Favorite
เคยสงสัยกันมั้ยครับ ว่าการซื้อคอนโดสักห้องนึงเนี่ย จะมีค่าใช้จ่ายเท่าไหร่ ถ้าหากยังไม่ทราบ บอกเลยครับว่าอย่าเลื่อนผ่านบทความนี้เด็ดขาด เพราะวันนี้ผมรวบรวมซื้อคอนโดสักห้อง มีค่าใช้จ่ายอะไรบ้าง? มาฝากกัน แต่จะมีค่าใช้จ่ายอะไรบ้าง เรามาเช็คลิสต์พร้อมกันเลยครับ
Check List: ค่าใช้จ่ายก่อนตัดสินใจซื้อ
สิ่งแรกที่ต้องเตรียมสำหรับหลายคนที่คิดกำลังจะเป็นเจ้าของ “คอนโด” สักแห่ง ไม่ว่าจะเป็นการซื้อด้วยเงินสด หรือกู้สินเชื่อที่อยู่อาศัย อันดับแรกที่พลาดไม่ได้ ก็คือการเตรียมเงินก้อนแรกว่ามีค่าใช้จ่ายอะไรบ้าง ซึ่งมีค่าใช้จ่าย 3 ส่วนหลักๆ ดังนี้ครับ
- เงินจอง จะเป็นค่าใช้จ่ายแรกสำหรับการตัดสินใจซื้อคอนโดครั้งแรก เพราะจะเป็นเงินที่ใช้จ่ายห้องคอนโดที่ถูกใจ เเละจะซื้อห้องนี้ ซึ่งเงินจองจะแตกต่างกันไปตามโปรโมชันของแต่ละโครงการ โดยส่วนใหญ่เงินจองจะเริ่มต้นที่หลักพันไปจนถึงหลักแสน
-เงินทำสัญญา หลังจากทำการจองไปได้ประมาณ 7-14 วัน โดยประมาณ ทางโครงการที่ได้วางเงินจองไป จะทำการนัดผู้ซื้อเข้ามาทำสัญญาซื้อขาย โดยในสัญญาจะทำการระบุรายละเอียดต่างๆ ที่ควรอ่านให้ครบก่อนชำระเงินทำสัญญา ย้ำเลยนะครับ ว่าควรอ่านในส่วนนี้ให้ครบ เพราะเขาจะระบุรายละเอียดต่างๆ ไว้อย่างชัดเจน
-เงินดาวน์ ลำดับต่อมาจะเป็น “เงินดาวน์” เพราะปัจจุบันการซื้อขายคอนโด หากเป็นคอนโดโครงการใหม่ๆ จะเริ่มมีการซื้อ-ขาย กันตั้งแต่ยังไม่เริ่มก่อสร้างหรือกำลังดำเนินการก่อสร้างอยู่ ดังนั้นในระหว่างรอการก่อสร้างเสร็จผู้ซื้อจะต้องวางเงินดาวน์ โดยมีค่าใช้จ่ายอยู่ที่ 10-15% ของราคาคอนโด หรือตามส่วนต่างของวงเงินกู้ที่ธนาคารอนุมัติมาในเบื้องต้น ซึ่งสามารถแบ่งจ่ายเป็นงวดๆ ตามเงื่อนไขของโครงการได้
Check List: ค่าใช้จ่ายช่วงโอนกรรมสิทธิ์
ค่าใช้จ่ายระหว่างโอนกรรมสิทธิ์คอนโด จะเป็นช่วงที่โครงการใกล้ก่อสร้างเสร็จและพร้อมเข้าอยู่แล้ว ทางโครงการจะนัดผู้ซื้อเข้ามาทำการโอนกรรมสิทธิ์ ทั้งนี้ค่าใช้จ่ายตรงนี้จะแบ่งเป็น 2 ส่วนด้วยกัน คือ ราคาของคอนโดส่วนที่เหลือจากการผ่อนดาวน์ และค่าใช้จ่ายวันโอน ซึ่งเป็นค่าใช้จ่ายที่จ่ายเพียงครั้งเดียว ณ วันโอนกรรมสิทธิ์
