Favorite
สวัสดีครับ เจอกันอีกครั้งกับประกันเรื่องใกล้ตัว กับ Art Living Insure ครับ
จากสถิติของกรมขนส่งทางบก จำนวนรถในประเทศไทยที่การจดทะเบียน สะสม ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2565 มีจำนวน 43.4 ล้านคัน อันดับ 1 เป็นรถจักรยานยนต์ 22 ล้านคัน อันดับ 2 เป็นรถยนต์นั่งส่วนบุคคล 11 ล้านคัน และอันดับ 3 เป็น รถยนต์บรรทุก 7 ล้านคัน เห็นไหมครับว่า เมื่อเทียบกับจำนวนประชากรในประเทศแล้ว คิดเป็นร้อยละ 60 เลยครับ
จากสถิติดังกล่าว ไม่แปลกใจเลยที่ประกันภัยรถยนต์จะเป็นแผนประกันที่มีเบี้ยประกันภัยมากที่สุดในกลุ่มประกันวินาศภัย ซึ่งในปี 2564 ที่ผ่านมา เบี้ยประกันภัยรถยนต์ทั้งภาคสมัครใจและพรบ. รวมกันแล้วจะอยู่ที่ 147,000 ล้านบาท เกินกว่าร้อยละ 50 ของเบี้ยในกลุ่มประกันวินาศภัยทั้งระบบ
วันนี้เรามาดูรถยนต์ที่นั่งส่วนบุคคลกันครับ โดยปกติรถยนต์นั่งส่วนบุคคลจะแบ่งเป็น 2 กลุ่มใหญ่ ๆ คือ 1. รถยนต์นั่งส่วนบุคคลไม่เกิน 7 คน (เก๋ง,กระบะ) และ 2. รถยนต์นั่งส่วนบุคคลเกิน 7 คน (รถตู้) โดยรถ 2 กลุ่มนี้ ปัจจุบันหลายค่ายรถยนต์จะมีการแถมประกันภัยประเภท 1 (ชั้น 1)ให้กับลูกค้าตั้งแต่ซื้อรถออกจากศูนย์ ที่ให้ความคุ้มครองครอบคลุมทั้งความรับผิดต่อชีวิตและทรัพย์สินบุคคลภายนอก ความเสียหายต่อตัวรถ (สูญหาย ไฟไหม้ น้ำท่วม ชนกับรถ ชนกับสิ่งที่ไม่ใช่รถ) รวมไปถึงคุ้มครองด้านอุบัติเหตุ ค่ารักษาพยาบาล และการประกันตัวผู้ขับขี่
ประเภทประกันภัยรถยนต์ในปัจจุบันมีอะไรบ้าง?
ประกันภัยรถยนต์จะแบ่งออกเป็น 5 ประเภท คือ ประกันประเภท 1, 2, 3, 4, และ 5 (2+,3+) แต่ในปัจจุบันจะมีประเภทที่ 6 เพิ่มเข้ามา ซึ่งจะเน้นไปที่รถ Supercar เป็นหลัก แล้วความคุ้มครองแต่ละประเภทมันแตกต่างกันอย่างไร
ประเภท 1 (ชั้น 1) จะคุ้มครอง
1. ความรับผิดต่อชีวิตและทรัพย์สินบุคคลภายนอก
2. ความเสียหายต่อตัวรถ (สูญหาย ไฟไหม้ น้ำท่วม ชนกับรถ ชนกับสิ่งที่ไม่ใช่รถ)
3. อุบัติเหตุ ค่ารักษาพยาบาล และการประกันตัวผู้ขับขี่
ประเภท 2 (ชั้น 2) จะคุ้มครอง
1. ความรับผิดต่อชีวิตและทรัพย์สินบุคคลภายนอก
2. ความเสียหายต่อตัวรถ (สูญหาย ไฟไหม้)
3. อุบัติเหตุ ค่ารักษาพยาบาล และการประกันตัวผู้ขับขี่
ประเภท 3 (ชั้น 3) จะคุ้มครอง
1. ความรับผิดต่อชีวิตและทรัพย์สินบุคคลภายนอก
2. อุบัติเหตุ ค่ารักษาพยาบาล และการประกันตัวผู้ขับขี่
ประเภท 4 จะคุ้มครอง
