้นอยู่กับงบประมาณของเราเลย
หากงบประมาณเพียงพอสำหรับการซื้อแบบเหมาจ่าย ผมก็แนะนำให้ทำแบบนี้ครับ เพราะเราจะได้ไม่ต้องกังวลเรื่องวงเงินค่ารักษาพยาบาลในหมวดนั้น ๆ ว่าจะเพียงพอหรือไม่
อ้อ... ผมลืมจุดสำคัญอีกจุดหนึ่งไป เราต้องดูค่าห้องประกอบการพิจารณาด้วย เพราะถ้าเลือกแผนที่มีค่าห้องสูง เบี้ยประกันภัยก็จะสูงตาม ซึ่งในยุคนี้ต้องบอกว่าค่าห้องพักในโรงพยาบาลบางแห่ง แพงกว่าค่าห้องพักในโรงแรมระดับ 5 ดาว อีกครับ
ประกันสุขภาพในตลาด ทั้งบริษัทประกันชีวิตและบริษัทประกันวินาศภัย สามารถเสนอขายได้ทั้งคู่ แต่จะมีข้อแตกต่างที่เห็นได้ชัด คือ แผนประกันสุขภาพของบริษัทประกันชีวิตจะมีทุนชีวิตให้เราด้วย ไม่ว่าเราจะเสียชีวิตจากกรณีใดก็ตาม แต่ก็ทำให้เบี้ยประกันโดยรวมแพงกว่าแผนประกันสุขภาพของบริษัทประกันวินาศภัยเช่นกัน
ประกันสุขภาพซื้อที่ไหนได้บ้าง
ปัจจุบันเราสามารถซื้อประกันสุขภาพได้ง่ายขึ้น โดยไม่จำเป็นต้องเขียนใบสมัครเอาประกันภัยให้ยุ่งยาก บางบริษัทมีการเสนอขายผ่านช่องทางเว็บไซต์ ซึ่งเราสามารถเข้าไปกรอกข้อมูล และจ่ายเบี้ยประกันภัยผ่านช่องทางออนไลน์ได้เลย เพียงแต่ต้องตอบคำถามสุขภาพตามความเป็นจริง หรือหากเราติดประเด็นเรื่องสุขภาพ เมื่อเรากรอกข้อมูลเสร็จก็จะมีเจ้าหน้าที่ติดต่อกลับมาหา เพื่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมก่อนที่จะอนุมัติทำประกันให้เรา
หรือหากเราต้องการคุยกับเจ้าหน้าที่เพื่อสอบถามข้อมูลก่อนทำประกัน ก็เพียงกรอกข้อมูลส่วนตัวเช่น ชื่อ-นามสกุล และเบอร์โทรศัพท์ ในหน้าเว็บไซต์ของบริษัทที่เราต้องการทำประกัน ก็จะมีเจ้าหน้าที่ติดต่อกลับมาหาเราเอง ง่ายไหมล่ะครับการทำประกันสุขภาพยุคนี้ ผมจึงขอแนะนำให้เพื่อน ๆ ทำประกันสุขภาพไว้เถอะครับ ยิ่งสุขภาพแข็งแรงยิ่งควรทำ เพราะประกันสุขภาพมีไว้ไม่ได้ใช้ ดีกว่าอยากใช้แต่ไม่มี
มาถึงตอนท้ายของ EP ที่หกกันแล้ว ทุกครั้งที่เราจะทำประกันภัยผมขอแนะนำว่า “ผู้ซื้อควรทำความเข้าใจในรายละเอียดความคุ้มครองและเงื่อนไขก่อนตัดสินใจทำประกันภัยทุกครั้ง” และในการทำประกันภัยจะต้องยึดหลักที่ว่า “ความสุจริตใจอย่างยิ่งในการทำประกัน” เพราะจะได้ไม่ทำให้เกิดปัญหาในตอนเคลมกันครับ
จบแล้วครับสำหรับบทความใน EP ที่หก และใน EP ต่อไปผมจะมารีวิวหรือแนะนำแผนอะไรต่อ รอติดตามกันนะครับ หรือถ้าใครมีข้อสงสัย หรือต้องการให้รีวิวแผนประกันอะไรเพิ่มเติมสามารถส่งมาได้เลยนะครับ
แล้วพบกันใหม่กับ ประกันเรื่องใกล้ตัว กับ Art Living Insure สำหรับวันนี้สวัสดีครับ
เลือกคอนโดแบบไหน ดีต่อใจวัยเกษียณ
2019-08-06
กองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ เสือนอนกิน ?
2020-04-15
หาคอนโด ห้องพัก ให้เช่า ระยะสั้น เช่ารายเดือน ที่ไหนดี มาดูที่นี่สิ เราจัดมาให้เยอะเลย
2020-06-30
𝗔𝗣 𝗜𝗡𝗖𝗟𝗨𝗦𝗜𝗩𝗘 𝗚𝗥𝗢𝗪𝗧𝗛 𝟮𝟬𝟮𝟯 เจาะแผนธุรกิจทาวน์โฮม อันดับ 1 ของวงการอสังหาฯ เปิดตัวแรงไม่เกรงใจใคร
2023-02-18
รวม 4 เทคนิค ซื้อ “คอนโดมือสอง” ยังไงให้ไม่พลาด และคุ้มค่ามากที่สุด
2023-04-07
บทความมีประโยชน์มากค่ะ
ขอบคุณบทความดีๆค่ะ
อ่านเเล้วอยยากเห็นหน้านักเขียนเลยค่ะ 555555
ขอบคุุณบทความดีดีค่ะ
เขียนดีขนาดนี้ เอาใจพี่ไปเลย
ได้ไอเดียไปแต่งห้องตัวเองหลายอย่างเลย