ค่าใช้จ่ายส่วนที่เหลือจากการผ่อนดาวน์ จะเป็นเงินก้อนใหญ่ที่ต้องจ่าย โดยเหลืออยู่ที่ 70%-90% ของราคาคอนโด และขึ้นอยู่กับเงินจอง+เงินทำสัญญา+เงินดาวน์ที่จ่ายไปช่วงแรก ซึ่งค่าใช้จ่ายส่วนนี้จะแบ่งเป็น 2 กรณี ดังนี้
กรณีจ่ายเงินสด ในกรณีนี้สามารถจ่ายเงินให้กับทางธนาคาร แล้วจดทะเบียนรับโอนกรรมสิทธิ์คอนโดมาเป็นของเราได้
-กรณีกู้ธนาคาร สำหรับกรณีกู้ธนาคาร จะมีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติม เข้ามาจำนวน 3 อย่างด้วยกัน
ค่าประเมินราคาห้องชุด ค่าใช้จ่ายส่วนนี้จะจ่ายให้กับทางธนาคารที่กู้ และมีค่าใช้จ่ายอยู่ที่ประมาณ 2,000-3,000 บาท หรือแล้วแต่เงื่อนไขของธนาคารนั้นๆ
ค่าจดทะเบียนจำนอง จะเป็นการจ่ายให้กับสำนักงานที่ดิน เพื่อเอาคอนโดเป็นหลักประกันหนี้ให้กับธนาคาร ในกรณีที่มีการกู้สินเชื่อที่อยู่อาศัย และมีค่าจดจำนอง 1% ของวงเงินกู้
ค่าเบี้ยประกันอัคคีภัย จะเป็นเบี้ยประกันอัคคีภัยห้องชุดที่ผู้กู้ซื้อกับธนาคาร ต้องชำระให้กับทางธนาคาร และทางธนาคารจะเป็นผู้รับประโยชน์ หากเกิดเหตุการณ์ไม่คาดคิดเกิดขึ้น เพื่อเอาเงินส่วนนี้ไปติดกับหนี้กู้ ส่วนเงื่อนไขการชำระแล้วแต่ทางธนาคารจะเรียกเก็บ
ค่าใช้จ่ายวันโอน
-ค่าธรรมเนียมการโอน จะเป็นค่าธรรมเนียมการโอนอยู่ที่ 2% ของราคาประเมิน โดยส่วนใหญ่จะแบ่งกันจ่ายคนละครึ่งหรือประมาณ 1% ระหว่างผู้ซื้อและผู้ขาย
-ค่าอากรแสตมป์ เป็นค่าใช้จ่ายวันโอนคอนโดที่ทางธนาคารเรียกเก็บจากผู้ยื่นขอกู้สินเชื่อซื้อคอนโด เพื่อนำไปชำระให้กับทางสรรพากร หากไม่ได้เสียภาษีธุรกิจเฉพาะ จะต้องเสียค่าอากรแสตมป์ คิดเป็นอัตรา 0.5% ของราคาซื้อขายแต่ต้องไม่ต่ำกว่าราคาประเมินจากกรมที่ดิน
-ค่าเงินกองทุนสำรองส่วนกลาง สำหรับค่าใช้จ่ายตรงนี้จะเป็นค่าใช้จ่ายเงินกองกลางที่นิติบุคคลอาคารชุด จะเรียกเก็บจากลูกบ้านผู้ซื้อคอนโดไว้เป็น กองทุนสำรอง เพื่อใช้ในการบริหารจัดการโครงการคอนโดในระยะยาว ผ่านการคิดค่าใช้จ่ายตามตารางเมตรพื้นที่ใช้สอยของห้องชุดคอนโด
-ค่าส่วนกลางรายเดือนล่วงหน้า ค่าส่วนกลางล่วงหน้า 1 ปี ซึ่งค่าใช้จ่ายส่วนนี้จะคิดตามพื้นที่ใช้สอยตามตารางเมตรของห้องชุด และคำนวณออกมาต่อเดือน