1. ความรับผิดต่อทรัพย์สินบุคคลภายนอก
ประเภท 5 (ชั้น 2+) จะคุ้มครอง
1. ความรับผิดต่อชีวิตและทรัพย์สินบุคคลภายนอก
2. ความเสียหายต่อตัวรถ (สูญหาย ไฟไหม้ รถชนรถ)
3. อุบัติเหตุ ค่ารักษาพยาบาล และการประกันตัวผู้ขับขี่
ประเภท 5 (ชั้น 3+) จะคุ้มครอง
1. ความรับผิดต่อชีวิตและทรัพย์สินบุคคลภายนอก
2. ความเสียหายต่อตัวรถ (รถชนรถ)
3. อุบัติเหตุ ค่ารักษาพยาบาล และการประกันตัวผู้ขับขี่
รู้ความคุ้มครองแล้ว และประเภทการซ่อมรถยนต์ละมีอะไรบ้าง
การซ่อมรถยนต์จะแบ่งได้เป็น 2 ลักษณะคือ 1. ซ่อมห้าง (ศูนย์บริการ) 2. ซ่อมอู่ (อู่ทั่วไปที่เป็นคู่สัญญากับบริษัทประกันภัย) ที่นี้เราทราบถึงความคุ้มครองและประเภทการซ่อมกันแล้ว ตอนนี้มาดูกันดีกว่าเราควรจะเลือกทำประกันภัยประเภทไหน
รถยนต์ใหม่อายุรถ 1-5 ปี (นับปี ค.ศ. ในเล่มจดทะเบียนรถยนต์เป็นปีที่ 1) แนะนำให้ซื้อประกันชั้น 1 ซ่อมห้าง เนื่องจากเป็นรถใหม่ หรือคนขับรถก็มือใหม่ ประสบการณ์ในการขับอาจจะมีไม่มาก ชั้น 1 จะตอบโจทย์ที่สุดเพราะผู้ซื้อจะได้รับความคุ้มครองที่ครอบคลุมทั้งหมด แต่เบี้ยก็จะแพงกว่าประกันประเภทอื่น ๆ แต่หากใครจ่ายเบี้ยประกันภัยชั้น 1 ซ่อมห้าง ไม่ไหว ก็สามารถหันมาทำชั้น 1 ซ่อมอู่ หรือชั้น 2+ , 3+ แทนก็ได้
แต่ความคุ้มครองสำหรับตัวรถจะน้อยกว่าตรงที่กรมธรรม์จะคุ้มครองในกรณีรถชนรถเท่านั้น ไม่คุ้มครองรถไปชนอย่างอื่น และหากต้องซ่อมก็ต้องเอารถไปซ่อมที่อู่ทั่วไปไม่สามารถซ่อมที่ศูนย์บริการได้ แต่...หากใครต้องการเอารถเข้าซ่อมที่ศูนย์บริการ ตอนนี้บางบริษัทมีเปิดขายประกันชั้น 2+ แบบซ่อมห้าง (ศูนย์บริการ) ด้วยนะครับ เบี้ยจะถูกกว่าชั้น 1 ซ่อมห้างพอสมควรเลยทีเดียว
รถยนต์อายุรถ 6-15 ปี (นับปี ค.ศ. ในเล่มจดทะเบียนรถยนต์เป็นปีที่ 1) แนะนำให้ซื้อประกันชั้น 1 ซ่อมอู่ เพราะจะได้ความคุ้มครองที่ครอบคลุม เพียงแต่ต้องเอารถเข้าซ่อมที่อู่ทั่วไปเท่านั้น เบี้ยประกันจะถูกกว่าประเภท 1 ซ่อมห้าง แต่ยังสูงกว่าชั้น 2+ หรือหากใครต้องการจ่ายเบี้ยถูกลงอีก ก็สามารถซื้อประกันภัยชั้น 2+ แทน แต่อย่างที่แจ้งตัวรถยนต์จะได้รับความคุ้มครองกรณีรถชนรถเท่านั้น
รถยนต์อายุรถ 15 ปีขึ้นไป (นับปี ค.ศ. ในเล่มจดทะเบียนรถยนต์เป็นปีที่ 1) แนะนำให้ซื้อประกันชั้น 2+,3+ ซ่อมอู่ เพราะจะได้ความคุ้มครองตัวรถยนต์คันที่เอาประกันภัยด้วย