-ค่าประกันมิเตอร์ไฟฟ้า จะเป็นการวางเงินประกันมิเตอร์ไฟฟ้ากับการไฟฟ้านครหลวง ซึ่งมีค่าใช้จ่ายประมาณ 2,000-5,000 บาท ขึ้นอยู่กับขนาดมิเตอร์ไฟฟ้าและเงื่อนไขของแต่ละโครงการ
Check List: ค่าใช้จ่ายระหว่างอยู่อาศัย
หลังจากผ่านการโอนกรรมสิทธิ์ต่างๆ มาแล้ว หรือเรียกง่ายๆ ว่าเป็นเจ้าของคอนโดแล้วนั้น บอกเลยว่าอย่าได้นิ่งนอนใจครับ เพราะหลังจากนี้จะเป็นค่าใช้จ่ายต่อเนื่องทันทีที่เข้าอยู่อาศัย หรือถือครองกรรมสิทธิ์ แต่จะมีค่าใช้จ่ายอะไรบ้างเรามาเช็คลิสต์พร้อมกันเลยครับ
-ค่าส่วนกลาง (จ่ายต่อเนื่องทุกปี)
ถือว่าเป็นค่าดูแลรักษาทรัพย์สินพื้นที่ของส่วนกลาง ที่ต้องเสียอย่างต่อเนื่องในทุกๆ ปี และหากไม่ชำระค่าส่วนกลางจะมีผลทางกฎหมายคือไม่สามารถทำธุรกรรมเกี่ยวกับคอนโดได้เลย
-ค่าผ่อนรายเดือน (กรณีกู้)
หลังจากเสร็จสิ้นกระบวนการต่างๆ อย่างครบถ้วนแล้ว เชื่อว่าผู้ซื้อที่ทำการกู้เงินไว้กับทางธนาคาร จะต้องมีค่าใช้จ่ายหลักอย่างการผ่อนรายเดือน ตามระยะสัญญาที่ทำเรื่องไว้กับทางธนาคารว่ามีการผ่อนต่อเดือนเท่าไหร่
และทั้งหมดนี้คือ Check List โดยจะเห็นว่าการจะเป็นเจ้าของคอนโดสักห้องนั้น มีค่าใช้จ่ายแฝงอยู่มากมายที่ยังไม่รู้และอาจมองข้ามไป แต่เห็นรายการค่าใช้จ่ายที่ผมลิสต์มาให้ก็อย่าเพิ่งท้อไปนะครับ เพราะก่อนซื้อตัวเราเองควรที่จะต้องประเมินและตรวจสอบสถานะทางการเงินให้ดี รับรองว่าการซื้อคอนโดสักห้องอยู่ไม่ไกลเกินเอื้อมแน่นอน
ซื้อคอนโดที่กำลังสร้าง ต้องระวังปัญหาอะไรบ้าง
2020-02-21
รวมคำศัพท์พูดติดปาก ในวงการอสังหาฯ (ตอนจบ)
2020-04-17
ชาวต่างชาติซื้อคอนโดไทยได้ไหม ผิดกฎหมายรึเปล่า มีเงื่อนไขอะไรบ้าง
2024-07-31
คอนโดโดนบล็อกวิว ทำไมใครๆ ก็ไม่อยากได้
2021-04-09
ภาพรวมตลาดคอนโดมิเนียมในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล Q1 ปี 66
2023-07-30
รีวิวเนียนดีค่ะ
ขอบคุณมาดครับ
ชอบลิฟวิ่งอินไซเดอร์มากค่ะ มีบทความดีๆให้อ่านแบบนี้ตลอดไปน่ะค่ะ
เยี่ยมมากๆ ครับ น่าสนใจ FC เลยครับ
อ่านสนุก เป็นประโยชน์มากครับ
รีวิวซะอยากซื้อเลยครับ