กรณีรถยนต์มีอายุมาก และเจ้าของไม่กังวลเรื่องค่าใช้จ่ายในการซ่อมรถตนเองในกรณีเกิดเหตุ แถมยังต้องการเบี้ยประกันถูกด้วยแนะนำให้ซื้อประกันชั้น 2 และชั้น 3
แต่หากแบ่งตามประสบการณ์และพฤติกรรมการขับรถจริง ๆ ผมก็อยากแนะนำให้ทำประกันตามการขับขี่ของตนเองนะครับ โดยเเบ่งเป็น
อายุรถน้อย ขับไม่ซิ่ง เน้นปลอดภัย สบายใจหากต้องการเคลม | ชั้น 1 |
อายุรถพอสมควร มีประสบการณ์ขับขี่ ไม่รักฟุตบาท ต้นไม้ หรือเสาบ้าน | ชั้น 2+ |
อายุรถเยอะแล้ว เน้นขับ ไม่เน้นซ่อม จะบุบ จะถลอกก็ไม่เป็นไร แถมเบี้ยถูกอีกต่างหาก | ไปที่ชั้น 3+ |
นาน ๆ ขับที ปีนึงไม่ถึงหมื่นโล เน้นวอร์มเครื่อง ไม่เน้นวิ่ง แถมรถยังใหม่อีกต่างหาก | ชั้น 1 ตามไมล์ |
ที่บ้านไม่ค่อยมีศูนย์ แต่อู่เพียบ | ชั้น 2+,3+ |
ทั้งนี้ สิ่งที่สำคัญในการพิจารณาซื้อประกันภัย คือ ควรเลือกบริษัทประกันภัยที่มั่นคง มีบริการด้านการเคลมที่ดี มีบริการช่วยเหลือฉุกเฉินในกรณีที่เราเกิดอุบัติเหตุหรือรถมีปัญหาฉับพลันบนท้องถนน มีสัญญากับอู่ที่เราเอารถไปเข้าซ่อมประจำ เพราะจะง่ายต่อการเคลมและการควบคุมราคาซ่อมของบริษัทประกัน รวมถึงความคุ้มครองเมื่อเทียบกับเบี้ยประกันภัยที่เราต้องจ่ายแล้วสมเหตุสมผล
มาถึงตอนท้ายของ EP ที่แปดกันแล้วนะครับ ทุกครั้งที่เราจะทำประกันภัยผมขอแนะนำว่า “ผู้ซื้อควรทำความเข้าใจในรายละเอียดความคุ้มครองและเงื่อนไขก่อนตัดสินใจทำประกันภัยทุกครั้ง” และในการทำประกันภัยจะต้องยึดหลักที่ว่า “ความสุจริตใจอย่างยิ่งในการทำประกัน” เพราะจะได้ไม่ทำให้เกิดปัญหาในตอนเคลมกันนะครับ
จบแล้วครับสำหรับบทความใน EP ที่แปด และใน EP ต่อไปผมจะมารีวิวหรือแนะนำแผนอะไรต่อ รอติดตามกันนะครับ หรือถ้าใครมีข้อสงสัย หรือต้องการให้รีวิวแผนประกันอะไรเพิ่มเติมสามารถส่งมาได้เลยนะครับ
แล้วพบกันใหม่กับ ประกันเรื่องใกล้ตัว กับ Art Living Insure สำหรับวันนี้สวัสดีครับ
สไตล์ลอฟท์ คืออะไร ทำไมฮิตกันจัง ?
2022-07-25
10 นักฟุตบอลชื่อดัง มีบ้านแพงอลังการ!
2024-04-26
ขายฝาก เรื่องสำคัญที่นักลงทุนต้องรู้!
2019-05-09
สรุปมูลค่าการโอนบ้าน-คอนโดฯ แต่ละภูมิภาคของประเทศไทย ในไตรมาส 1 ปี 2566
2023-07-22
10 คอนโด ใกล้สถานีกลางบางซื่อ ศูนย์รวมของการเดินทาง เชื่อมต่อครอบคลุมทุกบริการระบบราง
2023-02-23
เขียนบทความน่าอ่านมากเลย
ชอบนะ อ่านต่อไม่รอแล้วจ้า
เยี่ยมไปเลยครับ
สู้ๆ ครับ เป็นกำลังใจให้ผู้เขียน สร้างสรรค์ผลงานมีประโยชน์ออกมาเยอะๆ ครับ
รีวิวเขียนดีจังค่ะ